วิเคราะห์ปกมติชนสุดสัปดาห์ อะไรคือ? “ประเทศกรูมี้”

ในประเทศ : ประเทศกรูมี้

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปรากฏตัวก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

ด้วยการสวมเฝือกอ่อน มือข้างขวา

ด้วยอาการบาดเจ็บจากอาการนิ้วมือด้านขวาซ้นและมีอาการหนักขึ้นหลัง พล.อ.ประยุทธ์ไปโชว์การโล้ชิงช้าระหว่างลงพื้นที่

ทั้งนี้ ย้อนไปเมื่อวันที่  29 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์และคณะเดินทางไปที่บ้านเมืองรวง อำเภอเมืองเชียงราย โดยมีชาวอาข่าจำนวนมากมาต้อนรับ และแสดงการเต้นพื้นเมืองประจำเผ่าให้ดู

นายกรัฐมนตรีได้แวะทักทาย และสอบถามถึงชุดแต่งกายประจำเผ่า พร้อมชื่นชมว่ามีความสวยงาม

และโชว์ความใกล้ชิดด้วยการร่วมเต้นพื้นเมืองอาข่าด้วย

พร้อมกับได้ทดสอบเครื่องเล่นประจำเผ่าอาข่าคือการโล้ชิงช้า อยู่หลายรอบ

ท่ามกลางเสียงชื่นชมและปรบมือจากพี่น้องชาวอาข่า

เจ้าตัวเมื่อลงจากชิงช้า ถึงกับมีอาการเซ

แต่ก็รีบบอก “ไม่เป็นไร เหมือนโดดร่ม”

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หัวหน้า คสช.และนายกฯ จะโชว์ความใกล้ชิดชาวบ้าน

เพื่อแลกกับ “ความนิยมชมชื่น” ที่จะได้กลับคืนมาจากชาวบ้าน

ทั้งในภาพ ลุงตู่ตลก ลุงตู่ใกล้ชิดชาวบ้าน

ซึ่งนี่จะเป็นฐานเสียงอันสำคัญ เมื่อต้องกระโดดเข้าสู่สนามการเมืองอย่างเต็มตัวในอีกไม่ช้านานจากนี้

และที่สำคัญ ยังเป็นการมุ่งตอบโต้กระแสข้อกล่าวหา การเป็น “เผด็จการ” อย่างจงใจด้วย

โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มแร็พ Rap Against Dictatorship หรือ RAD โจมตีผ่านเพลงแร็พ “ประเทศกูมี” มาตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา

 

“อย่าไปสนใจ เรื่องในเว็บไซต์ ในโซเชียล” พล.อ.ประยุทธ์บอกกับชาวบ้าน

“เปิดดูสิจากเพลงอะไรก็ไม่รู้ อย่าไปสนใจ ผมไม่สนใจ สนใจมันทำไม สนใจก็ยิ่งไปกันใหญ่”

“ก็คิดแล้วกันว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ใช้วิจารณญาณว่าอย่างไร ฟังแล้วว่าอย่างไร ฟังแล้วมันใช่หรือไม่ใช่”

“มันลำบากขนาดนั้นเชียวหรือ (ผมเป็น) เผด็จการมากขนาดนั้นเชียวหรือ ถ้าเผด็จการผมไม่ต้องมาแบบนี้หรอก พูดจนเมื่อยอยู่แล้ว ใช่ไหม”

“ถ้าเผด็จการนั่งสั่งอย่างเดียว หาผลประโยชน์เท่านั้น”

“แต่ผมไม่เคยคิดอย่างนั้น และนี่ผมคิดว่าผมทำมากกว่าด้วยซ้ำไป อย่าให้ใครเขามาบิดเบือน ฉะนั้น หากเราปล่อยให้มีเรื่องอย่างนี้ และนิยมชมชอบว่าเป็นสิทธิเสรีภาพโดยที่ไร้ขีดจำกัด วันหน้ามันจะเดือดร้อนกับท่าน ครอบครัวท่าน ลูกหลานท่านจะว่าอย่างไร ถ้าสังคมเป็นแบบนี้ ผมว่าเราอยู่กันไม่ได้หรอก อย่าเป็นเครื่องไม้เครื่องมือคนอื่น”

“เรื่องแร็พอะไรต่างๆ ผมไม่สนใจ ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ อยากแสดงอะไรก็แสดงกันไป ผมจะได้ไม่ถูกกล่าวหาว่าไปปิดกั้นอะไรต่างๆ กฎหมายจะเป็นตัวกำหนด โดยไม่จำเป็นต้องไปสั่งการอะไรกับใครทั้งนั้น”

“ซึ่งคนไหนก็ตามที่ชื่นชม ก็ต้องรับผิดชอบด้วยว่าวันหน้าจะเกิดอะไรขึ้นอีกในประเทศไทย จะหนักขึ้นเรื่อยๆ หรือเปล่า อะไรที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียกับประเทศไทย”

