ความท้าทายมหาวิทยาลัยไทย เมื่อโลกเปลี่ยนโฉม

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เผชิญความท้าทาย

มหาวิทยาลัยไทยได้เดินหน้าเข้าสู่ช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ

อย่างแท้จริงแล้ว

 

สังคมที่เปลี่ยนแปลง

มีการพูดถึงเสียงดังมากขึ้นในช่วงนี้ ว่าด้วยปัญหาอันหนักหน่วง อันเนื่องมาจากปัญหาพื้นฐาน จากจำนวนผู้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยไทยลดลงอย่างมากๆ

“โลกจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ เด็กจะลดลงอย่างมหาศาล ยกตัวอย่างเมื่อ 20 ปีก่อนอัตราการเกิดของเด็กไทยอยู่ที่ประมาณ 1.1 ล้านคนต่อปี แต่ล่าสุดลดลงเหลือ 6.7 แสนคนต่อปี เข้ามหาวิทยาลัยแค่ 3 แสนคน”

นี่คือตัวอย่างบทสนทนาล่าสุดจากผู้เกี่ยวข้อง ผู้กำกับระดับนโยบายรัฐ– นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตัดตอนมาจากปาฐกถาเรื่อง “Higher Education and It”s Role In Education Landscape” ในงาน Thammasat Gen Next Education 2018 (29 สิงหาคม 2561)

ก่อนหน้านั้นไม่นานมีการยกสถิติระบุกันว่าผู้เข้าเรียนในระบบมหาวิทยาลัยไทยมีจำนวนลดลงอย่างมาก เหลือเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ต้องการจะรับ

อันที่จริงปรากฏการณ์ข้างต้นมีรายละเอียด มีความเป็นมาระยะหนึ่งแล้ว

ข้อมูลที่อ้างๆ กันนั้น เชื่อว่าอ้างอิงมาจากระบบกลางการเข้ามหาวิทยาลัยไทย เท่าที่ตรวจสอบพบว่าระบบกลางหรือที่เรียกกันว่า Admission ดังกล่าวได้สะท้อนทิศทางและแนวโน้มได้เกิดขึ้นมานานพอสมควร เกือบๆ จะทศวรรษแล้วก็ว่าได้

ทว่าผู้เกี่ยวข้องเพิ่งจะตื่นตัว กล่าวกันอย่างครึกโครมในเวลานี้

 

จากสถิติเท่าที่พบในช่วงปี 2553-2560
ได้สะท้อนภาพนั้นอย่างชัดเจน

สถิติดังกล่าว (โปรดพิจารณาข้อมูลประกอบ) แสดงข้อมูลจำนวนนักศึกษาที่ต้องการรับเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีจำนวนค่อนข้างไม่เปลี่ยนแปลงนัก อยู่ระหว่างประมาณ 140,000-150,000 คน

ทว่ามีจำนวนผู้สมัครเรียนกลับน้อยกว่าจำนวนที่ต้องการรับตลอดมาในช่วงนั้น (เท่าที่มีข้อมูล เท่าที่อ้างไว้) ด้วยมีจำนวนเพียงประมาณ 100,000-120,000 คน

โดยปีล่าสุด (2560) มีผู้สมัครลดลงมาอีก เหลือเพียงประมาณ 80,000 คน

สรุปแล้วโดยรวมภายใต้ระบบกลางดังกล่าว มีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนอยู่ระหว่างเพียง 70,000-90,000 คนเท่านั้น

มีข้อมูลอย่างละเอียดเจาะจงมากกว่านั้นอีก อ้างอิงเฉพาะระบบกลาง โดยเฉพาะปี 2560 ปรากฏบทสรุปที่ตื่นเต้น มหาวิทยาลัยรัฐหลักๆ มีโอกาสและสามารถจะรับผู้เรียน (จำนวนผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์) ได้มากที่สุดประมาณ 75%

ขณะที่ราชภัฏและเทคโนโลยีราชมงคล สามารถและมีโอกาสจะรับได้เพียง 44%

ที่น่าตกใจ สถาบันการศึกษาเอกชนตั้งเป้ารับผู้เรียนจากระบบกลางจำนวน 37,760 คน ปรากฏว่าจำนวนผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์มีเพียง 1,792 คน หรือเพียง 4.75% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สถิติข้างต้นไม่ได้นับรวมกับการรับตรงของแต่ละมหาวิทยาลัย แต่ละสถาบันการศึกษา คาดกันว่าจะสามารถรับได้เพิ่มเติมอีกจำนวนพอๆ กันหรือมากกว่า

