ขอบคุณข้อมูลจาก | ธรรมลีลา ฉบับวันที่ 10 มิ.ย. - 16 มิ.ย. 2559 |
---|---|
เผยแพร่ |
ลําพังอ่านเกี่ยวกับมหากุมภ์ที่อินเดีย ทำยังไงก็ไม่เข้าใจ ต้องไปจนถึงที่นั่นแหละค่ะจึงจะเริ่มถึงบางอ้อ แม้กระนั้น ก็ยังไม่เข้าใจทั้งหมด เอาเพียงว่า ถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้สัมผัสกับงานของแขกที่เป็นแขกจริงๆ
งานมหากุมภ์ เขาจะใช้สัญลักษณ์เป็นหม้อน้ำ มีน้ำกระฉอกออกมา
มันเกี่ยวเนื่องตั้งแต่เทวดากับอสูรแย่งน้ำอมฤตในตำนานครั้งโบราณโน่น ที่สนามบินสุวรรณภูมิก็มีเทวดากับอสูรกวนน้ำอมฤตกัน เรื่องเดียวกันเลยค่ะ
ปรากฏว่า เทวดาเป็นฝ่ายแย่งหม้อน้ำอมฤตไปได้ ลูกชายของพระอาทิตย์คว้าหม้อน้ำอมฤตไป น้ำอมฤตกระฉอกหกลงมาที่ 4 เมือง ในชมพูทวีป คือเมือง หริทวาร ปรายาค นาสิก และอุชเชน
เพราะฉะนั้น จึงเกิดความเชื่อว่า เมื่อดวงดาวเดินมาครบรอบ การมาอาบน้ำในแม่น้ำในเมืองทั้งสี่ที่ว่ามานั้น เป็นการชำระบาป
สำหรับที่เมืองอุชเชนนั้น จะมีงานสิงหัสถ์มหากุมภ์ก็เมื่อพระอาทิตย์โคจรมาอยู่ในราศีเมษ ตรงกันกับที่ดาวพฤหัสฯ โคจรมาอยู่ในราศีสิงห์
ปรากฏการณ์เช่นนี้ จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ในรอบ 12 ปี เรียกว่า สิงหัสถ์
ช่วงนี้ ในปีนี้ คือระหว่าง 20 เมษายน ถึง 21 พฤษภาคม 2559 เป็นช่วงที่เรียกว่าสิงหัสถ์มหากุมภ์
พระในศาสนาฮินดูทั่วทุกสารทิศจะมุ่งหน้ามาที่เมืองอุชเชน เพื่อจะลงไปทำพิธีที่ท่าน้ำริมฝั่งแม่น้ำกษิประ แม่น้ำที่ไหลผ่านเมืองอุชเชน ท่าน้ำหลักคือรามฆาต อยู่ตรงข้ามกับวัดมหากาลของพระศิวะ
ศาสนาฮินดูเป็นศาสนาที่มีความหลากหลาย และไม่มีองค์กรกลางอย่างมหาเถรสมาคมในบ้านเราที่จะควบคุมพระในศาสนาฮินดูที่เรียกว่า สาธุ ถ้าเป็นพระที่เน้นการให้ความรู้เชิงปรัชญาก็จะเป็นบรรดาสวามี จากสาธุ ที่เราอาจจะนึกว่าเป็นขอทาน ไปจนถึงสวามีที่มีความรู้ที่จะสอนทางปรัชญาและจิตวิญญาณได้ก็ยังมีอีกหลายเฉดสี
วันนี้ตั้งใจจะพาไปดูพวกสาธุค่ะ
บรรดาสาธุที่มาอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำกษิประ ส่วนใหญ่จะเป็นนิกายไศวะ ที่นับถือพระศิวะ เพราะวัดหลักที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเป็นวัดมหากาล ซึ่งเป็นวัดของพระศิวะ
พาราณสี เป็นเมืองของพระวิษณุ (พระนารายณ์) ในขณะที่เมืองอุชเชน เน้นเทพเจ้าหลักคือพระศิวะ
เราจะไม่เข้าใจการแสดงออกของสาธุในนิกายไศวะ ถ้าเราไม่เข้าใจลักษณะของพระศิวะที่พวกเขานับถือ
พระศิวะ เป็นเทพมีบุคลิกที่ไม่ยี่หระกับสังคม อย่าลืมว่า ในตรีมูรติ พระเจ้าทั้งสามพระองค์นั้น ท่านเป็นเทพเจ้าแห่งการทำลายล้าง
สาธุ ในนิกายนี้ จึงแสดงออกถึงความไม่ยี่หระต่อค่านิยมทางสังคม ทาตัวด้วยภัสมะ ภาษาไทยเราก็ใช้คำนี้ เช่น ภัสมะธุลี ภัสมะคือขี้เถ้าที่มาจากเชิงตะกอน บางทีเรียกว่าวิภูติ ชาวไทยบางคนที่เป็นลูกศิษย์ของไสบาบา ก็จะนิยมวิภูติ
