วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์ / The Good Place : ศีลธรรมคือการทำแต้ม (1)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

The Good Place : ศีลธรรมคือการทำแต้ม (1)

 

โลกกำลังลุ่มหลงกับการทำแต้ม การบอกพฤติกรรมด้วยตัวเลข เช่น วัดปริมาณอาหารที่บริโภคเป็นแคลอรี่ และการเผาผลาญสิ่งเหล่านั้นเป็นกิโลเมตร เป็นเทรนด์ที่แพร่หลาย

แต้มหรือตัวเลขที่มีความหมายเหล่านี้เป็นหัวใจของระบบทุนนิยม การติดตามราคาของทุกอย่าง ตั้งแต่ดอกเบี้ย หุ้น ไปจนถึงข้าวแกงสองจาน ขึ้นต่อสิ่งนี้

ความคุ้นเคยกับการใช้คะแนนสะสมในการจับจ่ายสินค้าก็เช่นกัน

ด้วยสูตร สมการ หรืออัลกอริธึมที่แน่นอน บริษัทต่างๆ สามารถทำการกระทำให้เป็นแต้ม และทำนายพฤติกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหุ้นหรืออาหาร แถมยังบอกได้ว่า ในฐานะผู้บริโภค เราชอบอะไรก่อนที่เราจะรู้เสียอีก

ปัจจุบัน AI อาจจะมาแทนคนและเครื่องจักรแบบเก่า แต่ก็ยังทำหน้าที่เดิม เมื่ออินเตอร์เน็ตมีประชาชนจำนวนมากเข้าถึงได้ สื่อสังคมต่างๆ เช่น Facebook Youtube หรือ Instagram ทำให้ข้อมูลมีฐานกว้างขึ้น และทำให้การระดมกำลังคนเหล่านั้นมาช่วยกันคำนวณง่ายขึ้นด้วย

ในรอบสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา การวัดพฤติกรรมด้วยแต้มจึงพัฒนาไปมาก

นี่เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศรวยหรือจน ขวาหรือซ้าย ระบอบเผด็จการหรือประชาธิปไตย และไม่ว่าจะเป็นไทย จีน หรือสหรัฐอเมริกา

ไม่นานมานี้ รัฐบาลจีนเริ่มให้ “แต้มสังคม” หรือ Social Credit แก่ประชาชน ถ้าได้คะแนนมาก ก็จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นพิเศษ

แต่ถ้าได้น้อยจะถูกลงโทษ

ตอนนี้ประชากรหลายร้อยล้านคนมีสมาร์ตโฟนที่ติดตั้งแอพพ์แบบนี้ และจีนตั้งเป้าว่าจะใช้กับทุกคนในอนาคตอันใกล้

ว่ากันว่าเกือบทุกรัฐบาลทำเช่นนั้นได้ เพราะเทคโนโลยีก้าวหน้าไปถึงขั้นนั้นแล้ว

แต่จีนเป็นประเทศที่มีลักษณะ “อำนาจนิยม” มากกว่า จึงทำได้ก่อนประเทศอื่นๆ

เมื่อต้นเดือนตุลาคมปีนี้ เว็บไซต์ของ ABC ใน Leave no dark corner ซึ่งเขียนโดยแม็ตทิว คาร์นีย์ และเป็นสกู๊ปเกี่ยวกับคนจีนสองฝ่าย ทั้งที่ชอบและไม่ชอบระบบนี้ มีการสัมภาษณ์ว่าทั้งสองรู้สึกอย่างไรกับเทรนด์ใหม่ของสังคม

จีนกำลังก้าวไปสู่สังคม Cashless เพราะใช้โทรศัพท์มือถือจ่ายเงินกันมาก

สิ่งนี้ทำให้รัฐบาลสามารถติดตามการใช้จ่ายของประชาชนซึ่งมีจำนวนหลายล้านคนได้ และถ้ามีคนที่ค้างค่าปรับ รัฐบาลสามารถแชร์บัญชีและประวัติของคนเหล่านั้นได้

ผลก็คือ ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยจากร้านค้าออนไลน์ต่างๆ ไม่ได้ จนกว่าจะมาจ่ายค่าปรับเสียก่อน

นอกจากนั้น จีนยังมีเทคโนโลยีการสอดส่องซึ่งตรวจจับใบหน้าของทุกคนได้ เช่น กล้องวงจรปิดหลายล้านตัว และเครื่องจักรที่คำนวณได้ว่าแต่ละคนควรได้รับคะแนนเท่าไร

เมื่อประกอบกับข้อมูลทางการแพทย์ การศึกษา การเงิน รวมทั้งประวัติการเสิร์ชอินเตอร์เน็ต รัฐบาลก็สามารถคิดออกมาเป็นคะแนนทางสังคมที่เพิ่มหรือลดลงของแต่ละคนได้

ในข้อเขียนของคาร์นีย์ จึงมีการตั้งคำถามว่าการสอดส่องแบบนี้จะก้าวไปถึงไหน

หรือจะทำให้จีนกลายเป็นสังคมเผด็จการสมบูรณ์แบบหรือไม่?