บทสรุป การลดลงของผู้เรียนมหาวิทยาลัย ที่สำคัญมาจากสังคมที่เปลี่ยนแปลง กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เช่นเดียวกับกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก

“มหาวิทยาลัยยังต้องปรับตัวเป็น Demand-side เน้นการพัฒนาอาชีพ ยึดตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ” รัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษาฯ กล่าวไว้อีกตอนหนึ่ง การกล่าวถึง Demand-side ดูไปแล้วคล้ายๆ สะท้อนมุมมองที่มีเชื่อมโยงโมเดลการปรับตัวในทางธุรกิจ

ว่าไปแล้วมหาวิทยาลัยไทยมีมุมมองและโมเดลทางธุรกิจการศึกษาอย่างน่าตื่นเต้น ดังได้นำเสนอมาแล้วในตอนๆ ต้น ว่าด้วยการปรับตัว ตามกระแสและแนวโน้ม ผลิตหลักสูตรใหม่ๆ อันยืดหยุ่น หลากหลาย อย่างน่าทึ่ง ด้วยเชื่อว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดหรือผู้เรียนอย่างดีและเฉพาะเจาะจง

ราวกับว่ามหาวิทยาลัยกับสังคมไทย อุดมด้วยองค์ความรู้ มีความสามารถ มีความพร้อมอย่างล้นเหลือ ดัง “แก้วสารพัดนึก”

 

Demand-side

การศึกษาไทยมีความเชื่อมโยงระดับโลกมาช้านาน ไม่ว่าอ้างอิงมาตรฐาน และหลักสูตร รัฐเองให้ทุนการศึกษาในต่างประเทศอย่างมากมายเพื่อรองรับระบบราชการ

ขณะผู้เรียนที่มีโอกาส มักจะลงทุนเพื่อการศึกษาในต่างประเทศ เป็นมาอย่างนี้ตั้งแต่ยุคอาณานิคม และเป็นไปมากขึ้นๆ เมื่อสังคมและเศรษฐกิจเติบโต ผู้คนส่วนหนึ่งมั่งคั่งขึ้น

ยิ่งกระแสโลกาภิวัตน์ ระบบการศึกษาไทยยิ่งพยายามวิ่งตามกระแสนั้นอย่างไม่ลดละ มหาวิทยาลัยไทยสามารถปรับตัวตามเป็น Demand-side กันอย่างคึกคัก

ผลิตภัณฑ์ทางการศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจ กรณีปริญญาควบ บ้างก็เรียก Dual หรือ Double degree และบางทีก็เรียก Twinning programs บุกเบิกโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดหลักสูตรปริญญาตรีวิศวกรรม ลักษณะโปรแกรมร่วม ด้วยความร่วมมือกับ University of Nottingham, England (เมื่อปี 2539) ผู้เรียนมีโอกาสเรียนทั้งในมหาวิทยาลัยไทยและต่างประเทศ เมื่อจบการศึกษาได้ปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่ง

เท่าที่ทราบเป็นโมเดลบุกเบิกโดยประเทศที่เคยอยู่ในระบบอาณานิคม ในฐานะประเทศมีระบบการศึกษาใช้ภาษาอังกฤษ และมีอดีตและความเชื่อมโยงกับโลกตะวันตกมาช้านาน กลายเป็นกระแสนิยมมากขึ้นๆ เป็นลำดับ

มีหลักสูตรลักษณะดังกล่าวอย่างหลากหลายโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ว่าไปแล้วเป็นโมเดลที่ยืดหยุ่น เปิดกว้างขึ้นสำหรับผู้เรียน

ขณะอีกด้านหนึ่งสะท้อนสังคมไทยให้เครดิตอย่างมากต่อระบบการศึกษาต่างประเทศ โดยเฉพาะโลกตะวันตก

ความเชื่อถือเจาะจงมากขึ้นต่อสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับโลก ในขณะเดียวกัน บ้างก็เชื่อว่ามหาวิทยาลัยไทยมีฐานะไม่ดีเท่าที่ควรในระดับโลก

ว่าไปแล้ว ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยไทยกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศดังกล่าว เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะพึ่งพิง ถือเป็นภาคย่อ เป็นส่วนหนึ่งเชื่อมโยงกับแนวโน้มที่มีมากขึ้น ว่าด้วยการขยายวิทยาเขตมหาวิทยาลัยระดับโลก สู่ภูมิภาคอื่นๆ

