Ghost : 2561 ซีรี่ส์การแสดงศิลปะวิดีโอและศิลปะแสดงสด อันแปลกประหลาด สดใหม่ ล้ำสมัย ครั้งแรกในไทย (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนที่ผ่านมาเราเล่าถึงเทศกาลศิลปะในภาคอีสานอย่าง ขอนแก่นเมนิเฟสโต้ ที่จัดขึ้นในปลายปีนี้ควบคู่ไปกับเทศกาลศิลปะร่วมสมัยครั้งใหญ่ในประเทศไทยอีกหลายเทศกาล บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่, ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ และบางกอก ไบแอเนียล ไปแล้ว

ในตอนนี้เราเลยขอกล่าวถึงซีรี่ส์นิทรรศการแสดงศิลปะอีกชุดหนึ่ง ที่มีลักษณะของความเป็นเทศกาลศิลปะอย่างมาก เรียกว่าไม่ใช่ก็ใกล้เคียงแหละนะ

ซีรี่ส์นิทรรศการแสดงศิลปะชุดนั้นมีชื่อว่า Ghost

ซึ่งเป็นซีรี่ส์การแสดงวิดีโอจัดวาง (Video Installation) และศิลปะแสดงสด (Performance) อันแปลกประหลาด สดใหม่ ล้ำสมัย ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงเทพฯ ประเทศไทย ซึ่งวางแผนจะจัดขึ้นทุกๆ สามปี (Triennale)

โดยงานที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้มีชื่อว่า Ghost : 2561

ซึ่งคัดสรรโดยศิลปินไทยผู้มีชื่อเสียงในระดับโลกอย่างกรกฤต อรุณานนท์ชัย ที่เราเคยกล่าวถึงเขาไปแล้ว รับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ประเดิมในครั้งนี้

“ด้วยความที่งานของผมเป็นเรื่องเกี่ยวกับการมองโลกและประสบการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเสพงานศิลปะ การพูดคุยกับศิลปิน การใช้ชีวิต โดยส่วนตัวผมใช้ชีวิตและทำงานในโลกศิลปะทั้งในและต่างประเทศ ได้ดูงานของศิลปินหลายคนที่มีความหมายกับผม งานส่วนใหญ่ที่ส่งอิทธิพลกับผมมากคืองาน Performance (ศิลปะแสดงสด) และ Video Installation (วิดีโอจัดวาง) หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การนำเสนอประสบการณ์ผ่านห้วงเวลา ผมเลยอยากเอาสิ่งเหล่านี้มาแบ่งปันในเมืองไทย

ผมเลยตัดสินใจทำงานแสดงกลุ่มเป็นงาน Performance และ Video Installation อย่างเดียว เพราะศิลปะประเภทนี้มีอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการใช้เวลาในความเป็นมนุษย์ ในยุคสมัย Post Humanism (ยุคหลังมนุษย์) ที่ AI เริ่มรุกเข้ามาทดแทนอะไรหลายอย่างในชีวิต ร่างกายและตัวตนของเราเองก็ไปปรากฏอยู่ในเครือข่ายออนไลน์ ในโทรศัพท์ กระจายตัวเองไปอยู่ในหลายๆ ที่ จนเราไม่รู้ว่าตัวตนจริงๆ อยู่ที่ไหนกันแน่

สำหรับผม สิ่งที่แสดงออกถึงความเป็นมนุษย์จริงๆ คือการใช้เวลาและประสบการณ์ ผมก็เลยนึกถึงไอเดียเกี่ยวกับ Ghost (ผี) ออกมา

ปกติ Ghost ก็คือผี หรือวิญญาณ ซึ่งต้องมี Host ก็คือ “ร่างกาย” หรือ “พื้นที่” ในการเข้าสิง ความคิดเรื่องวิญญาณไม่ได้หมายความว่ามันมีจริงหรือไม่จริง แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพาหนะ (Vehicle) หรือภาชนะ (Vessel) ที่บรรจุข้อมูลขององค์ความรู้ และสิ่งที่ดึงดูดและเชื่อมโยงองค์ความรู้เหล่านี้ให้มารวมอยู่ด้วยกันนั้นเป็นอะไรที่มีความเป็นมนุษย์มาก

นั่นก็คือ การเล่าเรื่อง (Storytelling) ที่ไม่ใช่ภาษาวิชาการ แต่เป็นการเล่าแบบปากต่อปาก (มุขปาฐะ) ที่เชื่อมโยงข้อมูลจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งต่อไปเรื่อยๆ

ผมคิดว่าประเทศไทยมีบริบทที่น่าสนใจ ทั้งเรื่องราวที่ผมเติบโตมากับมัน ไม่ว่าจะเป็นตำนานศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ อย่างเจ้าที่เจ้าทาง พญานาค ฯลฯ เรื่องราวเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้มีความสัมพันธ์กับบริบทของความเป็นไทย, ประวัติศาสตร์, ความเชื่อ และค่านิยมที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมันได้

