สมุนไพรเพื่อสุขภาพ / โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง/อังกาบหนู สมุนไพรที่ใครๆ กำลังสนใจ

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ / โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

 

อังกาบหนู

สมุนไพรที่ใครๆ กำลังสนใจ

มูลนิธิสุขภาพไทยเคยนำความรู้เรื่องนี้นำเสนอให้ผู้อ่านไปแล้ว แต่รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งแชร์ในโซเชียลมีเดีย และข่าวออนไลน์มากมายกล่าวถึงสรรพคุณสมุนไพรชนิดหนึ่งมีชื่อว่า “อังกาบหนู”
โดยกล่าวว่า หมอพื้นบ้านซึ่งเป็นพระรูปหนึ่งได้นำสมุนไพรนี้ไปใช้กับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง จำนวน 13 ราย สามารถบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้
ต่อมาก็มีคนใจบุญหลายคนแจกพันธุ์อังกาบหนูกันทั่วเมือง จึงขอนำความรู้มาเสนอให้รู้จัก
และคงตอบคำถามคาใจถึงสรรพคุณที่กำลังเป็นกระแสได้บ้างอีกครั้งหนึ่ง

อังกาบหนู มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Porcupine flower มีชื่อวิทยาศาสตร์ Barleria prionitis L. มีชื่อท้องถิ่น ได้แก่ เขี้ยวแก้ว เขี้ยวเนื้อ อังกาบหนู (ภาคกลาง) มันไก่ (ภาคเหนือ) เป็นต้น
อังกาบหนูจัดว่าเป็นพืชต่างถิ่น หมายถึงถิ่นกำเนิดนอกประเทศไทยนั่นเอง
เป็นไม้พุ่มเตี้ย มีความสูงประมาณ 1-1.5 เมตร แตกกิ่งก้านจำนวนมาก มีลำต้นเกลี้ยง มีหนามยาวอยู่รอบข้อ หนามมีความยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร
มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบเรียวสอบจรดกับก้านใบ ที่ปลายมีติ่งแหลม ขอบใบมีขนแข็ง แผ่นใบมีขนสั้นนุ่มกระจายอยู่ด้านล่าง
ออกดอกเป็นช่อเป็นกระจุกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งมีกลีบดอก 5 กลีบ มีสีส้มหรือเหลืองผลเป็นแบบแคปซูล รูปไข่แกมรูปขอบขนาน
มักพบขึ้นหนาแน่นเป็นวัชพืชอยู่ตามธรรมชาติ เขาหินปูน ในที่แห้งแล้ง
พบได้ทั้งทางภาคใต้และภาคตะวันตกเฉียงใต้ของไทย และมีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในแอฟริกา ปากีสถาน อินเดีย พม่า มาเลเซีย รวมไปถึงภูมิภาคอินโดจีน