“เป็นส่วนหนึ่งแห่งกระแสอิทธิพลสถาบันการศึกษาระดับโลก อาจจะถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นพายุโหมกระหน่ำกำลังจะมาถึง” ดังที่ผมว่าไว้ก่อนหน้านี้

และแล้วมาถึงยุคเปลี่ยนผ่านจาก Place ไปยัง Space บทบาทเชิงรุก

มหาวิทยาลัยชื่อเสียงระดับโลกกำลังดำเนินไปเข้มข้นในยุค Disruptive

สังคมโลกเปิดพื้นที่อย่างกว้างขวางให้กับกิจการอิทธิพลระดับโลก และอย่างลงลึกมากขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สามารถเทียบเคียงกับกรณีสื่อไทยกำลังเผชิญหน้า เผชิญความผันแปรอย่างไม่เคยมามีก่อนตลอด 2 ทศวรรษ

“ในยุค Google (รวมทั้ง YouTube) และ Facebook โครงสร้างธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างคาดไม่ถึง …ว่าไปแล้วยุคก่อนหน้า สื่อโลกตะวันตกมีอิทธิพลต่อธุรกิจสื่อบ้านเรามาไม่น้อยเช่นกัน การอ้างอิง การซื้อสื่อ (โดยเฉพาะกรณีข่าวสาร จากยุค wire services ไปจนถึงสำนักข่าว และทีวีดาวเทียม) เป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของสื่อดั้งเดิม ในฐานะสื่อในประเทศซึ่งไม่มีพลังมากพอจะสร้างเครือข่ายต่างประเทศด้วยตนเอง

จนมาสู่ยุคใหม่ เครือข่ายธุรกิจระดับโลกเข้ามาโดยตรงอย่างเต็มตัว สามารถเข้ามาบริหารและจัดแบ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้จากการโฆษณาสินค้า ที่เคยเป็นงบฯ เฉพาะเจาะจงต่อสื่อในประเทศไทยเท่านั้น ไม่เพียงกลายเป็นงบฯ ที่ถูกแบ่งสัน ดูเป็นเบี้ยหัวแตก ต่อรายย่อยๆ อย่างนับไม่ถ้วน แท้จริงแล้วก้อนใหญ่ตกอยู่กับเครือข่ายธุรกิจระดับโลก” (จากเรื่อง “สื่อกับสังคมไทย พลังสื่ออินเตอร์เน็ต” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2561)

ภาพนั้นจริงจังมากขึ้น “Digital Platform ที่ยังคง Powerful ที่สุดยังเป็นสองยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook และ YouTube เพราะครองเม็ดเงินที่ Spending ลงมาใน Digital Media Platform ไปเกือบครึ่ง โดยที่ Facebook ครองสัดส่วน 30% เป็นเงิน 4,479 ล้านบาท

และ YouTube มีสัดส่วน 18% มีเม็ดเงิน 2,690 ล้านบาท”

ดังข้อมูลจากงาน DAAT DAY 2018 (30 สิงหาคม 2561) กับตัวเลขคาดการณ์เม็ดเงินโฆษณาดิจิตอลล่าสุดในปี 2018

ทิศทางและแนวโน้มเป็นกระแสรุนแรงมากขึ้นคือ ระบบการเรียนออนไลน์ที่เรียกว่า MOOC (Massive Open Online Courses) โดย 2 ค่ายใหญ่ หนึ่ง-edX (https://www.edx.org) ซึ่งก่อตั้งโดย Harvard University และ MIT ในปี 2545 ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกเข้าร่วมมากกว่า 120 แห่ง

เริ่มต้นจากหลักสูตรพื้นฐาน พัฒนาอย่างรวดเร็วเป็นหลักสูตรต่อเนื่อง หลักสูตร Professional Certificate และ MicroMasters Program จนถึง Online Master”s Degree

อีกค่ายหนึ่ง-Coursera (https://about.coursera.org/) ก่อตั้งในปีเดียวกัน โดยศาสตราจารย์ 2 คนจาก Stanford University ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลกเข้าร่วมมากกว่า 150 แห่ง มีมากกว่า 2,700 หลักสูตร ในสาขาเฉพาะทางมากกว่า 250 สาขา และให้ปริญญาถึง 12 หลักสูตร รวมทั้ง MBA ด้วย

เท่าที่สำรวจ ไม่ปรากฏว่ามีมหาวิทยาลัยไทยเข้าร่วมกับทั้งสองค่ายนั้น

นั่นคือภาพสะท้อนปรากฏการณ์สำคัญ มหาวิทยาลัยระดับโลกกำลังปรับตัวกันทั้งระบบจริงๆ