ซึ่งจริงๆ เรื่องราวเหล่านี้ก็อาจจะถูกสร้างขึ้นมาจากการสังเกตความเป็นจริงรอบตัวของคนในยุคสมัยก่อน อย่างการมองธรรมชาติว่ามีจิตวิญญาณหรือเป็นสิ่งมีชีวิต บางคนอาจมองแม่น้ำเห็นรูปทรงบางอย่างแล้วคิดฝันจินตนาการเป็นเรื่องราวของพญานาคก็เป็นได้

เรื่องราวของ Ghost ก็เป็นเช่นเดียวกัน มันเป็นเรื่องของเวลาและประสบการณ์ เกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจ, ศาสนา, โลกาภิวัตน์, ทุนนิยม, โซเชียลมีเดีย, อินเตอร์เน็ต, เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบันที่มีตัวตนและความรู้สึกนึกคิดใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น”

“เรื่องเล่าแบบลูกผสม (Hybrid Story) เหล่านี้ ถูกเล่าผ่านมุมมองของศิลปะวิดีโอและการแสดงสด ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปในอนาคต เรื่องเล่าเหล่านี้ก็อาจจะกลายเป็นตำนานพื้นบ้านเป็นนิทานปรัมปราไม่ต่างกับเรื่องผี วิญญาณ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นได้” กรกฤต ภัณฑารักษ์ของ Ghost : 2561 กล่าว

ซีรี่ส์ Ghost นำแนวคิดเกี่ยวกับ “ภูตผี” มาขยายนิยามความหมายผ่านการสำรวจเงื่อนไขร่วมสมัยที่ผู้คนทั่วโลกประสบร่วมกัน แม้ว่าในแต่ละวัฒนธรรมจะมีแนวคิดเรื่อง “ภูตผี” เป็นของตนเอง หากสิ่งที่ทุกวัฒนธรรมมีไม่ต่างกันคือแนวคิดที่ว่า “ภูตผี” ปรากฏและดำรงตัวอยู่ในระบบที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา การสัมผัสถึง “ภูตผี” จึงเชื่อมโยงเราเข้ากับการสัมผัสประสบการณ์ภายในของความเป็นมนุษย์

ผลงานที่จะนำเสนอใน Ghost : 2561 ประกอบไปด้วยผลงานวิดีโอของศิลปินหลากหลายสัญชาติ

เช่น เอียน เฉิง (Ian Cheng), สเตฟานี โกมิเลง (Stephanie Comilang), จอช ไคลน์ (Josh Kline), เมตาฮาเว่น (Metahaven), จอน ราฟแมน (Jon Rafman), กลุ่มศิลปิน Raqs Media Collective, เรเชล โรส (Rachel Rose), จุฬญาณนนท์ ศิริผล, ฮิโต สเตเยิร์ล (Hito Steyerl), อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และแซมซัน ยัง (Samson Young)

รวมถึงการแสดงสดโดยบอยไชลด์ (boychild), ธนพล วิรุฬหกุล, โทเทิล ฟรีดอม (Total Freedom) และศิลปินการแสดงสดอื่นๆ

นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมการฉายภาพยนตร์และภาพเคลื่อนไหวที่คัดเลือกโดยไอลี แนช (Aily Nash), วิกเตอร์ หวัง (Victor Wang) และกลุ่ม DIS

ซึ่งจะจัดขึ้นในแต่ละสัปดาห์ของซีรี่ส์ พร้อมการบรรยายโดยศิลปินและภัณฑารักษ์รับเชิญ

นกนี้ ในซีรี่ส์ยังมีโปรแกรมกิจกรรมการศึกษา “ห้องเรียนนักเล่าเรื่อง” (Classroom of Storytellers) ที่จัดโดย OPEN FIELD ซึ่งเป็นการเปิดห้องเรียนชั่วคราวให้อาสาสมัครชาวไทยผู้สนใจ มาเข้าร่วมเรียนรู้แนวคิดที่เชื่อมโยงกับงาน Ghost : 2561 ตลอดเดือนกันยายน

และออกมาทำหน้าที่แนะนำและบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเนื้อหาของนิทรรศการและรายละเอียดของผลงานแต่ละชิ้น ร่วมกับทีมงานตลอดระยะเวลาการจัดซีรี่ส์ Ghost ในเดือนตุลาคม

รวมถึงจัดพิมพ์หนังสือ “นักเล่าเรื่องก่อนรุ่งสาง” (Storytelling Before Dawn) ที่จุฑา สุวรรณมงคล และมิ ยู (Mi You) รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการร่วมกัน เพื่อเป็นบทสนทนาต่อจากแนวคิดตั้งต้นของ Ghost : 2561

