หกตุลารำลึก : ความผันแปรของสงคราม l สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หกตุลารำลึก (7) ความผันแปรของสงคราม

“เมื่อใดก็ตามที่ประเทศหนึ่งประเทศใดตกอยู่ภายใต้การยึดครองของคอมมิวนิสต์ [เมื่อนั้น] ความเข้มแข็งของโลกเสรีและของสหรัฐจะอ่อนแอลง และคอมมิวนิสต์จะเข้มแข็งขึ้น”

ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์

ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อย่างมากก็คือความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ และสหรัฐมีบทบาทอย่างมากกับการกำหนดทิศทางความมั่นคงของไทย

ดังนั้น ในขณะที่สงครามเวียดนามทวีความรุนแรงมากขึ้น ประเทศไทยถูกแปลงเป็นฐานทัพขนาดใหญ่สำหรับการสงครามของสหรัฐในอินโดจีน

สภาวะเช่นนี้ทำให้ผู้นำทหารไทยในขณะนั้นมีความรู้สึกเชื่อมั่นในพลังอำนาจของสหรัฐอย่างมาก

และเชื่อเสมอว่าการปกป้องไทยของสหรัฐจะไม่เปลี่ยนแปลงไป

ในเงื่อนไขของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับสหรัฐ ผู้นำทหารไทยจึงไม่มีข้อสงสัยใดๆ ว่าจะเกิดความพลิกผันกับทางฝ่ายของสหรัฐหรือไม่

แม้สหรัฐจะส่งสัญญาณถึงการลดภาระสงครามภายใต้ “หลักการนิกสัน”

แต่สงครามทางอากาศไม่ได้ลดลง และสงครามยังขยายตัวเข้าสู่สนามรบในกัมพูชา ซึ่งก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ผู้นำไทยว่า สหรัฐจะไม่ทอดทิ้งพันธะทางทหาร

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เงื่อนไขภายในของสังคมอเมริกันเองก็กำลังก้าวสู่ความขัดแย้งมากขึ้น

และเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ท้าทายต่อความคาดหวังด้านความมั่นคงของไทย

ผู้นำไทยอาจจะไม่ค่อยตระหนักถึงความผันแปรนี้

ร่มยุทธศาสตร์ของอเมริกา

ในยุคจอมพลถนอมได้เห็นถึงการขยายกำลังรบของสหรัฐหลังจากวิกฤตการณ์อ่าวตังเกี๋ย รัฐบาลไทยในที่สุดได้เข้าร่วมรบกับกองทัพสหรัฐในอินโดจีน อาจจะไม่แตกต่างจากยุคจอมพลแปลก ที่เคยเข้าร่วมรบกับสหรัฐในสงครามเกาหลีมาแล้ว

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังอำนาจทางทหารของสหรัฐ หรือที่เรียกด้วยภาษาในยุคสงครามเย็นว่า ผู้นำทหารไทยมั่นใจที่จะอยู่ภายใต้ “ร่ม” คุ้มครองทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐ (American Umbrella)

และความสัมพันธ์เช่นนี้เป็นไปโดยผู้นำทหารไทยไม่เคยตั้งคำถามใดๆ ทั้งสิ้น

และไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้นเช่นกัน

เช่น ผู้นำทหารไทยไม่เคยถามว่า สหรัฐควรจะเข้าไปทำสงครามในเวียดนามหรือไม่

หากมีแต่ความเชื่อมั่นเสมอว่า อำนาจอันทรงพลังของความเป็นมหาอำนาจนั้น สหรัฐจะเป็นฝ่ายชนะในการต่อสู้กับสงครามคอมมิวนิสต์

ผลที่ตามมาของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างประเทศทั้งสองก็คือ สหรัฐได้ขยายกำลังรบในไทยอย่างมาก

