ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต/’FOMM One EV’ รถยนต์ไฟฟ้า ‘จิ๋ว’ แต่ ‘แจ๋ว’

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต [email protected]

 

‘FOMM One EV’

รถยนต์ไฟฟ้า ‘จิ๋ว’ แต่ ‘แจ๋ว’

 

เป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ กับสังคม “ยานยนต์ไฟฟ้า” ในเมืองไทย เพราะนอกจากหลายหน่วยงานจะร่วมด้วยช่วยกัน ติดตั้งและขยายสถานีชาร์จไฟฟ้า และวางแผนกระจายไปทั่วประเทศมากขึ้น

ภาคเอกชนเองก็เริ่มมีสถานีชาร์จตามห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมันบางแห่ง และคอนโดมิเนียมระดับหรูเฟร่อ

ในส่วนของค่ายรถยนต์ก็มีเทกแอ๊กชั่นอยู่หลายค่าย อย่างนิสสันประกาศชัดเจนว่าปีนี้ “ลีฟ” รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% หรือ EV เข้ามาทำตลาดแน่นอน โดยเริ่มรับจองผ่านเว็บไซต์ของตัวเองแล้ว และมีผู้สนใจเข้าไปลงชื่อจองจำนวนมาก

หรือจะเป็นบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ (EA) ให้บริษัทลูก “พลังงานมหานคร” เจ้าของโครงการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์ “EA Anywhere” ที่ถือเป็นรายใหญ่ที่สุด ก็อวดโฉมรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบฝีมือคนไทยที่มีอยู่หลากหลายรุ่น

และล่าสุดกับบริษัทเอฟโอเอ็มเอ็ม (เอเชีย) บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่น-ไทย เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ “FOMM” (ฟอมม์) ในรุ่น “One EV”

น่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกของไทยที่เปิดขายอย่างเป็นทางการ

ก่อนหน้านี้ค่าย “FOMM” นำรถรุ่นนี้ไปปรากฏโฉมในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา พร้อมกับรถต้นแบบสปอร์ต 2 ประตูไฟฟ้า และจักรยานยยนต์ไฟฟ้า

“FOMM One EV” เป็นรถขนาดเล็ก (มากกกกก) มี 2 ประตูแต่มีให้ถึง 4 ที่นั่ง ขนาดตัวถัง (กว้าง x ยาว x สูง) 1,295 x 2,585 x 1,560 ม.ม. น้ำหนักตัวรถเพียง 445 กิโลกรัม (รวมแบตเตอรี่ 630 กิโลกรัม)

รูปร่างหน้าตาน่ารักน่าชังทีเดียว ด้านหน้าออกแบบสไตล์ “คาบูกิ” วัฒนธรรมการแสดงที่ใส่หน้ากากของญี่ปุ่น ไฟหน้าแบบวงกลมขนาดเล็กเรียงกันในแนวเฉียงขึ้นฝั่งละ 3 ดวง โดยดวงที่ 3 เป็นไฟเลี้ยว

มีช่องเสียบชาร์จอยู่ด้านหน้า

ด้านข้างไม่ได้ใส่ลูกเล่นมากนัก ออกแบบเรียบๆ ด้านท้ายแบบตัดตรง

จุดเด่นน่าจะอยู่ที่ล้อเป็นแบบครีบ สามารถเหินไปบนน้ำได้

จากสเป๊กลุยน้ำได้สูงถึง 70 ซ.ม. โดยไม่มีผลกระทบกับมอเตอร์ไฟฟ้า เพราะซีลปิดสนิทกันน้ำเข้าไว้อย่างดี

แต่หากระดับน้ำสูงกว่านั้นจนทำให้รถลอยจากพื้น ยังเดินทางต่อได้ เพราะออกแบบให้ตัวรถปิดสนิทคล้ายอ่างน้ำ ล้อที่ติดตั้งครีบสามารถแล่นและบังคับทิศทางได้

อย่างไรก็ตาม เจ้าของแบรนด์บอกว่า “FOMM One EV” ไม่ใช่รถสะเทินน้ำสะเทินบก กรณีลุยน้ำสูงๆ นั้นน่าจะใช้เมื่อกรณีฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ เพราะรถอย่างไรเสียก็ไม่ใช่เรือ

 

ไปดูภายในกันบ้าง เน้นโทนดำ แต่เบาะแซมด้วยสีส้ม เพื่อไม่ดูทะมึนเกินไป

พวงมาลัยทรงแปลกตาคล้ายๆ ครึ่งวงกลม หรือคล้ายกับคันบังคับเครื่องบินมากกว่า

เรือนไมล์ไปอยู่ตรงกลางเป็นแบบดิจิตอล ขนาบข้างด้วยช่องแอร์ทรงกลม

ต่ำลงมาเป็นแผงควบคุมที่ดูแปลกตาสักหน่อย เพราะเป็นที่ตั้งปุ่มปรับเรือนไมล์ และอีกฝั่งเป็นเกียร์แบบปุ่มกด แบ่งเป็นเดินหน้า (D) เกียร์ว่าง (N) และเกียร์ถอย (R)

เมื่อเข้าไปลองนั่งแล้วอาจแปลกใจหน่อยเพราะแป้นที่เท้ามีแค่แป้น “เบรก” อันเดียวเท่านั้น

