จรัญ พงษ์จีน : ประชาธิปัตย์ในห้วงเลือกตั้งหัวหน้าพรรคชนิดฝุ่นตลบ

จรัญ พงษ์จีน

แหละแล้ว “พรรคประชาธิปัตย์” ต้นไม้ใหญ่แห่งวงการเมือง ที่อยู่ยืนยงคงกระพันมา 8 ทศวรรษ เกิดภาวะ “ฝุ่นฟุ้ง” อีกครั้งหนึ่งแล้ว ห้องเครื่องต่อจิ๊กซอว์มาจาก “คสช.” ประกาศจะคลายล็อก ว่าด้วยคำสั่ง “ห้ามดำเนินกิจกรรม” ให้พรรคการเมืองหาสมาชิกพรรค และดำเนินการจัดทำไพรมารีโหวตได้

“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โชว์สปิริตโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว หัวข้อ “ประชาธิปัตย์ยุคใหม่กับการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคโดยสมาชิก” ด้วยความปรารถนาดีว่า 4 ปีแล้วที่ไม่มีการดำเนินกิจการทางการเมือง ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกและในประเทศเกิดขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็ว

“จึงมีความจำเป็นที่จะให้สมาชิกพรรคและประชาชนในวงกว้างเข้ามามีส่วนร่วม มากกว่าการปล่อยให้การกำหนดตัวผู้บริหารและทิศทางของพรรคจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มอดีต ส.ส. และผู้บริหารพรรคในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งนี้ของประชาธิปัตย์ จึงเป็นก้าวสำคัญของระบบการเมืองไทย ผมหวังว่ากระบวนการนี้จะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ การแข่งขันที่จะเกิดขึ้น ไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องของความขัดแย้ง”

เจตนารมณ์ดังกล่าวดูดี “อภิสิทธิ์” คิดปฏิรูป ปรับโครงสร้างพรรค ยกเครื่องกระบวนการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค จากหัสเดิม ให้ ส.ส.ทุกคน-ประธานสาขาพรรค-สภาท้องถิ่นอีก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ลงมติเลือก

เท่ากับว่า “หนุ่มมาร์ค” คิดแต่งหล่อประชาธิปัตย์ด้วยรูปลักษณ์ใหม่ ให้สมาชิกพรรคที่เคยแจ้งต่อนายทะเบียนเอาไว้ก่อนปฏิวัติ ซึ่งมีอยู่ 2.8 ล้านคน เป็นผู้เลือก โดย “หลักการ” โดน ผลดีเยอะแยะ สมราคากับที่เป็นพรรคเก่าแก่ ยาวนานที่สุดในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย

แต่ก็นั่นแหละ “ข้อเสีย” ก็ผุดโผล่ พลันที่ “อภิสิทธิ์” โพสต์ลงเฟซบุ๊ก ก็เกิดเรื่องฮือฮา เมื่อ “อลงกรณ์ พลบุตร” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส.เพชรบุรีหลายสมัย ที่กระโดดค้ำถ่อออกจากป้อมค่าย ไปรับจ๊อบเป็นรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

“เสี่ยจ้อน” ประกาศเสียงดังฟังชัด จะคืนถิ่นเก่า กลับมาเป็นผู้ท้าชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค อ้างว่าตัวเองได้รับการทาบทามจากอดีต ส.ส. และสมาชิกหลายคน ให้ลงสมัครชิงดำในตำแหน่งหัวหน้าพรรค

เรื่องเลยลาม มีการปล่อยข่าวว่า “อลงกรณ์” เป็นนอมินีของ “คสช.” ส่งกลับมาแทรกแซงพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ค่อยจะมีคนเชื่อ ลำดับต่อมาจึงงัดข้อบังคับพรรคมาเป็นเครื่องทุ่นแรง ระบุว่า “เดอะจ้อน” ไม่น่าจะมีสิทธิ์เป็นผู้ท้าชิง เพราะ “ขาดคุณสมบัติ” มีสถานะเป็น “คนนอก” เนื่องจากลาออกจากพรรคไปแล้วก่อนหน้านี้

หากจะกลับมาเป็นผู้ท้าชิง ก็ต้องสมัคร และเริ่มนับหนึ่งใหม่ เว้นเสียแต่ว่า ต้องมีอดีต ส.ส.ของพรรคจำนวน 40 คนให้การรองรับ เงื่อนไขคุณสมบัติ แม้จะเปิดช่องไว้ให้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สำหรับ “อลงกรณ์”

