วิช่วลคัลเจอร์/ กูเต็นแบร์กเชิงเปรียบเปรย (1)

วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์

 

กูเต็นแบร์กเชิงเปรียบเปรย (1)

 

แม้เวลาจะผ่านไปถึงห้าร้อยกว่าปี โยฮันน์ กูเต็นแบร์ก และหนังสือกระดาษ รวมทั้งแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์ตะกั่ว ซึ่งเป็นประดิษฐกรรมในศตวรรษที่ 15 ของเขา ถูกพูดถึงในแง่สูงส่งเสมอ

การพิมพ์เป็นสัญลักษณ์แห่งความเปลี่ยนแปลงในเชิงก้าวหน้าและปฏิวัติ บางคนพูดถึงหนังสือในแง่ที่เป็นสื่อใหม่ หรือเดอะนิวมีเดีย โดยยกย่องให้เป็นประดิษฐกรรมที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ และเปลี่ยนโลกทั้งในแง่เทคโนโลยีและสังคม

แม้แต่คาร์ล มาร์กซ์ ก็พูดถึงการพิมพ์ในเชิงนี้ การ์ตูนการเมืองปี พ.ศ.2386 เป็นรูปมาร์กซ์กับแท่นพิมพ์ที่ถูกมัดไว้ด้วยกัน ในขณะที่นกอินทรี ซึ่งหมายถึงรัฐบาลปรัสเซีย จิกท้องเขาจนไส้ไหล รูปนี้พูดถึงการปิดไรนิช ไซตุง (Rheinische Zeitung) หนังสือพิมพ์ที่เขาเคยเป็นบรรณาธิการ

งานในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้น่าสนใจเพราะชี้ให้เห็นบุคลิกและพัฒนาการของผู้เขียนขณะอายุยี่สิบกว่าขวบ ส่วนหนึ่งของชีวิตวัยนี้ปรากฏในหนังชื่อ “The Young Karl Marx” ซึ่งออกฉายเมื่อต้นปีนี้ พูดถึงช่วงก่อนที่มาร์กซ์จะเขียน The Communist Manifesto และ das Capital ที่ลอนดอน

ขณะนั้นการพิมพ์แพร่หลายไปทั่วโลกแล้ว ดี บี บรัดเล หรือมิชชันนารีอเมริกันผู้นำการพิมพ์มาสู่สยามในศตวรรษที่ 19 ได้พิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่นและคัมภีร์ครรภ์รักษาราวปี พ.ศ.2383 หรือสมัยรัชกาลที่ 3 และออกหนังสือพิมพ์ชื่อจดหมายเหตุหรือบางกอกรีคอร์เดอร์ในอีกห้าปีต่อมา

ชื่อของรูปคือ Marx as Prometheus chained โปรเมเทอุส เป็นเทพผู้ขโมยไฟจากสวรรค์มาสู่โลก และเปรียบเสมือนนำการปลดปล่อยมาให้มนุษย์ ในหนังสือ To The Finland Station เอ็ดมัน วิลสัน ซึ่งเป็นนักเขียนชาวอังกฤษ บอกว่าเทพกรีกองค์นี้เป็นผู้ที่มาร์กซ์สนใจเป็นพิเศษ และในงานเขียน เขาได้เปรียบว่าตนเองหรือชนชั้นกรรมาชีพอีกหลายครั้ง

สำหรับดี บี บรัดเล ผู้พิมพ์หนังสือพิมพ์และหนังสือออกมามากมายช่วงนั้น ถูกยกย่องในแง่ก้าวหน้าและปฏิวัติเช่นกัน โดยเฉพาะก่อนที่การพิมพ์จะถูกคุกคามโดยรัฐ และคำว่า “ล่ามโซ่แท่นพิมพ์” จะเป็นที่รู้จักกัน บางคนยกให้หนังสือพิมพ์ของเขาเป็นสื่อใหม่ บางคนยกให้เป็นจุดเริ่มของปริมณฑลสาธารณะ หรือ Public Sphere และบางคนยกให้เป็นเมล็ดพันธุ์ของเสรีนิยมของสยาม

ที่น่าสังเกตคือ แท่นพิมพ์ในรูปของมาร์กซ์ใช้กลไกแบบเดียวกับสมัยกูเต็นแบร์กทุกประการ กล่าวคือ แม้ในช่วงนั้นจะมีแท่นพิมพ์อัตโนมัติที่ใช้ไอน้ำของโคนิก และแท่นพิมพ์ในรูปจะทำด้วยโลหะหล่อแล้ว แต่ก็ยังเหมือนแท่นพิมพ์แบบเก่าซึ่งห่างกันราวสามร้อยปี

