วิเคราะห์2ปมร้อน : เมื่อมี ทษช.แล้ว ในที่สุดเพื่อไทยต้องไม่ส่งทุกเขต ? / ‘ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้ง’จำเป็นแค่ไหน ?

“มีผลการศึกษาวิจัยแล้วว่า การมีผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งดำเนินไปอย่างเสรีและเป็นธรรม จะทำให้โอกาสของการประท้วงผลการเลือกตั้งลดลง ไม่งั้นคนแพ้จะไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ เพราะจะอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งโกง แต่ถ้าเปิดให้มีการเข้ามาสังเกตการณ์ อีกฝ่ายหนึ่งก็จะไม่มีข้ออ้างที่จะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง”

ผศ.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่ได้มีโอกาสไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศกัมพูชา เล่าถึงความสำคัญในการเลือกตั้งว่าจะทำอย่างไรให้มีความเสรีและเป็นธรรม

ให้ทุกคนสู้ในวิถีที่เท่าๆ กันได้

ผศ.อรรถสิทธิ์เล่าว่า บางประเทศที่เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยหรือเปลี่ยนจากระบบอื่นมาเป็นประชาธิปไตย “ผู้นำในระบบเก่า” มีความไม่แน่นอนว่าจะทำให้การเลือกตั้งมัน Free และ Fair

ฉะนั้น การสังเกตการเลือกตั้งในทางหนึ่งคือ การทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่าการเลือกตั้งจะมีความเสรีและเป็นธรรม มีการสังเกตการณ์จากภายในและภายนอก ถ้ามีคนไปจับตามองทั้งแบบ Long Term คือ อยู่ก่อนเป็นเดือนๆ เพื่อมาดูว่าระหว่างก่อนการเลือกตั้งมีกระบวนการวิธีอย่างไร?

ข้อสังเกตอีกประการคือ ประเทศที่พัฒนาแล้วที่ได้ให้งบฯ ช่วยเหลือการลงทุนประเทศกำลังพัฒนา เขาก็ต้องการความมั่นใจว่าเงินที่จะเอาไปใช้ในประเทศเหล่านี้ถูกใช้ไปเพื่อประเทศจริงๆ สำหรับประชาชน เพราะว่าถ้าผู้นำที่มาไม่ได้มาจาก “วิธีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์” หรือยุติธรรมจะเกิดการคอร์รัปชั่นได้

ที่สำคัญ ในเชิงทฤษฎีมันถูกพิสูจน์ในทางวิชาการแล้วว่าการสังเกตการณ์การเลือกตั้งมันช่วยให้คนในประเทศตื่นตัวด้วย เราอย่าเพิ่งไปคิดว่ามันจะเกิดผลในระดับชาติหรือระหว่างประเทศ ตั้งแต่ปี 1985 ที่เริ่มมีการสังเกตการณ์กันมากมาย หลายประเทศเริ่มเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย ผลประโยชน์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศนั้นๆ คือ ทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่ราบรื่นและทุกคนยอมรับผล

สำหรับหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์ จะต้องเข้าไปดูกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่การหาเสียงว่ามีการอนุญาตอย่างเท่าเทียมหรือไม่ หรือมีผู้ใช้อำนาจรัฐให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถหาเสียงได้อย่างเต็มที่ ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนรับฟังข้อมูลข่าวสารได้อย่างเต็มที่ พร้อมกับไปดูว่าคนที่มีโอกาสไปเลือกตั้ง เขามีโอกาสอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ แม้แต่ไปดูเรื่องของพรรคตรงข้ามอำนาจเก่า ว่าเขามีโอกาสหาเสียงหรือไม่-โดนกลั่นแกล้งหรือเปล่า

ผมยืนยันว่าการสังเกตการณ์มีความสำคัญมาก ยิ่งในสภาวะของบ้านเราที่ต้องการจะบอกว่าเราเข้าสู่ประชาธิปไตย ท่ามกลางความแตกต่างทางความคิดของสังคม บางทีเราต้องการคนนอกเข้ามาบอก โดยที่ไม่ใช่เป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเชิญมา ผู้ที่จะเข้ามาสังเกตการณ์ต้องเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ และเปิดกว้างอย่างเต็มที่ โดยผ่านการลงทะเบียนมา

