เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : ทิพยธรรมาลัยของเชียงราย

ไปงานรับรางวัล “ถวัลย์ ดัชนี” ที่เชียงราย เมื่อวันที่ 27 กันยายน จัดเป็นปีแรก เจ้าภาพเขากำหนดให้ทุกวันที่ 27 กันยายนของทุกปีเป็น “วันถวัลย์ ดัชนี” เพราะ ถวัลย์ ดัชนี เกิดวันนี้ คือ 27 กันยายน พ.ศ.2482 ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.2557 (วันที่ 3 กันยายน) อายุครบ 75 ปีพอดี

รางวัลถวัลย์ ดัชนี ปีปฐมฤกษ์นี้ นอกจากผู้เขียนได้สาขาวรรณกรรมแล้ว มีดังนี้

สาขาจิตรกรรม คือ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

สาขาประติมากรรม คือ นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน

สาขาสถาปัตยกรรม คือ สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา

สาขาภาพพิมพ์ คือ พิษณุ ศุภนิมิตร

สาขาวัฒนธรรม มีสามท่านคือ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ปราจิน เอี่ยมลำเนา บุญชัย เบญจรงคกุล

สถานที่ประกาศและมอบรางวัล คือที่พิพิธภัณฑ์บ้านดำ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย ประสานงานโดยบุตรชายทายาทคนเดียวของถวัลย์ คือ ดอยธิเบศร์ ดัชนี ซึ่งเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์บ้านดำ

พิพิธภัณฑ์บ้านดำนี้ประกอบด้วยอาคารนับสิบหลัง อาคารประธานชื่อ อาคารมหาวิหาร ที่ใช้ในพิธีประกาศรางวัลวันนั้น

เคยให้นิยามสามแหล่งสำคัญของเชียงรายไว้เล่นๆ กับถวัลย์เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ด้วยความมักคุ้นว่า “เฉลิมสร้างสวรรค์ ถวัลย์สร้างนรก”

ต่อมาท่าน ว.วชิรเมธี ได้มาสร้างมหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ที่ไร่เชิญตะวัน จึงครบสามแหล่งสำคัญเข้ากันพอดี เป็น “เฉลิมสร้างสรรค์ ถวัลย์สร้างนรก แล้ววกขึ้นวอ”

วอ คือ ว.วชิรเมธี หรือท่านมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ป.ธ.9) ซึ่งได้รับรางวัลเป็นปฐมเช่นเดียวกับ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ในวันนั้นด้วย

ประโยคดังกล่าวผูกขึ้นเพื่อล้อเล่นว่า เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ผู้สร้างวัดร่องขุ่นสีขาวระยิบระยับราวแดนสุขาวดี นั่นคือสวรรค์ จึงว่า เฉลิมสร้างสวรรค์

ส่วนบ้านดำของถวัลย์ แสดงถึงพลังแห่งเขี้ยวเล็บงาของสรรพสัตว์ที่ทิ้งซากไว้บนแผ่นดินอันมืดดำดุจนรกนี้จึงว่าถวัลย์สร้างนรก เพื่อให้เป็นตรงข้ามกับแดนสวรรค์นั้น

ซึ่งสุดท้ายสำคัญสุดคือ พุทธธรรมวิถี อันเป็นภูมิที่ไปพ้นจากภพนรกและสวรรค์นั่นแล

บัดนี้ ขอนิยามสามแหล่งสำคัญของเชียงรายเสียใหม่ เพื่อแสดงถึงสาระสำคัญของคำที่เคยนิยามเล่นๆ ไว้นั้น เป็นดังนี้ คือ

มหาวิหารแห่งจิตวิญญาณ (พิพิธภัณฑ์บ้านดำ)

ทิพย์พิมานสุขาวดี (วัดร่องขุ่น)

เมธีมธุรธรรม (ไร่เชิญตะวัน)

มหาวิหารแห่งจิตวิญญาณ หรือบ้านดำของถวัลย์นี่แหละคือจิตวิญญาณ แท้จริงของ ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินผู้ทุ่มอุทิศจิตวิญญาณให้กับงานศิลปะ มิใช่เพียงรูปเขียนหรือจิตรกรรมเท่านั้น หากถวัลย์ได้ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดถึงแก่นสารอันเป็นสาระแท้จริงของชีวิตด้วย นั่นคือเนื้อหาที่ถวัลย์มุ่งสะท้อน