แท่นพิมพ์และหนังสือสมัยแรกของบรัดเลก็เช่นกัน จะเป็นเพราะดีไซน์ดี หรือดังที่อุมแบร์โต เอโค นักเขียนอิตาลี สรรเสริญว่า หนังสือเหมือนลูกล้อหรือช้อน ซึ่งพอประดิษฐ์ได้ก็เพอร์เฟ็กต์และไม่ต้องพัฒนาอีกก็ตาม ยังใช้กลไกที่เหมือนสมัยกูเต็นแบร์กทุกประการ

 

ทุกวันนี้สื่อใหม่ซึ่งอยู่ในคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ และเครือข่ายสื่อสารใหม่ๆ กำลังแผ่อิทธิพลอย่างรวดเร็ว และสั่นสะเทือนชีวิตในหลายปริมณฑลของชีวิตและทั่วทั้งโลก

ในยุคแรกเริ่ม ซึ่งเริ่มจากการเปิดโอกาสให้ข้อมูลแพร่ไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น ส่งเสริมให้ผู้อ่านได้รวมตัวกันในแบบต่างๆ ตั้งแต่เพื่อการงานและการบ้านไปจนถึงการเมือง แต่ในปัจจุบัน กลับก่อผลร้ายตามมานับไม่ถ้วน เช่น การทำให้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลจำนวนมาก ตามมาด้วยความต้องการเนื้อหาที่ฟรีทั้งในแง่เนื้อหาและราคา ส่วนการสื่อสารในหมู่คนที่ใกล้ชิดกันที่เพิ่มมากขึ้นกลับก่อให้เกิดผลตามมา คือ หนังสือพิมพ์หลายฉบับต้องปิดตัวลงไป

สิ่งนี้สร้างความปั่นป่วน (disruptions) แก่วงการสื่อมวลชนและหนังสือแบบดั้งเดิม บนแพลตฟอร์มที่เรียกกันว่าสื่อสังคม

ในขณะที่ฝ่ายที่กุมอำนาจในสังคมเผด็จการ ต้องการควบคุมเนื้อหาให้ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้วก็คือมีเนื้อหาที่ไม่จริงหรือข่าวปลอม (fake news) และอคติกระจายไปทั่ว

ส่วนวงการหนังสือ ทั้งที่เป็นองค์กรทางการค้าและรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัย หรือห้องสมุด ต่างก็กำลังหาทางปรับตัวให้ทันกับความปั่นป่วนนี้

 

มากเสียจนต้องกลับไปมองอดีต

เราจึงได้ยินว่าความปั่นป่วนนี้คล้ายกับสิ่งที่เป็นผลของการพิมพ์ในศตวรรษที่ 15 หรือยุคเรอแนซองส์ และได้เห็นประวัติศาสตร์หนังสือที่ตั้งชื่อแบบนี้บ่อยขึ้น หนังสือดังกล่าวมีทั้ง Books as Social Media, The Renaissance Computer, Blogging Now and Then, What’s in a Visitor’s Book? และ Social Media and Volcanic Tourism in the Nineteenth Century

ถ้าพูดถึงโทรเลขในยุควิกตอเรียน ก็ตั้งชื่อว่า The Victorian Internet และถ้าพูดถึงจดหมาย ใบปลิว และกราฟฟิตี้ ก็ตั้งชื่อว่า Social Media : The First 2,000 Years

เฉพาะที่ใช้ชื่อกูเต็นแบร์กมีหลายเล่ม เช่น From Gutenberg to Zuckerberg, From Gutenberg to Google, Gutenberg the Geek และ From Gutenberg to the Global Information Infrastructure รวมทั้งหนังสือของลาส์ โอล ชอนเบิร์ก นักวิชาการเดนมาร์ก ชื่อ The Gutenberg Parenthesis : Print, Book and Cognition ซึ่งสมทบโดยโทมัส ปาติตต์ ซึ่งเขียนบทความไว้มากมาย เช่น Before The Gutenberg Parenthesis

การตั้งชื่อหนังสือมากมายด้วยโวหารแบบนี้ ทำให้ต้องยอมรับว่าผู้ตั้งชื่อ ซึ่งหมายถึงบรรดาผู้จัดพิมพ์ นักเขียนหรือนักวิชาการทุกคนกำลังเอาใจตลาด และมองเห็นความดิจิตอลในอดีตที่ไม่ดิจิตอลเลย

แน่นอน ความเปลี่ยนแปลงในแง่สื่อและข้อมูลเป็นเรื่องที่ใหญ่ แต่สิ่งที่บทความนี้สนใจมากกว่าคือ การใช้แท่นพิมพ์แบบกูเต็นแบร์กในเชิงเปรียบเปรย หรืออุปลักษณ์ (metaphor) ซึ่งเป็นการใช้ “ความเลื่อน” ของภาษามาทำให้ความเปลี่ยนแปลงทางการอ่านและเทคโนโลยี่การพิมพ์ให้เป็นที่ยอมรับในหมู่มวลชน

พูดอีกอย่าง กูเต็นแบร์กกลายเป็นกรอบในการพูดถึงอดีต หรือเข้าใจประวัติศาสตร์ได้อย่างไร?