ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ทำไมพระพุทธเจ้า จึงต้องเสด็จไปประทับ อยู่บนเศียรของพระอิศวร?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

รูปพระอิศวรในงานช่างยุคกรุงเทพฯ มีให้เห็นอยู่ไม่มากนัก เพราะสยามถือพุทธแบบเถรวาทเป็นศาสนาหลักมาตั้งแต่ยุคก่อนหน้าคือ

ครั้งกรุงเก่า รูปของพระอิศวร ซึ่งเป็นเทพเจ้าของพวกพราหมณ์-ฮินดู ที่ชาวอยุธยาเรียกว่า ศาสนาพระไสย ซึ่งปรากฏรูปพระอิศวรอยู่ไม่มากเช่นกัน

แต่ที่น่าแปลกคือ รูปพระอิศวรในชั้นกรุงเทพฯ บางกลุ่ม มีรูปพระพุทธเจ้าไปประทับอยู่ที่เหนือพระเศียรบ้าง บนชายผ้าประดับ ที่เรียกตามศัพท์ช่างเก่าว่า กรรเจียกจร ที่ปลิวไสวอยู่สองข้างพระกรรณบ้าง

ลักษณะอย่างนี้ไม่มีในอยุธยาแน่

ผู้รู้ทางดนตรีไทยหลายท่านทราบเรื่องเข้าก็คงอธิบายว่า เป็นเรื่องพระพุทธเจ้าทรงเล่นซ่อนหากับพระอิศวร

ความมีอยู่ว่า พระอิศวรท่านไม่พอพระทัยที่เทพยดาทั้งหลายไม่เข้าเฝ้าพระองค์ แต่พากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแสดงธรรมเทศนา จึงเสด็จไปท้าประลองกับพระพุทธเจ้าโดยการแข่งซ่อนหากัน

ผลปรากฏว่าเมื่อพระอิศวรซ่อนพระวรกายแล้วพระพุทธเจ้าก็สามารถหาพบได้ในทันที แต่เมื่อถึงคราวพระพุทธเจ้าซ่อนพระวรกายบ้าง พระอิศวรกลับหาไม่พบจนต้องยอมจำนนในที่สุด

และที่แท้แล้วพระพุทธองค์ก็ไม่ได้ไปแอบซ่อนที่ไหนไกล อยู่ข้างบนพระเศียรของพระอิศวรเองเท่านั้นแหละครับ

แต่จนแล้วจนเล่าพระอิศวรก็ไม่ยอมละมิจฉาทิฐิลง พระพุทธเจ้าจึงไม่ยอมเสด็จลงมา ท้ายที่สุดพระอิศวรอดรนทนไม่ได้ ต้องอ้อนวอนพระพุทธเจ้าจนพระพุทธองค์มีพระดำรัสว่า หากพระอิศวรละมิจฉาทิฐิได้จริงแล้วให้นำดุริยางคดนตรีมาประโคมเพลง “สาธุการ” จึงจะเสด็จลงมา พระอิศวรยอมทำตาม

เรื่องจึงจบลงอย่างสุดจะแฮปปี้เอนดิ้ง

 

คนดนตรีไทยจึงถือต่อๆ กันมาว่า หากจะบรรเลงเพลงดนตรีสำหรับเคารพบูชา หรือนอบน้อมต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จะต้องใช้เพลงสาธุการเป็นเพลงบรรเลง ด้วยอ้างอิงจากนิทานเรื่องนี้นี่เอง

ผลของการถือว่าเป็นเพลงสำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงทำให้เชื่อกันว่าเพลงนี้เก่าถึงชั้นอยุธยาไปด้วย

แต่ก็เป็นผู้รู้ทางดนตรีไทยเองอีกนั่นแหละ ที่อธิบายว่าที่จริงแล้วลักษณะทางดนตรีของเพลงสาธุการไม่น่าเก่าแก่ไปจนถึงชั้นอยุธยา แต่เป็นเพลงรุ่นกรุงเทพฯ กรุงรัตนโกสินทร์

