ไต่ระดับ ความว่าง เรียนรู้โลก เข้าใจต่อโลก ไป “อยู่เหนือโลก”

หาก “เหลือบดู” กระบวนการแห่ง “สาม ก” นั้นก็คือ เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ ก็เหมือนกับเป็นเรื่องธรรมดาอย่างยิ่ง

เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ รับรู้ได้

เหมือนกับหาก “เหลือบดู” กระบวนการแห่ง ราคะ โทสะ โมหะ ก็มีน้อยคนอย่างยิ่งที่จะไม่เคยประสบมาด้วยตนเอง

ประสบมาในฐานะแห่ง “ปุถุชน”

ปุถุชนอย่างที่สำนวนชาวบ้านเรียกอย่างรวบรัดว่า “กิเลส” หนา น้อยปุถุชนนักที่ไม่รับรู้ในเรื่องของการกิน เรื่องของกามารมณ์ เรื่องของเกียรติ

เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ นี้ทุกคนล้วน “รู้”

ถามว่ารู้อย่าง “เข้าใจ” หรือไม่ ยังสงสัย เพราะจำนวนไม่น้อยเมื่อสัมผัสเข้ากับแต่ละ “ราคะ” ก็ยังจมดิ่งลงไปใน “โมหะ”

ยิ่งทำให้ที่ “รู้” มากด้วยความซับซ้อน

ความซับซ้อนนี้เองที่ดำรงอยู่ภายใน “โมหะ” กระนั้น แม้จะรู้มากยิ่งขึ้นว่าเป็น “ความหลง” แต่เนื่องจากสภาวะอันซับซ้อนนั้นเองยากที่จะถอนตัวออกมาได้อย่างง่ายดาย

ข้อเสนอให้ “เหลือบดู” จึงทรงความหมาย

ทรงความหมายเพราะว่าทำให้สามารถพินิจ พิจารณา ได้อย่างรอบด้านและสมบูรณ์ ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น

ต้องอ่าน ต้องทำความเข้าใจ

 

นักปรัชญาชาวจีนคนหนึ่งเขาเขียนไว้เป็นหนังสือจีนแปลเป็นไทยว่า “คำพูดคำเดียวเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วสำหรับเปิดเผยสัจธรรมทั้งหมด” Asingle word is sufficient to reveal the truth.

คำคำนี้คือคำว่า “ว่าง” พยางค์เดียว

ถ้าเอาไปคิดก็จะเห็นจริงที่สุดว่า “ว่างนี้” คือสัจธรรมทั้งหมด ไม่ว่าข้อไหนในพุทธศาสนา รวมอยู่ในคำว่า “ว่าง”

ถ้าผู้ใดมองดูโลกโดยความเป็นของว่างแล้วตัวตนย่อมไม่มี ของตนย่อมไม่มี

จิตใจไม่ได้แบกอะไรไว้-เป็น “จิตว่าง” จึงสบาย

มีคำพูดอย่างหนึ่งสำหรับบุคคลขั้นนี้ เมื่อจิตใจหรือบุคคลที่มีจิตใจสูงถึงขึ้นนี้แล้ว “ฉันไม่ได้เป็นโลก แต่โลกมันมาเป็นฉัน”

ฟังถูกหรือไม่ถูก เอาไปคิดเอาเอง

 

เรา-ฉัน หรือเราไม่ได้เป็นโลก โลกต่างหากมันมาเป็นฉัน โลกคำหลังหมายถึง คนโง่ ชาวโลก ปุถุชน มาสมมุติให้เป็นฉันขึ้นมา

สะเออะมาเป็นฉันทั้งๆ ที่ฉันไม่ได้เป็นโลก คือ ธรรมชาติเป็นของว่าง แต่คนโง่ไปเอาธรรมชาติมาเป็นตัวฉัน ของฉัน

นี่แหละผลที่สุดทำให้เรา “อยู่เหนือโลก”

ฉันไม่ได้เป็นโลก คือ ฉันอยู่เหนือโลก แต่คนโง่เหล่านั้นมาเอาฉันให้ไปเป็นโลก หรือโลกนั่นแหละมาเอาฉันให้ไปเป็นโลก

นี่คือความรู้สึกของ “พระอรหันต์” หรือผู้หลุดพ้นมองดูโลกโดยสายตาเห็นอย่างนั้น ฉะนั้นจึงเรียกว่า “อยู่เหนือโลก”

 

จงเข้าใจคำว่า “อยู่เหนือโลก” กันเสียบ้าง ไม่ต้องขึ้นเรือบินไปไหน ไม่ต้องหนีไปไหน อยู่อย่างนี้แหละ แต่ว่า “อยู่เหนือโลก” คือ จิตใจ “อยู่เหนือโลก”

และจงเข้าใจคำว่า “ว่าง” กันเสียบ้าง คำว่า “ว่าง” นี้ไม่ได้หมายความว่าไม่มีอะไรเลย แต่ยอมรับว่ามีหมดทุกอย่าง

ในธรรมชาติ 4 ประเภทนั้นมีหมดทุกอย่าง แต่โลก “ว่าง” เพราะไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวตน ของตน จิต “ว่าง” ก็เพราะว่าไม่ไปหลงโลกจนเกิด ราคะ โทสะ โมหะ ขึ้นมานี้เรียกว่า “จิตว่าง” โลกว่างก็ไม่มีตัวตน ของตน จิตว่างก็ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ

คำว่า “ว่าง” หมายความอย่างนี้

 

การเสนอประเด็น “อยู่เหนือโลก” เข้ามาของท่านพุทธทาสภิกขุอยู่ในจังหวะอันเหมาะสมและสอดรับกับกระบวนการบรรยายมาโดยตลอด เท่ากับเน้นอย่างหนักแน่นว่านี่เป็นเรื่อง “โลกุตระ”

การเน้นในประเด็น “ความว่าง” และ “จิตว่าง” เหมือนกับว่าท่านพุทธทาสภิกขุได้อิทธิพลมาจาก “มหายาน” เพราะนี่คือแนวทางที่ “ท่านนาคารชุน” เน้นอย่างต่อเนื่อง เพราะนี่คือแนวทางที่ “เว่ยหล่าง” นำมาเน้นอย่างหนักแน่นและจริงจัง

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เรื่องของความว่าง เรื่องของจิตว่างเป็นเรื่องของ “พุทธธรรม” มิได้หมายความว่าเป็นของมหายาน เพียงแต่ “หินยาน” ในชั้นหลังๆ ให้ความสนใจอย่างเบาบาง

การหยิบยกประเด็นว่าด้วย “สุญญตา” หรือ “ความว่าง” ของท่านพุทธทาสภิกขุจึงเท่ากับเป็นการแหวกเข้าไปในมหาปราการแห่งความเข้าใจผิด

งานนี้จึงยากลำบาก