อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ปี 2019 เรื่องของ “คนหน้าเดิม” คนหน้าเดิม ชื่อทรัมป์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

เมื่อการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นเมื่อต้นพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นที่แน่ชัดว่าพรรครีพับลิกัน (Republican) ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สังกัดอยู่ได้สูญเสียที่นั่งในสภาคองเกรสไปให้พรรคเดโมแครต (Democrat) ไปอย่างมาก

สื่อมวลชนหลายสำนักคิดคล้ายๆ กันว่า เสียงที่เพิ่มขึ้นในสภาคองเกรสของพรรคเดโมแครตมาจากผู้ออกเสียงเลือกตั้งที่ไม่พอใจนโยบายหลายๆ อย่างของประธานาธิบดีทรัมป์ เช่น เรื่องสิทธิสตรี แรงงานต่างชาติและผู้อพยพ (1)

ผลที่ตามมาคือ เกิดการแบ่งแยกเมือง-ชนบทในทางการเมืองกว้างขึ้น

แม้พรรครีพับลิกันจะยังคงครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาก็ตาม พรรคเดโมแครตก็ชนะที่นั่งในสภาคองเกรสในรัฐนิวเจอร์ซีย์ (New Jersey) เพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) ฟลอริดา (Florida) โคโลราโด (Colorado) และชนะในรัฐไอโอวา (Iowa) ซึ่งชนะมากถึง 4 ที่นั่ง (2)

ทั้งนี้ จะมีผลสำคัญถึง 2 ประการคือ

ประการแรก ประธานาธิบดีทรัมป์จะบริหารประเทศได้ยากลำบากขึ้น

ประการที่สอง ย่อมมีผลต่อการลงสมัครรับเลือกตั้งในวาระที่ 2 ของเขาในปี 2020

ยังมีเรื่องราวที่ตามราวีประธานาธิบดีทรัมป์ต่อไป เช่น เรื่องตัดลดภาษี นโยบายเข้มงวดต่อคนเข้าประเทศสหรัฐ การแทรกแซงการเมืองและการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาของรัสเซีย ยังมีเรื่องเดิมแต่นำมาพูดถึงกันใหม่อีก

เช่น เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเสรีการพนัน แต่คนที่แวดล้อมประธานาธิบดีทรัมป์ได้เป็นนักลงทุนรายใหญ่ในอุตสาหกรรมการพนันในญี่ปุ่น การลงทุนและดำเนินธุรกิจของคนในครอบครัวทรัมป์ในประเทศรัสเซีย

ในขณะที่ความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้น โดยประธานาธิบดีทรัมป์ได้ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน อีกทั้งไม่สนใจข้อร้องเรียนของจีนเรื่องสหรัฐอเมริกามีมาตรการกีดกันทางการค้าไปยังองค์การการค้าโลก

ทรัมป์เรียกร้องให้นักลงทุนรายใหญ่สหรัฐย้ายฐานการลงทุนจากจีนกลับสหรัฐอเมริกา

แต่ลูกสาวของเขาได้ลิขสิทธิ์สินค้าที่ผลิตในประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม ปี 2019 ด้วยระบบการเมืองสหรัฐ ระบบถ่วงดุลอำนาจ (Check and Balance) การแบ่งแยกอำนาจบริหารและนิติบัญญัติก็จะยังคงให้ประธานาธิบดีทรัมป์เป็นผู้นำ “คนหน้าเดิม” ต่อไป

 

ผู้นำไทย “คนหน้าเดิม” หรือ?