เพราะคันเร่งขยับมาอยู่หลังพวงมาลัย

วิศวกรผู้ออกแบบให้ความเห็นว่าเพื่อป้องกันเหยียบผิดนั่นเอง

เข้าใจว่าที่ออกแบบมาลักษณะนี้ อีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากข้อจำกัดของพื้นที่นั่นเอง ทำให้หากนำแป้นคันเร่งและเกียร์วางคู่กัน อาจจะชิดไปหน่อย จนมีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้

จึงย้ายคันเร่งมาอยู่หลังพวงมาลัยเสียเลย

ภาพรวมภายในมองแล้วก็เรียบๆ แต่ดูน่ารักดี

มาถึงหัวใจหลักระบบขับเคลื่อนติดตั้งมอเตอร์แบบ In-Wheel ขนาด 5kWx2 แบบเตอรี่แบบลิเธียม ไอออน 2.96 kWHx4 ให้กำลัง 10 กิโลวัตต์ ที่ 170-800 รอบต่อนาที แรงบิด 560 นิวตัน-เมตร ที่ 0-170 รอบต่อนาที

ทำความเร็วสูงสุดได้ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง แบตเตอรี่แบบลิเธียม ไอออน 2.96 kWHx4

ชาร์จประจุไฟฟ้าจาก 0-100% เต็มหนึ่งรอบ ประมาณ 6 ชั่วโมง สามารถวิ่งได้ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร

อายุการใช้งานแบตเตอรี่อยู่ที่การชาร์จเต็ม 3,000 ครั้ง

การชาร์ตเต็ม 1 ครั้งคิดจาก 0-100%

หากใช้รถไปจนแบตเตอรี่เหลือ 50% แล้วชาร์จจนเต็ม จะนับเพียง “ครึ่งครั้ง”

อัตราการสิ้นเปลืองประมาณ 30 สตางค์ต่อ 1 กิโลเมตร

หากดูระยะทางที่วิ่งได้ต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง มากถึง 160 กิโลเมตร อายุแบตเตอรี่ที่ใช้งานแบบชาร์จเต็มได้ถึง 3,000 ครั้ง ต้องบอกว่ามีเกิน 10 ปีสบายๆ

ส่วนการชาร์จไม่ต้องติดตั้งอะไร เพราะมีสายชาร์จมาตรฐานติดรถมาให้เสียบกับไฟบ้านได้เลย หรือถ้าหากเดินทางก็ชาร์จที่สถานีอัดประจุไฟฟ้าทั่วไปในแบบ Type 2 ได้ง่ายๆ เช่นกัน

แต่ว่าก็ว่าเถอะครับ รถบอดี้เล็กขนาดนี้ เหมาะกับการวิ่งในเมืองหรือไปชานเมืองนิดๆ หน่อยๆ การวิ่งได้ระยะทางสูงสุดถึง 160 กิโลเมตร เกินพอสำหรับชีวิตประจำวัน

ในอนาคตบริษัทมีแผนติดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ ให้บริการในปั๊มน้ำมัน โดยหากต้องเดินทางระยะไกลแล้วไม่อยากเสียเวลารอชาร์จ สามารถยกเปลี่ยนแบตเตอรี่ทั้งลูกได้เลย ใช้เวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้น

ความนิ่มนวลไม่แพ้รถใหญ่กว่าแน่นอน เนื่องจากใช้ระบบกันสะเทือนหน้าดับเบิลวิชโบน กันสะเทือนหลังมัลติลิงก์ ซึ่งเป็นสเป๊กยอดนิยม

 

ส่วนคนที่กำลังคิดว่าอนาคตรถค่ายนี้จะเป็นอย่างไร อะไหล่จะมีปัญหาไหม ลูกค้าจะโดนลอยแพหรือเปล่า?

บอกเลยว่า หากดูข้อมูลการลงทุนของบริษัทนี้แล้ว ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะลงทุนไปแล้ว 1,200 ล้านบาท แบ่งเป็น 1,000 ล้านบาทก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี และใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการส่งออกไปประเทศต่างๆ เบื้องต้นมีทั้งญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา

และอีก 200 ล้านบาทเพื่อทำตลาด และระบบบริหารจัดการต่างๆ

ขณะที่อะไหล่ยิ่งหายห่วงเพราะใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศถึง 75%

ขณะที่ตัวแทนจำหน่ายรายแรกถือว่าไม่ธรรมดา เพราะใช้บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม จำกัด บริษัทในเครือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ ถ.งามวงศ์วาน

ขณะที่ปีหน้ามีแผนขยายโชว์รูมและศูนย์บริการในหัวเมืองใหญ่ 9 จังหวัด

ในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมามียอดจองแล้ว 355 คัน และลงทะเบียนเพื่อทดสอบรถ 1,022 คน

ตั้งเป้ายอดขายภายใน 1 ปีแรก 2,500 คัน และขยายเป็น 10,000 คันต่อปีในอนาคตอันใกล้

“FOMM One EV” เปิดตัวที่ราคา 664,000 บาท อาจจะดูสูงเกินกว่าที่คาดไว้ตั้งแต่แรก

แต่ก็จัดโปรโมชั่นผ่อนนานถึง 10 ปี หรือ 120 เดือน เฉลี่ยผ่อนเดือนละ 5 พันบาทเศษๆ