“ผมไม่ได้ว่าที่เขามาว่าผม แต่ถ้าเขาว่าประเทศ ผมว่ามันไม่เหมาะสม ผมคิดว่าคนเราควรจะมีวิจารณญาณที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเขียนเพลง หรือจะอะไร ยังไง กับใครก็ตาม ท่านต้องอย่าไปให้ร้ายประเทศตัวเอง ดังนั้น จะมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยมันไม่ใช่ เพราะความหมายท่านต้องการอะไรก็รู้กันอยู่ ก็ถือเป็นเรื่องของสังคมถ้ารับเรื่องแบบนี้ได้ วันหน้าถ้าหนักกว่านี้เรื่อยๆ ลูกหลานของท่านจะอยู่กันอย่างไร ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน ก็ฟังกันไปก็แล้วกัน”

นายกฯ เปิดความในใจยาวเหยียด

 

เป็นการเปิดใจหลังเกิดปรากฏการณ์ “ประเทศกูมี” เขย่ารัฐบาลทหารอย่างหนัก

เมื่อเพลงกลุ่มแร๊พ Rap Against Dictatorship หรือ RAD อย่าง “ประเทศกูมี” ที่เผยแพร่ผ่านยูทูบ ซึ่งชี้ว่า ประเทศมีความเหลื่อมล้ำ คอร์รัปชั่น ไม่เป็นประชาธิปไตย เผด็จการครองเมือง ไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งแม้จะผ่านมา 4 ปี เป็นต้น เข้าไป “จับใจ” ชาวบ้าน

ทั้งที่ตอนแรกที่มิวสิกวิดีโอเผยแพร่ออกมา มีความสนใจในระดับไม่กี่หมื่นวิว

แต่ทันทีที่ฝ่ายบ้านเมืองเข้ามามี “แอ๊กชั่น” ที่จะควบคุม กำจัด จับกุม

เริ่มตั้งแต่ทำเนียบรัฐบาล

โดยนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลรู้สึกเสียใจในเรื่องนี้ เพราะคิดว่าเยาวชนน่าจะใช้ความรู้ความสามารถด้านดนตรีในทางที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ต่อแผ่นดินเกิดของตัวเองมากกว่านี้ รวมถึงเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เยาวชนคนอื่น ไม่อยากให้คนคิดว่าทำแบบนี้แล้วเท่ เป็นเรื่องดี หรือเป็นเรื่องสนุก เยาวชนที่ทำคลิปดังกล่าวไม่แน่ใจว่าทำเพราะความตั้งใจของตัวเองหรือมีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ แต่ขอฝากเตือนไปว่าคนที่เสียหายที่สุดไม่ใช่รัฐบาล แต่คือประเทศไทย

“คลิปนี้เผยแพร่ไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ และในคลิปมีซับไตเติลเป็นภาษาอังกฤษ ผมเห็นเนื้อหาเหมือนต่อว่ารัฐบาล แต่สุดท้ายคนที่เสียหายมากที่สุดคือประเทศไทย คนทำอาจจะได้รับความสนุกสนาน สะใจในการใช้ข้อมูลตอบโต้หรือกล่าวว่ารัฐบาล แต่อยากให้ดูว่าสุดท้ายไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คนที่เสียหายมากที่สุดคือประเทศไทย” รองเลขาฯ นายกฯ ระบุ

 

ขณะที่ฝ่ายดูแลกฎหมาย

พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. มาขานรับทันที โดยบอกว่า เท่าที่ดูเนื้อหาเพลงที่เผยแพร่ ยังไม่ชัดเจนว่าผิดหรือไม่ ยัง 50-50 ต้องให้ตำรวจ ปอท. ตรวจสอบอีกครั้งว่าเนื้อหาเข้าข่ายขัดคำสั่ง คสช. หรือไม่ ส่วนคนที่อยู่ในคลิปก็จะต้องเชิญตัวมาให้ปากคำ ว่ามีเจตนาที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายหรือขัดคำสั่ง คสช. ด้วยหรือเปล่า

“เตือนคนทำเพลง อย่าทำอะไรที่มันสุ่มเสี่ยงต่อกฎหมายบ้านเมือง เพราะไม่เป็นผลดีกับตัวเองและครอบครัว หากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นกระทำผิด” รอง ผบ.ตร.กล่าว

ขณะที่ฝ่ายปฏิบัติ ก็ตอบสนองแทบจะทันที

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผกก.กก.3 บก.ปอท. ในฐานะรองโฆษก บก.ปอท. บอกว่า เบื้องต้น พ.ต.อ.ไพบูลย์ น้อยหุ่น รรท.ผบก.ปอท สั่งการให้ฝ่ายสอบสวนประชุมพิจารณาว่าเข้าข่ายข้อกฎหมายใด และให้ฝ่ายสืบสวนตรวจสอบว่าผู้ปรากฏในคลิปเป็นใคร

