เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : หกสัปดาห์ก่อนถึงวันแม่

“เมื่อผมไปถึง เด็กที่นั่นก็ดูแลผมเป็นอย่างดี แม้ว่าจะมีไม่กี่คนที่พูดภาษาอังกฤษได้ดี แต่ทุกคนก็เข้ามาคุยกับผม เด็กที่นั่นดูมีความสุข ช่วยเหลือตัวเองได้ พวกเขาเดินตามผมตลอดเวลา ทำให้ผมเป็นห่วงว่าพวกเด็กจะถูกคุณครูดุว่าไม่ไปเข้าห้องเรียน แต่เมื่อผมไปถาม คุณครูกลับบอกว่า นั่นคือรูปแบบการเรียนการสอนของหมู่บ้านเด็กที่ให้เด็กมีทางเลือก และเรียนรู้จากสิ่งรอบตัวมากกว่าเพียงแค่เรียนในห้องเรียนเหมือนการศึกษาทั่วไป”

นี่คือคำตอบของคุณมาร์วิน บลันต์ (MARVIN BLUNTE) ผู้กำกับฯ และผู้ผลิตภาพยนตร์เรื่อง 6 WEEKS TO MOTHER”S DAY หรือหกสัปดาห์ก่อนถึงวันแม่

ต่อคำถามว่า “อะไรที่ทำให้คุณประทับใจเกี่ยวกับหมู่บ้านเด็ก จนนำมาสร้างสารคดี”

หนังเรื่องนี้เป็นสารคดีเชิงสังเกตการณ์ (Observational Documentary) เรื่องราวของโรงเรียนหมู่บ้านเด็กที่ จ.กาญจนบุรี ตั้งอยู่ในป่าริมน้ำแควใหญ่ อ.ไทรโยค มี “แม่แอ๊ว” คือคุณรัชนี ธงไชย เป็นผู้อำนวยการ

คุณมาร์วิน บลันต์ กล่าวว่า

“เด็กในหมู่บ้านเด็กบางคนก็เป็นเด็กกำพร้า บางคนก็เป็นเด็กที่พ่อแม่ต้องโทษคดี บางคนก็เป็นผู้ลี้ภัย แต่หมู่บ้านเด็กต้องการนำพวกเขามาอยู่ที่นี่ เพื่อทำให้พวกเขารู้สึกว่าเขามีทางเลือกและสามารถทำอะไรกับชีวิตได้ตามปรารถนา มีวันหนึ่งที่พวกเด็กได้รับแจกน้ำแข็งไส เขาเอามาแบ่งให้ผม ทำให้ผมตื่นเต้นมากที่ได้เห็นน้ำใจของเด็กพวกนี้ พวกเขาไม่ได้ร่ำรวย แต่เขารู้จักการแบ่งปัน ดังนั้น หลังจากผมกลับไปผมก็เริ่มหาข้อมูลและสัมภาษณ์คนเกี่ยวข้องกับหมู่บ้านเด็กอย่างจริงจัง”

หนังสารคดีเรื่องนี้มีความยาว 90 นาที คือหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ฉายแล้วที่อเมริกาหลายเมือง แต่เพิ่งมาฉายเมืองไทยรอบพิเศษเป็นครั้งแรกที่หอศิลป์ กทม. เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมาเฉพาะผู้รับเชิญ ซึ่งจะฉายทั่วไปให้ชมแพร่หลายในเวลาต่อไป โปรดติดตาม

ดำเนินเรื่องด้วยชีวิตเด็กในหมู่บ้านเด็ก มีนักเรียนราว 150 คนกับครูพี่เลี้ยงจำนวนหนึ่ง มีแม่แอ๊วของทุกคนเป็นผู้นำ ท่ามกลางธรรมชาติร่มครึ้มของป่าริมน้ำแควใหญ่ซึ่งมีภูเขาตระหง่านขนานสายน้ำ

เด็กๆ ได้เรียนรู้ไปกับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติด้วยการช่วยตัวเอง พร้อมช่วยเหลือกันและกันเป็นหลัก มีครูเป็นพี่เลี้ยง ตั้งแต่ร่วมกันปลูกผักสวนครัว ทำกับข้าว ร่วมเรียนร่วมเล่น ทำงานศิลปะ

ทั้งหมดนี้ไม่มีการกำหนดบทแสดง ผู้ถ่ายทำเพียงเก็บภาพเป็นจริงตามธรรมชาติอันเป็นวัตรปฏิบัติปกติของโรงเรียนหมู่บ้านเด็กแห่งนี้เท่านั้น

วางแนวเรื่องโดยมี “วันแม่” เป็นเป้าหมาย คือวันที่ 12 สิงหาคม

หนังเรื่องนี้กำหนดช่วงหกสัปดาห์คือ 42 วันที่เด็กๆ เตรียมตัวจัดงานเฉลิมฉลองวันแม่ด้วยพิธีร่วมรำลึกถึงพระคุณของ “แม่แอ๊ว” ของโรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งขณะเริ่มถ่ายทำนั้นเป็นปี พ.ศ.2557 ครบรอบ 35 ปีของการตั้งโรงเรียน (โรงเรียนหมู่บ้านเด็กตั้งเมื่อ พ.ศ.2522) หนังเรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายทำสี่ปีจึงเสร็จสมบูรณ์เมื่อปีที่แล้ว

