สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ทวิภาคีการศึกษาไทย-อินโดฯ

กวดวิชาเป็นอาจิณ

อรุณรุ่งวันใหม่ 7 สิงหาคม 2561 ท้องฟ้ายามเช้าเหนือกรุงจาการ์ตาแจ่มใส อากาศสดชื่นเย็นสบาย

แต่หัวใจพี่น้องอินโดนีเซียนกลับสุขปนเศร้า

พิธีเปิดการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 18 โอกาสการแสดงพลังความยิ่งใหญ่ในฐานะเจ้าภาพกำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

แต่หน้าหนึ่งจาการ์ตาโพสต์เช้าวันนั้นรายงานภาพสะเทือนใจ เศษซากกองอิฐปรักหักพังของอาคารบ้านเรือนสูงเลยท่วมหัวจากพิษภัยของแผ่นดินไหวในเกาะลอมบอกสองวันที่ผ่านมา

ทั่วบริเวณล็อบบี้โรงแรมเซ็นจูรี่ปาร์ก ใก้ลสนามเสนายัน ขวักไขว่ไปด้วยนักเดินทาง นักท่องเที่ยว นักธุรกิจ นักศึกษาหญิง-ชายจากญี่ปุ่นกำลังเตรียมตัวออกสู่สนามการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ ศึกษาบทเรียนจากชีวิตจริงอย่างขะมักเขม้นในแดนอิเหนา

กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ มีนัดหมายกับปลัดกระทรวงศึกษาและวัฒนธรรมอินโดนีเซียช่วงเช้า ที่ทำการอยู่ไม่ไกลนัก

แต่กว่าจะฝ่าการจราจรมาถึง อ่านข่าวในหนังสือพิมพ์จบไปแล้วหลายเรื่อง

 

จาการ์ตาโพสต์ฉบับเดียวกัน รายงานข่าวสถานการณ์เลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียที่จะมีขึ้นในเดือนเมษายนปีหน้า ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด หรือสมญาโจโกวีจะเข้าแข่งขันเป็นเทอมที่สอง

คาดหวังว่าการบริโภคภายในเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่สำคัญจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ในระดับ 5.27% ต่อปีต่อไป จากไตรมาสสองของปี 2018 เป็นช่วงที่เติบโตสูงสุดในยุคโจโกวี

อีกข่าวเด่นหน้าใน รายงานบรรยากาศนักเรียนโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้บริเวณสนามแข่งขันหลายแห่งได้หยุดเรียน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการเดินทางฝ่าจราจรของทัพนักกีฬา

ขณะที่ครู ผู้บริหารเป็นห่วงเด็กต้องขาดเรียน ทำให้เรียนไม่ครบชั่วโมงตามตารางที่กำหนดไว้ จึงวางแนวทางปฏิบัติให้กับทุกโรงเรียน ให้ครูมอบหมายการบ้านนักเรียนระหว่างโรงเรียนปิด ทำรายงาน

รวมทั้งที่เกี่ยวกับการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ส่งให้ครูตรวจทางออนไลน์ อีเมล บล๊อก เว็บเพจต่างๆ

 

คณะนักเดินทางทางการศึกษามาถึงกระทรวงศึกษาและวัฒนธรรมไม่นาน Dr.Suharti ปลัดกระทรวงศึกษาและวัฒนธรรม กับผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานและวิเทศสัมพันธ์ (Bureau Head of Planning and International Cooperation) ร่วมต้อนรับ กล่าวแสดงความขอบคุณสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงจัดให้มีรางวัลพระราชทาน ทรงสนับสนุนโรงเรียนในพระราชานุเคราะห์ในอินโดนีเซีย

“ไทย อินโดนีเซียมีความร่วมมือทางการศึกษาเรื่อยมา เมื่อปี 2016 ทำความตกลงทวิภาคีเรื่องการเรียนการสอนภาษา อินโดนีเซียส่งครูไปสอนบาฮาสาอินโดนีเซียในโรงเรียนไทยและจะส่งไปมากขึ้น ข้อตกลงทวิภาคีหมดอายุปี 2017 ยินดีปรับปรุงขยายความร่วมมือต่อไป ให้ครอบคลุมตั้งแต่ระดับปฐมวัย การศึกษาพื้นฐาน จนถึงอุดมศึกษาและวัฒนธรรม เทคโนโลยี ระดับอุดมศึกษามีโปรแกรมการให้ทุน แนะนำเรียนภาษา ที่ผ่านมานักเรียนไทยได้รับ 35 คน อยากให้คนรุ่นหนุ่ม-สาวแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น” ท่านปลัดเน้น

รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ในฐานะประธานอนุกรรมการปรับยุทธศาสตร์ (Reprofiling) มหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่ของไทย หนึ่งในทีมกรรมการมูลนิธิ กล่าวตอบ ยินดีรับข้อเสนอความเห็นของอินโดนีเซียไปสู่ที่ประชุมมหาวิทยาลัยไทยเพื่อสานต่อโครงการต่างๆ รวมทั้งการให้ทุนของอินโดนีเซีย

