บทวิเคราะห์ : ใครใคร่ค้าช้าง ค้า…? สัตว์อนุรักษ์ในเส้นทางตลาดมืด

ย้อนหลังไปสมัยพ่อขุนรามคำแหง คำในจารึกที่ว่า “…ใครใคร่ค้าม้า ค้า ใครใคร่ค้าช้าง ค้า…” แสดงนัยถึงความรุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์ของแว่นแคว้นสุโขทัย แต่ไม่ใช่ในยุคนี้ สมัยนี้

ยุคที่ช้างในสภาพธรรมชาติลดจำนวนลงมากอย่างน่าใจหาย กลายเป็นสัตว์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงที่สุดชนิดหนึ่ง ซึ่งถูกขึ้นบัญชี “ห้ามซื้อขายเด็ดขาด” ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) การ “ค้าช้าง” ในยามนี้จึงเป็นการกระทำ “ผิดกฎหมาย”

เมื่อต้นเดือนกันยายนนี้ คาร์ล อัมมานน์ นักสร้างภาพยนตร์และนักอนุรักษ์ชาวอังกฤษ เพิ่งออกมาเปิดโปงการทำผิดกฎหมายครั้งใหญ่ของ “เอเย่นต์ลับ” ในลาว ที่ส่ง “ช้างเป็นๆ” นับสิบข้ามแดนเข้าไปขายในจีน

ดิ อินดีเพนเดนต์ระบุว่า เกือบทั้งหมดเป็นลูกช้างจากป่า ถูกนำเข้าไปขายในจีน และส่งต่อออกไปยังประเทศในตะวันออกกลาง ทำรายได้สูงถึงตัวละ 230,000 ปอนด์ หรือราว 9.8 ล้านบาท

อัมมานน์ถ่ายภาพควาญขี่ช้าง (ป่า) มากกว่า 50 ตัว ข้ามชายแดนลาวที่บ้านบ่อเต็น เมืองหลวงน้ำทา แขวงหลวงน้ำทา เข้าสู่ดินแดนของจีนบริเวณมณฑลยูนนานที่เรียกว่าด่านบ่อหาน-บ่อเต็น โดยไม่มีใบอนุญาตให้เคลื่อนย้ายซื้อขายที่ถูกต้องตามกฎหมายจากไซเตส

จริงๆ แล้วเจ้าหน้าที่ด่านบ่อเต็นไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีกฎอะไรต้องให้ปฏิบัติตามบ้างด้วยซ้ำไปในกรณีของการค้าช้าง เหมือนไซเตสไม่มีตัวตนอยู่จริง ยังไงยังงั้น

พ่อค้าคนกลางชาวจีนเป็นผู้จ่ายเงินที่ตกประมาณ 23,000 ปอนด์ต่อตัวสำหรับช้างป่าอายุน้อยๆ เหล่านั้น แต่เมื่อถึงมือของผู้ซื้อในขั้นตอนสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็น “ซาฟารีปาร์ก” หรือ “สวนสัตว์” ต่างๆ อัมมานน์เชื่อว่าราคาจะถีบตัวสูงขึ้นเป็น 230,000 ปอนด์ต่อตัว

อัมมานน์เล่าว่า หลังจากได้พูดคุยกับทั้งบรรดาเจ้าของและควาญช้างหลายคน เชื่อว่า ในช่วง 3 ปีหลังมานี้ ช้างป่าที่ถูกลักลอบค้าข้ามแดนในลักษณะนี้มีไม่น้อยกว่า 100 ตัว

 

ประเด็นเรื่องค้าผิดกฎหมายเป็นประเด็นหนึ่ง อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ กระบวนการทั้งหมดตั้งแต่การล่า ล้อมจับ เรื่อยไปจนถึงการทำให้ช้างพร้อมสำหรับการแสดงเพื่อ “ทำเงิน” ให้กับผู้เป็นเจ้าของสวนสัตว์ หรือซาฟารีปาร์ก ทั้งในจีนและในต่างแดนนั้น ถือเป็นกระบวนการทารุณกรรมสัตว์ใหญ่อย่างช้าง ตั้งแต่ต้นจนจบ

ดันแคน แม็กแนร์ แกนนำของ “เซฟ ดิ เอเชี่ยน เอเลเฟนต์” หรือ “สเต” องค์กรเพื่ออนุรักษ์ช้างเอเชียระบุว่า กว่าจะได้ลูกช้างป่าแต่ละตัว โดยปกติแล้วพรานมักต้องฆ่าแม่ช้างพร้อมกับช้างอีกอย่างน้อย 6-7 ตัวที่พยายามปกป้องลูกช้างในโขลงทุกตัวโดยธรรมชาติ

หลังจากนั้นแต่ละตัวเมื่อตกอยู่ในมือของสวนสัตว์และซาฟารีปาร์กทั้งหลาย ช้างรุ่นเหล่านี้ก็จะต้องผ่านกระบวนการ “ทำลายวิญญาณป่า” ให้หมดสิ้นและสยบยอม ทำทุกอย่างตามคำสั่งของผู้เป็นเจ้าของ

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมถึงต้องการ “ลูกช้าง”

กระบวนการมีตั้งแต่การลงตะขอ หอก ทุบตี โบย ในขณะที่ถูกล่ามโซ่เหล็กหนาหนัก ซึ่งมักก่อให้เกิดบาดแผลแสนเจ็บปวดทรมาน

ประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า ช้างบางตัวที่ต้องผ่านทารุณกรรมเหล่านี้ กู่ร้องโหยหวนตลอดทั้งคืน

 

ทั้งหมดทั้งมวลนั้น เพื่อให้แต่ละตัว “แสดง” ความสามารถน่าทึ่ง ฝืนธรรมชาติของช้างออกมา สร้างความแปลกใจ ทึ่ง และชื่นชมจากบรรดานักท่องเที่ยวที่จ่ายเงินเข้ามาเยี่ยมชมสวนสัตว์เหล่านี้

สวนสัตว์เอกชนเหล่านี้ นักท่องเที่ยวต้องจ่ายค่าเข้าชมคนละ 50 ดอลลาร์ (ราว 1,600 บาท) แต่ละวันมีผู้เข้าชมถึง 20,000 คน ในช่วงสุดสัปดาห์เดียว

อัมมานน์ที่ติดตามถ่ายทำภาพยนตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้บอกว่า ในระยะหลังมานี้ นอกจากช้างเอเชียจากลาวแล้ว ชาติตะวันออกกลางอย่างดูไบและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เริ่มนำเข้าลูกช้างจากแอฟริกาอีกด้วย

ขณะที่ “สเต” เรียกร้องให้ไซเตสตรวจสอบเรื่องนี้ ประชากรช้างป่าในลาวก็ลดลงตามลำดับ

จากราว 3,000 ตัว เมื่อ 30 ปีก่อน ตอนนี้หลงเหลือแค่หลักร้อยแล้ว!