เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง : ปรัชญาแห่งโครงการหลวง

เมื่อเอ่ยถึง “โครงการหลวง” ไม่มีคนไทยคนไหนอีกแล้วที่ไม่รู้จัก ผลสำเร็จของโครงการหลวงที่ทำให้ราษฎรบนที่สูงอยู่ดีกินดีด้วยการปลูกพืชต่างๆ แทนฝิ่นได้กลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นที่รู้ไม่เฉพาะในเมืองไทย แต่ยังเป็นที่รับรู้ไปทั่วโลก

โครงการพระราชดำรินั้นกว่าจะถึงวันนี้ได้ฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 2512 ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาเกือบ 50 ปีของการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

การเป็นต้นแบบของโครงการหลวงจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากการทุ่มเทแรงกายแรงใจและแรงศรัทธาที่มีต่อพระองค์ท่านของบุคคลต่างๆ ที่ได้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท

ทำงานสนองพระราชปณิธานที่เกิดจากวิสัยทัศน์ยาวไกลของพระองค์ท่าน

ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับ อาจารย์สืบศักดิ์ นวจินดา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่บัดนี้ได้เกษียณอายุแล้ว ซึ่งทำงานสนองพระราชปณิธานของพระองค์ท่านมาตั้งแต่เริ่มต้น ที่ผู้อ่านหลายท่านคงคุ้นหน้าจากภาพยนตร์โครงการพระราชดำริในช่วงนี้

ผู้เขียนเองก็ได้ติดตามไปจนพบตัวท่านและได้ขอให้ท่านเล่าถึงโครงการหลวงให้ฟัง

 

เริ่มต้นจากปี 2510 เมื่ออาจารย์จบการศึกษาและได้เดินทางไปดอยปุยเพื่อเป็นหัวหน้าสถานีวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทดลองปลูกพืชเมืองหนาวบนนั้นได้ผลดี รวมทั้งได้ให้แนวทางม้งในการรักษาสภาพแวดล้อม

ม.จ.ภีศเดช รัชนี เมื่อได้ทราบจึงเห็นว่าตรงกับพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงทำงานร่วมกัน

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงให้ตั้งโครงการหลวงบนดอยปุยและเริ่มทดลองปลูกท้อ เมื่อได้ผลดีก็มีการขยายพื้นที่ปลูก นอกจากบนดอยปุยแล้วก็มีการสำรวจที่สูงร่วมกับ ตชด. ได้อีกหลายแห่ง เลือก 18 จุดที่มีระดับความสูงเหมาะสมสำหรับปลูกพืชเมืองหนาว

การเลือกพื้นที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ว่า “เราอย่าปลูกพืชแข่งกับคนที่พื้นราบ ให้เราปลูกพืชเมืองหนาว” ต่อมาเมื่อมีการสร้างเขื่อนภูมิพล ก็ทรงมีรับสั่งว่า “สมควรรักษาต้นน้ำลำธารบริเวณรอบเขื่อน”

แล้วยังทรงมีรับสั่งว่า “ต้องหยุดชาวเขาให้อยู่กับที่ ไม่ไปที่อื่น” ทั้งนี้เพราะเวลาปลูกฝิ่น ชาวเขาจะย้ายที่ไปเรื่อย

 

อาจารย์อธิบายว่าระดับพื้นที่มีความสำคัญสำหรับพืชผัก ผลไม้ และไม้ดอกเมืองหนาว ต้องมีความสูงที่พอเหมาะ พืชแต่ละชนิดปลูกได้ดีบนระดับความสูงต่างกัน

