เรื่องจริง! สิงคโปร์ก็ไล่ออกมา มาเลเซียก็ไม่ให้เข้า : สิ่งที่ผมไม่รู้เกี่ยวกับการขี่มอเตอร์ไซค์จากเชียงใหม่ ไปสิงคโปร์

สิ่งที่ผมไม่รู้เกี่ยวกับการขี่มอเตอร์ไซค์จากเชียงใหม่ ไปสิงคโปร์ (18)

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชี้ให้จอดในตำแหน่งเฉพาะตำแหน่งหนึ่ง แล้วก็ขอให้เราเปิดกระเป๋า ระหว่างที่รอเราค่อยๆแกะกระเป๋าออก ก็เริ่มยิงคำถาม … เป็นคำถามระดับความมั่นคงของชาติ เป็นคำถามแรกสุด

“ยูมีหมากฝรั่งมาไหม”

หมากฝรั่งเป็นเรื่องต้องห้ามสำคัญอย่างหนึ่งที่นี่ ด้วยเหตผลอะไรก็ไม่แน่ใจนัก แต่เดาว่าเพราะสิงคโปร์เป็นประเทศที่สะอาดมาก หมากฝรั่งทำความสะอาดได้ยากเมื่อถูกทิ้งอย่างไม่ถูกต้อง มันจึงถูกห้าม แต่นี่อาจไม่ใช่ข้อเท็จจริง เป็นการเดาล้วนๆ

และหากใครมีความจำเป็นจะต้องเคี้ยวหมากฝรั่ง ต้องมีใบรับรองจากแพทย์มาด้วยทีเดียว

“ไม่มี” ผมตอบ

“ยูเอาบุหรี่มาไหม” “ไม่ได้เอามา ไอไม่สูบบุหรี่”

แปลกใจว่าจะถามทำไม แต่มาเข้าใจภายหลังว่าราคาบุหรี่ในสิงคโปร์แพงกว่าในมาเลเซียมากอยู่ พอกระเป๋าพร้อมจะให้ตรวจเขาก็บอก

“โอเค ไม่ตรวจละ” ผมก็เก็บกระเป๋าขึ้นรถไว้ตามเดิม แล้วถือเอกสารเดินไปที่สำนักงานตามที่เจ้าหน้าที่บอก อาหารเช้าที่ถนนออร์ชาร์ดกลับมาในจิตใจอีกครั้ง

สำนักงานดูเหมือนเป็นเอกชน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ มีจุดประสงค์หลักในการทำพาสปอร์ทให้มอเตอร์ไซค์ หรือบัตรที่ใช้ข้ามประเทศอย่างมีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม บัตรที่มอเตอร์ไซค์คันอื่นๆเขามีนั่นเอง

การตรวจสอบเอกสารเป็นไปอย่างเข้มข้นมาก ตรวจทั้งตัวจริง และสำเนา ละเอียดเลยไปถึงเอกสารประกันภัยของมาเลเซีย และ พรบ.ของบ้านเรา หากหมดอายุก็เป็นอันหมดสิทธิ์ …

“เอกสารยูเตรียมมาดีมาก แต่ขาดไปหนึ่งอย่าง” “ยูต้องติดต่อไปที่บริษัทนี้เพื่อทำประกันภัย” เขายื่นเอกสารให้ผม ผมบอกตกลง ไอจะทำประกันภัยตอนนี้เลยก็แล้วกัน … แต่จะทำยังไง

สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสิงคโปร์ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป ไม่อนุญาตให้ใช้อินเตอร์เนท ไม่อนุญาตให้ใช้โทรศัพท์ ผมใช้ทั้งหมดนั่น โดยไม่ทันสังเกตป้ายเตือน และส่งเรื่องราวไปให้ทีมของผมที่เชียงใหม่ลองติดต่อดู แต่ยังไม่ทันจะสื่อสาร ในที่สุดผมก็ถูกห้ามไม่ให้ใช้