พระศิวะไม่โปรดแสงสีเสียงในเมือง มักอยู่ในสถานที่โดดเดี่ยวห่างไกลจากผู้คน อยู่ตามเชิงตะกอนที่เผาศพ
พระศิวะไม่ใช่คนหล่อ แต่บังเอิญผู้หญิงที่สวยที่สุด คือ พระนางปารวตี มาหลงรักพระองค์ และเป็นพระชายา เจ้าแม่ทุรคาที่ทรงเสือ (มีเสือเป็นพาหนะ) ก็เป็นปางหนึ่งของพระนาง อีกปางหนึ่งที่ดุกว่าถึงดุมาก คือ พระนางกาลี ถึงขนาดที่พระศิวะต้องลงนอนให้เหยียบอกเวลาพระนางกริ้ว ชาวฮินดูส่วนใหญ่นิยมไหว้กราบเจ้าแม่ทุรคา แต่เฉพาะทางตะวันออก เช่น แถบเบงกอลจะนิยมบูชาเจ้าแม่กาลี
มีความสับสนว่า จะเป็นเทพเจ้าคนละองค์ แต่เราเข้าใจว่า เป็นปางของพระนางปารวตีนั่นเอง
พวกพระสาธุเหล่านี้ มักมีผ้าเตี่ยวผืนเดียวเป็นเครื่องนุ่งห่ม นอกนั้น ทาตัวด้วยขี้เถ้า ที่เรียกว่า ภัสมะ
พอพูดถึงผ้าเตี่ยว ท่านผู้อ่านจะนึกว่ารู้จักใช่ไหมคะ อธิบายนิดหนึ่งให้เห็นภาพ ผ้าเตี่ยวที่พระสาธุใช้เป็นผ้ารูปร่างเป็นสามเหลี่ยม หน้าแคบ ตรงยอดสามเหลี่ยมจะยาวมากเป็นเมตรทีเดียว ฐานสามเหลี่ยมอยู่ด้านหน้า กว้างประมาณ 6 นิ้วฟุต ส่วนนี้จะปิดอวัยวะเพศ แล้วยอดสามเหลี่ยมที่เป็นหางยาวนั้น ลอดใต้หว่างขาไปเหน็บที่กระเบนเหน็บด้านหลัง ทำหน้าที่เป็นกางเกงลิงดีๆ นี่เอง ด้านหน้าไม่โป๊ ด้านหลังเปิดแก้มก้นทั้งสองข้างอย่างเปิดเผย เป็นธรรมชาติผ้าเตี่ยวของพระสาธุนี้มาก่อน จีสตริง ของชาวโลกนะ
ภาพที่เห็นก็แทบจะเรียกว่าเปลือย ยกเว้นผ้าเตี่ยว ฝรั่งที่เข้ามาในสมัยศตวรรษที่ 18 ถามพระสาธุพวกนี้ว่า ทำไมจึงเปลือย พระสาธุย้อนถามว่า แล้วพวกท่านทำไมจึงใส่เสื้อผ้า
อึ้งไหม
ทันทีที่ใส่เสื้อผ้า มันจะกำหนดเราว่า เรามาจากสังคมแบบไหน แต่ถ้าเปลือยเสียหมดก็ไม่ต้องมาจัดชั้นวรรณะกัน เข้าใจวิธีคิดของเขานะคะ
พระสาธุและสวามีที่มาในงานนั้น ระดับหัวหน้าจาก 13 อขระ (มีความหมายแบบเดียวกับนิกาย) มาหมด ทุกอขระล้วนต้องแสดงแสนยานุภาพ
ที่ใช้คำว่าแสนยานุภาพนี้ไม่เกินความหมายของคำเลยค่ะ เวลาที่มีขบวนแห่เข้ามา จะมีการประกาศว่า อขระนั้นๆ กำลังเข้ามาสู่ท่าน้ำเพื่อการทำพิธีชำระในแม่น้ำ บางอขระควบม้าเข้ามา บางอขระขี่อูฐ บางอขระแสดงพลังโดยการแสดงตีลังกาผาดโผน บางอักขระ เป่าสังข์ เป่าแตร เรียกว่าอึกทึก กึกก้อง แผ่นดินสะเทือนเลื่อนลั่น ประมาณนั้น
หนึ่งในอขระที่ถือว่าเก่าแก่คือพวกนาค พวกนี้รวมตัวกันราวกับกองทัพดีๆ นี่เอง จะได้สิทธิในการลงอาบน้ำก่อน อขระอื่นๆ โดยความเก่าแก่ และความที่เขาอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนแน่นแฟ้น ดูในรูปที่ขี่ม้านั่นแหละค่ะ
ที่วัดมหากาล วัดของพระศิวะที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำกษิประ ตอนนี้ทำสะพานทอดเดินถึงกัน จะมีพิธีอารตี คือถวายไฟเป็นเครื่องสักการะต่อพระศิวะ วันละ 14 ครั้ง พระที่ทำพิธีถือตะเดียงทองเหลืองที่ใส่น้ำมัน ยกขึ้นเวียนต่อหน้ารูปเคารพ อีกมือหนึ่ง ก็สั่นกระดิ่งไปด้วย
