ต่างประเทศอินโดจีน : วันนี้ที่ “แม่ตาว”

แม่ตาวเป็นตำบลหนึ่งในเขตอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ติดต่อกับชายแดนพม่า พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา

แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาคือ “แม่ตาวคลินิก” คลินิกของแพทย์ชาวพม่าที่ชื่อ “ซินเธีย หม่อง”

หมอซินเธียเพิ่งเรียนจบวิชาแพทย์ในย่างกุ้ง ก็เกิดขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่นำโดยนักเรียน-นักศึกษาขึ้น ลงเอยด้วยการถูกทหารกวาดล้างครั้งใหญ่ในปี 1988

พลเรือน นักศึกษาเป็นเรือนหมื่นหลบหนีการกวาดล้างออกมายังชายแดนด้านตะวันออก หลายคนตัดสินใจข้ามแดนเข้ามายังฝั่งไทย ซินเธีย หม่อง คือหนึ่งในจำนวนคนเหล่านั้น

“ตอนแรกที่หนีออกมาถึงชายแดน เราไม่เคยคาดหวังว่าจะมาสร้างระบบสาธารณสุข หรือสิ่งปลูกสร้างอะไรที่นี่

“เรารู้สึกกันว่าสองสามปีก็คงกลับบ้านได้แล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์การเมืองยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ได้เห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากยิ่งกว่าเดิม มีการยึดที่ทำกิน ยิ่งนานคนยิ่งหนีออกมามากขึ้น ทั้งที่หนีไปที่อื่น และหนีข้ามฝั่งมาไทย”

 

ปี1989 หมอซินเธียกับเพื่อนที่เรียนแพทย์มาด้วยกัน ตัดสินใจเริ่มต้นทำสิ่งที่กลายเป็นแม่ตาวคลินิกในเวลานี้ ด้วยความจำเป็นที่ต้องหาที่สักแห่งเพื่อให้เป็นศูนย์กลางติดต่อประสานงานในการช่วยเหลือคนหนีภัย

จากบ้านเดี่ยวหลังเล็กๆ เตียงพยาบาลมีเพียงเตียงเดียว ปัจจุบันนี้แม่ตาวคลินิกขยายตัวออกไปมากมาย มีทั้งศูนย์ให้คำปรึกษาสุขอนามัยแม่และเด็ก มีคลินิกวัคซีน คลินิกวางแผนครอบครัว ที่สำคัญคือทุกอย่างได้รับการทำอย่างเป็นระบบ อ้างอิงได้ชัดเจน

พัฒนาศักยภาพไปจนถึงขีดที่สามารถทำหน้าที่เป็นศูนย์คัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี และวัณโรค เพื่อส่งต่อได้

ทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการประสานงานในภารกิจบรรเทาทุกข์จากนานาชาติสำหรับชุมชนพลัดถิ่นทั้งหลายอีกด้วย

แม่ตาวคลินิกทุกวันนี้สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากมายถึงกว่า 400 คนต่อวัน มากกว่า 100,000 คนในแต่ละปี

 

ผู้ป่วยหลักของแม่ตาวคลินิกยังคงเป็นบรรดา “คนชายขอบ” ทั้งหลาย ครึ่งหนึ่งของทั้งหมดมาจากพม่าเพราะไม่สามารถหาบริการสาธารณสุขใดๆ ได้ที่นั่น เพราะขาดเอกสาร อีกครึ่งหนึ่งเป็นคนพลัดที่ พลัดถิ่น คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ พูดพม่าก็ไม่ได้ พูดไทยก็ไม่ดี ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก ซึ่งหมอซินเธียบอกว่า เป็น “คนกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขมูลฐานใดๆ ได้”

คนที่มีเงินอยู่บ้าง จ่ายค่ายา ค่ารักษานิดหน่อย ใครไม่มีก็รับบริการไปฟรีๆ ตามหลักการ “ยินดีต้อนรับ” เสมอ ไม่มีผู้ป่วยใดถูกผลักไสไล่ส่ง

หลายรายกลายเป็นคนไข้ในของคลินิก ทำให้ตลอด 30 ปีที่ผ่านมามีเด็กทารกลืมตาดูโลกที่นี่โดยเฉลี่ยแล้ว 5 คนต่อวัน

ทุกคนขึ้นทะเบียนเกิดกับทางการไทย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะได้รับสัญชาติไทยโดยอัตโนมัติ แต่ก็ทำให้พวกเขามีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลและการศึกษาเบื้องต้นฟรี

 

ในช่วงหลังหมอซินเธียเริ่มต้นเกณฑ์บรรดาผู้คนในชุมชน หรือหมู่บ้านใกล้เคียง ให้เข้ามารับการอบรมเพื่อทำหน้าที่เป็นหมอตำแย หรือไม่ก็อาสาสมัครสาธารณสุข หรือไม่ก็ให้สามารถช่วยจัดการกับบริการพื้นฐานง่ายๆ ได้ ภายใต้ความช่วยเหลือของเอ็นจีโอและหน่วยงานของทางการไทย แม่ตาวคลินิกสามารถฝึกผู้ช่วยเหล่านี้ออกมาได้ 200-300 คนต่อปี

ทั้งหมดนั่นทำให้สถาบันเพื่อมาตรวัดและการประเมินทางสาธารณสุข (ไอเอชเอ็มอี) ในสังกัดมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เลือกให้ซินเธีย หม่อง เป็นผู้รับรางวัลรูซ์ ไพรซ์ ประจำปี 2018 เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป แต่ผู้คนยังหลั่งไหลเข้ามาที่แม่ตาวคลินิกมากขึ้นเรื่อยๆ หลายปัญหาในพม่ายังไม่ได้รับการแก้ไข

ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาความยากจน สุดท้ายก็ลงเอยด้วยความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม วนเป็นวัฏจักร

พม่ายังต้องการเวลาอีกหลายสิบปี ซินเธียเชื่ออย่างนั้น!