ในบางครั้ง ผมมองว่าผู้สังเกตการณ์ก็เหมือนกับ “หุ่นไล่กา” บางคนอาจจะตั้งข้อสงสัยว่าจะได้ผลหรือไม่ แต่หุ่นไล่กามันก็ไล่นกไล่กาได้

เช่นเดียวกัน คนก็จะไม่กล้าทำทุจริต ทำให้คนรู้สึกว่ามีคนจับตาอยู่ตลอด มันเป็นประโยชน์ตรงนี้

ส่วนท่าทีที่คนในรัฐบาลไม่ค่อยตอบรับ เพราะเขาอาจจะมีความไม่ไว้ใจองค์กรภายนอกที่จะเข้ามา ว่าจะเข้ามาจับผิดหรือมองรัฐบาลอย่างไม่เป็นมิตร ทั้งที่จริงไม่ใช่การจับผิด แต่เขาจะมาช่วยเพื่อที่จะมาบอกว่าคุณจะเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมอย่างไร

ฉะนั้น ต้องเปิดใจให้กว้าง ในอีกมุมหนึ่งถ้าการเลือกตั้งมันเสรีและเป็นธรรม ผลที่เกิดจะเป็นคุณกับรัฐบาลมากกว่าด้วยซ้ำ

มองพรรคการเมือง เรื่องคะแนนเสียง

เพื่อไทยต้องไม่ส่งทุกเขต?

ผศ.อรรถสิทธิ์ชี้ว่า ระบบการเลือกตั้งของเรา ทำให้พรรคการเมืองใหญ่หรือพรรคที่ชนะเขตเลือกตั้งจำนวนมากจะมีโอกาสได้เสียงเพิ่มในระบบสัดส่วนน้อย พรรคการเมืองจึงต้องยึดวิธีที่จะทำให้อยู่ในเกมได้ แต่ไม่ผิดกติกา และสามารถยังชนะได้อยู่

พรรคเครือข่ายพรรคพี่พรรคน้อง หรือพรรคอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นเวลานี้ มันเกิดขึ้นมา เพื่อจะช่วยเติมเต็มในเรื่องของ “ปาร์ตี้ลิสต์” ตอนแรกเราอาจจะมองแค่ว่ามีพรรคอื่นๆ เป็นพันธมิตรกันก็พอ แต่การยืมจมูกคนอื่นเขาหายใจ มันเป็นเรื่องที่ไว้ใจไม่ได้ เมื่อเทียบกับการเอาพรรคของตัวเองลงแข่งจะดีกว่า

คำถามสำคัญวันนี้คือ พรรคเพื่อไทยจะจัดวางคนลง ส.ส.เขตอย่างไร

เมื่อเทียบสถิติเดิม ฐานสำคัญอยู่ที่ภาคอีสานและภาคเหนือ จากตัวเลขเดิมอีสานได้ประมาณ 100 เขต และเหนืออีก 50 เขต ซึ่งถือว่าเต็มโควต้าที่ได้แน่นอนแล้ว

จากนั้นมันคือเรื่องของกลยุทธ์ ถ้ามีพรรคที่เกิดขึ้นมาเขาจะส่งผู้สมัครอย่างไรเพื่อไม่ให้ตัดคะแนนกันเอง

เช่น ส่งผู้สมัครในภาคที่ไม่ใช่ฐานเสียง แต่ปัญหาสำคัญที่จะตามมาคือจะหาเสียงอย่างไร? เพราะพรรคฝ่ายตรงข้ามจะโจมตีได้แน่นอนว่า ทำไมไม่ส่งมาเอง ไม่ลงเขตนี้ ไม่จริงใจกับประชาชนหรือ? ปัญหาว่าถ้าเขตเดียวกันส่งคนลงแข่งด้วยกันก็ค้ำอยู่

ผมจึงไม่คิดว่าพรรคเพื่อไทยจะส่งครบทั้ง 350 เขต อาจจะแค่ 200 กว่าๆ ที่ได้แน่นอน อีก 150 ปล่อยโอกาสให้พรรคเหล่านี้ไปลง ในภาคใต้หรือภาคกลางที่ตัวเองไม่มีฐานเสียงแน่นหนา