เพราะว่าเนื้อหาค่อนข้างให้ร้ายประเทศไทย ทำให้ประเทศเสียหายอยู่หลายเรื่อง

น่าจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2) “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ”

เพราะความเสียหายที่ปรากฏในเนื้อเพลงอาจกระทบกระเทือนกับเศรษฐกิจ

อาจทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ส่วนจะเข้าข้อกฎหมายอื่นใดขอให้ฝ่ายสอบสวนพิจารณา

“จะแจ้งให้บุคคลที่ได้รับความเสียหายเข้ามาร้องทุกข์กล่าวโทษ และจะต้องเชิญกลุ่มศิลปินที่อยู่ในคลิปเข้ามาให้ข้อมูลอย่างเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยค่อนข้างมาก และผู้บังคับบัญชาสั่งการลงมา”

“สำหรับผู้ที่ส่งต่อโพสต์ก็อาจเข้าข่ายความผิด มาตรา 14(5) ซึ่งจะมีโทษอัตราเดียวกันกับผู้โพสต์ คือ จำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ได้เช่นกัน” พ.ต.อ.ศิริวัฒน์เตือนเพื่อจะเบรกการแชร์ของเหล่าไซเบอร์

 

หลังจากเจ้าหน้าที่และรัฐบาลออกมาเคลื่อนไหว ที่จะเอาผิดกับทั้งกลุ่มแร็พ ผู้ผลิต ผู้แชร์

ปฏิกิริยาจากประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย กลายเป็น “อารยะขัดขืน” ทันที

เมื่อมีผู้แห่เข้าชมมิวสิกวิดีโอดังกล่าวจากระดับแสน กลายเป็นล้าน และทะลุ 20 ล้าน ภายในไม่ถึงสัปดาห์

กลายเป็นไวรัลอันร้อนแรง

ขณะที่เนื้อเพลงถูกทำซับไตเติลเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และอีกหลายๆ ภาษา

ทำให้เพลงประเทศกูมี ทะลุทะลวงกำแพงระหว่างประเทศ กลายเป็นความรู้สึก “สากล” ร่วมกัน

ร่วมกันที่จะต่อต้านเผด็จการ และทวงเอาประชาธิปไตยกลับคืน

ขณะที่นักวิชาการ และองค์กรด้านสิทธิพลเมือง อย่างเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ได้ออกมาเคลื่อนไหวให้ยุติ “การคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของพลเมือง”

โดยชี้ว่ากลุ่มศิลปิน RAD กำลังใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

การเข้ามาควบคุม จับกุม  ถือไม่เป็นผลดีต่อการสร้างบรรยากาศเพื่อนำสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

 

ภาวะ “ประเทศกูมี” ฟีเวอร์ โดยมียอดวิวในยูทูบยืนยันถึงภาวะอันทะลักล้นของเพลงนี้

ทำให้ฝ่ายรัฐบาลและความมั่นคง ตกใจ และต้องรีบเปลี่ยนท่าทีใหม่

ลดท่าทีอันแข็งกร้าว ที่กำจัด ปราบปราม ลงอย่างฉับพลัน

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รักษาราชการแทนผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ถอดบุคลิกภาพสนองนายทิ้ง พลิกบทบาทมาในฐานะผู้ประนีประนอม ด้วยการบอกว่า ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรในตอนนี้

เพราะเป็นการแสดงความเห็นของประชาชนที่มีความหลากหลาย ซึ่งการแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลต่างๆ ประชาชนสามารถทำได้ สามารถคิดต่างได้

ด้าน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล พลิกกลับแบบ 360 องศา โดยบอกว่า “ในชั้นนี้ยังไม่มีหลักฐานเอาผิดได้ ตอนนี้ฟังได้ ร้องได้ แชร์ได้ ไม่ผิด”

ขณะที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ก็ถอยกรูดว่า “รัฐบาลไม่ได้สั่งการใดๆ ในเรื่องดังกล่าว เราไม่มีท่าทีใดๆ ต่อเรื่องนี้ ปล่อยให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไป”

ส่วนนายกฯ และหัวหน้า คสช. ก็ประกาศไม่ใส่ใจ

และกลับไปสู่ ภาวะลุงตู่ตลก ลุงตู่ใกล้ชิดประชาชน ต่อไป

โชว์โล้ชิงช้า แม้จะบาดเจ็บ

พร้อมกับวาทะ

“(ผมเป็น) เผด็จการมากขนาดนั้นเชียวหรือ ถ้า (เป็น) เผด็จการผมไม่ต้องมาแบบนี้หรอก”

ฟังแล้ว ขาแร็พจะเห็นพ้องหรือไม่ โปรดติดตาม โย่ว-โย่ว