แต่ยี่ห้อ “เสี่ยจ้อน” เหมือนเล่นกอล์ฟ ยิ่งถูกกิน ยิ่งบุก สู้ไม่ถอย หน้าไม่จ๋อยไปเลย ถึงจะตีกันว่าติดกรอบ “คนนอก” ยังอุตส่าห์ปล่อยของออกมาอีกชุด ด้วยการเสนอ “กฎเหล็ก” 5 ประการ ให้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์หยิบไปเป็น “การบ้าน” เป็นคำมั่นสัญญา หรือ “สัญญาประชาคมยกแรก”

 

แรงกระเพื่อมที่เกิดในประชาธิปัตย์ ไม่เพียงแต่กระฉอกบอกเหตุที่เมืองเพชรแห่งเดียว กลับแพลมโผล่ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เด็ดขาด และทรงพลังมาก คือเสียงก้องที่ดังสนั่นลั่นทุ่งมาจากนครศรีธรรมราช

จากสุ้มเสียงของ “สัมพันธ์ ทองสมัคร” นักการเมืองรุ่นเก๋า สวมบท “หมอผีหัวร้อน” เสนอแนวทางแก้ปัญหาพรรคต้นสังกัด อีกนิยามว่า การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคควรให้การเลือกตั้งปี 2562 แล้วเสร็จก่อน

ระหว่างนี้ควรให้มีผู้หลักผู้ใหญ่รักษาการหัวหน้าพรรคไปก่อน เช่น “นายชวน หลีกภัย” ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค เพราะจะทำให้การเลือกตั้งกลมเกลียวกันมากขึ้น ทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่น

“ส่วนตัวแล้ว นายอภิสิทธิ์ควรลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไปก่อน หลังเสร็จเลือกตั้งค่อยว่ากันอีกครั้งเพื่อความเป็นปึกแผ่นของประชาธิปัตย์”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถือว่าการเลือกตั้งใหญ่ใกล้ความเป็นจริงขึ้นมามากแล้ว แสงสว่างเริ่มเห็นรำไร “กฎหมายลูก” 2 ฉบับสุดท้าย หมวดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่ง ส.ว. ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

24 กุมภาพันธ์ 2562 น่าจะได้ทำศึก แต่ทำไปทำมาพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุด พรรคที่มีสมาชิกมากสุด “ค่ายสีน้ำเงิน” กลับเกิดสภาพ “ไม่นิ่ง” น่าสงสัยมั้ยว่า เป็นไปได้ไง

ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า ภายใต้ร่มเงาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ.2560 ตำราคนละเล่มกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ออปชั่นใหม่คือ การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ไม่ทิ้งขว้างเสียงส่วนน้อย

ทุกคะแนนมีความหมาย ถูกยกยอดมาคูณคำนวณออกมาเป็น “บัญชีรายชื่อ”

“ประชาธิปัตย์” มีฐานที่มั่นหลักอยู่ในพื้นที่ภาคใต้+กทม.+ภาคกลาง เคยยึดหัวหาดแบบถล่มทลายมาตลอด 52-30-40 มีภาคเหนืออีก 15-20 เสียง บวกแต้มให้สูงสุดแล้วรวมด้วย “บัญชีรายชื่อ” ปริ่มอยู่ที่ 165 ที่นั่ง

แต่เลือกตั้งระลอกใหม่ เขตเลือกตั้งถูกปรับลด สนามที่เข้มแข็งได้แก่ “ภาคใต้” น่าจะถูกชิงพื้นที่จาก “พรรคประชาชาติ” กับ “พรรคกำนัน” เหลือไม่ถึง 50 ที่นั่งแน่นอน “กทม.” ก็คงถูกตีแตกจากหลายๆ พรรค ขณะที่บัญชีรายชื่อ “คะแนนพึงมี” ก็ต้องได้สัดส่วนน้อยกว่าเดิม

ด้วยประการดังกล่าว “ประชาธิปัตย์” ในการเลือกตั้งช่วงต้นปี 2562 ภาพโดยรวมน่าจะได้ที่นั่งน้อยกว่าปี 2554 คือไม่ถึง 165 ที่นั่ง

นอกจากพื้นที่เข้มแข็งจะถูกช่วงชิงไปหลายจุดแล้ว จนป่านนี้ “ประชาธิปัตย์” ยังไม่มีอะไรโดดเด่นแปลกใหม่ไปกว่าศึกเลือกตั้งครั้งก่อนๆ

“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ดำรงตำแหน่งหัวหน้าค่ายสีน้ำเงินมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2548 ถึงปัจจุบัน สิริรวม 13 ปีเต็ม

ยังไม่เคยนำทัพชนะเลือกตั้งเลย บอยคอตซะ 2 ครั้ง คือเมื่อปี 2549 กับ 2557

แพ้อีก 2 ครั้งซ้อน คือศึกเลือกตั้ง พ.ศ.2550 กับ 2554

กล่าวโดยสรุป ได้อย่างเสียอย่าง “เล่นดี แต่แพ้”