ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : พุทธประวัติตอนมารผจญ : กรวดน้ำ กับพระแม่ธรณีบีบมวยผม มีเฉพาะในอุษาคเนย์?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

นอกจากจะนั่งโชว์ตัวเป็นประจำอยู่ที่สามเหลี่ยมมุมท้องสนามหลวง ใกล้คลองคูเมืองเดิม และรับจ๊อบเป็น แบรนด์ แอมบาสเดอร์ ให้พรรคการเมืองเก่าแก่พรรคหนึ่งแล้ว คนไทยเรายังรู้จักพระแม่ธรณีผ่านพุทธประวัติตอนสำคัญคือ มารผจญ ที่นิยมเขียนอยู่ตามฝาผนังอาคารภายในวัด มีหลักฐานมาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา และนิยมอย่างมากในสมัยกรุงเทพฯ อีกด้วย

พุทธประวัติตอนที่ว่าเล่าถึง ช่วงเวลาสำคัญก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ขณะเจริญวิปัสสนาประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์

ก่อนการตรัสรู้ พระยามารที่ชื่อ พระวัสสวตีมาร ได้ยกทัพไพร่พลมารร้ายทั้งหลายมาราวีเจ้าชายสิทธัตถะเพื่อขัดขวางไม่ให้บรรลุถึงสัมมาสัมโพธิญาณได้

ตอนนี้แหละครับที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ยกอ้างผลบุญและกุศลในชาติภพต่างๆ ที่ได้สะสมเป็นบุญบารมีมา ว่าแล้วพระองค์ท่านก็เอื้อมมือลงสัมผัสที่พื้นแผ่นดิน ตรัสอัญเชิญพระแม่ธรณีผู้รู้เห็นในการบำเพ็ญกุศลทุกชาติภพของพระองค์ขึ้นมาเป็นพยานปากเอก

เมื่อพระแม่ธรณีปรากฏพระวรกายขึ้นก็บิดเอา “น้ำ” ออกจากมวยพระเกศาอย่างมากมายมหาศาลจนท่วมท้นหมู่มารทั้งหลายแตกพ่ายไปกับสายน้ำ

เจ้าชายสิทธัตถะจึงเจริญภาวนาสติต่อไปอย่างปลอดภัยไร้กังวลจนบรรลุธรรมถึงขั้นตรัสรู้ ในค่ำคืนวันนั้นนั่นเอง

จึงไม่น่าแปลกใจอะไรเลยที่คนไทยพุทธอย่างที่เห็นๆ กันโดยทั่วไป ทำบุญหรือตักบาตรเสร็จแล้วจะมีกิจสำคัญอีกอย่างคือ การกรวดน้ำ ที่ว่ากันว่าเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้อื่น (ซึ่งการอุทิศบุญกุศลที่ตนเองเป็นผู้กระทำให้กับผู้อื่น) ก็ถือเป็นการต่อยอดการทำบุญอีกทอดหนึ่งนั่นแหละ เรียกได้ว่าเป็นการทำบุญแบบป๊อกเก้าสองเด้ง

สิ่งที่เรียกว่า “บุญ” แบบไทยๆ จึงเป็นบุญที่ทำแล้วต้องเคลมนะครับ อย่างน้อยก็ต้องมีพระแม่ธรณีมาเป็นพยานให้

ในแง่บุคลาธิษฐาน “พระยาวัสสวตีมาร” ในพุทธประวัติตอนดังกล่าว เป็นหัวหน้าใหญ่ของเหล่ามารทั้งหลาย แต่ในขณะเดียวกันปรัมปราคติของพุทธศาสนาเองก็ถือว่า พระยาวัสสวตีมาร เป็นราชาแห่ง ปรนิมมิตวัสวตี สวรรค์ชั้นที่หก อันเป็นสวรรค์ชั้นสูงสุดในฉกามาพจรภพ หรือสวรรค์ทั้ง 6 ห้องฟ้า ก่อนจะถึงดินแดนของเหล่าพรหม คือพรหมโลก

ทำไม ตามคติในศาสนาพุทธ พระยามาร ถึงกลายเป็นราชาผู้ปกครอง ฉกามาพจรภพ?

ในหนังสือเรื่อง “มาร” ที่ปราชญ์ ควบตำแหน่งอดีตอธิบดีกรมศิลปากรอย่าง คุณธนิต อยู่โพธิ์ ได้ศึกษาเปรียบเทียบและสรุปร่องรอยหลักฐานทางวรรณคดีต่างๆ แล้วเอาไว้ว่า “วัสสวตีมารเทพบุตร” ในศาสนาพุทธก็คือ “พระกามเทพ” ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

โรแมนติกทีเดียวนะครับ สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสละได้เป็นสิ่งสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้ ไม่ใช่บาปบุญในเรื่องทางโลกที่ไหนไกล เป็นเรื่องธรรมดาๆ อย่าง “ความรัก” นี่เอง

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่พระยาวัสสวตีมารจะทรงคันธนู และลูกศรอยู่ในมือ ก็เพราะมีต้นแบบมาจากพระกามเทพนี่เอง

พระกามเทพของพราหมณ์ก็ทรงคันธนูกับลูกศร โดยมีรายละเอียดว่า คันธนูของพระองค์ทำมาจากชานอ้อย มีสายธนูที่เรียงร้อยมาจากฝูงผึ้งที่เรียงตัวกันเป็นคันสายไว้โน้มศร ศรของพระองค์มี 5 ดอก หัวลูกศรทำมาจากดอกไม้ที่แตกต่างกัน 5 ชนิด ให้ฤทธิ์และรสชาติแห่งรักที่แตกต่างกัน 5 ประการ

