4 ปีของการลาจาก ดร.ถวัลย์ ดัชนี “ปราชญ์วาดรูป” ศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์) (2544)

ขออนุญาตออกตัวก่อนสักนิดว่าสำหรับคอลัมน์ “หน้าพระลาน” นับได้ว่าเป็นผู้นำเสนอเรื่องราวของ (ท่านพี่) “ถวัลย์ ดัชนี” ศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์) อย่างต่อเนื่องเสมอมา

ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่กระทั่งเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2557

ล่าสุดปลายเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมจัด “กิจกรรมศิลปินแห่งชาติสัญจร” โดย “ศิลปินแห่งชาติ” หลายสาขาร่วมสัญจรสู่ “พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จังหวัดเชียงราย” เพื่อรำลึกถึง (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี ผู้ก่อตั้ง

กมล ทัศนาญชลี “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาทัศนศิลป์ (2540) ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีสำหรับโครงการ “ศิลปินแห่งชาติสัญจร” ได้รายงานข่าวมาว่า พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จังหวัดเชียงราย เปลี่ยนแปลงไปบ้าง โดย “ดอยธิเบศร์ ดัชนี” (ม่องต้อย) ทายาทคนเดียวได้เป็น “ผู้จัดการมรดก” หลังจากเป็นคดีความ แต่เริ่มคลี่คลายขึ้น เป็นผู้ดูแลรักษาเพื่อสืบสานทรัพย์สมบัติของพ่อต่อไป

ไม่คาดคิดว่าจะมาเกิดเหตุการณ์ต้องตกเป็นข่าวดัง จนถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องออกแรงทำหน้าที่สืบสวนติดตามผลงานของท่านพี่ที่หายไปจำนวนมาก

แต่จะว่าไปคงไม่ใช่เป็นเรื่องยากเกินความสามารถ ถึงขณะนี้ได้ข่าวว่าได้ (ภาพนก) คืนมาบ้างแล้ว ผลงานขนาดชิ้นใหญ่ๆ ราคาสูงมากคงหายไปไหนไม่ได้ง่ายๆ

เพราะผู้คนที่เข้าออกบ้านได้มีเพียงไม่กี่คน?

 

เขียนไปก็ดูเหมือนเป็นการหมิ่นแคลนสำหรับคนที่เป็นใครมาจากไหนไม่มีใครรู้จัก วันดีคืนดีได้เดินข้ามรั้วเข้ามาคลุกคลีกับศิลปินเจ้าของผลงานศิลปะระดับโลก จนรับรู้เรื่องราคาการซื้อขายผลงานเหล่านั้นว่าเป็นตัวเลขสูงถึงหลักล้าน ย่อมต้องหวั่นไหว ได้ปลื้ม ลืมตัวตน

คนซึ่งไม่เคยได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปะเป็นพื้นฐานมาบ้าง หรือเป็นคนพิเศษจริงๆ คงจะไม่เข้าใจถึงคุณค่าของศิลปะว่ามันเป็นสมบัติส่วนรวม เป็นทรัพย์สินทางปัญหาของมนุษยชาติ นอกจากจะมองเพียงสิ่งที่สัมผัสได้แค่ราคาที่ตีออกมาแล้วเป็นเงินเป็นทอง โดยเฉพาะผลงานของ (ท่านพี่) ถวัลย์ ซึ่งพิเศษมากๆ ราคาสูงมากๆ จนไม่น่าเชื่อจริงๆ

เมื่อ (ท่านพี่) ถวัลย์เสียชีวิต ผู้ที่จะได้รับมรดกอันล้ำค่าเหลือเพียงแค่ทายาทและคนสนิท ซึ่งหนังสือพิมพ์เสนอข่าวว่าเป็นเมียไม่ได้จดทะเบียน ซึ่งไม่รู้ไปยังไงมายังไงจึงเกิดการแย่งชิงกันขึ้นกับทายาทที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงคนเดียว ตกลงกันไม่ได้จนต้องนำเรื่องขึ้นสู่ศาลมาหลายปี

ถ้าไม่มีความโลภแบบไม่รู้จักความพอดีของบางคนเกิดขึ้น การแบ่งปันจะไม่เป็นปัญหา ควรจะอะลุ้มอล่วยตกลงกันได้ หรืออาจจะเป็นเพราะมันมีมูลค่ามากจนอดใจไว้ไม่ไหว สำหรับผลงานของ “ปราชญ์วาดรูป” ท่านนี้

กระทั่งล่าสุดผลงานซึ่งสูงด้วยคุณค่าและราคาจำนวนมากเกิดมาสูญหาย ก็คงต้องย้ำคำเดิมว่าเป็นเรื่องไม่ยากหรอกที่จะติดตาม เพราะจะต้องมีผู้ซื้อหาไปเป็นสมบัติส่วนตัวด้วยความรักศิลปะจริงๆ หรือเพื่อการค้าขายในอนาคต ซึ่งย่อมคงจะยืนยันได้ว่าซื้อมาจากไหน ใครเป็นคนขายให้ เมื่อไร?

