ความเครียดของคนไทย ส่วนใหญ่คือเรื่องเศรษฐกิจ!

เมนูข้อมูล : “เหลือทนแค่ไหน” ก็เข้าใจได้

เป็นนักการเมืองไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือใช้กำลังยึดอำนาจมา ที่สุดแล้วลึกๆ ในจิตใจย่อมปรารถนาการยอมรับ

ถึงแม้ว่าปากจะพล่ามบอกว่า “ไม่แคร์กระแสประชาชน” แต่ชีวิตที่ค่อยๆ เคยชินกับความสุขจากอำนาจ เสียงที่บอกไม่แคร์นั้นย่อมรู้ตัวเองว่าไม่ตรงกับใจนัก

อาจจะเป็นไปได้ที่ไม่แคร์ประชาชนส่วนใหญ่ แต่ยากที่จะหนีพ้นการมีความปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับ แม้จะเป็นจากคนบางกลุ่มบางพวกที่ตระหนักได้ถึงผลกระทบต่อตำแหน่งที่ทำให้มีอำนาจนั้นได้

จึงเป็นธรรมดาที่ความหงุดหงิดย่อมเกิดขึ้นในใจของ “นักการเมือง” ในจังหวะที่ไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ใจปรารถนา

แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ ในฐานะผู้ที่ควรจะมีวุฒิภาวะ ด้วยต้องตระหนักว่าทุกการแสดงออกย่อมเป็นหน้าตาสะท้อนถึงภาพรวมที่คนอื่นจะมอง ไม่ว่าจะเป็นสายตาจากคนในประเทศหรือต่างประเทศ

วุฒิภาวะคือความสามารถควบคุมอาการหงุดหงิดพลุ่งพล่านในใจไม่ให้แสดงออกมากับความสุขุมคัมภีรภาพที่ควรจะมีในฐานะของตำแหน่งหน้าที่และวัยที่มากขึ้นแล้ว

การควบคุมอารมณ์ความรู้สึกตัวเองไม่ได้ เท่ากับไม่บรรลุถึงวุฒิภาวะที่ควรจะเป็น

และเมื่อมองไม่เห็นสภาวะอันไร้ประสิทธิภาพทางจิตในการควบคุมอารมณ์ แล้วเที่ยวชี้หน้าโทษคนอื่น ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะไม่เพียงไม่สมกับวัยและตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น แต่ยังมีสภาพ “ถอยหลังเข้าคลองทางวุฒิภาวะ”

จากผู้อยู่ในวัยอาวุโส ซึ่งถือว่าเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของสังคม ถูกกดดันให้ “ถอยวัยกลายเป็นเด็ก” ที่มีธรรมดาของจิต “เอาแต่ใจตัวเอง”

สภาวะเช่นนี้ย่อมน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับคนที่จำเป็นต้องใกล้ชิด

หรือแม้แต่คนที่จะต้องรับรู้ถึงอารมณ์ที่จะระบายออกมา

เมื่อเร็วๆ นี้สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) ได้สำรวจดัชนีความเครียดของคนไทย พบว่า ร้อยละ 77.08 เครียดเรื่องเศรษฐกิจ

ความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจก็คือหงุดหงิดกับปัญหาปากท้อง ทำได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย

อารมณ์ของคนในสังคมแบบนี้ย่อมต้องการความหวัง

และที่จะเป็นความหวังที่ฝากไว้กับผู้นำการบริหารประเทศ

ดูจะเป็นเรื่องน่ายินดี “นิด้าโพล” ล่าสุด ซึ่งสำรวจในเดือนสิงหาคม ในคำถามที่ว่า “ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรต่อการดำรงตำแหน่งครบ 4 ปีของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ร้อยละ 22.15 บอกว่าทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ “ดีมาก” ร้อยละ 48.96 ตอบว่า “ค่อนข้างดี”

มีแค่ร้อยละ 18.28 เท่านั้นที่ตอบว่า “ไม่ค่อยดี” และเพียงร้อยละ 9.53 ที่ตอบว่าไม่ดีเลย

แน่นอนเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับ “พล.อ.ประยุทธ์” เพราะหากความปรารถนาอยู่ที่เสียงชื่นชมของประชาชน คงไม่มีอะไรที่จะต้องหงุดหงิด เพราะชัดเจนว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นเกินครึ่ง

แต่หากความปรารถนานั้นไม่ได้อยู่ที่ความชื่นชมจากประชาชน แต่ความต้องการที่จะได้รับการยอมรับจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ย่อมเป็นเรื่องที่คนอื่นยากจะเข้าใจ เพราะขึ้นอยู่กับตัว พล.อ.ประยุทธ์กับคนกลุ่มนั้นจะตอบสนองความปรารถนาของกันและกันได้ขนาดไหน

ย่อมเป็นเรื่องที่ประชาชนมีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องได้น้อยมาก

อย่างดีที่สุดของประชาชนซึ่งให้การยอมรับตามโพลจะทำได้คือ พยายามเข้าใจว่า “อาการเกินทนที่แสดงออกมา” ไม่ได้เกี่ยวกับประชาชน

ต้องไม่เอามาเป็นเรื่องขุ่นข้อง หมองอารมณ์ หรือน้อยอกน้อยใจ หากต้องรองรับการแสดงที่เป็นผลจาก “ความเหลือทน” นั้น