สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษา ดาว์พงษ์ โมเดล (6)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ยุค พล.อ.ดาว์พงษ์ ประการสุดท้าย ข้อ 6 การบริหารจัดการ ความหมายกว้างไกล ว่าไปแล้วตีความได้ว่าครอบคลุมถึงการจัดการศึกษาทุกระดับ ก่อนปฐมวัย การศึกษาพื้นฐาน อาชีวะ ถึงอุดมศึกษา และทุกประเภท ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย

แต่ถ้าพิจารณาในรายละเอียดมาตรการรองรับยุทธศาสตร์ตามแผ่นภาพ หรือลายแทงการดำเนินงานจะพบว่า เรื่องหลักๆ ได้แก่ การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ปรับปรุงกฎหมายการศึกษา ไม่ได้กล่าวถึงการศึกษาประชารัฐ โครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน 3,342 โรงเรียนดีประจำตำบล ในปี 2559 ซึ่งระบุอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ 4 การผลิตและพัฒนากำลังคน

การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก 15,000 โรง เป็นปัญหาทางการศึกษาที่ต่อเนื่องมายาวนาน ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาล้วนนำเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหา แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้โรงเรียนมีคุณภาพ ผลการเรียนและพฤตินิสัยของนักเรียนเป็นที่น่าพอใจได้เท่าที่ควร

มาถึงยุคนี้ จึงใช้แนวทางการควบรวมเข้ากับโรงเรียนใหญ่หรือโรงเรียนแม่เหล็กที่มีความพร้อมทั้งด้านสื่อการเรียนการสอน ห้องเรียนและบุคลากร โดย สพฐ. ตั้งงบประมาณเพื่อส่งเสริมคุณภาพโรงเรียนแม่เหล็ก 500 ล้านบาท ใช้ชื่อโครงการโรงเรียนดีใกล้บ้าน มีโรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกควบรวม 595 โรงเรียน เริ่มดำเนินการในภาคเรียนที่ 2/2559 จำนวน 286 โรงเรียน ที่เหลือจะดำเนินการในปีการศึกษา 2560

ความคืบหน้าเป็นอย่างไร ต้องติดตามต่อ

fjdhh

มาตรการต่อมา การปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ความชัดเจนปรากฏตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนาการศึกษา วันที่ 30 ตุลาคม 2558 ปรากฏรายงานข่าวในสื่อมวลชนวันต่อมาว่า โครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการใหม่จะแยกการบริหารอุดมศึกษาออกมาเป็นกระทรวงหรือทบวงต่างหาก รื้อฟื้นกรมวิชาการขึ้นมาใหม่ ย้ายสำนักงานสภาการศึกษาไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ (ซูเปอร์บอร์ด) มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติรองรับซึ่งปัจจุบันเกิดจากคำสั่งนายกรัฐมนตรี ปรับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แยกเป็นกรมการมัธยมศึกษา กรมการปฐมวัยและประถมศึกษา กรมการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเปลี่ยนเป็นกรมอาชีวศึกษา สำนักงานบริหารการศึกษานอกโรงเรียนปรับเป็นกรมการศึกษานอกโรงเรียน

ส่วนภูมิภาค มีสำนักงานศึกษาธิการภาค 1-19 แบ่งตามกลุ่มจังหวัดของสำนักนายกรัฐมนตรี มีคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานการศึกษานอกโรงเรียนจังหวัด สำนักงานปฐมวัยและประถมศึกษาจังหวัด สำนักงานมัยมศึกษาจังหวัด สำนักงานการศึกษาพิเศษจังหวัด สำนักงานการอาชีวศึกษาจังหวัด

วันเดียวกัน พล.อ.ดาว์พงษ์ มีคำสั่งที่ 1556/2558 แต่งตั้งคณะทำงาน ปรับบทบาท ภารกิจและโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ มีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นพ.กำจร ตติยกวี) เป็นประธาน ประชุมและเปิดรับฟังความเห็นเรื่อยมา

 

จนกระทั่งวันที่ 21 มีนาคม 2559 มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2559 เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ

ยุบเลิกคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ให้มีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน

คำสั่งที่ 11/2559 การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาค 18 ภาค ต่อมามีคำสั่งแต่งตั้งศึกษาธิการภาค รองศึกษาธิการภาค แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อกศจ.) 3 คณะทุกจังหวัด ได้แก่ อกศจ.เกี่ยวกับวินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา อกศจ.เกี่ยวกับวิทยฐานะและสิทธิประโยชน์ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และ อกศจ.เกี่ยวกับการบรรจุ การแต่งตั้ง และการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

ระบุภารกิจ 8 ข้อ อาทิ กำหนดยุทธศาสตร์แนวทางการจัดการศึกษา ส่งเสริมการจัดการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการศึกษาของจังหวัด เสนอความเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

ปฏิบัติงานได้ 6 เดือน เมื่อวันพุธที่ 19 ตุลาคม 2559 ปรับ อกศจ. จากเดิม 3 ชุดให้เหลือ 1 ชุด

สาเหตุเพราะอะไร วงการศึกษาไทยต้องร่วมกันหาคำตอบ

 

การปรับโครงสร้างดังกล่าวถูกตั้งข้อสังเกตและติดตามผลเรื่อยมาว่า บรรลุเป้าหมายตามแนวทางการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ใช้จังหวัดเป็นฐาน และแก้ปัญหาทุจริตในวงการศึกษา โดยเฉพาะการสอบบรรจุ การแต่งตั้งโยกย้ายครู ในระดับหนึ่ง

แต่ภารกิจสำคัญด้านการพัฒนาการศึกษาของจังหวัด พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสถานศึกษาทุกประเภท ยังไม่มีคำตอบจาก กศจ. เท่าที่ควร

อีกมาตรการหนึ่ง การกระจายอำนาจที่กล่าวไว้ในแผนภูมิตามยุทธศาสตร์ สะท้อนว่าแทนที่จะเป็นทางออกในการปฏิรูปการศึกษา กลับเป็นตัวทุกข์หรือต้นเหตุแห่งปัญหา ฉะนั้น ประเด็นบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะเข้ามาช่วยแบ่งเบารัฐบาลในการจัดการศึกษา ส่งเสริมให้โรงเรียนมีอิสระความคล่องตัว เป็นนิติบุคคลเต็มรูป การส่งเสริมความเข้มแข็งของคณะกรรมการสถานศึกษา จึงไม่ถูกกล่าวถึงหรือดำเนินการจริงจังเท่าที่ควร

ขณะที่ภารกิจเร่งด่วน ตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ อีกด้านหนึ่ง คือการปรับปรุงกฎหมายการศึกษาทั้งหมด ภายหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ กฎหมายใดบ้าง

ไว้ว่ากันตอนต่อไป