ศรดอกจำปากะ (บางท่านแปลว่าคือ บัวหลวง) รสรักรุนแรง, ศรดอกอัมรา (คือดอกมะม่วง) รักแสนอบอุ่น, ศรดอกนาคเกสร (คือดอกลั่นทม แต่บางท่านว่าดอกบัวขาบ) รักเนิบนาบยะเยียบ, ศรดอกกิตติคุม (บางท่านแปลว่า ดอกอโศก) แรงรักร้อนรุ่ม และท้ายสุดศรดอกมะลิ รักสิ้นไม่สมหวัง

ใครที่อ่านพุทธประวัติตอนมารผจญคงจำได้ว่า พระยามารแผลงศรจนมืดฟ้ามัวดินเข้าใส่พระโพธิสัตว์สิทธัตถะ (ศาสนาพุทธเถรวาท ถือว่าเจ้าชายสิทธัตถะเป็นพระโพธิสัตว์) แต่แล้วศรเหล่านั้นกลับกลายเป็นดอกไม้นานาชนิดร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน

หรือความรักไม่ว่าจะมีสักกี่ร้อยพันชนิด ก็ไม่อาจทำให้จิตใจที่มุ่งสู่พระนฤพานหวั่นไหวได้?

พระแม่ธรณีเป็นผู้นำเอาน้ำ ซึ่งก็คือสัญลักษณ์ของบุญบารมีที่พระพุทธองค์เคยประกอบไว้ พัดพาความรักและบริวารตัวประกอบทั้งหลายออกไปจากจิตใจของพระพุทธองค์จนสูญสิ้น

แต่พระแม่ธรณีในอินเดียกลับไม่เคยบีบมวยผมเหมือนอย่างอุษาคเนย์เราเลยนะครับ

ตามปกรณ์ของพุทธศาสนาในอินเดีย พระพุทธเจ้าใช้พระหัตถ์สัมผัสกับพื้นแผ่นดินแล้วอัญเชิญพระแม่ธรณีมาเป็นพยานก็จริง แต่บุญบารมีของพระพุทธองค์ก็ทำให้พื้นแผ่นดินทั้งมวลสั่นไหว จนหมู่มารไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ ไม่มีน้ำไหลบ่าจากที่ไหนมาเลยสักนิด

ในรูปประติมากรรมของอินเดียที่แสดงภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนดังกล่าว โดยเฉพาะในอินเดียทางตอนเหนือมักจะแสดงรูปพระแม่ธรณีถือหม้อน้ำอยู่ด้วย

แต่หม้อน้ำที่ว่าก็ไม่ได้เอามาสาดน้ำใส่หมู่มารที่ไหนอยู่ดี รูปหม้อน้ำ ในศิลปะอินเดีย และลังกา เรียกว่า “ปูรณฆฏะ” หมายถึงหม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์ เช่นเดียวกับความอุดมสมบูรณ์ผืนแผ่นดิน ดังนั้น รูปหม้อน้ำโดดๆ ในศิลปะอินเดียและลังกา จึงมักมีพืชพรรณไม้น้ำ ดอกบัวต่างๆ งอกเงยออกมาจากหม้อน้ำ ไม่ต่างจากแจกันปักดอกไม้

และพรรณไม้น้ำงอกเงยออกจากน้ำไม่ต่าง แผ่นดินที่ลอยอยู่กลางน้ำ

หม้อน้ำในพระหัตถ์ของพระแม่ธรณีจึงเป็นเพียงสัญลักษณ์เพียงแสดงให้รู้ว่าภาพเทวีพระองค์นี้คือ พระแม่ธรณี เท่านั้น

นักวิชาการบางท่านเชื่อว่า ปกรณ์เรื่องพระแม่ธรณีบีบมวยผมเกิดขึ้นที่ลังกา โดยปรากฏขึ้นครั้งแรกในข้อความตอนหนึ่งของหนังสือที่ชื่อ “ชินาลังการฎีกา” ซึ่งเขียนขึ้นหลัง พ.ศ.1700

น่าเสียดายที่บุญผมมีไม่ถึง จึงไม่เคยได้อ่านวรรณคดีในพระศาสนาเล่มนี้ เลยไม่อาจบอกกล่าวได้ว่าจริงหรือไม่? แต่พอจะให้ข้อสังเกตได้ว่า ที่ลังกาเองก็ไม่มีรูปเขียนพระแม่ธรณีบีบมวยผมเหมือนกับในอินเดีย ในขณะที่วรรณคดีสายพุทธประวัติ ที่แต่งขึ้นในอุษาคเนย์ต่างก็ล้วนแล้วแต่บอกเล่าตรงกันเรื่องพระแม่ธรณีบีบมวยผม

น่าประหลาดที่รูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม กลับปรากฏอยู่แรกสุดที่ปราสาทหินในวัฒนธรรมขอมโบราณ ซึ่งไม่ได้นับถือศาสนาพุทธเถรวาทเป็นหลัก (แต่รู้จักพุทธเถรวาทสายลังกาแน่) ไม่ว่าจะเป็นที่ปราสาทเบงเมเลีย (บึงมาลา) ปราสาทตาพรหม ปราสาทบันทายกะเดย และปราสาทวัดนคร ปราสาทเหล่านี้ล้วนแต่สร้างในช่วงตั้งแต่ศิลปะนครวัดลงมา คือสร้างหลัง พ.ศ.1650 โดยประมาณ

หรือสยามจะรู้จักเรื่องพระแม่ธรณีบีบมวยผมผ่านมาทางขอม?