เศรษฐกิจ/เทรดวอร์รอบ 2-วิกฤตค่าเงินตุรกี ตลาดทุนครึ่งปีหลัง ฝุ่นตลบ!! เชื่อบทเรียนต้มยำกุ้ง ศก.ไทยเอาอยู่

เศรษฐกิจ

เทรดวอร์รอบ 2-วิกฤตค่าเงินตุรกี

ตลาดทุนครึ่งปีหลัง ฝุ่นตลบ!!

เชื่อบทเรียนต้มยำกุ้ง ศก.ไทยเอาอยู่

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาทางสภาพัฒน์ประกาศตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีไตรมาส 2/2561 ว่าขยายตัว 4.6%
ทำให้ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัวแล้วกว่า 4.8% และยังคงประมาณการจีดีพีปีนี้ไว้ที่ระดับ 4.2-4.7%
ซึ่งนอกจากเป็นข่าวดี ที่เรามีความหวังมาตลอดว่าเศรษฐกิจจะกระจายตัวลงไปยังคนส่วนใหญ่ของประเทศ
ปัจจัยการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังเป็นปัจจัยบวกที่หนุนให้ตลาดหุ้นในประเทศยืนอยู่ในแดนบวก และไม่ได้อยู่ในช่วงที่เสี่ยงจนเกินไป
โดยรักพงศ์ ไชยศุภรากุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มตลาดหุ้นว่า ดัชนีอาจจะมีการปรับฐานท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และวิกฤตค่าเงินตุรกี
แต่ปัจจัยภายในประเทศยังค่อนข้างดี ประกอบกับความชัดเจนทางการเมืองน่าจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยมองความเสี่ยงขาลงของดัชนีตลาดหุ้นในกรอบ 1,630-1,650 จุด
ทั้งนี้ ล่าสุดทางสหรัฐกับจีนส่งสัญญาณกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา จึงน่าจะช่วยประคองบรรยากาศการลงทุนของตลาดหุ้นไว้ได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบางวันหุ้นจะอยู่ในแดนบวก แต่นักวิเคราะห์ยังประเมินว่าช่วงนี้ตลาดยังผันผวน!

ตามที่วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด เน้นว่าตลาดหุ้นไทยยังคงมีปัจจัยกดดันจากปัญหาตุรกีแม้ส่งผลกระทบทางอ้อมกับเศรษฐกิจไทยแต่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเม็ดเงินจากต่างประเทศ (ฟันด์โฟลว์) ในตลาดหุ้นเกิดใหม่ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย และความกังวลต่อเศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอตัวลงจากมาตรการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐที่เริ่มมีผลบังคับใช้ 23 สิงหาคม 2561
การลงทุนในทองคำ ทางโกลเบล็กประเมินว่า นักลงทุนจะคลายความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตค่าเงินตุรกีหลังมีความช่วยเหลือทางการเงินจากหลายประเทศ ประกอบกับสถานการณ์สงครามการค้าที่มีแนวโน้มว่าจะมีการเจรจากันได้ จะทำให้เกิดการขายทำกำไรในเงินสกุลดอลลาร์ ค่าเงินสกุลหลักจึงกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้มีแรงซื้อกลับในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงและโภคภัณฑ์ที่ถูกขายลงมาในช่วงก่อนหน้า
ขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะสะวิงในกรอบเดิมระหว่าง 33.10-33.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากความผันผวนการดึงเงินกลับของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการไหลเข้าพักของเงินทุนที่เชื่อมั่นว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการเงินของไทยมีความแข็งแกร่งกว่าประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่
ด้านผู้ค้าทองคำ อย่างบริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด รายงานว่า การเจรจาการค้าระดับเจ้าหน้าที่ระหว่างสหรัฐกับจีน ก่อนที่จะเก็บภาษีรอบใหม่ จะถูกใช้เป็นปัจจัยชี้นำดัชนีดอลลาร์และราคาทองคำ โดยหากการเจรจาสามารถลดความขัดแย้งทางการค้าลงได้ ดอลลาร์สหรัฐก็จะอ่อนค่าลงและราคาทองคํามีโอกาสขยับขึ้นได้ ภายหลังราคาทองคำปรับลงไปต่ำสุดในรอบ 2-3 ปี ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยราคาทองคำเคลื่อนไหวบาทละ 18,500-18,600 จากปัจจัยตลาดดอลลาร์ที่มีความน่าสนใจกว่า