หกสัปดาห์ก่อนถึงวันแม่ จึงนอกจากฉายภาพกิจวัตรประจำวันแล้วยังแทรกการจัดเตรียมงานเพื่อเฉลิมฉลองวันแม่ของพวกเขาด้วยการจัดแสดงทั้งละครเวที ละครหุ่น การฟ้อนรำชุดต่างๆ ล้วนเป็นไปอย่างสนุกสนาน สลับเล่าเรื่องด้วยตัวแม่แอ๊วเองถึงความบันดาลใจที่อุทิศตนมาทำโรงเรียนหมู่บ้านเด็กแห่งนี้ ซึ่งมีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย และอาจจะเป็นหนึ่งเดียวในโลกด้วย

ในวันงานนั้น นอกจากเด็กปัจจุบันแล้วยังมีศิษย์เก่าของโรงเรียนหลายคนกลับมาร่วมคารวะสถานที่และครูซึ่งเป็นเสมือนพ่อแม่ผู้ให้ชีวิตใหม่แก่พวกเขาด้วย

นี้คือผลสำเร็จการศึกษาของพวกเขาที่เริ่มจากฐานติดลบในชีวิต กระทั่งยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง

ฐานติดลบในชีวิตคือ การ “ขาดความรัก” ที่ชีวิตของพวกเขาทุกคนเริ่มจากตรงนี้

โรงเรียนหมู่บ้านเด็กได้ “เติมเต็ม” ให้พวกเขาจนกระทั่งรู้จัก “แบ่งปัน” ความรักให้กับผู้อื่นได้ด้วยแล้ว

คิดดูเถิดว่า ผู้ใหญ่และคุณครูพี่เลี้ยง โดยเฉพาะ “แม่แอ๊ว” ต้องใช้ความรักมากเท่าไรที่จะให้กับเด็กๆ เหล่านี้

นี่ไม่ใช่ความรักทั่วไป แต่นี่คือความรักของ “แม่”

โลกกำลังขาดแคลนและโหยหา “ความรักของแม่”

หนังจบแล้วเชิญผู้เกี่ยวข้องให้สัมภาษณ์และแสดงความรู้สึกบนเวที ซึ่งรวมทั้ง “แม่แอ๊ว” ด้วย อยู่ๆ ก็มีเด็กผู้ชายตัวน้อยเพิ่งจะเดินได้ กึ่งเดินกึ่งวิ่งขึ้นไปบนเวที เข้าไปหา “แม่แอ๊ว” ให้เธอต้องอุ้มส่งให้พี่เลี้ยงไป

เด็กตัวน้อยคนนี้ชื่อ “เข้ม” เป็นเด็กถูกคลอดทิ้งที่เมืองกาญจน์ เป็นข่าวเมื่อปีที่แล้ว นำฝากให้หมู่บ้านเด็กเลี้ยงดูจนติดแม่แอ๊ว ซึ่งแม่แอ๊วก็ติด “เข้ม” ด้วย

ไม่ยอมคลาดกันเลย นี่ไง “แม่”

และนี่ไง “ลูก”

ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็อิ่มใจที่โลกนี้ยังมีสิ่งดีๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรม เป็นเรื่องจริง ชีวิตจริง ที่ไม่ได้ปรุงแต่งหรือเสกสร้างขึ้นเอง

มาร์วิน บลันต์ ผู้กำกับฯ และผู้สร้าง กล่าวถึงเมื่อแรกได้คิดจากเห็นมุมลบของเด็กเร่ร่อนจรจัดในกรุงเทพฯ ว่า เขาอยากจะทำงานที่นำเสนอเรื่องดีๆ จากประเทศไทยที่มีอีกเยอะที่คนต่างชาติไม่เคยรู้ เขาอยากให้คนมองประเทศไทยในมุมที่แตกต่างไปจากสื่อต่างชาติ ที่มักนำเสนอเรื่องราวของเมืองไทยในแง่ลบ เขากล่าวว่า

“โรงเรียนนี้สอนให้เด็กเชื่อมั่นในตัวเองว่าพวกเขามีทางเลือก ทุกปีในวันแม่ พวกเด็กที่ออกจากโรงเรียนไปแล้วจะกลับมาที่โรงเรียนแห่งนี้เพื่อมาหา “แม่แอ๊ว” ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ดังนั้น ผมจึงถ่ายทำสารคดี 24 ชั่วโมงทุกวันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ก่อนจะถึงวันแม่ เพื่อแสดงถึงวัฒนธรรมของคนไทย ซึ่งในปีที่ถ่ายทำนี้ก็เป็นปีที่หมู่บ้านเด็กมีอายุครบ 35 ปี”

เรื่องราวอันเป็นเสมือน “ต้นฉบับ” ของความดีในบ้านเรานั้นมีมากมาย แต่มันขาดการ “เล่าเรื่อง” และมุมมองของผู้มีตาและใจใฝ่เห็นเท่านั้น

หนังเรื่องนี้จึงเป็นอีกภาพลักษณ์หนึ่งของคนไทยและสังคมไทยให้โลกได้เห็นถึงความดีงามว่ามีอยู่จริงแม้ในมุมเล็กๆ แต่กว้างใหญ่ไพศาลนักในโลกไร้น้ำใจทุกวันนี้

ภาพลักษณ์ใหม่นี้ปรากฏแล้วจาก “ถ้ำทีมหมูป่า” และจากเรื่องราวของเด็กๆ

ในโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก

ลูกแม่

๐ ในมือแม่ มือครู ผู้ปกปัก

มีความรู้ ความรัก ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง

ในสายลม สายน้ำ…ในความจริง

เราทอดทิ้ง เด็กของเรา มากเท่าไร

ให้โลกรู้ แรงรัก จากจักรวาล

ให้ดอกไม้ สะพรั่งบาน…ธารน้ำไหล

ให้หัวใจ จริงจัง ทั้งหัวใจ

เด็กจะได้ เติมตน เป็นคนดี ฯ