84 ปี “อินสนธิ์ วงค์สาม” ย้อนปูมศิลปินยองป่าซาง “วัยเด็กของศิลปินแห่งชาติ”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ฝ่ายตายายคือสายพ่อค้าวัวต่าง

ต่อเรื่องราว “สาแหรกสายตระกูล” ของคุณลุงอินสนธิ์ วงค์สาม ฉบับก่อนได้กล่าวถึงสายบิดาของท่านไว้แล้วอย่างละเอียด

สรุปให้ฟังอีกครั้งก็คือ พ่อคุณลุงอินสนธิ์มีชื่อว่า เจ้าหนานหมื่น ซึ่งเป็นลูกของเจ้าแม่คำต่อม กับพ่อหนานปุ๋ย พุทธวงค์ (นักมวยใจหิ่นเชื้อสายเหล่าเซอ)

โดยที่เจ้าแม่คำต่อม เป็นธิดาของเจ้าน้อยวงค์สาม และเจ้าแม่จันทร์โสม ทั้งสองเป็นเจ้านายจากเมืองยอง

คราวนี้เรามาดู “สายแม่” ของคุณลุงอินสนธิ์ แม่คุณลุงมีชื่อว่า “แม่เปาคำ วงค์ต๊ะ” เป็นชาวยองเช่นกัน แต่ไม่ได้มีเชื้อสายเจ้า

บิดา-มารดาเป็นคหบดีหรือพ่อค้าแม่ขาย

คุณตาของคุณลุงอินสนธิ์ ชื่อ น้อยดา วงค์ต๊ะ

คุณยายชื่อ ยายฟอง ทั้งสองเป็นชาว “บ้านแซม”

คำว่าบ้านแซม เป็นคำที่ยกเอา “ชื่อบ้านนามเมือง” ว่า “บ้านแซม” ชื่อเดียวกันนี้มาจากเมืองยองในรัฐฉาน ประเทศพม่ามาตั้งซ้ำในบริเวณป่าซาง ลำพูน เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของที่นี่อพยพมาจากที่นั่น

ปัจจุบันกาดบ้านแซมมีขนาดใหญ่จะเป็นจุดแวะพักสำหรับนักเดินทางที่ขึ้นล่องระหว่างลำพูน-ลี้ ลงไปถึงเถิน

จุดสังเกตสำคัญคือมีปั๊มน้ำมัน ปตท. ก่อนถึงทางเข้าวัดพระบาทตากผ้า และมีวัดป่าตาลเป็นจุดรวมพล

ในอดีตบริเวณบ้านแซม เป็นที่พักของขบวนคาราวาน “พ่อค้าวัวต่าง-ม้าต่าง” ขบวนใหญ่ มีการเกิดขึ้นของวัดที่ชื่อว่า “พานิชสิทธิการาม” (วัดป่าซางพานิช) อันเป็นชื่อที่สะท้อนว่าสร้างโดยเหล่าพ่อค้าวาณิช ที่ต้องเดินทางค้าขายข้ามพรมแดนระยะไกลบ่อยๆ

จึงจำเป็นต้องสร้างวัดประจำกลุ่มพวกตนขึ้นมาวัดหนึ่ง เนื่องจากวัดอื่นๆ เขามีคณะศรัทธาเดิมกันอยู่ก่อนแล้ว

คุณลุงอินสนธิ์บอกว่า สมัยทศวรรษ 2500-2510 ในยุคคุณลุงเป็นวัยรุ่น ยังพอมีขบวนคาราวานค้าเหมี้ยง ค้าไม้ ค้าผ้า พรมขนสัตว์ ผ่านไปมาให้เห็นอยู่บ้างประปราย

แถวหน้าวัดพระบาทตากผ้า กระทั่งได้ปิดฉากสุดท้ายลงอย่างเด็ดขาดในยุคที่มีการตัดถนนสายซูเปอร์ไฮเวย์ข้ามอุโมงค์ขุนตาน

เส้นทางคมนาคมได้เปลี่ยนความสำคัญย้ายจากลำพูนไปอยู่ลำปางแทน

 