หากมองในแง่กลไกทางกฎหมาย รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและการเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้นำหลักที่ทำรัฐประหาร 2014 ได้ปูทางสู่อำนาจหลังรัฐประหารมาแล้ว 4 ปี

และเมื่อมีการเลือกตั้ง จนถึงกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลซึ่งจะเกิดประมาณมิถุนายน 2019 ยังผลให้รัฐบาลใหม่ (ซึ่งอาจมาจากพวกเดิมๆ) จะบริหารประเทศต่อไปได้อีกอย่างน้อย 5 ปี

แต่ถ้านำเอาแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและการทำงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเข้ามาวิเคราะห์ด้วย “คนหน้าเดิม” นั้นจะอยู่บริหารได้เกิน 5 ปี

อย่างไรก็ตาม แม้จะทำรัฐประหารถึง 2 ครั้งด้วยคนกลุ่มเดียวกันที่ทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2006 และ 22 พฤษภาคม 2014 แต่พลวัตสังคมเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคก็ไม่ได้เป็นหลักประกันสำหรับคนหน้าเดิม ด้วยเงื่อนไข เช่น

ประการที่ 1 กติกาที่คุมสังคมไทย ทำไม่ได้ เช่น แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีคนนอก หรือนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหน้าเดิมๆ ที่ซี้กัน แต่สิ่งนี้มิได้เป็นหลักประกันอะไรเลยว่าการเมืองในสภาที่ผันแปรตลอดเวลาจะขัดขวาง “คนหน้าเดิม” เกมในรัฐสภาเป็นเกมที่ผู้ไม่สันทัดกรณีอย่างสมาชิก “กองทัพ” ไม่ถนัด ตรงกันข้ามกับนักการเมืองผู้เจนจัด

ประการที่ 2 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติสร้างความยุ่งยากให้กับทุกๆ คน รวมทั้งคนหน้าเดิม และพรรคพวกด้วย คณิตศาสตร์การเมืองที่มีตัวเลขเอาไว้เพื่อเอาผิดกับนักการเมืองถึงขั้นติดคุกและหมดสิทธิทางการเมือง จะเป็นทั้งด่านที่สกัดกั้นการพัฒนาประเทศซึ่งก็ทำได้ยากเพราะพลังของตลาด การไหลเวียนของเงิน พลังภูมิภาคนิยม เทคโนโลยีและข่าวสาร

ดังนั้น รายการเดินหน้าประเทศไทย ไม่ว่าจะประชาสัมพันธ์กันทุกวัน ผ่านทุกช่องทางด้วยหลากหลายเซเลบ ที่ก็เป็นเพียงการประชาสัมพันธ์ที่แห้งแล้ง

ย้อนไป 4 ปีกว่าไม่มีใครเห็น “การปฏิรูป” ที่เป็นรูปธรรม เช่น ด้านเศรษฐกิจ ไม่มีการปฏิรูปภาษี โดยเฉพาะภาษีที่ดิน ไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรม มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีแต่ยังน้อย สิ่งที่กำลังดำเนินไปคือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล แต่ก็เพิ่งเริ่มลงมือก่อสร้าง โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเป็นของเก่าแต่พยายามขยายออก ส่วนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor-EEC) ยังเกิดรูปธรรมน้อย ส่วนใหญ่เป็นการประชาสัมพันธ์เรื่องการเซ็นเอ็มโอยูระหว่างกัน แต่ไม่แจ้งว่าทำกับบริษัทอะไร

ดังนั้น การตรวจราชการจึงเกิดขึ้นตามมาและมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อใกล้วันเลือกตั้ง

 

คนหน้าเดิมเชิงเปรียบเทียบ

อีกไม่เกิน 2 ปี คนหน้าเดิมของสหรัฐอเมริกาก็จะกลับมาเป็นคนหน้าเดิม แต่เปลี่ยนจากประธานาธิบดีมาเป็นคุณโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งแพ้การเลือกตั้ง ถูกตรวจสอบ ถูกถอดถอน แต่เขาก็มี “สิทธิธรรมทางการเมือง” ในฐานะพลเมืองอเมริกันคนหนึ่ง

แต่คนหน้าเดิมที่บ้านเรา ผมไม่ทราบ คาดการณ์ได้ยาก แต่ถ้าดูจาก “สิทธิธรรมทางการเมือง” ก็น่าตกใจและน่าเป็นห่วง

เพราะไม่มี “เรื่อง” อะไรจะอ้างอีกต่อไปแล้ว

————————————————————————————————————————
(1) John McCormick and Mark Niquette, “Democrats Lay Claim to House Control as Republicans Hold Senate” Bloomberg 7 November 2018.
(2) เพิ่งอ้าง.,