สรรพสัตว์เขี้ยวเล็บงาที่คงสถิตอยู่นี้คือ “พลัง” อันเป็นรูปธรรมที่สุด ซึ่งเหลือไว้ให้โลกเห็นถึงธรรมชาติแห่งวิถีชีวิตที่ต้องดำรงอยู่ด้วยการต่อสู้และสร้างสรรค์

ต่อสู้และสร้างสรรค์นี้คือ จิตวิญญาณเดิมแท้ของสรรพชีวิต

งานของ ถวัลย์ ดัชนี จึงมีลักษณะ “ขมังขมึง” ตรึงตาและตรึงใจ อันสถิตแล้ว ณ มหาวิหารแห่งจิตวิญญาณ

ต่างกับงานของเฉลิมชัย ณ วัดร่องขุ่น

ที่นิยามว่าเป็น “ทิพย์พิมานสุขาวดี” อัน “ระยิบระยับ” อร่ามอยู่กลางดินกลางฟ้า

ดังจะเชิญมวลมนุษย์ให้ค่อยก้าวค่อยเดินจากภพภูมิโลก สู่ภพภูมิแห่งแดนสุขาวดี

หรือแดนแห่งความสุขสะอาดและสว่าง

ไร่เชิญตะวัน ของ ท่าน ว.วชิรเมธี ดังนิยามว่าเป็น “เมธีมธุรธรรม” นั้นก็ปานประหนึ่งจะอธิบายว่ายังมีอีกภพภูมิที่อยู่เหนือภพภูมิมนุษย์ (โลก) ภพภูมิสวรรค์ (ความสุข)

นั้นคือ ภพภูมิ พุทธธรรม อันจะยังความสมบูรณ์แก่ชีวิตแท้จริง

เติมเต็มเป็นความสะอาด สว่าง สงบ

คือความหมายที่แท้ของคำว่า “พุทธะ” นั้นเอง

ไปเชียงราย เหนือสุดสยาม ถ้าไม่ไปยังสถานที่สำคัญสามแห่ง อันเป็นดั่งสามภพสามภูมิของชีวิตแล้ว ก็จะพลาดโอกาสพบกับสิ่งมีค่าสูงสุดที่มนุษย์พึงได้พบ ได้รู้ และได้เข้าใจ

อันเป็นดังทิพยธรรมาลัยของเชียงราย

น่าสนใจคือ ทั้งสามแห่งนี้ เกิดจากบารมีของบุคคลซึ่งเป็นปัจเจกล้วนๆ คือ ถวัลย์ ดัชนี เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และท่าน ว.วชิรเมธี

น่าสนใจคือ น่าศึกษาว่า ทั้งสามท่านนี้มีความพิเศษเหนือสามัญอย่างไร เช่น พื้นฐานชีวิต จิตสำนึก การพัฒนาจากความรู้สู่การปฏิบัติ กระทั่งพลังใดหรือที่สามารถแปรปัญญาสู่รูปธรรมดังหนึ่ง “ธรรมาลัย” สามภพสามภูมินี้ได้

ศิลปินและศิลปะเป็นอลังการของสังคม

นี่เป็นเรื่องที่ทุกคนพึงตระหนัก

โดยเฉพาะภาครัฐบาล

ถวัลย์ ดัชนี

๐ ปาดเส้น ปานสาย อสุนี

จับใจอินทรี

โผผงาดหยัดเหยียบเวหน

๐ เศกสิงห์ผยองหยัด บัดดล

แสยะเขี้ยวคำรณ

กางกรงเล็บขมวดขมังขมึง

๐ พนมพักตร์พุทธภาคอันพึง

ปสาทะสทึง

สเทิง ทิพยธาตุศรัทธา

๐ ส่ำสัตว์ขนัดคะนองคณนา

ถอดเขี้ยวเล็บงา

สลัดเขาเชื่องคลาย ถวายถวัลย์

๐ ปางถวัลย์ ดัชนี จักจรัล

ปรภพโบยบรร-

ลุล่วง กัปกัลป์ อมรรตัย

๐ ฝากภาพประดับภพอำไพ

ฝากนาม ฝากนัย

ถวัลย์ ดัชนี นิรันดร์ ฯ