ตัวเป็นช้าง หางเป็นแมว
ไม่อยู่แล้วกาดบ้านแซม

เมื่อเจ้าหนานหมื่น วงค์สาม คุณพ่อของลุงอินสนธิ์ ตกหลุมรักแม่เปาคำ วงค์ต๊ะ สาวลูกค้าวัวต่าง โดยปกติแล้วธรรมเนียมของชาวเหนือ หลังจากแต่งงานกัน ฝ่ายชายมักจะต้องย้ายเข้าไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง ในลักษณะเป็น “บ่าว” หรือยอมให้ญาติฝ่ายหญิงใช้แรงงานตนได้ (ไม่ถึงขั้นโขกสับ)

แต่เจ้าหนานหมื่นกลับไม่ยอมอยู่บ้านแซมที่บ้านของฝ่ายหญิง ด้วยความทระนงที่สายของตนนั้นเป็นเจ้ายอง จู่ๆ จะให้มาทำไร่ไถนารับใช้พ่อตาแม่ยายนั้น รู้สึกกระไรๆ อยู่ เจ้าหนานหมื่นจึงประกาศว่า

“ตัวข้านั้น ตัวเป็นช้าง หางเป็นแมว มีคุณค่าอันใดเล่า?”

คำว่า “ตัวเป็นช้าง” หมายถึง อุตส่าห์เกิดมามีศักดิ์เป็นเจ้า แต่หากต้องไปใช้ชีวิตด้วยการแลกแรงงานรับใช้บ้านคหบดีฝ่ายหญิงแบบสามัญชนที่ยอมเป็นบ่าวทั่วไปแล้วไซร้ ศักดิ์ศรีของตระกูลวงค์สามก็คงสูญหายคล้ายกับพญาช้างที่หางลีบ ไม่ต่างอะไรไปจากหางแมว

เมื่อเจ้าหนานหมื่นไม่ยอมช่วยทำนาที่บ้านแซม ก็กลับมาอยู่บ้านตัวเองแถวบ้านป่าซางงาม พาแม่เปาคำมาอยู่ด้วย ซึ่งแม่เปาคำนั้น เป็นญาติใกล้ชิดกับบิดาของศิลปินแห่งชาติชื่อดังชาวลำพูนผู้ล่วงลับไปแล้วอีกท่านหนึ่งคือ “อาจารย์ทวี นันทขว้าง”

ทำให้คุณลุงอินสนธิ์ในสายแม่จึงมีศักดิ์เป็นญาติกับอาจารย์ทวีทางสายพ่อ

 

ปูมหลังเจ้าหนานหมื่นจากพระสู่สล่า
ผู้จุดไฟฝันด้านศิลปะให้บุตรชาย

เจ้าหนานหมื่น คุณพ่อของคุณลุงอินสนธิ์ไม่รับสืบทอดความสันทัดด้านชกมวยจากคุณปู่ พ่อหนานปุ๋ย พุทธวงค์

แต่ชอบไปทางธรรมะและงานช่างศิลปะ

แม้กระนั้นคุณลุงอินสนธิ์บอกว่า ตัวคุณลุงเองกลับชอบหมัดมวยเหมือนคุณปู่อยู่ไม่น้อย

คนที่สนับสนุนให้คุณลุงเดินสายเตะลูกกุยอีกคนคือ เจ้าน้าดวงคำ ผู้เป็นน้องสาวของเจ้าแม่คำต่อมนั่นเอง

เจ้าน้าดวงคำคนนี้พาคุณลุงอินสนธิ์ในช่วงวัยรุ่นตระเวนชกมวยทั่วลำพูน

จากสถิติที่คุณลุงจำได้คือ เคยชนะแค่ครั้งเดียว ที่เหลือ 10 กว่าครั้งเสมอหมด แต่ไม่เคยแพ้

เพราะสมัยก่อนหากแพ้ก็หมายถึงพิการ หมดตัว หรืออาจถึงตาย

ในขณะที่เจ้าหนานหมื่น มีจริตไปทางธรรมะธัมโม บวชเรียนเป็นพระจนถึงอายุ 25 ปีจึงสึกออกมาแต่งงาน

