ต่างประเทศอินโดจีน : ลาวกับ กม.ที่ดินใหม่ – ความคาดหวังที่กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่

ร่างกฎหมายที่ดินฉบับใหม่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสมัชชาแห่งชาติลาว หลังจากที่ล่าช้ามานานเต็มที

ในอารัมภบทของร่างกฎหมายนี้ ระบุวัตถุประสงค์ในการตรากฎหมายใหม่ขึ้นมาไว้ว่า เพื่อ “การใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี และปรับปรุงพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจและสังคม…โดยปราศจากผลกระทบในทางลบต่อสภาพแวดล้อมและสังคม”

ในทางหนึ่ง หลายคนมองเห็นตรงกันว่า กฎหมายฉบับนี้ถือเป็น “ความจำเป็น” เพื่อรองรับและแก้ปัญหาหลายประการที่เกี่ยวเนื่องกับที่ดินในช่วงที่ผ่านมา อันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศเปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างยิ่ง ผ่านนโยบายดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศ ที่เข้ามาเพื่อขุดหาทรัพยากรธรรมชาติจากผืนดินและลงทุนก่อสร้างในโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนา

คาดหวังกันมากว่า กฎหมายที่ดินใหม่นี้จะช่วยให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารจัดการที่ดินมากขึ้น

ช่วยทำให้ระบบและระเบียบว่าด้วยการถือครองที่ดินมีการบันทึก มีความทันสมัยกันมากขึ้น

แต่ในเวลาเดียวกัน ร่างกฎหมายนี้ก็มีปัญหา ปัญหาใหญ่ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

บรรดาผู้เชี่ยวชาญและองค์กรที่รณรงค์เพื่อสิทธิทำกินในลาวชี้ให้เห็นว่า ประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่งอันเนื่องมาจากกฎหมายนี้เป็นเพราะร่างล่าสุดที่อยู่ในการพิจารณาอยู่ในเวลานี้ ไม่ได้มีบทบัญญัติว่าด้วย “สิทธิตามจารีตประเพณี” เอาไว้ เช่นเดียวกับที่ไม่ได้มีบทบัญญัติว่าด้วยการถือครองที่ดินตาม “สิทธิส่วนรวมของชุมชน” เอาไว้เลย

ทั้งๆ ที่การถือครองที่ดินส่วนใหญ่ในลาว เป็นการถือครองต่อเนื่องกันมาตามบรรพบุรุษ หรือไม่ก็เป็นการถือครองสิทธิในที่ดินทำกินร่วมกันตามสิทธิส่วนรวมของชุมชนหนึ่งๆ แทบทั้งสิ้น

ไม่มีใครมีเอกสารสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินทำกินของตัวเองอยู่ในมือกันทั้งนั้น

ผลก็คือ หากร่างกฎหมายนี้ผ่านความเห็นชอบออกมาบังคับใช้ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า ผู้คนเหล่านี้จะมีสิทธิเหนือที่ดินทำกินที่ตกทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายอยู่อีกหรือไม่

ไม่มีใครรู้ว่า สุดท้ายแล้วที่ดินที่เป็นแหล่งทำกินส่วนรวมของชุมชน จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร ถึงจะถูกต้องตามกฎหมายที่ดินใหม่นี้

 

การไม่รู้คือความเสี่ยง ยิ่งรัฐบาลลาวต้องการให้เกิดความชัดเจน ที่ดินทั้งหมดต้องมีผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่แน่ชัดทั้งหมดภายในปี 2025

ความเสี่ยงที่จะสูญเสียการถือครองที่ดินของประชาชน ของชาวบ้านตาดำๆ ของชาวเขาทั้งหลายก็มีมากขึ้นตามลำดับ

รัฐบาลลาวประกาศเจตนารมณ์เอาไว้ว่า จะรักษาพื้นที่ป่าของประเทศเอาไว้ให้ได้ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด

แต่ยิ่งมีการให้สัมปทานตัดถนน มีการให้สัมปทานที่ดินเพื่อการทำไม้ ทำเหมืองแร่มากขึ้น ไม่เพียงไม่มีใครแน่ใจว่า 70 เปอร์เซ็นต์ที่ว่านี้จะรักษาไว้ได้เท่านั้น

ยังเกิดความกังขาขึ้นอีกด้วยว่า แล้วคนที่อยู่กับป่า ใช้ชีวิตอยู่กับภูเขา ยังชีพด้วยผลผลิตจากป่า อย่างเช่นคนพื้นเมือง คนชนเผ่า จะตกอยู่ในสภาพอย่างไร?

การให้สัมปทานเพื่ออุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในลาว ถูกโจมตีอย่างมากมาโดยตลอดว่าเอื้อต่อประโยชน์บริษัทต่างชาติ แต่กลับไม่ให้ความเป็นธรรมกับคนท้องถิ่นทั้งในแง่ของค่าชดเชยและอื่นๆ

ปัญหาการใช้ที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรมตามสัญญาว่าจ้าง ก็เป็นอีกปัญหาสำคัญที่กฎหมายใหม่ไม่ได้แก้ไข

วิธีการที่เรียกว่า “คอนแทรกต์ ฟาร์มมิ่ง” เช่นนี้มีปัญหายิ่งกว่า เพราะตรวจสอบได้ยากกว่าการให้สัญญาสัมปทาน

สุดท้ายคือ กฎหมายนี้ยังคงให้สิทธิ์ถือครองที่ดินจำเพาะแต่ผู้ชายที่ถือเป็นหัวหน้าครอบครัว

เป็นการรอนสิทธิ์ของสตรีที่ชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งนักอีกด้วย