“โอเค ไอจะนั่งแทกซี่เข้าไปที่บริษัทนี้ แล้วทำประกันภัยแล้วกลับมา ไอฝากรถไว้แป๊บนึง” “ถ้ายูออกไปแล้วไม่กลับมาในชั่วโมงครึ่ง รถยูจะถูกตำรวจลากไป และไอจะบอกยูก่อนว่า ยูไม่อยากจะมีเรื่องกับตำรวจหรอก” ผมถามกลับ “แล้วยูแนะนำว่าไอควรจะทำอย่างไร” “ยูกลับไปมาเลเซีย แล้ว ออกจากมาเลเซียมาโดยการนั่งรถทัวร์เข้ามาสิงคโปร์ จากนั้นนั่งแทกซี่ไปทำประกัน แล้วนั่งแทกซี่มาที่ด่านสิงคโปร์ แล้วออกจากด่านสิงคโปร์ เข้าไปที่ด่านมาเลเซีย แล้วก็เอามอเตอร์ไซค์ยู แล้วก็ข้ามด่านมาเลเซีย เข้ามาที่ด่านสิงคโปร์ใหม่อีกครั้ง”

อืม …. อาชญากรข้ามชาติ … คำศัพท์ที่เคยได้ยินในข่าว … มันคงจะต้องข้ามไปข้ามมาระหว่างประเทศอย่างนี้แน่ๆ

ผมคิดในใจ ตลกละ แบบนี้ไม่อยากให้เราประเทศนี่หว่า

“ประเทศยูก็เป็นประเทศที่เจริญแล้วนะ ประเทศที่เจริญแล้วน่าจะมีวิธีการที่ดีกว่านี้ แบบนี้ไอคงไม่เอาด้วย”

ผมตอบแบบฉุนๆ

“ก็แล้วแต่ยู ไอไม่สามารถทำอะไรได้ และอีกไม่นานก็จะครบเวลาที่รถตำรวจจะมาเอารถยูไป , ยูไม่อยากมีเรื่องกับตำรวจหรอก”

ผมโมโหละตอนนี้ ไม่มีเหตผลสิ้นดี ข้อมูลเหล่านี้ก็ไม่ได้เขียนไว้ในเวปให้ทำความเข้าใจได้โดยง่าย แต่ดูเหมือนความโมโหก็ช่วยอะไรไม่ได้

ที่บ้านเรา ที่กฎก็คือสิ่งที่เขียนไว้ หากมีหนทางที่สะดวก กฎก็จะถูกใช้อีกแบบหนึ่ง หากไม่ยอมใช้หนทางที่สะดวก กฎก็คือกฎ … มันจะถูกใช้อีกแบบหนึ่ง

แต่ที่สิงคโปร์ กฎก็คือกฎ และมันจะไม่เป็นอย่างอื่น

ผมเลยถามอีกครั้ง “ยูแนะนำไออีกทีว่าไอควรจะทำอะไร” เขาตอบว่า “ยูเอารถกลับไปมาเลเซีย แล้วจอดมอเตอร์ไซค์ยูไว้ที่นั่น แล้วเที่ยวสิงคโปร์โดยใช้รถไฟฟ้าดีกว่า”

นั่นไง … ความจริงปรากฏ …. สิงคโปร์ไม่อยากให้รถเข้าไปวิ่งเพ่นพ่านในประเทศมากนัก

ในที่สุดด้วยเวลาที่บีบคั้น และไม่มีทางเลือกอื่นใดอีก ผมก็ยอมออกไป

ทิ้งอาหารเช้าที่ถนนออร์ชาร์ดไปอย่างเสียดาย

ออกไปอย่างท้อแท้ใจ แต่ไม่ยอมแพ้ … ออกไปแต่โดยดี ก่อนจะจากกันเขาคงเห็นแววตาไม่ยอมแพ้นั่น เลยบอกว่า “ถ้ายูจะเข้ามาอีก ยูไปอีกด่านหนึ่งก็ได้ มันเป็นด่านใหม่ มีค่าใช้จ่ายนิดหน่อย แต่สะดวกสบายกว่า”

เจ้าหน้าที่มาพาผมไปที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อจะยกเลิกการให้เข้าประเทศของผม และขอพาสปอร์ทผมไว้

สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสนใจแต่เพียงว่า ผมต้องออกจากประเทศของเขาบัดเดี๋ยวนี้ โดยไม่ได้สนใจสาเหตว่า เป็นเพียงเอกสารประกันฉบับหนึ่ง ตามกฎหมายของสิงคโปร์เท่านั้นเอง

การปฏิเสธก็คือการปฏิเสธ การไม่ต้อนรับก็คือการไม่ต้อนรับ คุณต้องทำอะไรไม่ถูกต้องบางอย่าง และถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนจะพูดกับผมอย่างสุภาพเรียบร้อย แต่ความรู้สึกก็ผุดขึ้นมาในใจ …