ขณะที่ ดร.ทินสิริ สิริโพธิ์ รองเลขาฯ คุรุสภา เล่าว่า มีโครงการพัฒนาครูโรงเรียนในสี่จังหวัดภาคใต้โดยใช้เทคโนโลยีออนไลน์เป็นเครื่องมือ ยินดีร่วมมือกับอินโดนีเซียซึ่งกระทรวงศาสนาดูแลโรงเรียนที่เน้นสอนศาสนาโดยเฉพาะอยู่แล้ว

ดร.กฤษณพงศ์ ประธานมูลนิธิ เสริมว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานมูลนิธิเทคโนโลยีตามพระราชดำริ มีกิจกรรมสองด้านหลักคือ การใช้ไอทีในกลุ่มคนที่ต้องการการศึกษาพิเศษ เช่น คนพิการ ผู้ต้องขัง เยาวชนในสถานพินิจ โรงเรียนปอเนาะ อินโดนีเซียมีกิจกรรมกับกลุ่มโรงเรียนปอเนาะอยู่แล้วจะประสานความร่วมมือกันต่อไป

“นอกจากความร่วมมือทวิภาคีระหว่างรัฐต่อรัฐแล้ว อาจผ่านมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ และมูลนิธิไอทีตามพระราชดำริได้อีกทางหนึ่ง เป็นอีกรูปแบบของความร่วมมือระหว่างรัฐกับองค์กรเพื่อพัฒนาการศึกษา”

 

เวทีสนทนาจบลงด้วยการฉายวีดิทัศน์แนะนำมูลนิธิและผลงานของครูอินโดนีเซียสองคนที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ คนแรกปี 2015 Mr.Herwin Harmid คนที่สอง ปี 2017 Mr.Encon Rahman บทบาทของครูหลังได้รับรางวัลไปทำอะไรต่อ และองค์กรต่างๆ จะพัฒนาความร่วมมือกันต่อไปอย่างไร

โดยเฉพาะความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับอินโดนีเซียซึ่งมีประเด็นคล้ายๆ กัน ทั้งด้านโอกาสทางการศึกษาและคุณภาพการศึกษา จากรายงานการศึกษาในอินโดนีเซียของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ปี 2558 กล่าวไว้น่าสนใจ

อินโดนีเซียมีประชากรที่อยู่ในวัยเรียนมากถึง 109.2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 42.7 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ 255.5 ล้านคน อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเอเชียและอันดับ 4 ในโลก รองจากจีน อินเดียและสหรัฐอเมริกา โรงเรียน 84% อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาและวัฒนธรรม อีกร้อยละ 16 อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงศาสนา

ระบบการศึกษาใช้ระบบ 6 3 3 เหมือนกับประเทศไทย อินโดนีเซียให้ความสำคัญโดยบัญญัติเรื่องงบประมาณไว้ในรัฐธรรมนูญ รัฐต้องจัดให้แก่กระทรวงศึกษาธิการร้อยละ 20 ของงบประมาณประจำปี

 

ด้านอุปสรรคก็มีไม่น้อย ทั้งสภาพภูมิประเทศเป็นเกาะแก่ง มีประชากรมาก คนยากจนมุ่งหาเลี้ยงชีพก่อนการศึกษาให้จบ โรงเรียนขาดแคลนครู

ที่สำคัญ ปัญหาวิธีการสอนของครูเน้นรูปแบบการท่องจำความรู้มากกว่ามุ่งให้นักเรียนคิด วิเคราะห์

ปัญหาเดียวกันกับบ้านเรา

ซึ่งผลเหมือนกัน คือนักเรียนและนักศึกษาส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการเรียนพิเศษ การกวดวิชา

จนมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า BIMBLE ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ใกล้ๆ บริเวณโรงเรียนนั่นแหละ

“ลูกเรียนพิเศษที่ไหน เรียนอะไร โรงเรียนไหนดี จึงเป็นหัวข้อสนทนาของพ่อ-แม่ ผู้ปกครองทั่วไปหมด พลอยทำให้ตลาดโรงเรียนพิเศษเป็นช่องทางของธุรกิจการศึกษาทั้งทุนในประเทศและทุนต่างชาติเวลานี้”

“อินโดนีเซียมองเรื่องนี้เป็นปัญหาหรือไม่ และมีทางแก้อย่างไร” ผมเขียนหัวข้อคำถามนี้ไว้ในสมุดบันทึกการเดินทางแล้ว

เสียดายเวลาไม่อำนวย ต้องรีบไปร่วมรายการต่อไป การทดลองทางการศึกษา สัมมนาย่อย ความร่วมมือขององค์กรส่งเสริมการศึกษาระหว่างประเทศ ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงจาการ์ตา ช่วงสายวันเดียวกัน