ไม่แปลกที่สื่อต่างๆ จะรายงานเรื่องนี้ได้รวดเร็ว และถ้ารวมเอาปัญหาจีน-สหรัฐ และการที่สหรัฐเป็นเจ้าแห่งการสะสมแต้มและสร้างเครื่องจักร ข่าวนี้จึงมีความสำคัญ

ในบรรดาสื่อทั้งหลาย หนังซีรี่ส์เป็นแนวหน้า The Good Place (2017) และ Black Mirror (2016) พูดเรื่องนี้นานแล้ว จุดเด่นคือหนังซีรี่ส์ทั้งสองเอาปรากฏการณ์ทางสังคมที่เห็นทั่วไป เช่น การสะสมแต้ม ถ่ายเซลฟี่ ตกแต่งภาพ รวมทั้งตัวละครที่เป็นเซลส์แมน กูรู และไลฟ์โค้ช ที่คอยหว่านคำขวัญและปลอบประโลมคนที่กำลังต่อสู้ มารวมกันได้อย่างลงตัว

Nosedive ตอนหนึ่งในซีซั่นที่สามของ Black Mirror พูดถึงการใช้แอพพ์ในสมาร์ตโฟนที่ทำให้เราสามารถให้คะแนนแก่คนอื่น ซึ่งจะเห็นกันทุกคน ถ้าได้ถึง 4.5 จะถือว่าสูงและเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ

ที่สำคัญ คนทำแต้มได้มากจะมีอภิสิทธิ์ในการเข้าถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งการทำงาน ทั้งการพักผ่อน ทั้งที่อยู่อาศัยและการเดินทาง

และในทางกลับกัน ถ้าทำแต้มได้ต่ำก็จะถูกมองว่าเป็นคนที่อันตราย และไม่มีคนอยากยุ่งด้วย ในหนัง เลซี่ (ไบรซ์ ดัลลาส โฮเวิร์ด) จะไม่เป็นอันทำอะไรนอกจากนั่งดูและทำทุกสิ่งเพื่อให้ได้แต้มสูงๆ

เหมือนในจีน ระบบนี้คือการแบ่งชนชั้นแบบใหม่ เพราะการทำแต้มได้ทำให้ได้รับสิทธิพิเศษมากมาย

ทุกๆ คนเลยต้องมาร่วมเล่นเกมนี้ หรือทำทุกอย่างเพื่อได้คะแนนสูงขึ้น

นั่นป็นแค่ตอนหนึ่ง แต่ The Good Place เป็นทั้งซีรี่ส์ ซึ่งมาถึงซีซั่นที่สามแล้ว ในหนังชุดนี้ แต้มจะมีผลหลังการตาย เช่น ถ้าสะสมไว้มากก็จะได้ขึ้นสวรรค์และพบกับสิ่งดีๆ เช่น โซลเมตถูกใจ บ้านในฝัน หรือร้านโยเกิร์ตแข็งที่ถูกใจ (กินแล้วจะรู้สึกเหมือนได้หยุดงานหลายวัน หรือได้สมาร์ตโฟนที่ชาร์จแบตเต็มแล้ว)

ถามว่ามาตรฐานหรือหลักเกณฑ์การให้คะแนนนั้นได้มาอย่างไร ก็ตอบว่ามาจากเครื่องจักรที่ทุกคนยอมรับ

ซึ่งนอกจากจะเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่ ยังมีมนุษย์หุ่นยนต์ที่คอยรับใช้และตอบคำถามได้เกือบทุกเรื่อง

ปัญหาคือนางเอก ชื่อเอลินอร์ เชลส์ทรอป (คริสติน เบลล์) ได้ขึ้นสวรรค์ด้วยความบังเอิญ

หนังจะบอกว่าเธอเป็นคนเลวขนาดที่มีอาชีพขายยาปลอมให้คนแก่

ไมเคิล (เทด แดนสัน) เป็น “สถาปนิก” ผู้ออกแบบเมือง ซึ่งทำหน้าที่ปฐมนิเทศให้เอลินอร์ เขาอธิบายว่าพฤติกรรมของเราจะถูกสอดส่องและให้คะแนนเป็นบวกและลบตามการกระทำต่างๆ เมื่อตายไป

ผู้ที่ได้คะแนนมากจะได้ไปเดอะกู๊ดเพลซหรือสวรรค์

เมื่อรู้ว่าด้านตรงข้ามของสวรรค์ หรือ the Bad Place นั้นเลวร้ายขนาดไหน เธอกลัวว่าจะถูกส่งไปที่นั่น

เอลินอร์จึงไม่ยอมบอกใคร และพยายามปรับปรุงตัวเอง ด้วยความช่วยเหลือของอาจารย์จริยศาสตร์และศีลธรรมชื่อชีดี้

การกลับตัวเป็นคนดีของเอลินอร์นั้นยากมาก เธอถามเขาว่า “มียากินหรือยาทาบ้างไหม?”

หนังซีรี่ส์ชุดนี้ นอกจากจะบอกว่าชีวิตหลังความตายมีจริงแล้ว ยังยืนยันว่าในสวรรค์ก็ใช้แต้มศีลธรรม หรือวัดการกระทำเป็นตัวเลข