เมื่อเรื่องนี้ตกเป็นข่าวดังโครมคราม ย่อมหาทางออกกันให้สวยงามแบบว่าไม่ได้เห็นแก่เงินมากมาย เพียงต้องการเก็บรักษาไว้ให้เป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติเท่านั้น?

 

ประชาชนทั่วไปอาจจะไม่เชื่อสนิทใจนักกับราคาผลงานของ (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี ว่าสูงมากขนาดเป็นหลักล้านดังที่กล่าว ครั้งหนึ่งท่านไปเป็นประธานกล่าวเปิดงานนิทรรศการศิลปะให้กับเพื่อนร่วมรุ่นจากโรงเรียนเพาะช่าง ซึ่ง (พี่) จรูญ บุญสวน ศิลปินสไตล์แนวทาง Impressionism ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของท่าน จากคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ไปร่วมงานด้วย

เมื่อมีโอกาสพบกัน (พี่) จรูญถามว่า– “เฮ้ย หวัน เดี๋ยวนี้รูปของเพื่อนราคาเป็นล้านเลยหรือ?” (ท่านพี่) ถวัลย์เรียกคนสนิทซึ่งยืนอยู่ใกล้ๆ บอกว่า “เอ็งช่วยบอกเพื่อนอ้ายไปทีซิว่าราคาเท่าไร–“? ไอ้หมอนั่นบอกว่า 2 ล้านบาทแบบหน้าตาเรียบเฉยซื่อๆ แต่มันฟังดูแล้วจริงจัง—

ไมตรี ลิมปิชาติ นักเขียนซึ่งรักการวาดรูป รักศิลปะอีกคนหนึ่งเคยกระซิบข้างหูผมเมื่อได้ยินราคางานของท่านพี่ว่าหลักล้าน “นี่ถ้าหากอาจารย์ถวัลย์รู้ว่าผลงาน 3 ชิ้นของท่านที่ปราจิน เอี่ยมลำเนา นายกสมาคมศิษย์เก่าเพาะช่าง จัดประมูลไปเพื่อหาเงินเข้ามาบำรุงสมาคมตามความต้องการของ (ท่านพี่) ถวัลย์ ได้ราคาเพียงแค่ห้าแสนบาทคงโกรธแย่เลย”

ไม่หรอก ท่านใช้เวลาตวัดแปรงไม่กี่วินาทีกับงาน (ขาว-ดำ) ของท่าน 3 ชิ้นนั้น เพราะท่านบอกว่าท่าน “ถนัดขาว-ดำ ไม่ถนัดสี (ศรี)” ผมตอบติดตลกคล้ายเวลาคุยกับ (ท่านพี่) ถวัลย์ขณะมีชีวิตอยู่

ท่านพี่มีอารมณ์ขันมากมาย ประโยคข้างบนนั้นก็หลุดออกจากปากของท่านเมื่อวันเปิดงาน “บ้านศิลปินแห่งชาติ” ของอาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ (ศิลปินแห่งชาติ) สาขาทัศนศิลป์ (2541) (เสียชีวิต) อีกท่านหนึ่ง ที่เชิงเขาใหญ่ โคราช คุณชายถนัดศรี-ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ท่านนั่งรถเข็น (Wheelchair) ไปร่วมงานด้วย จึงมีการกระเซ้าเย้าแหย่กันขึ้นด้วยความสนิทสนมกันทั้งสิ้น

แต่ขณะนั้นคุณชายถนัดศรีท่านไม่หือไม่อืออะไรกับใครสักเท่าไรแล้ว เอาแต่นั่งนิ่ง เพียงแต่ว่าคนแซวกลับเสียชีวิตไปก่อนคุณชาย

 

พบกันหนนั้นเป็นเดือนมีนาคม 2557 ยังสดชื่นแจ่มใสร่าเริงตามบุคลิก ก่อนจะไปพบกันอีกครั้งที่พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จังหวัดเชียงราย ราวปลายเดือนกรกฎาคม 2557 จากนั้นก็ไม่มีโอกาสจะได้พบกันอีกเลย