คุณลุงอินสนธิ์บอกว่า ในวัยเด็กทุกเสาร์อาทิตย์ คุณลุงไม่ได้ไปวิ่งเล่นซนเหมือนเด็กคนอื่นๆ เจ้าหนานหมื่นจะเอาโซ่ล่ามขาคุณลุงไว้กับเตียงไม่ให้ออกไปไหน จากนั้นจะท่องและเทศน์สอนธรรมะให้คุณลุงฟังตั้งแต่เช้าจรดเย็น ทำเช่นนี้อยู่หลายปีดีดัก คุณลุงบอกว่าได้ฟังจนจบครบ 84,000 พระธรรมขันธ์ กว่าจะเป็นอิสระจากโซ่ล่ามเตียง

อาชีพหลักของเจ้าหนานหมื่น คือการเป็นสล่า ทั้งช่างทอง ช่างเงิน ช่างเจียระไนเพชรพลอย ช่างปูน ช่างปั้น ช่างกระจก เรื่องช่างทองช่างเงินนี้ ถือว่าเจ้าหนานหมื่นได้รับสืบทอดวิชาความรู้มาตั้งแต่สายตระกูลเจ้ายองของเจ้าน้อยวงค์สามแล้ว เป็นงานทำเครื่องเงินเครื่องทองแบบวิจิตรประณีต ประเภทเครื่องประดับราคาแพง เช่น สร้อย ต่างหู กำไล เข็มกลัดสไบ สำหรับชนชั้นสูง

แต่มาถึงยุคของเจ้าหนานหมื่นได้เพิ่มพูนองค์ความรู้ให้ตนเอง ด้วยการขยายขอบเขตจากแค่งานเครื่องประดับ (จุลศิลป์ หรือประณีตศิลป์) ไปสู่งานช่างที่รับใช้พระพุทธศาสนาตามวัดวาอารามเต็มตัว เช่น งานซ่อมโบสถ์วิหาร ติดกระจกจืนให้องค์พระเจดีย์ ปิดทองล่องชาดตามฐานแท่นแก้ว (ชุกชี) และเสาพระวิหาร

กระทั่งสุดท้ายครึ่งหลังของชีวิต เจ้าหนานหมื่นยังได้เรียนรู้วิธีการค้าขายเครื่องทองกับพ่อค้าชาวจีนในอำเภอเมืองลำพูน และไกลถึงเชียงใหม่อีกด้วย ทำให้เป็นคนทันสมัย ผันตัวเป็นพ่อค้าทองระดับสองจังหวัด

คุณลุงอินสนธิ์ยอมรับว่า “เจ้าหนานหมื่น วงค์สาม” บิดาของคุณลุงผู้นี้นี่เอง ที่เป็นแรงบันดาลใจและไฟฝัน ผู้จุดประกายอยากให้คุณลุงเดินตามรอย “ความเป็นช่าง หรือสล่าบูรณะวัดวาอาราม” ในยุคเริ่มต้น ซึ่งสมัยนั้นในวิถีชีวิตชนบทแถบป่าซาง ยังไม่มีใครรู้จักคำว่า “ศิลปะ” “ศิลปิน” แต่อย่างใด

มีแต่รู้จักคำว่า “งานช่าง” ซึ่งก็ถือว่าเป็นอะไรที่วิจิตร เลอเลิศ วิเศษที่สุดแล้วในใจดวงน้อยของคนชื่ออินสนธิ์ วงค์สาม ทำให้คุณลุงเรียนรู้และฝึกงานช่างทุกประเภทจาก “นายช่างต้นแบบ” คือบิดา และค่อยๆ ละทิ้งแนวคิดของทางอีกแพร่งหนึ่งที่อยากเป็นนักเตะลูกกุยใจหิ่น เฉกเช่นคุณปู่หนานปุ๋ย และเจ้าน้าดวงคำ ลงโดยสิ้นเชิง

 