โดยในปี 2508 สหรัฐมีเครื่องบินรบประจำการในไทย 200 ลำ และกำลังพลทหารอากาศ 9,000 นาย และกำลังพลทหารบก 1,400 นาย

และในปี 2509 กำลังรบดังกล่าวขยายเพิ่มขึ้นเป็นเครื่องบินรบถึง 400 ลำ และกำลังพลทหารอากาศเป็น 25,000 นาย (ในขณะนั้นกองทัพอากาศไทยมีขนาดเล็กมาก)

ในปีนี้เองที่หน่วยกำลังทางอากาศของสหรัฐได้ทำการฝึกการต่อต้านการก่อความไม่สงบทางอากาศ พร้อมกับจัดหาเฮลิคอปเตอร์เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการนี้ของกองทัพบกไทย

นอกจากนี้ หน่วยรบพิเศษของสหรัฐได้เริ่มทำการฝึกกำลังพลของกองทัพบกไทยอีกด้วย

ทำให้ในตอนปลายปี 2509 สหรัฐมีกำลังทหารบกในไทยเพิ่มเป็น 8,000 นาย

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐได้ยกระดับมากขึ้นในปี 2510 ด้วยการที่สหรัฐได้นำเอาเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่แบบบี-52 เข้าประจำการที่ฐานทัพอู่ตะเภา ส่งผลให้สหรัฐในปี 2511 มีเครื่องบินรบในไทยมากถึง 589 ลำ

และกำลังรบของสหรัฐอยู่ในระดับสูงสุดในต้นปี 2512 ด้วยจำนวนกำลังพลสูงถึง 48,000 นาย (เทียบกับปี 2508 ที่กำลังราว 10,400 นาย)

ในขณะที่สหรัฐปรับนโยบายและนำไปสู่การลดกำลัง จึงทำให้จากกลางปี 2512 เป็นต้นมา สหรัฐเริ่มลดกำลังพลในไทยลง

แต่ในปี 2513 สหรัฐได้เพิ่มจำนวนบี-52 ที่อู่ตะเภา และปฏิบัติการโจมตีทางอากาศยังคงดำเนินต่อไป

สงครามกัมพูชา

ประเด็นสำคัญสืบเนื่องก็คือ สงครามได้ขยายเข้าไปในกัมพูชา จน “การบุกกัมพูชา” กลายเป็นส่วนต่อขยายของสงครามเวียดนาม หรือที่นายพลอเมริกันเรียกว่าปฏิบัติการ “ข้ามรั้ว” เข้าไปในกัมพูชา

และสหรัฐยังสนับสนุนกลุ่มทหารของนายพลลอนนอลทำรัฐประหารล้มรัฐบาลของเจ้าสีหนุ เพื่อรองรับต่อการขยายสงคราม

โดยมีความเชื่อว่า “ศูนย์ควบคุมทางยุทธการ” ของเวียดนามเหนือ (COSVN) ตั้งอยู่ในกัมพูชา

ปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐและกองทัพเวียดนามใต้เป็นไปอย่างหนัก

เช่น ในช่วงหนึ่งเดือนของยุทธการ Patio การโจมตีทางอากาศยุทธวิธีมีจำนวน 210 เที่ยวบินต่อวัน และการโจมตีด้วยเครื่องบินบี-52 อีก 653 เที่ยว และตามรายงานของกระทรวงกลาโหมอเมริกัน การโจมตีทางอากาศของสหรัฐในกัมพูชาจากเดือนกรกฎาคม 2513 ถึงกุมภาพันธ์ 2514 มีจำนวนมากกว่า 8,000 เที่ยวบิน

รายละเอียดบางประการเช่นนี้เป็นเครื่องยืนยันสำหรับรัฐบาลไทยอย่างดีว่าคอมมิวนิสต์เวียดนามในกัมพูชากำลังถูกกวาดล้างออกไป และจะมีผลให้ความมั่นคงไทยมีมากขึ้น