ดังนั้น อาจารย์และท่านภี (ม.จ.ภีศเดช รัชนี) จึงต้องเดินทางท่องสำรวจดอยต่างๆ อยู่เสมอ มีเกร็ดที่อาจารย์เล่าว่า คราวหนึ่งไปสำรวจดอยอินทนนท์ มีชาวเขาเผ่าม้งพาไป ไปเจอต้นกาแฟ ก็เก็บมาคั่ว ใส่ครกตำ เอามาต้ม ทดลองดื่ม ท่านภีบอกว่า “ผมบอกแล้ว ถุงเท้าผมขาด เอาไปทำไม” กาแฟคราวนั้นคงรสชาติเข้มข้นทีเดียว จากนั้นท่านภีก็กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาทอดพระเนตร

สำหรับพันธุ์กาแฟที่โครงการหลวงทดลองนี้ ต่อมาผู้เขียนอ่านพบเรื่องของกาแฟดอยช้าง ซึ่งผู้ริเริ่มทำได้บอกว่าได้มาขอพันธุ์จากโครงการหลวงนั่นเอง

อาจารย์เล่าว่า ที่บนเขานั้นได้ลองปลูกข้าว แต่ข้าวไม่ออกเลย อาจารย์ได้ทำวิจัยไม้ผล ไม้ดอก พืชไร่ต่างๆ ขยายเครือข่ายช่วยกันดูแลระหว่าง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หลังจากที่ได้คุยกับอาจารย์แล้วทำให้มองภาพชัดว่าการทำวิจัยเป็นเรื่องสำคัญมาก ตั้งแต่การวิจัยว่าพื้นที่แต่ละแห่งปลูกอะไรได้ผลดี และตลาดต้องการอะไร

อาจารย์ได้เอาไม้ผล 10 ชนิดขึ้นไปทดลองปลูกบนดอย ปรากฏว่ามีอาโวคาโดได้ผลดี เมื่อศึกษาตลาดก็พบว่า การบินไทยต้องการอาโวคาโด แต่ต้องเป็นขนาดเล็ก 3-4 ขีด ก็ต้องเลือกชนิดพันธุ์ลูกเล็ก

หรือยุโรปต้องการแคนตาลูป ขนาดลูกละ 5-6 ขีดก็ต้องมีวิธีทำให้ผลมากจะได้ผลเล็ก

ในขณะที่กุหลาบชอบที่สูง 600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

 

โครงการหลวงตั้งขึ้นในปี 2512 ทุกปีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จะเสด็จมาพระราชทานต้นไม้ให้ชาวเขา พร้อมเครื่องมือตัดตา อาจารย์สืบศักดิ์ได้รับหน้าที่สอนชาวเขาให้ปลูกและดูแล

ในภาพยนตร์สารคดีโครงการหลวงที่เราดูในโทรทัศน์ตอนหนึ่งอาจารย์ได้เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตรัสว่า “เราได้ป่าไม้ผลมาแทนป่าไม้จริง ซึ่งมีรากลึกพอจะช่วยระบบนิเวศได้”

ทรงคิดหลายมิติพร้อมๆ กัน ให้ชาวเขามีอาชีพด้วย รักษาระบบนิเวศด้วย

โครงการส่วนพระองค์นี้ทรงระดมความช่วยเหลือจากนานาประเทศ และองค์กรต่างๆ เป็นผู้เชี่ยวชาญบ้าง เป็นเงินทุนบ้าง แต่ผู้เขียนเชื่อว่าทีมงานที่อยู่ตรงจุดต่างๆ และเป็นผู้ปฏิบัติจริงในแต่ละวันคือผู้มีบทบาทปิดทองหลังพระที่ผลักดันโครงการให้เจริญเติบโตงอกงามตามพระราชปณิธาน มีประโยชน์ทั้งกับชาวเขา และประชาชนบนพื้นราบได้บริโภคผลผลิตที่มีคุณภาพ

จากขุนเขาสู่ผู้บริโภค เป็นโจทย์ที่ยากเย็น สำหรับโครงการที่จะต้องเริ่มจากตั้งไข่

ยิ่งผลผลิตเป็นของเน่าเสียง่ายก็ยิ่งยากขึ้นอีก

การตลาดไม่มีสูตรสำเร็จ ต้องเรียนรู้จากสถานการณ์ การสังเกต บวกกับการถ่ายทอดความรู้จากคนที่มีประสบการณ์มาปรับใช้

