ศิลปินแห่งชาติ สัญจร “พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จังหวัดเชียงราย”

เรียนตรงๆ ว่าหลายปีมานี้เบื่อและสิ้นหวังเป็นอย่างยิ่ง ไม่ต้องการให้มีคนขยันแต่บังเอิญปัญญาสุดจะนุ่มนิ่มมาเที่ยวปากไม่มีหูรูดพูดจาเหมือนเป็นการทวงบุญคุณอะไรต่อมิอะไรอยู่บ่อยๆ

คนขยันแต่โง่ส่วนมากในต่างชาติ ต่างบ้านต่างเมืองเขาจะผลักไสไล่ให้ไปอยู่ในสถานที่สงบๆ อันเหมาะสมมากกว่าจะมามีโอกาสเที่ยวชี้นำสังคม หรือเสนอหน้ามาทำงานรับใช้ส่วนรวม ควรจะไปอยู่ในที่อันควรจะอยู่ดีกว่า ไม่ต้องเที่ยวมาอวดยโสโชว์ฉลาด

อดทนรอวันเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นด้วยพลังของคนรุ่นใหม่และหัวใจของผู้คนที่ไม่ยอมเป็นทาสรับใช้ใคร ให้ช่วยกันลงโทษสั่งสอนคนหลงตัวเอง กับพวกสมุนที่เอาตัวรอดไปวันๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว

อาจต้องรอเพื่อให้เวลาจะนำพาความทุกข์ยากให้จางหาย ย่อมต้องมีพลังอันบริสุทธิ์ปรากฏขึ้นมาเพื่อช่วยผลักดันความชั่วร้ายให้หายไป เพราะอะไรๆ ที่เลวร้ายย่อมต้องถูกสั่งสอน ลงโทษ

กรุณาหยุดเอาเปรียบ กอบโกยน้อยลงเสียที

 

ได้บ่น ได้ระบายเพื่อคลายความอึดอัดลงบ้างเพียงแค่นี้ก็ยังดี แม้จะไม่เห็นแสงสว่างเพียงแค่ริบหรี่ต้องอดทนรอ

พูดถึงเรื่องราวของสิ่งที่ดีที่ควรจะต้องช่วยกันต่อยอด พยายามรักษา ช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้ เช่น ผลงานการสร้างสรรค์ศิลปะ และดูเหมือน “ศิลปะ” เท่านั้นที่ยังพอช่วยเยียวยาเพื่อบรรเทาความรู้สึกในยามทุกข์ยากมืดมนลงได้บ้าง

2 สัปดาห์ก่อนย้อนไปคิดถึงท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี ผู้ล่วงลับ เนื่องจากมันมีเรื่องสืบเนื่องมาจากจังหวัดเชียงราย เพราะท่านเป็นศิลปินอาวุโสอันทรงคุณค่าของเมืองนั้น

อย่างที่ทราบกันว่าเด็กๆ ทีมฟุตบอล ชื่อ “หมูป่าอะคาเดมี” ของอำเภอแม่สายเข้าไปเที่ยวจนติดอยู่ใน “ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน”

นอกจากจะระลึกนึกถึงแล้ว ความรู้สึกผูกพันก็ยังล่องลอยสู่ “บ้านดำ นางแล” ซึ่งได้เปลี่ยนเป็นเรียก “พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จังหวัดเชียงราย” สมบัติทางปัญญาของท่าน (พี่) ด้วยความห่วงใย

ถึงแม้จะมีทายาทคนเดียวมารับมรดกเพื่อสืบสานต่อก็ตาม แต่กลับมิได้ราบรื่นเหมือนดังภาพที่ปรากฏให้สังคมและผู้คนภายนอกอย่างที่เห็น

ความรู้สึกลึกๆ ของผู้คนในแวดวงสังคมศิลปะ สถาบันการศึกษาศิลปะ รวมทั้งผู้สนใจทั่วๆ ไปต่างเสียดายการจากไปของท่าน (พี่) ถวัลย์

พูดง่ายๆ ว่าอยากให้คนพิเศษอย่างนี้อยู่คู่กับวงการศิลปะของประเทศต่อไปอีกนานๆ

ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามธรรมชาติ ตามกฎแห่งกรรมของการเกิดแก่เจ็บตาย

 

เมื่อยังมีชีวิตอยู่หลังจากที่ได้สร้างความมั่นคงทางด้านฐานะด้วยความสามารถอันสูงจากผลงานศิลปะแต่เพียงอย่างเดียว จากนั้นก็เป็นผู้ตอบแทนแก่สังคมเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการศึกษาศิลปะรวมทั้งให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนของจังหวัดเชียงราย จนถึงนักศึกษาศิลปะของโรงเรียนเพาะช่าง คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นสถาบันเก่าที่ท่านศึกษาเล่าเรียนมา

เมื่อได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ ก็เสียสละเงินเดือนและทุนทรัพย์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวมให้การสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักศิลปะร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมตลอดมา

โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์บ้านดำ เชียงราย จะเปิดให้ใช้จัดกิจกรรมด้วยเรื่องของยุวศิลปิน และครูศิลป์ผู้สอนศิลปะเสมอๆ

เป็นสถานที่สร้างงานเพื่อคัดเลือกของนักศึกษาศิลปะก่อนจะต่อยอดด้วยการเดินทางไปศึกษาดูงานยังสหรัฐอเมริกา โดย “กมล ทัศนาญชลี” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (2540) เป็นจ้าของโครงการ และได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมมากว่า 10 ปีแล้ว

 

หลังจากเสียชีวิตอย่างรวดเร็วระหว่างเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่น ท่าน (พี่) ไม่ได้เตรียมตัวจัดการเรื่องของผู้ดูแลมรดกตกทอดทั้งทางด้านผลงานศิลปะอันทรงคุณค่า ซึ่งย่อมต้องมีราคาสูงมหาศาล รวมทั้งทรัพย์สินเงินทองที่ได้มาจากการสะสมนานปี

จึงได้เกิดปัญหาการแย่งชิงขึ้นถึงขนาดต้องมีการดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งมันไม่ควรจะเกิดขึ้นหากไม่มีคนโลภเข้ามาเกี่ยวข้องกับทายาทเพียงคนเดียวของท่าน

ท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี คุ้นเคยกับกมล ทัศนาญชลี ชอบเดินทางไปพักผ่อนและทำงานเขียนรูปยังบ้านพักในสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง ตามที่เคยบอกกล่าวเล่าขานแทบทุกครั้งเมื่อระลึกนึกถึงเขียนถึงเรื่องราวของท่านว่า นอกจากทำงานด้วยความสงบเนื่องจากกมลรู้ใจและเข้าใจความรู้สึกท่าน (พี่) จึงบริการด้วยการตระเตรียมทุกสิ่งอย่างสำหรับการวาดรูปไว้พร้อมสรรพ

เอาเป็นว่าอยากจะสะบัดฝีแปรงเวลาไหนย่อมได้ทันที

นอกกจากนั้นยังขับรถพาตระเวนเที่ยวหาซื้อหนังสัตว์ เขาสัตว์ เขี้ยว กะโหลก และ ฯลฯ บรรดาน้องๆ คนรอบๆ ตัวกมลซึ่งอยู่ที่บ้านสหรัฐ ต่างช่วยบริการดูแลเป็นอย่างดีเสมอมาระหว่างอยู่ที่บ้านในลอสแองเจลิส (Los Angeles)

ปรากฏว่าน้องๆ เหล่านั้นได้รับอภินันทนาการผลงานจากท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี ไว้เป็นสมบัติคนละชิ้น ก่อนนำออกจำหน่ายในราคาที่สามารถตั้งตัวได้ทีเดียวเมื่อท่านเสียชีวิตไปแล้ว

 

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งจัดกิจกรรม “ศิลปินแห่งชาติสัญจร” เพื่อถ่ายทอดงานศิลป์ โดยศิลปินแห่งชาติ มาอย่างต่อเนื่อง โดย “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาต่างๆ ก่อนจะสัญจรมาสู่ “พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จังหวัดเชียงราย” ระหว่างวันที่ 29-31 สิงหาคม 2561 ซึ่งก่อนเยือนเชียงรายได้สัญจรไป “แดนปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ จังหวัดบุรีรัมย์” ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์มาก่อน

นอกจากนั้นยังสัญจรไปสร้างงานยังจังหวัดปทุมธานี ภายใต้ชื่องานว่า “รักปทุมธานี 2” มาแล้วด้วย

การสัญจรครั้งนี้มีชื่อว่า “ศิลปินแห่งชาติ สืบศาสตร์ สานศิลป์ สร้างรัก ปรากฏรูป” ซึ่งเท่าที่ติดตาม คิดว่าเป็นการสัญจรครั้งแรกหลังจากท่าน (พี่) ถวัลย์เสียชีวิตลงตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.2557

กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึง “ดร.ถวัลย์ ดัชนี” [ปราชญ์วาดรูป “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาทัศนศิลป์ (2544)] และเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ทางด้านศิลปะ 3 สาขาคือ ทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ และศิลปะการแสดง แก่นักเรียน นักศึกษา เยาวชน ครู อาจารย์ และผู้สนใจงานศิลปะ

เป็นการสร้างแรงผลักดัน ความมุ่งมั่นสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะให้ดียิ่งขึ้น และมีโอกาสพัฒนาทักษะในการสร้างงานศิลปะของตนเองอย่างสม่ำเสมอ

 

“ศิลปินแห่งชาติ” และผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ เป็นวิทยากรจำนวนมากในหลายสาขา

เช่น สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรม ภาพพิมพ์ สื่อผสม และประติมากรรม มีกมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม+สื่อผสม) พ.ศ.2540, อาจารย์พิชัย นิรันต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ.2546, นายธงชัย รักปทุม ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ.2553, นาย สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ.2560, นายศราวุธ ดวงจำปา ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พ.ศ.2560

นางสาววนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ สาขาสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) พ.ศ.2546, นายวรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ถ่ายภาพ) พ.ศ.2552, นายเจริญ มาลาโรจน์ (มาลา คำจันทร์) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2556, นางชมัยภร บางคมบาง (ชมัยภร แสงกระจ่าง) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2557, นายพิบูลย์ศักดิ์ ลครพล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2560

นางบัวซอน ถนอมบุตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ขับซอ) พ.ศ.2555, นางบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ช่างฟ้อน) พ.ศ.2559, นางบุญศรี รัตนัง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านล้านนา) พ.ศ.2560

รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ นางวรรณี ชัชวาลทิพากร (ทรงคุณวุฒิด้านการถ่ายภาพ)

 

ขอเป็นประชาสัมพันธ์เผยแพร่กิจกรรมของ “ศิลปินแห่งชาติ” ที่มุ่งมั่นขยันขันแข็งริเริ่มทำโครงการต่างๆ ต่อเนื่องด้วยการสัญจรไปทั่วประเทศ

หวังว่าคงมีส่วนช่วยพลิกฟื้นปลุกอารมณ์ความรู้สึกรักผูกพันให้ผู้สืบสาน สืบทอด ได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อรักษาสมบัติทางความคิดของ “ถวัลย์ ดัชนี” ผู้เป็นบุพการี ผู้ก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จังหวัดเชียงราย”

เป็นสมบัติของ “คนเชียงราย คนไทย และของโลก”