สถานการณ์ชุดนี้ได้ลากเอารัฐไทยเข้าไปร่วมด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะการจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายขวาที่พนมเปญคือ การสร้าง “แนวกันชน” ที่ดีสำหรับรัฐไทย

และขณะเดียวกันการกำเนิดของรัฐบาลฝ่ายขวาในภูมิภาคจึงเป็นดัง “แกนฝ่ายขวา” ที่เชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพฯ-ไซ่ง่อน-เวียงจันทน์-พนมเปญ เข้าด้วยกัน

และแกนเช่นนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่นคงไทย

ในสภาวะเช่นนี้ สงครามของสหรัฐในอินโดจีนได้กลายเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงไทย และเชื่อโดยไม่ต้องสงสัยว่าสหรัฐชนะแน่นอน

เช่น เชื่อว่าการบุกกัมพูชาได้ทำลายกองบัญชาการใหญ่ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่ควบคุมการยุทธ์ในเวียดนามใต้ได้ทั้งหมด

ในความเป็นจริงกองบัญชาการเช่นนี้จะมีหรือไม่ก็ไม่ชัดเจน หรือสุดท้ายแล้วกองบัญชาการนี้ถูกทำลายหมดจริงหรือไม่ก็ไม่ชัดเจนเช่นกัน

แต่ปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐมีขนาดใหญ่ ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงสัปดาห์แรกของการยุทธ์นั้น กำลังของสหรัฐและเวียดนามใต้ที่ใช้มีจำนวนมากถึง 90,000 นาย ตัวอย่างเช่นนี้เป็นความมั่นใจว่า ปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐจะช่วยให้การคุกคามของคอมมิวนิสต์จากอินโดจีนต่อไทยถูกจำกัดไว้ได้

แต่ผู้นำไทยไม่เคยมีคำถามว่า การขยายสงครามเวียดนามเข้าไปในกัมพูชานั้น จะเกิดอะไรกับสังคมอเมริกัน

ความมั่นใจทางยุทธศาสตร์

คู่ขนานกับการอนุญาตของรัฐบาลทหารให้สหรัฐใช้ฐานทัพในไทยก็คือ การตัดสินใจส่งกำลังพลอาสาสมัครเข้าทดแทนความต้องการกำลังเพิ่มเติม ที่รัฐบาลวอชิงตันไม่อาจเกณฑ์เกินจากระดับที่มีได้

กองพลอาสาสมัครจากชุดจงอางศึกสู่ชุดเสือดำจึงเป็นอีกส่วนที่สะท้อนความแนบแน่นระหว่างกรุงเทพฯ กับวอชิงตัน

กำลังพลของไทยในเวียดนามมีมากถึง 11,000 นาย โดยสหรัฐเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด

สนามรบในเวียดนามจึงเป็นช่วงเวลาที่ทหารไทยถูก “หล่อหลอม” จากปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐ จึงไม่แปลกอะไรที่ชุดความคิดทางยุทธการในแบบ “ค้นหาและทำลาย” ของทหารสหรัฐจะมีอิทธิพลต่อกองทัพไทยในสงครามในชนบท พร้อมกันนี้สหรัฐได้จัดหาอาวุธเพิ่มเติมให้แก่กองทัพไทยเพื่อป้องกันการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การจัดส่งอาวุธปล่อย (จรวด) จากพื้นสู่อากาศ

สถานการณ์เช่นนี้คือภาพสะท้อนอย่างชัดเจนของการแสวงหาหลักประกันด้านความมั่นคงของผู้นำไทย สหรัฐจึงมีสถานะเป็น “เสาหลัก” ของความมั่นคงไทย

สงครามเวียดนามไม่เพียงสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ผู้นำทหารไทยว่าพลังอำนาจทางทหารเป็นปัจจัยหลักที่จะเอาชนะสงคราม แต่ยังสร้างความมั่นใจว่า สหรัฐจะใช้พลังอำนาจที่มีอยู่เช่นนี้ทำลายภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนได้ และรัฐไทยจะดำรงอยู่อย่างปลอดภัย