เผลอๆ จะไม่เก่ากว่าสมัยรัชกาลที่ 4 ด้วยซ้ำไป

หลักฐานทางดนตรีจึงไปสอดคล้องกับข้อมูลทางงานช่าง ที่ไม่มีของเก่าในสมัยอยุธยา มีแค่สมัยรัตนโกสินทร์เท่านั้น เรื่องจึงดูเหมือนว่าตำนานเรื่องพระอิศวรกับพระพุทธเจ้าเล่นซ่อนหากัน และรูปพระอิศวรที่มีพระพุทธเจ้าประทับอยู่บนพระเศียร เป็นเกิดจากตำนานใหม่ชั้นกรุงเทพฯ แต่บังเอิญเรื่องมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นนี่สิ?

 

พระพุทธรูปอีกกลุ่มหนึ่ง ที่สร้างขึ้นในยุคกรุงเทพฯ เช่นกัน มีลักษณะเป็นรูปบุคคลทรงวัว และมีพระพุทธรูปอยู่เหนือศีรษะ ซึ่งในตำราพระพุทธรูปปางต่างๆ เรียกพระพุทธรูปปางนี้ว่า “พระพุทธรูปปางโปรดพกาพรหม”

กล่าวอย่างรวบรัด “พรหม” ในศาสนาพุทธแตกต่างจากพรหมสี่หน้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ตรงที่มีพระพักตร์ คือหน้าเดียว ซ้ำยังมีอยู่หลายองค์ หลายชนิด ถึงกับแยกพรหมโลกออกจากสวรรค์ ต่างจากศาสนาพราหมณ์ที่พระพรหมมีอยู่เพียงองค์เดียวเท่านั้น

เรื่องของ พกาพรหม ที่มีอ้างถึงอยู่ในพระไตรปิฎกมีอยู่สองเรื่อง เนื้อหาคล้ายกันในสองพระสูตร คือ พรหมนิมันตนิกสูตร และพกสูตร คือ พกาพรหม (ในพระสูตรว่า พกพรหม) มีดำริไปในทางที่ผิด เพราะคิดว่าฐานะแห่งพรหมนั้นเที่ยง ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ พระพุทธเจ้าจึงเสด็จไปเทศนาถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง จนพกาพรหมเข้าใจในความไม่เที่ยงแท้ของสัตว์โลกในที่สุด

เรื่องราวในทั้งสองพระสูตรที่ว่าจะต่างกันก็แต่ใน พกสูตร พกาพรหมเข้าใจพระธรรมเทศนาแต่โดยดี แต่ในพรหมนิมันตนิกสูตร พกาพรหมไม่เชื่อในพระธรรมและพยายามแสดงอิทธิเดชด้วยการซ่อนกาย แต่เมื่ออยู่ต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธองค์ก็ไม่สำเร็จ และเมื่อพระพุทธเจ้าแสดงอิทธิปาฏิหาริย์บ้าง พกาพรหมกลับหาไม่พบจนต้องยอมศิโรราบ

พรหมนิมันตนิกสูตรก็ว่าด้วยเรื่องของการประลองซ่อนตัว แต่ไม่ยักจะซ่อนอยู่บนพระเศียร อย่างไรก็ตาม ชาวสยามในอยุธยาคงรู้จักพกาพรหมแน่ เพราะคัมภีร์ในพุทธศาสนาเถรวาทอีกเล่มหนึ่งที่เชื่อกันว่าแต่งขึ้นในประเทศไทย อายุไม่เก่าไปกว่า พ.ศ.1800 อย่าง ฎีกาพาหุง ก็เล่าเรื่องเดียวกันนี้ แต่ขยายความต่อไปว่าพระพุทธเจ้าไปซ่อนพระวรกายอยู่กลางหมู่พรหม

ไม่ว่าความตรงนี้จะมีมูลอย่างไรก็ดี แต่พระพรหมในพุทธศาสนาไม่เคยมีองค์ไหนที่ทรงโคเลย และที่จริงแล้วถ้าว่ากันตามคัมภีร์ในศาสนาพุทธชุดสำคัญอย่างพระไตรปิฎก และอรรถกถาที่ขยายความต่อมา ก็ไม่มีพระพรหมองค์ไหนทรงพาหนะเสียด้วยซ้ำ

พระพุทธรูปที่อยู่เหนือรูปบุคคลทรงโคจะกลายเป็นพระพุทธรูปปางโปรดพกาพรหมไปได้อย่างไร?

 

ในคัมภีร์สายโลกศาสตร์ ที่มักเรียกกันว่าหนังสือไตรภูมิ (ซึ่งมีอยู่หลายฉบับ ไม่ได้มีเฉพาะอยู่แค่ไตรภูมิพระร่วง) ฉบับที่เก่าแก่ที่สุด เขียนขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อน พ.ศ.1100 ที่ชื่อ โลกปราชญาปติ เขียนเป็นภาษาสันสกฤต เพราะเป็นตำราของฝ่ายมหายาน

มีเรื่องทำนองเดียวกับตำนานเพลงสาธุการ หากแต่เปลี่ยนชื่อจาก “พระอิศวร” เป็น “มหิศรเทพบุตร” และพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ทรงซ่อนพระองค์อยู่เหนือพระเศียร แต่อยู่ระหว่างพระเนตร มหิศรเทพบุตรเลยหาไม่พบ

เรื่องเล่าในโลกปราชญาปติ ยังมีความยาวกว่าตำนานเพลงสาธุการอีกด้วย เพราะหลังจากนั้นมหิศรเทพบุตรได้ฟังเทศน์จากพระพุทธองค์จนตรัสรู้ธรรม และเมื่อพระเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วมหิศรเทพบุตรก็ได้เนรมิตพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่งแล้วอัญเชิญไปไว้ในมหาวิหาร บนยอดเขามันทคีรี โดยให้หมู่ลิงเป็นผู้ดูแลวิหาร

อันที่จริงแล้ว ผู้ที่คุ้นเคยกับเทพปกรณัมอินเดียคงจะเดาได้ไม่ยากว่า คำว่า “มหิศรเทพบุตร” นั้นก็หมายถึง “พระอิศวร” นั่นเอง

 

ชาวพุทธเถรวาทรู้จักตำราฝ่ายมหายานเล่มนี้เพราะมีการแปลเป็นภาษาบาลีในชื่อ โลกบัญญัติ เรื่องพระพุทธเจ้าเล่นซ่อนหากับมหิศรเทพบุตรจึงกลายเป็นที่รับรู้ของฝ่ายเถรวาทไปด้วย

แต่นิทานเรื่องนี้คงไม่เป็นที่นิยมนักในอยุธยา จนกระทั่งในยุครัตนโกสินทร์ เมื่อรัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์ก็โปรดให้มีการชำระตำราความรู้ วรรณคดีต่างๆ เป็นจำนวนมาก

ที่สำคัญเล่มหนึ่งคือ หนังสือไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา ที่โปรดให้ชำระจากตำราโลกศาสตร์หลายเล่ม โลกบัญญัติก็เป็นหนึ่งในนั้น นิทานเรื่องที่ว่าจึงกลับมาอยู่ในความรับรู้ของชาวสยามอีกครั้งหนึ่ง

ซ้ำยังเพิ่มเติมข้อความไปด้วยว่า ระหว่างที่มหิศรเทพบุตรอัญเชิญพระพุทธรูปไปไว้ในมหาวิหารนั้นได้ “เทินไว้เหนือพระเศียร”

จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่พระอิศวรทรงโคในสมัยกรุงเทพฯ จะมีพระพุทธรูปเทินไว้อยู่อยู่เหนือพระเศียรเช่นกัน และยิ่งไม่น่าแปลกใจเลยที่เพลงสาธุการจะมีอายุไม่เก่าไปถึงยุคอยุธยา ก็ตำนานต้นเรื่องยังเป็นเรื่องที่นิยมในยุครัตนโกสินทร์เลยนี่

พระพุทธเจ้าจึงได้เสด็จไปประทับอยู่เหนือพระเศียรของพระอิศวร ด้วยสาเหตุประการนี้นั่นเอง