ศาสนิกที่มา ก็จะพยายามรอให้ได้ถวายอารตี เป็นบุญตา
หลังจากถวายอารตีแล้ว พระที่ทำพิธีก็จะแจกข้าวตอกของบูชาแก่ศาสนิกที่เข้ามาร่วมพิธีอารตีในแต่ละรอบ แน่นอน ชาวบ้านก็จะถวายปัจจัยโดยใส่ในถาดที่วางไว้หน้าแท่นที่บูชา บางทีอยู่ไกล ก็ใช้วิธีปาเหรียญเข้าไป
ไม่ถือว่าไม่สุภาพ
ในช่วง 1 เดือนของงานฉลองมหากุมภ์ ริมฝั่งแม่น้ำกษิประจะคลาคล่ำด้วยบรรดาพระสาธุที่มาประกอบพิธีอยู่ตลอดเดือน
บางรูปก็จะอธิษฐานว่าจะยืนขาเดียวตลอด 1 เดือน ของพิธีมหากุมภ์ บางทีก็อาจจะแสดงขันติวิริยะ บางทีก็อาจจะเป็นการโชว์ตัวเพื่อเรียกร้องความสนใจ และแน่นอนเป็นที่มาของลาภสักการะ
อยากให้ดูรูปพระสาธุรูปนี้ น่าจะยืนขาเดียวจริง ขาบวมมาก และเริ่มเป็นแผลเน่า แล้วภัสมะ คือขี้เถ้าที่ทาตัวนั้น น่าจะมีตัวยาตามธรรมชาติอยู่ที่จะรักษาโรคผิวหนังด้วยกระมัง
สาธุบางรูป ก็เป่าสังข์ขาว สังข์ที่ถือเป็นมงคลต้องเป็นสังข์ที่วนขวานะคะ
ในเต็นท์ของสาธุพวกนี้ นักข่าวที่ไปทำข่าว พบว่า บางท่านมีเครื่องทำความเย็นถึง 2 เครื่อง อย่าลืมว่า ที่อุชเชน เดือนพฤษภาคม ความร้อน 45 องศา ค่ะ พวกสาธุพวกนี้ ต้องนอนตามเต็นท์ที่กางไว้ชายฝั่งแม่น้ำกษิประ
ในศาสนาพุทธเรียกเมืองนี้ว่า อุชเชนี มีพระเจ้าจันทปัชโชติเป็นพระราชา นั่นหมายถึงว่า เมืองอุชเชนนี้มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล (2,600 ปี) หากไม่เก่ากว่านั้น
อุชเชนเป็นเมืองเก่าแก่ ถนนหนทางเล็กที่มุ่งลงแม่น้ำเล็กมาก ลักษณะความแออัดคล้ายพาราณสี แต่ขนาดย่อมกว่า และเพราะความสำคัญอยู่ที่แม่น้ำกษิประ ถนนเล็กถนนน้อย ก็พาลงชายฝั่งแม่น้ำทั้งสิ้น
รามฆาต ท่าที่สำคัญที่สุดในการทำพิธีมหากุมภ์ก็คือท่าที่อยู่ตรงกันข้ามกับวัดมหากาล แต่ผู้คนที่แห่มาพิธีมหากุมภ์มากถึง 5 แสนคน แม้แต่การจองที่จอดรถก็ต้องจองทางอินเตอร์เน็ต เพื่อจะได้มุมที่มองเห็นพิธีชัดที่สุด
กูเกิลก็เข้ามาส่งข้อมูลไปทั่วเมืองอุชเชนสำหรับคนที่ไม่ได้มาอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ ตอนขบวนพระสาธุที่เข้ามาตามอขระนั้น อลังการน่าดูจริงๆ และเมื่องานนี้ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 12 ปี จึงเป็นภาพที่ตื่นตาตื่นใจสำหรับชาวฮินดูอย่างมาก มีการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ
ดูเหมือนว่า สาธุ คือพระในศาสนาฮินดูจะเป็นผู้ชายทั้งนั้น แต่ก็มีสาธวี คือ พระที่เป็นผู้หญิง ที่มาตั้งเต้นท์อยู่ในงานพิธีมหากุมภ์ตลอดเดือน ตามที่ข่าวรายงาน มีผู้หญิง แต่เป็นส่วนน้อย ภาพที่ได้มาเป็นสาธวีชาวตะวันตกค่ะ
เมื่อดาวสำคัญโคจรมาพบกันเช่นนี้ ก็ขอให้ท่านผู้อ่าน แฮปปี้มหากุมภ์เช่นกัน