แต่ดูเหมือนผู้นำทหารไทยไม่ตระหนักว่า ผลประชามติตั้งแต่ปี 2510 แล้วที่คนส่วนใหญ่ในสังคมอเมริกันมีความเห็นว่า การมีบทบาทของสหรัฐในเวียดนามเป็นสิ่งที่ผิดพลาด

ความผันแปรที่คาดไม่ได้

สงครามนำไปสู่การขยายตัวของ “ขบวนการต่อต้านสงคราม” ในสังคมอเมริกัน และผลจากการขยายสงครามเข้าไปในกัมพูชาทำให้มีการฟ้องรัฐบาลอเมริกันในศาล (The Schlesinger v. Holtzman Case) โดยศาลนิวยอร์กได้สั่งให้ทหารอเมริกันยุติการรบในกัมพูชา และมีการฎีกาในเวลาต่อมา อีกครั้งที่ศาลได้สั่งให้ทหารสหรัฐยุติการทิ้งระเบิดในกัมพูชา แต่กองทัพก็ไม่ได้สนใจคำสั่งศาลในครั้งนี้

ผลที่เกิดขึ้นก็คือการขยายตัวของการประท้วงต่อต้านสงครามในมหาวิทยาลัย การประท้วงที่ The Kent State University ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2513 จบลงด้วยการเสียชีวิตของนักศึกษา 4 คน เนชั่นแนลการ์ดของรัฐโอไฮโอยิงนักศึกษา

อีกสองวันต่อมาตำรวจทำร้ายนักศึกษาที่ State University of New York at Buffalo ที่ก่อการประท้วง บาดเจ็บ 4 คน และที่ Jackson State College นักศึกษาถูกตำรวจยิงเสียชีวิต 2 คนและมีผู้บาดเจ็บ 12 คน

การเสียชีวิตของนักศึกษานำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่าผู้นำไทยตระหนักถึงปัญหาที่ก่อตัวเป็นความขัดแย้งในสังคมอเมริกันเพียงใด

การประท้วงใหญ่เกิดขึ้นที่วอชิงตันในต้นเดือนพฤษภาคม และมีผู้เข้าร่วมประท้วงมากกว่าหนึ่งแสนคน

และการประท้วงที่ซานฟรานซิสโกมีผู้เข้าร่วมมากกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นคน

การต่อต้านสงครามเวียดนามในปี 2513 นำไปสู่การประท้วงใหญ่ของนักศึกษาอเมริกันทั่วประเทศ (หรือที่เรียกว่า “The Student Strike of 1970”) โดยมีนักศึกษาและนักเรียนเข้าร่วมมากกว่าสี่ล้านคนจากมหาวิทยาลัยและโรงเรียน 450 แห่ง

สงครามกลายเป็นโจทย์ทางการเมืองชุดใหญ่ของสังคม และขณะเดียวกันก็กลายเป็นความแตกแยกครั้งใหญ่ของสังคมด้วย ในการประท้วงได้มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการเผาอาคารเรียนของนักศึกษาวิชาทหาร (ROTC)

และอีกด้านก็แสดงออกด้วยการเผาหมายเกณฑ์ทหาร อันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดอย่างต่อเนื่อง

บทบาทของคนหนุ่มสาวกับการต่อต้านรัฐบาลไม่ใช่เรื่องใหม่ในชีวิตของนักศึกษา

และในครั้งนี้การต่อต้านสงครามเวียดนามดำรงอยู่ในมหาวิทยาลัยอเมริกันในอีกหลายปีต่อมา และนำไปสู่กระแสกิจกรรมนักศึกษา (student activism) ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสี่ขบวนใหญ่คือ ขบวนการสิทธิเสรีภาพ ขบวนการสิทธิสตรี ขบวนการต่อต้านสงคราม และขบวนการต่อต้านวัฒนธรรม (ได้แก่พวกบุปผาชนหรือฮิปปี้)

