หลังเลนส์ในดงลึก : “ความเงียบ”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ถึงแม้ว่าการสื่อสารในโลกทุกวันนี้จะเจริญก้าวหน้าไปไกลแสนไกล ผู้คนอยู่กันคนละขอบโลกก็ยังสื่อสารกันได้ทั้งด้วยคำพูด ตัวอักษร รวมทั้งเห็นหน้าเห็นตา

กระนั้นก็เถอะ

ในหลายพื้นที่ในโลกยังคงต้องอาศัยการสื่อสารแบบเดิมๆ ที่พัฒนาขึ้นมาสัก 30-40 ปีก่อน

ไม่ถึงกับต้องใช้ม้าเร็ว นกพิราบ หรือก่อกองไฟใช้ควัน

ถึงวันนั้นอย่างที่ผมบอกเสมอๆ ว่า คนทำงานในป่าไม่ได้อยู่ “หลังเขา”

ไม่เฉพาะสัญญาณโทรศัพท์ ที่ส่วนใหญ่จะมีหรืออาจต้องปีนขึ้นไปบนสันเขา

สัญญาณอินเตอร์เน็ตตามสำนักงานเขตอุทยานฯ รวมทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าส่วนใหญ่จะมีใช้

แต่ขณะทำงานในป่าจริงๆ

เรายังคงต้องอาศัยเครื่องมือเดิมๆ อย่างวิทยุสื่อสาร คู่ไปกับแผนที่และเครื่องมือบอกตำแหน่งบนผืนโลกอย่าง จีพีเอส

ในผืนป่าด้านตะวันตก โดยเฉพาะป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง

มีสถานีวิทยุแม่ข่ายหลักๆ 2 สถานี

คือ สถานีวิทยุเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ชื่อว่า ยู่ยี่ หรือเรียกกันว่า “ห้า-แปด”

ส่วนอีกแห่งเป็นของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกที่เขาพระฤๅษี

ที่นี่ไม่ได้ใช้รหัสเป็นตัวเลข

แต่เรียกตรงๆ ว่า เขาพระฤๅษี

สถานีห้า-แปด อยู่บนสันเขาซึ่งสูง 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล

บนนั้นนอกจากเสาวิทยุ มีห้องก่อผนังด้วยปูนกว้างราว 2×3 ตารางเมตร

ปิดทึบทั้ง 4 ด้าน มีประตูเข้า-ออกหนึ่งบาน

การออกแบบเช่นนี้เพื่อป้องกันความหนาวเย็น ในฤดูหนาวที่นี่อุณหภูมิเฉลี่ย 2-3 องศาเซลเซียส

สถานีห้า-แปด ใช้เจ้าหน้าที่ประจำการหนึ่งคนสับเปลี่ยนกันบ้าง แต่ละคนอยู่คนละเป็นเดือน

อยู่ในป่าทุ่งใหญ่และป่าห้วยขาแข้ง เราจะได้ยินเสียงเขาอยู่ตลอด ถ่ายทอดข้อความจากสำนักงานเขตถึงหน่วยพิทักษ์ป่า จากคนโน้นถึงคนนี้

บางครั้งเราได้ยินเพียงเสียง ไม่รู้หรอกว่าเขาชื่ออะไร หน้าตาอย่างไร

รู้แต่ว่าเขาเป็นคนสำคัญ

 

ในป่าห้วยขาแข้ง เมื่อใช้วิทยุสื่อสารมีกฎระเบียบค่อนข้างเคร่งครัด มีช่องเรียกขานอันเป็นช่องหลัก เมื่อจะติดต่อเรื่องต่างๆ ต้องไปอีกความถี่

การพูดก็ใช้รหัส วอ อันเป็นรหัสสากล

ส่วนในป่าทุ่งใหญ่ ไม่ค่อยเคร่งครัดนัก รหัส วอ ส่วนใหญ่ที่ใช้ๆ มีเพียง วอสอง วอแปด อันหมายถึง รับทราบข้อความซึ่งมักใช้สั้นว่า สอง-แปด อีกคำคือ หก-หนึ่ง

อันหมายความว่า ขอบคุณ

00

เรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ ที่ต้องพบเป็นประจำของการทำงานในป่าช่วงฤดูฝนคือ เราไม่สามารถกำหนดเวลาได้

อุปสรรคสำคัญคือการเดินทาง

เส้นทางร่องลึก ลื่นไถล ต้นไม้ใหญ่ล้มขวาง รวมทั้งระดับน้ำในลำห้วยสูงเกินกว่าจะข้ามได้

ไม่เฉพาะเส้นทางที่ใช้รถสัญจรเท่านั้น บนเส้นทางด่านที่เราใช้เดิน หลายครั้งเราก็พบว่าการข้ามลำห้วย คือเรื่องยากลำบาก หรือข้ามไปไม่ได้

จุดหมายที่จะไปอยู่อีกฝั่ง

ดังนั้น สิ่งที่ทำได้คือ รอ ตั้งแคมป์หยุดพักสักสอง-สามวันให้ระดับน้ำลดลง

อีกสิ่งซึ่งหลีกเลี่ยงไม่พ้นในฤดูฝน

คือการขาดหายไปของแสงแดด และนั่นทำให้สถานีวิทยุแม่ข่าย ขาดพลังงาน เพราะสถานีแม่ข่ายทั้ง 2 แห่งใช้พลังงานแสงอาทิตย์

ไม่มีข่าวสาร ไม่ได้ยินเสียงอันคุ้นเคย

ใช้ชีวิตอยู่ใต้ผ้าบางกันฝน

กลิ่นควันไฟคละคลุ้ง

ฝึกฝนการเฝ้ารอโดยไม่กระวนกระวาย

ปรับตัวไปกับสภาพที่พบเจอ

“เมือง” อาจทำให้ทักษะเหล่านี้ของเราลดน้อยลง

 