ได้รู้จักกับ (ท่านพี่) ถวัลย์ในฐานะนักศึกษารุ่นพี่เมื่อประมาณปี พ.ศ.2512 ขณะเรียนปีสุดท้าย และเป็นนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านพี่จบปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติ อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ (Rijks Akaden ie Van Beelden Der Kunsten Amsterdam Nederland) และเดินทางกลับเมืองไทย ได้แวะไปเยี่ยมเยียนยังคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ถิ่นเก่าแล้ว ก็พูดคุยถ่ายทอดความรู้ด้วยการปาฐกถาตามวาระโอกาสต่างๆ รวมทั้งควงกีตาร์ร้องเพลงสนุกสนาน

จากนั้นจึงได้พบกันตามวาระโอกาสต่างๆ เรื่อยมาอย่างสม่ำเสมอ

ท่านพี่ไม่เคยลืมเพราะเป็นคนที่มีความจำเป็นยอด ไม่ว่าจะโด่งดังระดับไหน จนถึงวันที่สร้างงานศิลปะออกมามากมาย และราคาแพงลิบลิ่วถึงภาพละ 1-3 ล้านบาท ท่านยกงานที่ทำขึ้นในสหรัฐให้กับน้องๆ ซึ่งช่วยเหลือดูแลระหว่างที่เดินทางไปที่นั่นเพื่อทำงาน โดยพักที่บ้านของกมล ทัศนาญชลี น้องๆ ของกมลสามารถขายภาพได้เงินไปใช้ตั้งตัวทำมาหากินกันเลยทีเดียว

เชื่อไหมว่าผมไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันของท่านพี่ (นอกจากภาพพิมพ์ที่ท่านทำร่วมกับกมลในรูปเดียวกัน-ชิ้นเล็กๆ) เพราะไม่เคยเอ่ยปากขอ แต่ท่านพี่ได้บอกจะให้งานผมเอง

โดยครั้งสุดท้ายก่อนจากกันที่บ้านดำเชียงราย ว่า– “ให้ไปพบกันที่บ้านกรุงเทพฯ อย่าลืมเอาครอบครัวและเอาหมา (บีเกิ้ล) ไปด้วย เพราะผมรักหมา–“

 

จากปลายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2557 (ท่านพี่) ถวัลย์เดินทางไปสหรัฐอเมริกาด้วยกิจกรรมของศิลปินแห่งชาติ ไปพักที่บ้านกมล ทัศนาญชลี เช่นเดิม ท่านพี่ยังได้ไปเอ่ยปากกับวัดไทยในสหรัฐอเมริกา ว่าจะช่วยหาเงินจำนวน 1 ล้าน/ยูเอสดอลลาร์ เพื่อสร้างอาคารให้สำเร็จ ก่อนกลับประเทศไทย และออกเดินทางต่อไปประเทศญี่ปุ่นเยี่ยมเยียนเมืองฟูกูโอกะ (Fukuoka) เจ้าของรางวัล Fukuoka Asian Culture Prize ซึ่งท่านเป็น 1 ใน 4 คนไทยที่ได้รับรางวัล Art And Culture พร้อมกลุ่มศิลปินแห่งชาติ

ท่านพี่เกิดเจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวซึ่งมีอยู่หลายโรคสำหรับคนที่กลัวหมอ เมื่อลงจากเครื่องก็ไม่ได้กลับบ้าน ต้องเข้ารักษายังโรงพยาบาลทันที

เชื่อกันไหมว่าตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจนถึงวันเสียชีวิต ไม่มีใครได้มีโอกาส “เข้าเยี่ยม” สักคน ไม่ว่าจะใหญ่โต หรือสำคัญมาจากไหน

 

คนที่สื่อมวลชนเรียกว่าภรรยาคนที่ 2 ของท่านเพียงแต่ไม่ใช่แม่ของลูก ดำเนินการปิดกั้น ปิดประตูห้ามเข้า ห้ามเยี่ยมเด็ดขาด โดยไม่มีใครเข้าใจว่าทำไมต้องทำอย่างนั้นจนถึงวันที่ท่านจากไป โดยทิ้งมรดd คือ “พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จังหวัดเชียงราย” และผลงานศิลปะมูลค่ามหาศาล (ไม่นับเงินสดในบัญชี) ตามสไตล์ของ “ศิลปิน” ทั่วไปที่ไม่เคยได้เตรียมการจัดการอะไรต่อมิอะไรไว้ให้เรียบร้อย

ถึงวันนี้พอเข้าใจอะไรต่อมิอะไรกันหรือยัง?

เรื่องของ (ท่านพี่) “ดร.ถวัลย์ ดัชนี” ปราชญ์วาดรูป มีมากมายเขียนเท่าไรก็ไม่หมด?