แต่ทั้งหมดนี้คือขบวนการต่อต้านอำนาจรัฐ

Ray Price ผู้เขียนสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีนิกสันกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า

“นี่ไม่ใช่การประท้วงของนักศึกษา แต่นี่เป็นสงครามกลางเมือง” หรือ Charles Colson ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีนิกสันในช่วงปี 2512-2516 ได้เล่าบรรยากาศถึงขนาดที่มีการนำเอาหน่วยกำลังรบมาเพื่อป้องกันการบุกของนักศึกษาเข้าอาคารทำเนียบขาว

เขากล่าวถึงสภาพเช่นนี้ว่า “นี่ไม่ใช่สหรัฐอเมริกา นี่ไม่ใช่ประเทศที่มีเสรีภาพมากที่สุดในโลก แต่นี่กำลังเป็นชาติที่อยู่ในภาวะสงครามกับตัวเอง”

ในขณะเดียวกันกระแสต่อต้านสงครามเวียดนามได้ขยายตัวออกสู่เวทีโลกด้วย

มีการประท้วงตามเมืองใหญ่ในยุโรปและในออสเตรเลีย จนกระแสนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระแสคนหนุ่มสาวทั่วโลก

และขณะเดียวกันก็สอดรับกับกระแสการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในฝรั่งเศสในปี 2511 (หรือที่เรียกว่าการปฏิวัติ 1968)

กระแสชุดนี้นำพานักศึกษาออกสู่ท้องถนนเพื่อการประท้วง จนอาจเรียกว่าเป็นการก่อตัวของ “วัฒนธรรมการประท้วง” ของคนหนุ่มสาว

และปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสนักศึกษาไทยส่วนหนึ่งก็อยู่ในบริบทของกระแสโลกชุดนี้ด้วย

และอาจกล่าวเชิงเปรียบเทียบได้ว่า ขบวนคนหนุ่มสาวในการเมืองไทยจากปี 2516-2519 ก็คือผลผลิตของกระแสดังกล่าวที่ผสมผสานเข้ากับเงื่อนไขของการเมืองภายในของไทย…การประท้วงรัฐบาลทหารในไทยมีนัยเดียวกันกับการประท้วงสงครามในโลกตะวันตก เพราะเป็นการประท้วงของคนหนุ่มสาวเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐ

ไม่มีความชัดเจนว่า ผู้นำทหารไทยตระหนักมากน้อยเพียงใดว่าสงครามของสหรัฐถึงจุดของความเปลี่ยนแปลงแล้ว

เพราะในทางการยุทธ์นั้น การรุกในเทศกาลตรุษญวนในต้นปี 2511 คือสัญญาณว่าสหรัฐอาจไม่ชนะสงคราม และการประท้วงสงครามที่ขยายตัวไม่หยุดโดยเฉพาะหลังการบุกกัมพูชาและการเสียชีวิตของนักศึกษาในปี 2513 คือสัญญาณว่าสหรัฐกำลังแพ้สงครามในบ้านตัวเอง ในสภาวะเช่นนี้กระแสต่อต้านสงคราม กระแสต่อต้านรัฐบาล ผนวกเข้ากับวิกฤตการณ์คดีวอเตอร์เกต และเมื่อควบรวมเข้ากับการเจรจาเพื่อยุติสงครามแล้ว

คำตอบมีเพียงประการเดียวว่า ถึงเวลาที่สหรัฐจะต้องกลับบ้านจริงๆ แล้ว ถ้าเช่นนั้น รัฐไทยจะจัดการกับความอยู่รอดของตนอย่างไร และทั้งหมดคือการสะสมความกลัว “อเมริกาทิ้งไทย” ในอนาคตนั่นเอง!