จักรยานคันนั้นสู่สกู๊ตเตอร์สุดขอบฟ้า

คุณลุงอินสนธิ์เรียนหนังสือชั้นประถมต้นที่โรงเรียนในวัดป่าซางงาม สมัยนั้นไม่มีเด็กนักเรียนผู้หญิง ครูผู้สอนเป็นพระ คุณลุงต้องเรียนการเขียนตัวอักษรธัมม์ล้านนาด้วย แต่คุณลุงเรียนที่นี่เพียงแค่ปีเดียว

จากนั้น โรงเรียนแห่งที่สองของคุณลุงคือ โรงเรียนป่าซาง (คนละโรงเรียนกับปัจจุบันที่ชื่อว่า โรงเรียนป่าซางวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ) โรงเรียนป่าซางของคุณลุงเป็นโรงเรียนราษฎร์ รื้อไปนานแล้ว กลายเป็นทาวน์เฮาส์ และที่ตั้งของร้านอาหารชื่อเม็ดข้าว ร้านที่คุณลุงมักพาดิฉันและแขกเหรื่อไปทานอาหารพื้นเมืองเป็นประจำนั่นเอง เนื่องจากตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านคุณลุง

ที่โรงเรียนป่าซางแห่งนี้ เป็นโรงเรียนสหศึกษา คุณลุงบอกว่าได้พบสาวงามชาวยองป่าซางหลายอนงค์ ที่ต่อมาได้กลายเป็นนางสาวไทยและรองนางสาวไทย เช่น สุชีรา ศรีสมบูรณ์ และนวลสวาท เปาโรหิตย์ (เดิม ลังการ์พินธุ์)

โรงเรียนที่สามของคุณลุงคือ โรงเรียนชื่อดังของฝ่ายชายประจำจังหวัดลำพูน (ปัจจุบันเป็นสหศึกษา) คือโรงเรียนจักรคำคณาทร

โดยคุณลุงจบชั้น ม.2 (สมัยก่อนระบบการศึกษาเมื่อจบ ป.4 จะขึ้น ม.1 และมีถึง ม.8) หมายความว่าคุณลุงจบ ป.6 จากโรงเรียนเอกชนป่าซางมาแล้วกำลังจะต่อ ม.1 หากเทียบกับปัจจุบัน

คุณลุงบอกว่าสมัยนั้นโรงเรียนจักรคำฯ ประกาศรับนักเรียนแค่ 2 คน คุณลุงก็เป็นหนึ่งในสองที่สอบเข้าได้ คุณพ่อ (เจ้าหนานหมื่น) ดีใจมาก จึงได้ทำเสาธงสำหรับเชิญธงชาติให้กับโรงเรียนเป็นของขวัญในการที่คุณลุงได้เข้าเรียนโรงเรียนจักรคำฯ แห่งนี้

และเจ้าหนานหมื่นยังบอกว่า หากคุณลุงขยันตั้งใจเรียน สอบได้ที่ 1 จะซื้อรถจักรยานยี่ห้อฮาร์เลย์ (สมัยนั้นราคาสูงลิบลิ่ว) ให้เป็นรางวัล

ปรากฏว่าคุณลุงก็ไม่ทำให้เจ้าหนานหมื่นผิดหวัง ทว่าหลังจากนั้นนี่สิ คุณลุงกลับสอบตกทุกเทอม สอบได้ที่ 1 แค่ครั้งเดียว เพราะมีแรงฮึดอยากได้จักรยานมาก เทอมต่อๆ มาคล้ายว่าหมดแรงบันดาลใจไปซะงั้น

บทความเมื่อ 4 ปีก่อน ดิฉันได้เขียนถึงจักรยานคันนี้ของคุณลุง ในบทความตอนที่ชื่อว่า “ชีวิตบนกงล้อ ประสบการณ์นี้ไม่มีขาย”

กล่าวถึงจักรยานคู่ใจในวัยเด็ก ได้ส่งต่อแรงใจและไฟฝันสู่รถมอเตอร์ไซค์ ผาดโผนโจนทะยาน “สุดขอบฟ้า” ให้คุณลุงขับรถไกลถึงอิตาลีในวัย 28 ปีมาแล้ว