อยู่ในห้วงฤดูฝน

ผืนป่าชุ่มฉ่ำ ไร้เสียงนก นานๆ จะมีเสียงชะนีแว่วมา เหล่าสัตว์ต่างซุกตัวหลบตามพุ่มไม้

ถ้าสายฝนจากลงบ้าง ฝูงนกรีบฉวยโอกาส โฉบจับแมลงและหนอน

พวกมันมารวมตัวราวกับคลื่นนกหลายชนิดทยอยมา นกหัวขวานหลายตัวเกาะต้นไม้ผุๆ ได้บินไปไกล นกพญาไฟส่งเสียง สีแดงเพลิงของตัวผู้ตัดกับสีเหลืองสดของตัวเมีย

เมื่อสายฝนลงเม็ดหนา พวกมันต่างซุกตัวตามพุ่มไม้ดังเดิม

ป่าในช่วงเวลานี้ สำหรับสัตว์ป่า คือความอุดมสมบูรณ์แห่งอาหาร

หน่อไม้แทงหน่อพ้นดิน ฝูงกระทิงวนเวียนอยู่แถวๆ ดงไผ่ เช่นเดียวกับช้าง

ในแหล่งอาหารเสริมที่มีแร่ธาตุ อย่างโป่งนี่คือช่วงเวลาแห่งความว่างเปล่า

แม้แต่เก้งก็จะหายหน้าหายตาไป

แหล่งอาหารมีอยู่ทั่วไป

นอกจากต้นไทรที่ลูกยังไม่สุก แต่ผลไม้อย่างอื่น เช่น ตาเสือ หมากเม่า ส้าน ฯลฯ ต่างทยอยออกลูก

สัตว์หากินบนเรือนยอดอย่างชะนีค่างรวมทั้งลิง ต่างยอมฝ่าสายฝนมุ่งหน้าไปยังต้นไม้ซึ่งกำลังออกลูกสุก

นกขนาดใหญ่อย่างนกเงือก ทั้งนกกก นกเงือกกรามช้าง มารวมตัวกันอยู่ในหุบเขานับพันๆ ตัว

เมื่อมีสัตว์หลายชนิดอยู่บนเรือนยอด

ย่อมมีสัตว์หลายชนิดจะมาอยู่ใต้ต้นรอกินผลไม้ร่วงหล่น

ชีวิตในป่าไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว

พวกมันพึ่งพา และมีส่วนเกี่ยวข้องกันและกัน

ปัญหาของการทำงานในฤดูฝนจริงๆ นั้น

คือการถ่ายรูปสัตว์ป่าค่อนข้างยาก อุปสรรคอื่นๆ เป็นเพียงส่วนประกอบ

เพราะเราเตรียมรับมืออยู่แล้ว

แม้จะอยู่ในซุ้มบังไพรที่กันฝนได้ แต่การเฝ้ารอเป็นสิบๆ วันโดยไม่มีอะไรมาให้ถ่ายเลยนั้น ต้องใช้ “กำลังใจ” ไม่น้อย

สิ่งหนึ่งที่ผมใช้บ่อยๆ คือ จินตนาการ

เช่น ฝนกำลังตก เสือเดินผ่านมา หยุดยืน บันทึกภาพไว้ด้วยความไวชัตเตอร์ต่ำๆ เห็นเป็นภาพพร่าเลือน หรือขณะรอเลียงผา ผมก็จินตนาการว่า ตรงชะง่อนหินนั้นถ้ามีเลียงผายืนตอนสายฝนลงเม็ดมา ฯลฯ

เหล่านี้ย่อมเป็นภาพอันน่าดู

ในสภาวะเช่นนี้ อากาศปิดทึบ รู้ว่าคือคืนขึ้น 15 ค่ำ

ท้องฟ้าขมุกขมัว เมฆดำหนาทึบ

มองไม่เห็นแต่เชื่อว่า ข้างหลังเมฆดำ คือ ดวงจันทร์ซึ่งกำลังทอแสงนวล

ถึงแม้ว่าสถานีวิทยุแม่ข่ายทั้ง “ห้า-แปด” และเขาพระฤๅษี จะให้บริการและช่วยติดต่อสื่อสารให้คนทำงานในป่าได้มาก

แต่หลายครั้งที่เราอยู่ในที่ที่ “อับสัญญาณ”

เมื่อเราส่งข้อความถึงสถานีแม่ข่าย เขาได้รับเพียงเบาบาง ถ้าถามถึงระดับความชัดเจน คำตอบได้เพียงระดับหนึ่ง-สอง

“เขาพระฤๅษีรับฟังได้ สิบหกใด”

“สิบหก-สอง” มีเสียงโซดา หมายถึงเสียงซ่าๆ

ใต้ผ้ายางแคบๆ รอให้ระดับน้ำลด

เราพยายามส่งเสียงถึงสถานีแม่ข่าย คำตอบที่ได้คือ สัญญาณเบาบาง

สำหรับคน การติดต่อสื่อสารสำคัญ

คนอาจคิดว่า อยู่ในที่ที่ไม่มีสัญญาณย่อมดีกว่าอยู่ในที่มีสัญญาณ

แต่ไม่มีสัญญาณตอบรับจากที่เราส่งไป

สัตว์ป่านั้นมีการติดต่อสื่อสารกันอยู่ตลอด ทั้งด้วยเสียง และด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ

ในป่า เมื่อเสือส่งเสียง

ทั้งบริเวณดูคล้ายจะตกอยู่ในความเงียบ

นั่นไม่ใช่ไร้การตอบรับ

แต่ “ความเงียบ” คือการรับรู้และยอมรับการมีตัวตนของเสือ