โดยหนังสือจะมีแจกฟรีตามจุดต่างๆ ของนิทรรศการ

หรือใครอยากสนับสนุนค่าใช้จ่ายก็ตามแต่อัธยาศัย

“การแสดงงานศิลปะไม่ควรจะเป็นแค่การนำเอาตัวศิลปวัตถุมาแสดงอย่างเดียว แต่ควรจะเอาบริบทหรือบทสนทนาที่อยู่แวดล้อม รวมถึงประเด็นที่ศิลปินพูดถึงงานมาด้วย”

“มันจะช่วยให้คนดูงานบ้านเราเข้าใจว่างานนี้ไม่ได้เป็นแค่มหรสพเพื่อสร้างความตื่นตาหรือเป็นของตัวอย่างที่อยู่ในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกแต่เพียงอย่างเดียว”

“เรารู้สึกว่า ประสบการณ์จากผลงานศิลปะไม่ควรจะถูกบอกเล่าหรือรับรู้ผ่าน Wall Text (ป้ายแสดงรายละเอียดและเนื้อหาของงานศิลปะ) บนฝาผนังแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นอะไรที่ค่อนข้างแห้งแล้ง เพราะความเข้าใจทางศิลปะนั้นแปรผันตามอะไรหลายๆ อย่าง ไม่ใช่แค่จากการมองแต่เพียงอย่างเดียว มันอาจมีหลายสิ่งหลายอย่างที่มีความหมาย เช่น การพูดคุยกับศิลปิน ซึ่งเพิ่มความน่าสนใจให้กับงาน”

“ในแง่นี้การเล่าเรื่องแบบมุขปาฐะมันไม่แห้งแล้งและใกล้เคียงกับชีวิตประจำวันของคนมากกว่า มันอาจจะไม่สมบูรณ์ แต่ความไม่สมบูรณ์ก็เป็นความหมายอย่างหนึ่งของประสบการณ์” จุฑา หนึ่งในผู้จัดกิจกรรมกล่าว

ซีรี่ส์นิทรรศการ Ghost ริเริ่มโดย Ghost Foundation ที่ก่อตั้งขึ้นโดยกรกฤต อรุณานนท์ชัย และอรรคพล สุทัศน์ ณ อยุธยา ด้วยความต้องการสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ให้แก่งานวิดีโอและศิลปะการแสดงในประเทศไทย

และมุ่งหวังในการสร้างสรรค์และหล่อเลี้ยงชุมชน รวมถึงสนับสนุนการเข้าถึงและการสร้างองค์ความรู้ในประเทศไทยผ่านงานวิดีโอและศิลปะการแสดง โดยมีผู้ร่วมจัดงาน และผู้สนับสนุนหลักอย่าง OPEN FIELD องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งขึ้นในกรุงเทพฯ บนพื้นฐานความสนใจในวัฒนธรรมร่วมสมัยที่พบได้ในชีวิตประจำวัน และบนความเชื่อว่าความรู้คืออำนาจที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคม โดยมุ่งหวังจะเป็นพื้นที่ที่รักษาบทสนทนาเชิงวิพากษ์ พัฒนาการเข้าถึงองค์ความรู้ ประสบการณ์ทางศิลปะ และเชื่อมต่อหน่วยย่อยในชุมชน

ซีรี่ส์ Ghost : 2561 จัดแสดงในพื้นที่ของพันธมิตรทางศิลปะอย่าง แกลเลอรี่ 100 ต้นสน, อาร์ทติส+รัน แกลเลอรี่, บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่, คาร์เทล อาร์ทสเปซ, ด็อกซ่า อาร์ท แล็บ, พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน, โนว่า โปรเจกต์ สเปซ, ศุภโชค ดิ อาร์ต เซนเตอร์ และแกลเลอรี่เวอร์ ในระหว่างวันที่ 11-28 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา สามารถติดตามโปรแกรมและสถานที่จัดการแสดงได้ในเว็บไซต์ http://ghost2561.com/installation.html หรือเพจ facebook @ghostbangkok

น่าเสียดายที่กว่านิตยสารจะวางแผง งานนี้ก็จบลงไปแล้ว แต่ยังไงก็ตาม เราก็ขอบันทึกเทศกาลศิลปะอันแปลกประหลาด สดใหม่ และล้ำสมัย เอาไว้ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์วงการศิลปะร่วมสมัยของไทย

ในตอนต่อไปเราจะมาเล่าถึงบรรยากาศของการแสดงและรายละเอียดของผลงานที่แสดงในแต่ละแห่งให้ฟังกัน

ขอบคุณภาพจาก Ghost : 2561