บทวิเคราะห์ : ผลกระทบ “ได้-เสีย” จาก “สงครามการค้า”

จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีวี่แววว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนจะสร่างซาลง หรือมีวี่แววว่าสามารถหาทางออกเป็นการลงเอยด้วยดีแต่อย่างใด

ตรงกันข้าม ยิ่งนานวันเข้าความขัดแย้งซึ่งกันและกันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น

และลุกลามออกไปในหลายๆ เรื่องมากขึ้นตามลำดับ

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ คงไม่ยากที่จะคาดหมายว่าผลกระทบรุนแรงคงเกิดขึ้นตามมาแน่ๆ

รายงานล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็คาดการณ์ไว้ทำนองนั้นเช่นเดียวกัน

แต่ชี้ว่าปัญหาจริงๆ จังๆ อาจเกิดขึ้นในช่วงต้นปีหน้า

เมื่อผลสะเทือนจากความขัดแย้งดังกล่าวนี้ผลิดอกออกผลเต็มที่

ผลกระทบโดยหลักจากการนี้จะเริ่มต้นในแวดวงค้าขายระหว่างประเทศก่อนที่อื่น เนื่องจากสินค้ามหาศาลที่เคยไหลเวียนไปมาระหว่าง 2 ประเทศคู่ขัดแย้งไม่สามารถผ่องถ่ายได้ตามปกติ

หลังจากนั้นที่จะได้รับผลกระทบตามมาคือภาคการผลิตเพื่อการส่งออก หรือภาคเกษตรกรรมที่เกี่ยวข้อง

แล้วทีนี้ก็จะลามต่อไปยังระบบห่วงโซ่อุปทาน หรือซัพพลายเชน ที่จำเป็นในการผลิต ซึ่งทุกวันนี้กระจายออกไปอยู่ทั่วทั้งโลก

ดังนั้น ในตอนสุดท้ายแล้ว ไม่เพียงแค่การค้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ และผลกระทบก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ประเทศที่เป็นคู่ขัดแย้งเท่านั้น

 

ทางออกอย่างหนึ่งของผู้ผลิตเพื่อการส่งออก รวมทั้งผู้ผลิตสินค้าที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในการผลิตทั้งหลายก็คือ ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตของตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมาตรการทางภาษีที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของสงครามการค้าครั้งนี้

ซึ่งกลายเป็นที่มาของการที่มีประเทศจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบในทางบวกอันเนื่องมาจากสงครามการค้าระหว่างสองยักษ์เศรษฐกิจโลกครั้งนี้

ในรายงานว่าด้วยสงครามการค้าล่าสุดของส่วนงานวิจัย ของธนาคารมาลายัน แบงกิ้ง เบอร์ฮัด กิจการธนาคารของมาเลเซียที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “เมย์แบงก์” เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ระบุว่าผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้การลงทุนในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับมาบูมอีกครั้ง

เมื่อบรรดาบริษัทจำนวนหนึ่งตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกมายังประเทศเหล่านี้

ซึ่งแน่นอนรวมทั้งไทยเราด้วย

ข้อมูลที่เมย์แบงก์ กิมเอ็ง รีเสิร์ช เปิดเผยออกมามีอาทิ เงินลงทุนเพื่อการผลิตในเวียดนามในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้พุ่งพรวดขึ้นมาถึง 18 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลของฮโยซุง คอร์ป. แชโบลใหญ่จากเกาหลีใต้ ที่มีกิจการการผลิตหลายอย่าง ทั้งในอุตสาหกรรมเคมี, การผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรม, เรื่อยไปจนถึงไอทีและการก่อสร้าง ซึ่งหอบเงินมากถึง 1,200 ล้านดอลลาร์มาลงทุนในโครงการผลิตโพลีโพรไพลีน อันเป็นพลาสติกสำหรับผลิตภาชนะบรรจุอาหาร

ไทยเองก็ได้อานิสงส์มากมายไม่ใช่น้อยจากสงครามการค้าครั้งนี้ เพราะเมย์แบงก์บอกว่า นับตั้งแต่มกราคมจนถึงกรกฎาคมปีนี้ ปริมาณเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 53 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า รวมเป็นเงิน 7,600 ล้านดอลลาร์

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ เงินลงทุนในโครงการเพื่อการผลิตไหลเข้ามาในไทยเพิ่มมากขึ้นเกือบ 5 เท่าตัว

ในฟิลิปปินส์ เอฟดีไอที่นั่นเพิ่มขึ้นเป็น 861 ล้านดอลลาร์ในช่วงมกราคมถึงกรกฎาคมเช่นเดียวกัน เป็นการเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีเงินลงทุนไหลเข้าฟิลิปปินส์มาเพียง 144 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

 

ฉั่ว ฮัก ปิน กับ ลี จู เย่ สองนักเศรษฐศาสตร์ของเมย์แบงก์ จำแนกภาคธุรกิจที่แห่เข้ามาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยามนี้ไว้ว่า มีตั้งแต่คอนซูเมอร์ โปรดักต์, การผลิตเพื่ออุตสาหกรรม, ฮาร์ดแวร์ทางเทคโนโลยีและเทเลคอม, รถยนต์ และเคมีภัณฑ์ บริษัทในภาคธุรกิจเหล่านี้ ถ้าไม่ย้ายเข้ามาแล้วก็พุ่งความสนใจเข้ามายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งสิ้น

ในการสำรวจความคิดเห็นระหว่าง 29 สิงหาคม ถึง 5 กันยายนที่ผ่านมา ได้ผลลัพธ์ว่าบริษัทอเมริกันในจีนรวมแล้วราว 1 ใน 3 จากกว่า 430 บริษัทที่ครอบคลุมในการสำรวจ ได้ย้ายฐานการผลิตออกมาแล้ว หรือไม่ก็กำลังพิจารณาที่จะโยกย้ายออกมาจากจีน

ตัวอย่างเช่น เดลต้า อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผลิตส่วนประกอบในการจ่ายพลังงานให้กับแอปเปิ้ล อิงก์. ผู้ผลิตไอโฟน ได้ยื่นข้อเสนอซื้อกิจการของบริษัทลูกของตนในไทยเป็นเงิน 2,100 ล้านดอลลาร์เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อขยายการผลิตของตนในประเทศไทย

ส่วนเมอร์รี อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผลิตหูฟังให้กับบริษัทอย่างโบส คอร์ป. ก็กำลังจะย้ายฐานการผลิตจากตอนใต้ของจีนเข้ามายังประเทศไทย เป็นอาทิ

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ผลประโยชน์ทำนองนี้จะยืนยาวได้แค่ไหน เพราะถึงที่สุดแล้วสงครามการค้ามักลงเอยด้วยเลวร้ายเสมอ

อย่าลืมว่าสงครามการค้าเคยเป็นที่มาของสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้วนะครับ!