ต่างประเทศอินโดจีน : ปรัศนีแห่งเขื่อน

“บรูซ ชูเมกเกอร์” เป็นนักวิจัยอิสระชาวอเมริกัน พื้นเพอยู่ทางตอนเหนือของแคลิฟอร์เนีย แต่ทุ่มเทความสนใจมากเป็นพิเศษในประเด็นความขัดแย้งเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ชูเมกเกอร์จึงมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างน้ำ เขื่อน และผู้คนมากเป็นพิเศษ

เมื่อเดือนกรกฎาคม ตอนที่เกิดปัญหาเขื่อนประกอบเขื่อน-เซเปียน เซน้ำน้อยแตก ทำให้คนอัตตะปือหลายหมื่นพลัดถิ่น ไร้บ้านแบบเฉียบพลัน มีผู้เสียชีวิต “อย่างเป็นทางการ” 40 ราย แต่หลายคนเชื่อว่ายอดเสียชีวิตจริงๆ สูงกว่านั้นมากนัก

ทางการลาวยอมรับว่า สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่มาของเหตุวินาศภัยมาจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน

อีกหลายคนชี้ว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นและความผิดพลาดในการบริหารจัดการคือปัญหาหลักที่เกิดขึ้นกับเขื่อนทั้งระบบในลาว

ชูเมกเกอร์กลับชี้ว่า ปัญหาหลักที่ก่อให้เกิดภัยระดับหายนะในลาวจริงๆ นั้น ต้องเริ่มต้นที่องค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญองค์กรหนึ่งอย่าง “ธนาคารโลก” หรือ “เวิร์ลด์แบงก์”

 

นักวิชาการที่เริ่มต้นลงพื้นที่ ดำเนินการสำรวจ เพื่อประเมินผลกระทบจากเขื่อนสำคัญแห่งหนึ่งของลาวคือเขื่อนน้ำเทิน 2 ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการก่อสร้างเมื่อราว 13 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าเป็น “ธนาคารโลก” นี่เองที่สร้างความเชื่อผิดๆ ให้กับลาวว่าไฟฟ้าพลังน้ำเป็นระบบการผลิตพลังงานที่ยั่งยืน ด้วยการทั้งส่งเสริมวิธีการนี้และให้ทุนสนับสนุนการดำเนินโครงการเช่นนี้

โครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 เป็นโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ มูลค่าสูงถึง 1,300 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 43,120 ล้านบาท ลาวได้รับเงินทุนในการก่อสร้างไม่เพียงจากธนาคารโลก แต่ยังสมทบด้วยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) อีกด้วย

น้ำเทิน 2 เปิดดำเนินการเมื่อปี 2010 ไฟฟ้าที่ผลิตได้ราว 90 เปอร์เซ็นต์ถูกส่งออกมาขายให้กับประเทศไทย

บรูซ ชูเมกเกอร์ เชื่อว่าบทบาทดังกล่าวของธนาคารโลกเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำพลิกฟื้นคืนชีพมาอีกครั้ง และส่งผลให้ภาคเอกชนจำนวนมากแห่กลับเข้าไปทำโครงการในลาว

ในกรณีของน้ำเทิน 2 มีการจัดตั้งคณะทำงานที่เป็นทีม “ผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติ” ให้เข้ามาทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบผลการดำเนินการของเขื่อนแห่งนี้

แม้ว่าคณะทำงานที่ว่านี้จะนำเสนอรายงานกลับไป “อย่างต่อเนื่อง” ว่ามี “ข้อบกพร่องร้ายแรง” ในการออกแบบกระบวนการเพื่อถ่ายโอนผลกำไรของโครงการกลับไปเพื่อยกระดับความยากจนและการอนุรักษ์

ธนาคารโลกยังคงส่งเสริมโครงการนี้ในฐานะโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่ “ดำเนินการอย่างถูกต้องเหมาะสม”

คำถามของชูเมกเกอร์ก็คือ ทำไม?

 

เขาชี้ให้เห็นว่า มีคนพื้นถิ่นมากถึง 6,000 หมู่บ้านถูกบังคับให้โยกย้ายถิ่นไปปักหลักในที่ใหม่ ในขณะที่อีก 100,000 คนที่อยู่ด้านล่างของเขื่อนประสบปัญหาสาหัสจากปริมาณสัตว์น้ำสำหรับทำประมงที่หดหายไปมหาศาล ยังไม่นับรวมอีกสารพันปัญหา รวมทั้งเรื่องของน้ำท่วมที่เพิ่มจำนวนครั้งขึ้นจนสังเกตได้

ชูเมกเกอร์เล่าว่า ในปี 2014 หลังจากที่เคยเป็นกองหนุนสำคัญของโครงการน้ำเทิน 2 มานานปี สมาชิกของคณะทำงานที่เป็น “หัวแถวของผู้เชี่ยวชาญ” ทั้งหลายเปลี่ยนใจเรียกเขื่อนแห่งนี้ว่าเป็น “ความผิดหวังครั้งสุดท้าย” ของตนเอง ก่อนที่จะย้ำชัดเจนว่า “ทั้งหมดคือความผิดพลาดอันเลวร้าย”

คำถามก็คือ แล้วทำไมธนาคารโลกยังคงสนับสนุนแนวทางนี้อยู่ต่อไป?

บรูซ ชูเมกเกอร์ บอกว่า ธนาคารโลกเคยถูกโจมตี คัดค้าน และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในช่วงทศวรรษ 1990 จนเลิกราการสนับสนุนโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไปครั้งหนึ่งแล้ว

ทำไมถึงกลับมาส่งเสริมเทคโนโลยีนี้อีกครั้งในทศวรรษ 2000 โดยถือเอาน้ำเทิน 2 เป็นหัวใจสำคัญอีกด้วย

ทำไม?