อังกาบหนู เป็นพืชสมุนไพรที่สำคัญชนิดหนึ่งที่ใช้ในตำรับยาอายุรเวทหลายตำรับ และใช้ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นของหลายประเทศ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่จะใช้ส่วนของใบในการปรุงยา
แต่ก็พบนำเอาส่วนอื่นๆ ของต้นมาปรุงยาเช่นกัน
เช่น ทั้งต้น ลำต้น รากและดอก เนื่องจากตามภูมิปัญญาดั้งเดิมมีการใช้ประโยชน์จากอังกาบหนูในหลากหลายรูปแบบและมีการศึกษาสมัยใหม่อยู่ด้วย จึงมีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้ทำการทบทวนการใช้และการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับอังกาบหนู (Sattya Narayan Talukdar, Md. Bokhtiar Rahman และ Sudip Paul ตีพิมพ์ใน Journal of Advances in Medical and Pharmaceutical Sciences 4(4) : 1-13, 2015, Article no.JAMPS.20551 ISSN : 2394-1111) นำมาสรุปให้ฟัง ดังนี้
ใบ ใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง ใช้รักษาหิด แผลต่างๆ โดยนำเอาใบมาบดพอกบริเวณที่เป็น ใช้แก้ไอและเป็นหวัดได้ด้วยโดยนำใบมาต้มดื่ม แก้หนองในหูโดยใช้น้ำคั้นจากใบหยอดใส่หู ถ้าแก้หวัดมีน้ำมูกไหลตลอดเวลาในเด็ก อาการระคายเคืองและกล้ามเนื้อแขน ขา อ่อนแรงฝีบุน้ำเหลืองต่อมต่างๆ ในร่างกาย บวมและเป็นหนอง ท้องมาน ปวดฟัน อาการทั้งหมดนี้ใช้น้ำคั้นจากใบให้กิน ไอกรนใช้ใบต้มดื่ม ใช้ลดไข้นำใบมาต้มกับน้ำผึ้งให้กินเป็นเวลา 7 วัน แก้ผิวด่างขาวนำใบแห้งไปเผาให้เป็นเถ้า นำไปผสมกับเนย ทาบริเวณที่เป็นด่างขาว ถุงหุ้มอัณฑะบวมและอาการปวดตามส่วนหลัง สะโพกและขาเพราะกดทับ sciatic nerve รักษาระบบทางเดินอาหารผิดปกติ ใช้ใบดองกับน้ำกิน ต้อที่เกิดในนัยน์ตาไม่ได้ระบุวิธีการใช้
การใช้ทั้งต้นเป็นยา ใช้ในการรักษาซีส (Cyst) ใช้ทั้งต้นสกัดเอาน้ำมันใช้ทาภายนอก ไอกรนใช้ทั้งต้น ทำให้แห้งต้มกิน เก๊าต์ใช้ทั้งต้นนำมาทำให้เป็นขี้ผึ้งใช้ทาภายนอก ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ เหงือกเป็นหนอง รำมะนาดให้ใช้ทั้งต้นต้มดื่มรักษา อาการหอบ หืด ใช้ทั้งต้นต้มผสมกับน้ำผึ้งกินแก้อาการ ทอลซิลอักเสบและปัสสาวะลำบากใช้ร่วมกับสมุนไพรตัวอื่นๆ ผมเป็นสีเทาใช้ทั้งต้นนำมาหุงให้ได้น้ำมัน นำมาทาผม
ลำต้น ใช้แก้น้ำคั่งในตับ ตับบวม นำน้ำบดจากลำต้นผสมนมวัวดื่ม ท้องมานนำเปลือกของลำต้นมาคั้นเอาน้ำดื่ม ราก ใช้ลดไข้ให้บดรากเป็นผงตากแห้งกิน เป็นหนองใช้ตำพอก ลดอาการไข้ที่เกิดจากไขข้ออักเสบบดรากผสมกับนมแพะกิน ดีซ่านไม่ได้ระบุวิธีการใช้ งูกัดให้นำส่วนของรากมาต้มดื่ม ไอกรนใช้เข้ากับยาสมุนไพรตัวอื่นๆ ถอนหนามตำให้ใช้น้ำคั้นนำไปใส่บริเวณที่หนามตำ หนามจะถูกดูดออกมา
ดอก ใช้ลดไข้ เนื่องจากการติดเชื้อไวรัส ไม่ได้ระบุวิธีการใช้
เมล็ด ใช้ลดอาการบวมน้ำ
ยอดอ่อน ใช้รักษาอาการหอบหืดโดยนำไปเข้ายากับสมุนไพรตัวอื่นๆ รักษาไอกรน นำไปทำให้แห้ง บดเป็นผง ทำเป็นลูกกลอนผสมกับน้ำผึ้งกิน

นอกจากนี้ในฤดูมรสุมชาวโอรังอัสลีในรัฐเประ ประเทศมาเลเซีย จะใช้ใบอังกาบหนูบดแล้วพอกบริเวณที่อักเสบ น้ำคั้นจากใบใช้ป้องกันเท้าเปื่อยและแตก สำหรับคนไทยสรรพคุณตามตำรายาไทย ราก ใช้แก้ ไข้ เปลือก ขับเสมหะ ขับเหงื่อ ใบ แก้ปวดฟัน แก้กลากเกลื้อน ป้องกันส้นเท้าแตก แก้หูอักเสบ ต้น รักษาไขข้ออักเสบ รักษากลากเกลื้อน แก้อาการบวมน้ำ ขับปัสสาวะ แก้ไข้
และถ้าดูจากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชศาสตร์พบว่า อังกาบหนูมีฤทธิ์ เช่น ฆ่าพยาธิ (Anti-helmintic Activity) ต้านการอักเสบจากโรคไขข้อ (Anti-arthritic Activity) ฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย (Antibacterial Activity) ฤทธิ์ในการต้านเบาหวาน (Antidiabetic Activity) ฤทธิ์ในการคุมกำเนิด (Antifertility Activity) ฤทธิ์ในการต้านเชื้อรา (Antifungal Activity) ฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory Activity) ฤทธิ์ต้านความเจ็บปวด (Anti-nociceptive Activity) ฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant and Free RadicalScavenging Activity) ฤทธิ์ในการด้านไวรัส (Antiviral Activity ฯลฯ เป็นต้น
แต่ข้อมูลทั้งหมดนี้ พบงานวิจัยเรื่องมะเร็งในหลอดทดลองเพียง 1 ชิ้นเท่านั้น จึงกล่าวได้ว่าไม่พบประสิทธิภาพของการต้านมะเร็ง (Anticancer Activity) อย่างไรก็ตามถ้าเราเห็นเป็นโอกาส จากประสบการณ์ผู้ใช้ ภูมิปัญญาดั้งเดิมและการใช้ของหลายประเทศ
หน่วยงานรัฐควรเร่งศึกษาวิจัยนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป