เหตุการณ์ “เดือนตุลา” ต่อทิศทางสังคมธุรกิจไทย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

กรณีอ้างอิง-เอสซีจี

เหตุการณ์ “เดือนตุลาคม” มีความสัมพันธ์กับบริบทสังคมธุรกิจไทย ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเปลี่ยนแปลงสำคัญ

มีบางกรณีควรยกขึ้นมาอ้างอิงเป็น “กรณีตัวอย่าง” ด้วยความเชื่อมโยงหลายมิติ ถือเป็น “ชิ้นส่วน” ประหนึ่งเป็นเชิงอรรถของตอนที่แล้ว นั่นคือกรณีเครือซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี

ความผันแปรและวิกฤตทางสังคม มักเป็นภาพสะท้อนสะเทือนสังคม ทั้งภาพรวม ภาคเศรษฐกิจ และธุรกิจ ท่ามกลางวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญ มักมีโอกาสครั้งใหญ่อยู่ด้วย กรณีเอสซีจี ในฐานะธุรกิจสำคัญ ได้เกิดขึ้นหลายครั้งในประวัติศาสตร์

ในช่วง 14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2518 ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมไทย ความผันแปรทางการเมืองมีความเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของสาธารณชนอย่างกว้างขวางครั้งแรกๆ ของสังคมไทย

เอสซีจีในฐานะธุรกิจสำคัญ และผลิตสินค้าถือเป็นดัชนีหนึ่งทางเศรษฐกิจของประเทศ กำลังอยู่ในช่วงความพยายามปรับตัวครั้งใหญ่กับโอกาสใหม่ที่เปิดกว้าง

 

ยุคเปลี่ยนผ่าน

ความพยายามเปลี่ยนผ่านการบริหารครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ เพื่อก้าวพ้นยุคเดนมาร์ก ซึ่งเป็นตำนานความสำเร็จในช่วง 6 ทศวรรษแรก ตั้งแต่การก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแห่งแรกของไทยในยุคอาณานิคม ภายใต้กุศโลบายอ้างอิงชาติที่อยู่ตรงกลางระหว่างเจ้าอาณานิคมใหญ่

การปรับตัวสอดคล้องกับจังหวะเวลา จากพึ่งพิงเครือข่ายระบบอาณานิคมในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ไปยังจุดอ้างอิงใหม่กับอิทธิพลสหรัฐยุคสงครามเวียดนาม

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กับการสิ้นสุดของระบบอาณานิคม อิทธิพลสหรัฐเริ่มต้นขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคให้ขยายตัวครั้งใหญ่ จากการลงทุนสร้างระบบสาธารณูปโภค บริษัทระหว่างประเทศขยายการลงทุนอย่างขนานใหญ่เข้ามาในภูมิภาคและในประเทศไทย (ดังที่กล่าวไว้ในตอนที่แล้ว)

ความสำเร็จครั้งสำคัญเกิดจากการกู้เงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นเหตุการณ์ เป็นดีลสำคัญมากๆ สำหรับเอสซีจีในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ตามแผนการขยายตัวทางธุรกิจครั้งใหญ่ เพื่อสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำ นอกจากนี้ เป็นจุดตั้งต้นการปรับโครงสร้างธุรกิจตามโมเมนตัม ตามโอกาสธุรกิจที่เปิดกว้าง

โอกาสนั้นมาพร้อมกับการกำเนิดคู่แข่งที่น่าเกรงขามด้วย แรงกระตุ้นจากสงครามเวียดนาม โดยเฉพาะจากการสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างขนานใหญ่ รวมทั้งการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขึ้นครั้งแรกในประเทศ เป็นทั้งตำนานและดัชนีว่าด้วยการพัฒนาแบบสมัยใหม่ เป็นโมเดลยึดมั่นอย่างมั่นคงในช่วง 2 ทศวรรษต่อมา (เขื่อนภูมิพล สร้างเสร็จปี 2507 เขื่อนอุบลรัตน์ 2508 เขื่อนจุฬาภรณ์ 2513 เขื่อนสิรินธร 2514 เขื่อนสิริกิติ์ 2515 เขื่อนศรีนครินทร์ 2524 เขื่อนวชิราลงกรณ์ 2527)

การสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานข้างต้น เป็นตลาดมหึมาของสินค้าปูนซีเมนต์

ขณะเดียวกันเอสซีจีจะไม่ได้เป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ผูกขาดอีกต่อไป ด้วยการเกิดขึ้นของคู่แข่งสำคัญ–บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงในปี 2512

แผนการยุคเปลี่ยนผ่าน มาพร้อมกับการปรับโครงสร้างบุคลากรครั้งใหญ่ ในขณะที่ระดับนโยบาย (กรรมการบริษัท) ส่วนใหญ่ยังคงสืบทอดสายสัมพันธ์กับระบบราชการ ส่วนใหญ่มาจากระบบราชการ เน้นผู้มีบทบาทเกี่ยวข้อง และมีประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจ

ขณะเริ่มปรากฏผู้มาจากภาคเอกชนด้วย โดยเฉพาะภาคธนาคารที่เกี่ยวข้อง ส่วนระดับผู้บริหารระดับกลางขึ้น การเสริมทีมครั้งใหญ่เต็มไปด้วยผู้มีประสบการณ์จากภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มมืออาชีพคนไทยกลุ่มแรกๆ ของสังคมธุรกิจไทย ผู้มีประสบการณ์ในบริษัทต่างชาติในประเทศไทย

ในภาพกว้างขึ้น ทีมใหม่ที่ว่า สะท้อนพัฒนาการสังคมธุรกิจไทย

หนึ่ง-ผู้มีประสบการณ์ระดับบริหารมาจากบริษัทระดับโลกในประเทศไทย เป็นกิจการที่อยู่มานาน สามารถดำรงอยู่มาได้ตั้งแต่ยุคอาณานิคม จนถึงยุคอิทธิพลสหรัฐ

สอง-ในบางระดับสะท้อนสายสัมพันธ์ทางสังคม หลายคนมีสายสัมพันธ์กับรากฐานเก่า (Old establishment )

และสาม-แนวโน้มให้ความสำคัญกับสายสัมพันธ์กับยุคอิทธิพลสหรัฐมากขึ้น หลายคนมีประสบการณ์ การศึกษาและทำงานในระบบอเมริกัน

เป็นจังหวะเวลา การปรับตัวทางธุรกิจ เป็นกรณีศึกษาสำคัญทีเดียว

 

โอกาสใหม่

โอกาสทางธุรกิจนั้นไม่ได้มาได้ง่ายๆ เสียทีเดียว

ก่อนอื่นเอสซีจีต้องเผชิญกับปัญหาพื้นฐานอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายเดียว การกำหนดราคาสินค้าปูนซีเมนต์เพื่อความสมดุลกับผลประกอบการย่อมทำได้ และทำมาเกือบจะต่อเนื่อง เป็นอีกครั้งหนึ่งไม่สามารถทำเช่นนั้นได้

อันที่จริงก็ไม่ใช่ครั้งแรก เหตุการณ์ทำนองเดียวกันเคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครองช่วงปี 2475 (หากมีโอกาสจะขออรรถาธิบายเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ)

ทว่าในช่วงที่จะนำเสนอต่อไปนี้มีปัญหาพอสมควร นำไปสู่กติกาใหม่ของสังคม

มีความจริง ความเป็นไปอีกประการหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมักเกี่ยวข้องเอสซีจีเสมอ และอีกครั้งที่สำคัญในช่วงปี 2516 เป็นเหตุการณ์สำคัญควรบันทึกไว้ เป็นภาพสะท้อนความสัมพันธ์เหตุการณ์ “เดือนตุลาคม” กับสังคมธุรกิจอย่างแยกไม่ออก

กรรมการบริษัทเอสซีจีหลายคนต้องออกจากตำแหน่ง ไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีความสำคัญมากๆ ในเวลานั้น ซึ่งอาจมองได้ในหลายมิติ

นั่นคือ สัญญา ธรรมศักดิ์ กรรมการคนสำคัญเพิ่งเข้ามาในช่วงเปลี่ยนผ่านข้างต้น ต้องลาออกเพื่อดำรงตำแหน่งสำคัญ เป็นผู้นำรัฐบาลในจังหวะเวลาสำคัญ เป็นนายกรัฐมนตรี (14 ตุลาคม 2516 – 22 พฤษภาคม 2517)

ขณะที่ บุญมา วงศ์สวรรค์ กรรมการอีกคนผู้ถูกวางตัวจะเข้ามาเป็นผู้จัดการใหญ่เอสซีจี ในฐานะคนไทยคนแรก ถูกขัดจังหวะ ต้องลาออกไปชั่วคราวไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง

และ โอสถ โกศิน กรรมการเอสซีจีอีกคน เข้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

อันที่จริงในยุคก่อนหน้า กรรมการหรือผู้บริหารของเอสซีจีในหลายคนมีความสัมพันธ์ทางการเมืองเสมอมา แต่ครั้งนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจเป็นพิเศษ จากสถานการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง มีความสัมพันธ์กับพลังสาธารณชนมากกว่าครั้งใดๆ มีบทวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าด้วยการผูกขาดของธุรกิจใหญ่ เป็นกระแสหนึ่งที่แรงพอสมควรในเวลานั้น ย่อมกระทบกระทั่งมายังเอสซีจีด้วย