สําหรับความกังวลของนักลงทุนในเรื่องวิกฤตค่าเงินตุรกี อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย อธิบายถึงที่มาที่ไปว่า วิกฤตการเงินตุรกีที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด
บทวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์ บริษัทให้บริการทางการเงินระดับโลกเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ได้ระบุถึงสกุลเงิน 5 ประเทศที่มีความเปราะบางทางการเงิน ได้รับผลกระทบจากการถอนการใช้นโยบายทางการเงิน (คิวอี) ของสหรัฐ ประกอบด้วย บราซิล ตุรกี อินโดนีเซีย อินเดียและแอฟริกาใต้
เพราะฉะนั้น ประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่มีโครงสร้างทางการเงินระหว่างประเทศไม่แข็งแรง ย่อมต้องระวังในช่วงนี้ เพราะปัจจัยการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะยิ่งทำให้ตลาดดอลลาร์สหรัฐเนื้อหอมมากขึ้น
เห็นได้ชัดว่าผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวรุ่น 10 ปี (บอนด์ยีลด์) สหรัฐทะลุ 3% ถึง 2 รอบด้วยกันในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ตลาดดอลลาร์สหรัฐจึงเป็นแหล่งลงทุนที่มีความปลอดภัยสูงของนักลงทุน (เซฟเฮฟเว่น)
เมื่อถามนักวิชาการ สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง ถึงสาเหตุที่ทำให้ตุรกีได้รับผลกระทบหลัก หลังโดนสหรัฐเล่นงานโดยการประกาศเก็บภาษีสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว ว่า เป็นเพราะตุรกีมีโครงสร้างการเงินที่เปราะบาง คล้ายกับประเทศเกิดใหม่หลายๆ ประเทศ โดยตั้งข้อสังเกตไว้ 5 ข้อ ดังนี้ ปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัด หนี้ต่างประเทศ หนี้สาธารณะ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน
โดยชี้ต่อว่า ปัญหาเหล่านี้มักจะพบในประเทศอาร์เจนตินา แอฟริกา เม็กซิโก อินโดนีเซีย และอินเดีย
ส่วนประเทศไทยเองมั่นใจได้ว่าโครงสร้างทางการเงินเรายังแข็งแกร่ง สามารถต่อสู้กับความผันผวนภายนอกประเทศได้ เป็นบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ทำให้โครงสร้างทางการเงินของประเทศปัจจุบันอยู่ในระดับที่ไม่น่าห่วง
อีกทั้งมองถึงความผันผวนในตลาดหุ้นปี 2561 ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยนักการเงินให้ความเห็นตรงกันว่า สาเหตุที่ทรัมป์หันมาเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก จากข้อพิพาทการไม่ยอมปล่อยตัวบาทหลวงชาวอเมริกันนั้น เพราะต้องการเอาใจฐานเสียงชาวอเมริกันที่จะมีการเลือกตั้งกลางเทอม ช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ได้สมาชิกจากทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน
ก็ต้องรอดูหลังเลือกตั้งผ่านไปแล้ว ว่าเหตุการณ์ต่างๆ จะสงบขึ้นหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ความผันผวนที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้เศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งปีหลังขยายตัวช้ากว่า

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) เชื่อว่าช่วงหลังเดือนพฤศจิกายน 2561 ท่าทีของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐจะผ่อนคลายขึ้น ส่วนผลจากการขึ้นภาษีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ผ่านมามีข้อพิสูจน์แล้วว่าการแข่งการขึ้นภาษีเป็นผลเสียกับทุกฝ่าย เช่น ประเทศนั้นๆ เกิดปัญหาเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงเกินไป เป็นผลมาจากการขึ้นภาษี เพราะฉะนั้น จึงประเมินว่าสถานการณ์ดังกล่าว จะจบที่การเจรจาของทั้ง 2 ประเทศ
ระบุอีกว่า เมื่อปัญหาคลี่คลายหรือฝุ่นหายตลบ เชื่อว่าเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) จะไหลเข้าตลาดหุ้นมากขึ้น และประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตค่าเงินตุรกี หรือมีความเสี่ยงเกิดขึ้นเช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากสถานะการเงินของประเทศยังอยู่ในระดับสูง
เพราะฉะนั้น แม้ว่าภาพรวมจะไม่น่าห่วง แต่ความผันผวนที่มาเป็นระลอกๆ นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ที่ดัชนีตลาดหุ้นขึ้นไปทำสถิติสูงสุดในรอบ 43 ปี ตั้งแต่ตลาดหุ้นเปิดทำการ ก่อนจะทยอยปรับลดลงและยังขึ้นไปยืนที่ระดับ 1,700 จุด ไม่ได้ในปัจจุบัน แม้ว่ามูลค่าหุ้นหรือระดับพี/อี ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจก็ตาม แต่มีเสียงบ่นจากนักวิเคราะห์ว่า “ช่วงนี้คาดเดาอะไรไม่ได้ ตลาดเป็นอะไรไม่รู้”
ขอย้ำอีกครั้ง…นักลงทุนจึงต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน เพราะช่วงนี้เสี่ยงผันผวนสูง