“ไปรอตรงนั้น” ไม่มีรอยยิ้ม ไม่มีความรู้สึกต้อนรับ ด้วยความลืมตัว เอาโทรศัพท์ขึ้นมากดเพื่อหาข้อมูล และพยายามสื่อสารกับทีม “ห้ามใช้โทรศัพท์ที่นี่” ความรู้สึกนั้นเข้มข้นขึ้น …

ผ่านไปอีกพักใหญ่ๆ เขาก็เรียกผมไปที่โต๊ะ ปั้มในพาสปอร์ทยกเลิกการอนุญาติให้เข้าประเทศ และแจ้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในชุดคล้ายตำรวจให้พาผมออกไป ความรู้สึกนั้นเข้มข้นขึ้นมาก … ผมเป็นอาชญากรคนหนึ่ง

เจ้าหน้าที่เดินมาอยู่ข้างหน้าผมหนี่งคน เดินมาอยู่ข้างหลังผมหนึ่งคน ผมอาจจะคิดไปเอง หรืออาจจะดูหนังมากไป แต่ผมรู้สึกนั้นยังคงเข้มข้นขึ้นไปอีก ผมรู้สึกเหมือนกับว่า มือสองข้างของผมมีกุญแจมือร้อยอยู่ เขาพาผมไปที่รถ

เมื่อถึงรถเจ้าหน้าที่ขอกุญแจผมไว้แล้วให้ผมเข็นรถตามเขาไป ความรู้สึกเข้มข้นขึ้นไปอีก ราวกับมีโซ่ตรวนเพิ่มมาร้อยไว้ที่ตาตุ่มสองข้าง

เจ้าหน้าที่เดินอยู่ข้างหน้าหนึ่งคน ข้างหลังหนึ่งคน และถึงแม้ว่าเขาจะปฏิบัติต่อผมอย่างสุภาพเรียบร้อย แม้กระทั่งถามว่า “ยูเข็นไหวไหม ถ้าไม่ไหวไอจะช่วยเข็น”

“ไหว” แล้วเขาก็นำผมไป ข้ามถนนไป ลัดเลาะไปตามด่าน ท่ามกลางสายตาของเหล่ามอเตอร์ไซค์ผู้มีบัตรที่มีประสิทธิภาพเหล่านั้น

เจ้าหน้าที่นำผมไปจนถึงประตูลูกกรงอันหนึ่งที่มีกุญแจล็อกไว้ เขาไขกุญแจ เสมือนว่าจะส่งผมเข้าไปอยู่ในคุก … พอประตูเปิดเขาก็ให้ผมเข็นออกไป แล้วก็ยื่นกุญแจรถให้ ชี้ไปทางมาเลเซีย “โน่น ยูขี่ไปทางโน้นเลย”

ผมติดเครื่อง ขี่เจ้าสองสูบเสียงเพราะซึ่งตอนนี้เสียงมันค่อนข้างจะเศร้าสร้อย

และยังร้องบอกว่าหิว ด้วยสัญญานเตือนน้ำมันหมดบนหน้าปัทม์

ออกจากด่านวู้ดแลนด์ที่สิงคโปร์มุ่งหน้าสู่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซีย

ผมพึ่งผ่านด่านมาเลเซียไปตอนเก้าโมงกว่า ตอนนี้สิบเอ็ดโมงกว่า ผมกลับมาที่เดิมอีกครั้ง และเมื่อยื่นพาสปอร์ทให้ เขาก็บอกให้ผมไปจอดเจ้าสองสูบไว้ เขาจะไปคุยกับหัวหน้าเขาก่อน ….

สมองป้อนความคิดที่เพิ่มความกังวลให้ตัวเองในทุกๆวินาที “เข้ามาเลเซียไม่เคยยากอย่างนี้” “ทุกทีไม่เห็นต้องคุยกับหัวหน้า”

ความตึงเครียดยังไม่ลดลงถึงแม้จะอยู่หน้าด่านในมาเลเซีย เคยได้ยินในหนังมีคนติดอยู่ระหว่างสองประเทศ ไปไหนไม่ได้

“สิงคโปร์ก็ไล่เราออกมา มาเลเซียก็ไม่ให้เข้า” หนังเรื่อง เดอะเทอร์มินัล ของทอม แฮงค์ ลอยเข้ามาในหัว…. “ติดอยู่ระหว่างกลางนี่จะทำยังไง … ชีวิตบัดซบแท้”