มองไปที่พรรคไทยรักษาชาติ ถ้าคุณมีฐานเสียงถึง 50,000 ในเขตนั้นๆ คุณก็ชนะได้ ในเขตอื่นๆ อาจจะได้เสียงคนละ 5,000 มารวมกันหลายสิบเขตให้ได้ปาร์ตี้ลิสต์ ในเมื่อตอนนี้เหลือบัตรเพียง 1 ใบ ต้องเลือกทั้งคนที่รัก พรรคที่ชอบ รวมถึงนายกฯ ที่ใช่ คุณจะเลือกใคร

ถ้าเพื่อไทยเล่นเกมให้มีพรรคสาขา คุณก็ต้องอธิบายให้ชัดว่า เขตไหนที่จะไม่ลง ให้พรรคสาขาลงและไปเลือกเขา ถึงแม้ว่าจะรักเรา แต่จะสื่อสารชาวบ้านอย่างไร

นี่คือประเด็นสำคัญมาก 3 Step คือ 1.การสร้างพรรค 2.จะส่งคนลงอย่างไร และสุดท้ายคือ หาเสียงอย่างไร

ผมมองว่าพรรคไทยรักษาชาติควรจะต้อง Position ตัวเองว่าเป็นพรรคที่ไม่หวังเขตเลย มุ่งแต่ปาร์ตี้ลิสต์ คุณจะต้องไม่ส่งไปลงแย่งกับพรรคแม่ในเขตที่ได้ ส.ส.เขต มันจะเป็นการตัดคะแนนกันเองจนอาจจะทำให้ อีกฝั่งหนึ่งชนะก็เป็นได้ มันไม่ใช่เรื่องคุ้ม

ผมจึงมองว่าเพื่อไทยไม่จำเป็นต้องส่งถึง 350 เขต

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ในเกมนี้ ถ้าวางกลยุทธ์ดีๆ จะมีโอกาสได้เยอะ ในภาคใต้เขาจะได้ รวม กทม.และภาคเหนืออีกหน่อย ได้แน่นอนคือ 70-80 เขต

แต่ถ้าเขาเอาคะแนนที่เขาเป็นที่สองที่สามมารวมทั้งประเทศ โดยเฉพาะระบบปาร์ตี้ลิสต์เขาอาจจะได้ถึงรวมแล้ว ส.ส. 100-120 ที่นั่ง โดยไม่จำเป็นต้องมีพรรคสำรองหรือพรรคสาขา เขาสามารถส่งพรรคตัวเองลงได้ในทุกเขตและจะได้คะแนนในระดับ 2 ระดับ 3 จำนวนมาก เราก็ดูจากสถิติที่ผ่านมาได้ แม้ว่าจะไม่ชนะในภาคอื่นแต่มีการเก็บคะแนนได้เยอะ หลักพันหลักหมื่น

นี่จึงเป็นเกมที่ประชาธิปัตย์ไม่เสียอะไรเลย แต่ประเด็นมันอยู่แค่เพียงว่า ประชาชนจะเลือกจนเขาได้รับโอกาสเป็นที่สองที่สามแบบที่ผ่านมาหรือไม่

เขาจะต้องปรับกลยุทธ์ตัวเองทำให้ประชาชนอยากเลือก

ขณะที่พลังประชารัฐอยู่ตรงไหนในเกมนี้ ผมมองว่าเขาต้องวางตัวเอง 2 แบบคือ

1.ลงเขตที่คุณมั่นใจ แต่คุณต้องพยายามทำตัวเองให้ที่ 3 ที่ 2 ในเขตเลือกตั้งหนึ่ง มีผู้ใช้สิทธิ์อยู่ประมาณ 150,000 คน คนอาจจะออกมาใช้สิทธิ์ 1 แสนคน ผู้ชนะที่ 1 อาจได้ 50,000 เสียง คุณต้องไม่ลืมว่ามันยังเหลืออีกประมาณ 50,000 คะแนน ที่มีความหมาย ก็ไปแบ่งให้พรรคต่างๆ เก็บรวมกันทั่วประเทศ

นี่คือความได้เปรียบของพรรคที่จะไม่ชนะเขต

ติดตามการวิเคราะห์เขตการเลือกตั้งและทิศทางพรรคการเมืองต่างๆ ได้ที่