 

อาจารย์เล่าว่า ในตอนแรกได้ติดต่อพ่อค้าในตลาดจตุจักรให้มารับไป ปรากฏว่าเขาขาดทุน บางรายถึงกับล้มละลาย ของเสียไป 80% ต่อมาได้นักวิชาการตลาดคือ อาจารย์นงเยาว์ ชัยเสรี ที่ธรรมศาสตร์มาช่วย รวมทั้งลูกศิษย์ที่ทำงานบริษัทเอกชนมาแนะนำให้ใช้รถห้องเย็น ซึ่งเวลาขนส่งต้องมีอุณหภูมิพอดี และมีค่าความชื้นที่พอดีประมาณ 95% ในตอนแรกทำอย่างไรก็ไม่ได้ จึงเอาพัดลมใส่เข้าไป 2 ตัว ก็ได้ความชื้นที่ต้องการ

ผักอยู่ทนขึ้น ความเสียหายลดเหลือ 50%

ต่อมาตั้งปรับเปลี่ยนระบบการขนส่งและการบรรจุ ให้รถห้องเย็นไปรับผลผลิตที่บรรจุเสร็จจากแหล่งผลิตบนดอย สามารถลดค่าใช้จ่าย ลดค่าขยะจากเศษผัก ความสูญเสียจึงเหลือเพียง 5%

การเข้าไปแก้ปัญหาในจุดต่างๆ เรื่อยมาทำให้ยอดขายจากที่เคยขาย 3-5 ล้านบาท เป็น 400-500 ล้านบาทหลายปีมาแล้ว

 

ผลิตภัณฑ์โครงการหลวงใช้ชื่อ “ดอยคำ” มาตั้งแต่แรก เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการตรวจสารตกค้างอย่างเข้มงวดถึง 3 ด่าน แห่งแรกที่ศูนย์ผลิตบนดอย แห่งที่สองคือที่ศูนย์ในเชียงใหม่ ต่อมาก็สุ่มตรวจที่กรุงเทพฯ

ผู้เขียนถามอาจารย์สืบศักดิ์ว่าโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 บนที่สูงนี้ครอบคลุมเพียงพอหรือยัง อาจารย์ตอบว่ายัง ทำได้นิดเดียว เมื่อถามต่อว่า แล้วคนอื่นจะเอาไปทำได้ไหม อาจารย์บอกว่าต้องมีหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะจึงจะสำเร็จ และต้องทำทั้งการผลิตและการตลาด

สำหรับโครงการหลวงก้าวมาไกล เพราะมีกลุ่มคนที่พร้อมจะเสียสละด้วยศรัทธาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้คือ โครงการหลวงจะสร้างอาชีพให้คน และให้คนสร้างระบบนิเวศ เป็นโครงการที่ไม่ต้องทำกำไร

ทุกวันนี้ราษฎรบนที่สูงก็ลืมตาอ้าปากได้ บางรายมีรายได้ปีหนึ่งๆ เป็นล้านบาท ทุกบ้านมีรถกระบะ และสามารถขายผลิตภัณฑ์ให้ที่อื่นๆ ได้ไม่เฉพาะโครงการหลวง พวกเขามีเงินเหลือใช้แค่ไหนอาจารย์บอกว่าก็ดูที่เขาสามารถตั้งสโมสรฟุตบอลลงมาแข่งกับทีมบนที่ราบได้ก็แล้วกัน

พระราชปณิธานเรื่องไม่ทำกำไรนี้ ก็เหมือนกับแนวคิด social enterprise ที่ทั่วโลกทำกัน ผู้เขียนซาบซึ้งในสายพระเนตรอันยาวไกล เปี่ยมด้วยพระปัญญาและความเมตตา ขอให้พระราชปณิธานของพระองค์ท่านได้รับการสืบสานต่อไปชั่วกาลนานเทอญ