วิเคราะห์ : 2018 โลกร้อนสุดอันดับ 4 เตือนปีหน้าร้อนขึ้นอีก

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) ได้เปิดเผยรายงานประจำปี 2018 ระบุว่า ปี 2018 นี้ กลายเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 4 นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติมา โดยระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ สูงกว่าอุณหภูมิในช่วงปี ค.ศ.1850-1900 เกือบ 1 องศาเซลเซียส

โดยรายงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลก ระบุว่า ในช่วง 22 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 20 ปีด้วยกัน และปี 2015-2018 ติด 4 อันดับแรกของปีที่ร้อนที่สุด

และหากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ต่อไป อุณหภูมิอาจจะสูงขึ้นอีก 3-5 องศาเซลเซียสภายในปี 2100

ซึ่งอุณหภูมิในปี 2018 ที่สูงขึ้นถึง 0.98 องศาเซลเซียส แต่ยังถือว่าอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่าปีก่อนหน้า หนึ่งปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้น เป็นผลมาจากปรากฏการณ์ลานีญา ที่ทำให้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

ขณะที่นักวิจัยระบุว่า ตอนนี้ปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่คาดว่าจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นปี 2019 อาจจะทำให้ปีหน้ากลายเป็นปีที่ร้อนกว่าปีนี้อีก

และด้วยปัจจัยเหล่านี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์มองว่า แนวโน้มที่อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นในระยะยาวจะยังคงมีต่อไปในปี 2018 ซึ่งจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ขึ้น ทั้งระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ภาวะเป็นกรดของมหาสมุทร และการละลายของธารน้ำแข็ง อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ

นายเพทเทรี ตาอาลาส เลขาธิการดับเบิลยูเอ็มโอ บอกว่า “เราไม่ได้เดินไปตามจุดเป้าที่ตั้งไว้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลก และกลับยังทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ก๊าซเรือนกระจกกลับมามีมากขึ้นในระดับสูงเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง และหากแนวโน้มต่อไปยังเป็นเช่นนี้ ภายในสิ้นสุดศตวรรษนี้ โลกอาจจะมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอีก 3-5 องศาเซลเซียส”

นายตาอาลาสกล่าวด้วยว่า “นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะเน้นย้ำอีกครั้งว่า เราจะเป็นคนรุ่นแรกที่เข้าใจอย่างเต็มที่เกี่ยวกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก และจะเป็นคนรุ่นสุดท้ายที่จะสามารถทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับมัน”

รายงานของดับเบิลยูเอ็มโอ ระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือช่วงปี 2009-2018 อุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 0.93 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม คือช่วงปี 1850-1900 ขณะที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ยราว 1.04 องศาเซลเซียส

นางเอเลนา มานาเอนโกวา รองเลขาธิการดับเบิลยูเอ็มโอ บอกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นอะไรมากกว่าตัวเลข เพราะอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นเพียงเศษเสี้ยว ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ การเข้าถึงอาหารและน้ำสะอาด ไปจนถึงการสูญพันธุ์ของสัตว์และพันธุ์พืช และการอยู่รอดของแนวปะการัง และสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ

นางมานาเอนโกวากล่าวด้วยว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้เกิดความแตกต่างในด้านผลิตภาพทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร และความยืดหยุ่นของโครงสร้างพื้นฐานและเมือง อีกทั้งยังสร้างความแตกต่างในเรื่องความเร็วของการละลายของธารน้ำแข็งและน้ำสำหรับบริโภค รวมไปถึงอนาคตของเกาะบนที่ราบต่ำและชุมชนตามแนวชายฝั่งทั้งหลาย

รายงานของดับเบิลยูเอ็มโอ ยังได้เน้นย้ำเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปี 2018 อย่างเหตุการณ์ที่รัฐเกรละ ของประเทศอินเดีย ที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่และส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 5 ล้านคน เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ที่ผู้คนหลายร้อยคนต้องเสียชีวิตเนื่องจากน้ำท่วมและโคลนถล่ม

นอกจากนี้ ยังมีคลื่นความร้อนที่พัดถล่มพื้นที่ส่วนใหญ่ในยุโรป ซึ่งรวมทั้งในอังกฤษ จนทำให้เกิดไฟป่าในบางพื้นที่ รวมทั้งสแกนดิเนเวีย

โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ยังมีรายงานอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทางตอนเหนือของอาร์กติก เซอร์เคิล ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ มีรายงานอุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียสติดต่อกันถึง 25 วัน

ขณะที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ยังเกิดไฟป่า “แคมป์ไฟร์” เมื่อเดือนพฤศจิกายน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และถือว่าเป็นไฟป่าที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในรอบ 100 ปี ของสหรัฐอเมริกา

ศาสตราจารย์ทิม ออสบอร์น จากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย ที่ดูแลเกี่ยวกับรายงานดังกล่าว ระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นเกิดขึ้นเนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับโลก และส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศและอากาศที่รุนแรง ที่เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น

สำหรับรายงานสภาวะอากาศโลกของดับเบิลยูเอ็มโอ เป็นหนึ่งในผลการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ของนักวิทยาศาสตร์ ที่จะนำไปเสนอต่อที่ประชุมว่าด้วยเรื่องสภาวะอากาศโลกของสหประชาชาติ ที่ประเทศโปแลนด์ ในสัปดาห์นี้ ซึ่งผู้ร่วมประชุมจะพยายามหาข้อยุติเกี่ยวกับข้อตกลงปารีสและจะขอคำมั่นจากนานาชาติเกี่ยวกับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้มากกว่าที่ผ่านมา

เมื่อมีคำมั่นออกมาแล้ว จะทำกันได้กี่มากน้อย ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง