วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/สู่ร่มกาสาวพัสตร์ อาบัติสังฆาทิเสส

วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

สู่ร่มกาสาวพัสตร์

อาบัติสังฆาทิเสส

เมื่อได้อ่านบทที่ว่าด้วยปาราชิกทั้ง 4 เหตุของผู้ที่เข้ามาสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ทำให้พระปานครุ่นคิดไปถึงความเข้มข้นที่ผู้บัญญัติข้อห้ามของภิกษุเฉพาะข้อต้องขาดจากการเป็นภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนา หาสังวาสมิได้
พระปานค้นหาความหมายของคำว่า “หาสังวาสมิได้” จึงทราบความหมายว่า กรรมที่ทำร่วมกับอุเทสที่สวดร่วมกัน ความมีสิกขาเสมอกัน นี้ชื่อว่าสังวาส สังวาสนั้นไม่มีกับภิกษุรูปนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้
การปาราชิกทั้ง 4 บท ใครที่ล่วงละเมิดไม่สามารถกลับเข้ามาอุปสมบทเป็นภิกษุในพุทธศาสนาได้อีกถึงที่สุดเป็นการล่วงรู้ได้ด้วยตัวเอง
ส่วนการต้องอาบัตินอกเหนือจาก 4 บทนี้ ยังคงความเป็นภิกษุต่อไป ตั้งแต่อาบัติสังฆาทิเสส ซึ่งเป็นอาบัติหนักไม่เพียงแต่ปลงอาบัติเท่านั้น ยังต้องอยู่กรรมหรืออยู่ปริวาส

มีคำอธิบายว่า วิธีการจะออกจากอาบัติสังฆาทิเสสต้องอาศัยสงฆ์ในกรรมเบื้องต้นและกรรมที่เหลือ เมื่อภิกษุต้องอาบัตินี้ต้องอยู่ปริวาสเท่าจำนวนวันที่ปกปิดอาบัติไว้ แล้วมาอยู่ “มานัต” (นับราตรี) อีก 6 ราตรี ทั้งสองขั้นตอนนี้ต้องอาศัยสงฆ์เป็นผู้ให้
ต่อจากนั้นจึงประชุมสงฆ์ไม่น้อยกว่า 20 วัน ทำพิธีสวดให้พ้นจากอาบัติสังฆาทิเสส
ขั้นตอนสุดท้ายนี้ชื่อว่าอัพภาน มีการสวดญัตติ 3 ครั้ง สวดอนุสาวนา 1 ครั้ง รวม 4 ครั้ง เรียกว่าจตุตถกรรมวาจา เมื่อจบครั้งที่ 3 ภิกษุผู้ทำความผิดนั้นจึงเป็นผู้บริสุทธิ์จากอาบัติ
อาบัติสังฆาทิเสส มี 13 สิกขาบท นับแต่สิกขาบทที่ 1 สุกกวิสัฏสิกขาบท คือ ปล่อยสุกกะ (อสุจิ) เป็นด้วยความจงใจ เว้นไว้แต่ฝัน เป็นสังฆาทิเสส
คำว่าปล่อยสุกกะ บ่งบอกว่าสุกกะหาได้เคลื่อนเอง แต่เคลื่อนด้วยความพยายามของภิกษุ เพราะถูกกามราคะครอบงำ หรือแกล้งปล่อยเพื่อความสนุกสนาน หรืออ้างว่าทำแล้วผ่อนคลาย เป็นไปด้วยความจงใจ แม้แต่การใช้ให้คนอื่นกระทำให้แก่ตน เป็นสังฆาทิเสส ยกเว้นเคลื่อนในขณะหลับฝัน
เฉพาะอาบัติร้ายแรงทั้งสองประการ คือปาราชิก และสังฆาทิเสส พระปานรู้ด้วยตัวเอง ว่าพุทธศาสนามุ่งหวังให้บุคคลที่เข้ามาบวชเป็นภิกษุแล้ว ต้องละจากกิเลสทั้งปวง โดยเฉพาะราคะอันเกี่ยวข้องกับเพศหญิงและอารมณ์ใคร่ ตั้งแต่เสพเมถุนมีการขยายความถึงการแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคว่า
เพื่อสำรอกราคะ เพื่อสร่างความเมา เพื่อดับความกระหาย เพื่อถอนอาลัย เพื่อตัดวัฏฏะ เพื่อความสิ้นตัณหา เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อดับทุกข์ เพื่อนิพพาน มิใช่หรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสบอกการละกาม การกำหนดรู้ความสำคัญในกาม การกำจัดความกระหายในกาม การเพิกถอนความตรึกในกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกามไว้โดยประการต่างๆ มิใช่หรือ
การกระทำของท่านนั้น มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว ให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวกจะกลายเป็นอื่นไป
พระพุทธเจ้าตำหนิผู้เสพเมถุนธรรมว่าเป็นโมฆบุรุษ เป็นเรื่องของชาวบ้านผู้ครองเรือน ไม่ใช่เรื่องของสมณะ ไม่ใช่เพียงแค่ผิดเฉพาะพระวินัยเท่านั้น ตายไปแล้วยังต้องตกอบายภูมิอีกด้วย

ศึกษาพระวินัยปิฎกเพียงบทแรกๆ พระปานพอรู้แล้วว่าพระที่บวชทำไมต้องศึกษาธรรม อย่างน้อยเมื่อบวชเป็นพระนวกะ คือพระบวชใหม่ในพรรษา ต้องศึกษาเรื่องของพุทธศาสนา ในหลักสูตรนักธรรมมีตั้งแต่นักธรรมตรี นักธรรมโท และนักธรรมเอก แม้เมื่อเป็นฆราวาสยังศึกษาได้ในโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์
ส่วนพระที่บวชหลายพรรษาแล้วไปเรียนให้ได้ชั้นการเปรียญตั้งแต่ 1 ประโยค คือการศึกษาเรียนรู้เรื่องของพระธรรมในพุทธศาสนาเป็นภาษาบาลี ทั้งคำอ่าน คำแปล และสามารถแต่งเรื่องเป็นภาษาบาลีได้
การคงไว้ซึ่งภาษาบาลี หรือมคธ ทำให้ธรรมในพุทธศาสนาคงอยู่ เพราะการแปลออกมาเป็นภาษาอื่น เช่น ภาษาไทย อาจแปลความหมายได้ไม่ตรงกับภาษาบาลี
การศึกษาเปรียญธรรมมีหลักสูตรตั้งแต่เปรียญธรรม 1 ประโยค เมื่อถึง 3 ประโยค ภิกษุรูปนั้นจะได้รับการเรียกหรือกล่าวขานว่า “มหา” ต่อจากนั้น ขึ้นไปอีกตั้งแต่ประโยค 4 ถึง 9 ประโยค ความเป็น “มหา” ยังคงเป็น “มหา” ไม่เปลี่ยนไปเป็นอื่น
ภิกษุที่มีตำแหน่งอื่นนำหน้า ตั้งแต่พระครู ถึงพระชั้นเจ้าคุณ ต้องได้รับการแต่งตั้งจากอาณาจักร คือตั้งแต่ชั้นพระ ชั้นราช ชั้นธรรม ชั้นพรหม ชั้นสมเด็จ ถึงพระสังฆราชนั้น เป็นไปตามการปฏิบัติหน้าที่รับใช้ทั้งพระศาสนาและพระมหากษัตริย์ เป็นการปกครองของคณะสงฆ์ที่ฝ่ายอาณาจักรจัดขึ้น
ดังที่มีคำกล่าวว่า “ยศช้าง ขุนนางพระ”

พระปานอยู่ในผ้าเหลืองมากว่า 3 เดือน รู้สึกว่าวินัยบางอย่างเริ่มหย่อนยานลงไปบ้าง ต้องพยายามเข้มงวดกับตัวเองให้มากกว่านี้ หลังจากศึกษาพระวินัยแล้ว ยิ่งเห็นว่าการเป็นภิกษุในพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องประพฤติปฏิบัติกันได้ง่ายๆ โดยเฉพาะพฤติกรรมที่ผ่านมาเมื่อครั้งเป็นฆราวาส ตั้งแต่เด็กกระทั่งหนุ่ม
ผ่านวิถีชีวิตของความเป็นหนุ่ม เป็นปุถุชน เป็นมนุษย์ มาหลายรูปแบบ เมื่อเข้ามาในวิถีของบรรพชิตที่ตั้งใจแต่แรกว่าจะศึกษาหาความรู้และปฏิบัติพระธรรมวินัยให้เคร่งครัด เมื่อเวลาผ่านไปสองสามเดือน ความคิดกับวิถีชีวิตเริ่มมีความขัดแย้งเกิดขึ้น
แต่เมื่อคิดถึงครั้งเป็นฆราวาส พระปานยังยึดถือศีล 5 เป็นแนวทางของชีวิตตามที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา ทั้งยังประคับประคองตัว ประคองใจ ไม่ให้ตกอยู่ในอบายทั้งปวง ด้วยการปฏิบัติสมาธิเป็นครั้งคราว
แต่ศีล 5 เป็นเพียงข้อมิให้ปฏิบัติเท่านั้น เพื่อความเป็น “คนดี” ของตัวเอง ของครอบครัว ของสังคม
เมื่อได้เปรียบเทียบระหว่างศีล 5 กับข้อละเมิดวินัยปาราชิก 4 เห็นว่า การบัญญัติศีล 5 ล้อกับปาราชิก 4 แล้ว ไม่ได้ผิดจากกันนัก เพียงแต่การประพฤติถือปฏิบัติตามศีล 5 ย่อมไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตัวเอง กระนั้น ศีลข้อ 5 สุราเมรยะ มัชฌปมาฯ เป็นข้อที่ไม่มีในพระวินัย
พระปานคิดว่า น่าจะเป็นเพราะศีลข้อ 5 ของคน ทำให้เกิดความประมาทนำไปสู่การละเมิดในศีล 4 ข้อ ดังตัวเองเคยประสบมาแล้วหลายครั้ง หลังจากเสพสุรา หากไม่เคยล่วงละเมิดจนถึงขั้นผิดกฎหมาย
ส่วนมีวินัย 4 ข้อของภิกษุคือปาราชิก เป็นเหตุร้ายแรงทำให้ขาดจากความเป็นภิกษุ ไม่สามารถกลับเข้ามาเป็นบรรพชิตได้อีก บทบัญญัติปาราชิกจึงเน้นหนักไปที่ศีล 4 ข้อคือ ไม่ฆ่ามนุษย์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงเมถุนกรรม และไม่อวดอุตริมนุสธรรม อันเป็นความผิดทางธรรม