“ปูนซีเมนต์กลายเป็นสินค้าการเมือง เพราะขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายอื่นๆ รัฐบาลจำต้องควบคุมราคาให้ต่ำไว้ ตามแรงกดดันของพลังทางการเมือง …ผมเองก็ร่วมอยู่ในคณะรัฐบาลขณะที่มีการตัดสินใจเรื่องนี้ แต่ก็ตกอยู่ในฐานะ “น้ำท่วมปาก” ไม่อาจพูดโต้แย้งได้ ทั้งๆ ที่ไม่เห็นด้วย” บุญมา วงศ์สวรรค์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 16 ตุลาคม 2516-30 พฤษภาคม 2517 และผู้จัดการใหญ่เอสซีจี 2517-2519) กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ (หนังสือ “ปูนซิเมนต์ไทย 2456-2526”)

“ผลสะท้อนของมาตรการควบคุมราคาที่มีต่อปูนซิเมนต์ไทยก็คือ ทำให้บริษัทต้องหันไปสู่ทิศทางใหม่โดยผลิตสินค้าประเภทอื่นๆ เพิ่มขึ้น เราก็คิดกันก่อนนี้แล้ว แต่มาตรการควบคุมราคาทำให้เราตระหนักอย่างชัดแจ้งขึ้น…” อีกตอนหนึ่งของบันทึกบุญมา วงศ์สวรรค์ เมื่อพ้นการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขามารับตำแหน่งผู้จัดการใหญ่เอสซีจีในทันที เป็นจังหวะครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์เพื่อก้าวพ้นยุคเดนมาร์ก ขณะที่แผนการสู่ธุรกิจอื่นๆ ดำเนินไป

โอกาสใหม่มีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งผันแปรไปตามสถานการณ์ โดยเฉพาะช่วงหลังสงครามเวียดนาม โดยภาพรวมถือเป็นสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยนัก ในปี 2518 สหรัฐแพ้สงครามเวียดนาม กระบวนการถอนฐานทัพทั่วภูมิภาค รวมทั้งในประเทศไทยดำเนินไป “ทฤษฎีโดมิโน” ถูกกล่าวถึงด้วยความวิตกถึงการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในทวีปเอเชีย จากเวียดนาม ลาว (ปกครองโดยคอมมิวนิสต์ ปี 2518) และเขมร (เขมรแดงปกครองปี 2518-2522)

ในช่วงเดียวกันนั้นเอสซีจีมีโอกาสเข้ามาเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหากิจการจะเป็นมรดกสหรัฐก็ได้ ใช้เวลาอีกประมาณ 10 ปี กว่ากิจการจะต่อยอดเป็นกลุ่มธุรกิจกระดาษครบวงจร เป็นจุดเริ่มต้นการก้าวเข้าสู่ธุรกิจอื่นๆ อย่างมีนัยยะในหลายกรณี

ว่าไปแล้วเป็นกรณีหนึ่ง เกี่ยวเนื่องกับการถอนตัวของธุรกิจตะวันตก ด้วยแรงกระเพื่อมเพียงเล็กน้อยในช่วงหลังสงครามเวียดนาม แต่เอื้อประโยชน์ต่อเอสซีจีอย่างมาก

ขณะเดียวต้องปรับตัวเข้ากับภาพใหญ่กว่า เมื่อเศรษฐกิจไทยผนวกเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ต้องเผชิญความผันแปรจากวิกฤตการณ์น้ำมันติดต่อกันหลายครั้ง

สินค้าเกษตรส่งออกของไทยราคาตกต่ำ

วิกฤตการเงินในต่างประเทศ ลามมาถึงไทย ทั้งปัญหาครั้งใหญ่ของสถาบันการเงินและตลาดหุ้นไทยที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ได้ไม่นาน

ผลกระทบขยายวงจากภาคเศรษฐกิจไม่ใช่การผลิตโดยตรง ลามไปถึงภาคผลิต ส่งผลให้อุตสาหกรรมไทยทั้งระบบซึ่งเพิ่งก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างไม่นานนักต้องถูกบังคับให้ปรับตัวครั้งใหญ่ ในที่สุดรัฐบาลต้องลดค่าเงินบาท ซึ่งถือเป็นการใช้ยาแรงครั้งแรกๆ ของระบบเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ตาม เอสซีจีในฐานะธุรกิจใหญ่และสำคัญในสังคมไทย ไม่เพียงสามารถประคองตัวผ่านวิกฤตการณ์ หากก้าวไปข้างหน้าด้วย