ท่านที่สนใจสามารถตามหาอ่านย้อนหลังได้

 

โชเฟอร์รถฟ้าสร้างแรงบันดาลใจ
ให้อยากเขียนบทกวี

ขอจบบทความตอนที่สอง ด้วยเรื่องราวอีกหนึ่งอันซีน ที่ดิฉันพบว่ายังไม่เคยมีใครสัมภาษณ์คุณลุงในประเด็นนี้มาก่อน

นั่นคือ อะไรเป็นแรงจูงใจให้ครั้งหนึ่งในชีวิตคุณลุงนึกอยากเขียนบทกวี

คุณลุงตอบว่า ไม่ใช่ท่านจันทร์ (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี) ไม่ใช่ท่านอังคาร (อังคาร กัลยาณพงศ์) แต่กลายเป็นโชเฟอร์รถสองแถวสีฟ้าที่แล่นไปมาระหว่างลำพูน-เชียงใหม่ ซึ่งต้องผ่านโรงเรียนจักรคำฯ ทุกวัน

ก่อนปั่นจักรยานกลับบ้านป่าซาง คุณลุงอินสนธิ์มักชอบไปยืนคุยกับโชเฟอร์รถฟ้าคนหนึ่ง น่าเสียดายที่คุณลุงจำชื่อโชเฟอร์ท่านนี้ไม่ได้แล้ว รู้แต่ว่าแกไม่ใช่คนหาเช้ากินค่ำธรรมดา แต่มีวิสัยปราชญ์ เคยบวชเรียน และชอบท่องคำคร่าว (บทกวีล้านนา) แบบโบราณ ที่เป็นกึ่งสุภาษิตสอนใจ คำผะหญา คำกะโลงต่างๆ ให้คุณลุงฟังตอนเย็นๆ

คุณลุงบอกว่าโชเฟอร์ผู้นี้ไม่ใช่กวี แกเขียนบทกวีเองไม่ได้ แต่แกจดจำทุกถ้อยอักษร และท่องให้คุณลุงฟังด้วยน้ำเสียงท่วงทำนองอันไพเราะ เมื่อฟังซ้ำๆ มันก็ซึมลึกในเส้นเลือดคุณลุงโดยไม่รู้ตัว

ราวปี 2500-2501 เป็นปีที่คุณลุงบ้าการเขียนบทกวีมาก แต่คุณลุงบอกว่าอย่าเรียกลุงว่า “กวี” เลย เพราะลุงเขียนเพียงแค่ 8-9 ชิ้นเท่านั้นในชีวิต ที่เขียนเพราะอยากเขียนจริงๆ ไม่ได้คิดจะเอาดีทางโคลงฉันท์กาพย์กลอนใดๆ เป็นบทกวีสั้นๆ แบบกลอนเปล่า ที่แฝงปรัชญาคำคมเชิงสอนใจคล้ายสุภาษิตมากกว่า

ซึ่งทุกวันนี้ คุณลุงก็ไม่เคยลืมโชเฟอร์ผู้นั้นเลย ทุกครั้งที่คุณลุงเห็นรถสองแถวฟ้าขับวิ่งผ่านลำพูนไปเชียงใหม่คราใด คำคร่าว คำผะหญามักจะวิ่งแล่นเข้ามาในหัว

สัปดาห์หน้าน่าจะได้เวลาของการที่คุณลุงเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมศิลปากรแล้วกระมัง ไม่น่าเชื่อว่า คุณลุงจำเป็นต้องหยุดชะงักแค่ชั้นอนุปริญญาก่อน เพราะต้องไปเป็นทหารเกณฑ์ เก็บหอมรอมริบเอาเบี้ยทหารมาเป็นทุนการศึกษาเรียนต่อจนจบปริญญาตรี

ทั้งๆ ที่มาจากตระกูลเจ้า แต่ชีวิตวัยเยาว์ก็ถูลู่ถูกังเอาเรื่องจริงๆ ศิลปินแห่งชาติของเรา