พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร ตอนที่ 7 : “ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519”

การจากไปของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชรเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมจึงขอพักเรื่องอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ไว้ก่อน และขออุทิศข้อเขียนนี้เพื่อไว้อาลัยต่อการจากไปของท่าน พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร

โดยเรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ที่ผมได้รับความกรุณาจากท่านเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งปีก่อนที่ท่านจะจากไป

คราวที่แล้ว จบลงที่ท่านอาจารย์วสิษฐได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการศึกษาพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งท่านอาจารย์วสิษฐได้กล่าวว่า

“คือที่ถูกที่สุดก็คืออย่าแปล รับสั่งว่าอย่างไรก็ต้องอย่างนั้น ถ้าแปลแล้วอาจจะถูกก็ได้ อาจจะผิดก็ได้”

 

ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่พวกเราถามท่านอาจารย์วสิษฐคือ ความเป็นกลางทางการเมือง “ที่อาจารย์บอกว่าพระองค์ท่านพยายามวางพระองค์เป็นกลางทางการเมือง มีครั้งไหนที่พระองค์ท่านรับสั่งมาตรงๆ ไหมครับว่าพระองค์ท่านต้องพยายามวางพระองค์เป็นกลาง”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “หลายหนเลย และพระองค์ท่านไม่ได้รับสั่งเป็นการส่วนพระองค์ด้วยว่าต้องวางพระองค์เป็นกลาง”

พวกเรา “ตอนที่พระองค์ท่านมีพระราชดำรัสกับอาจารย์ มันมีประเด็นอะไรอยู่หรือครับ พระองค์ท่านถึงได้ตรัสเรื่องนี้ออกมา มีบริบทสภาวะแวดล้อม หรือปัญหาอะไรไหมครับ?”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “ผมจำไม่ได้ แต่ว่าพระองค์ท่านรับสั่งหลายหน แล้วก็เป็นช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองไม่ปรกติทางการเมือง รับสั่งไม่ใช่กับผมคนเดียวนะ แต่มีคนใกล้ชิดอีกหลายคน พระเจ้าอยู่หัวเวลารับสั่ง ถ้าเราอยู่กันหลายๆ คน เหมือนกับพระองค์ท่านตั้งโรงเรียนสอนนะ”

พวกเรา “ตอน 6 ตุลา จากที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา แล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเยอะมาก และนักศึกษาปัญญาชนจำนวนหนึ่งก็เข้าป่าไปรวมกับคอมมิวนิสต์ ตอนนั้นพระองค์ท่านมีรับสั่งอะไรไหมครับ เพรามันน่าจะเป็นอะไรบางอย่างซึ่งมัน…”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “ผมไม่ได้ยินเลย เพราะสถานการณ์ตอน 6 ตุลามันต่างกับ 14 ตุลานะครับ”

พวกเรา “แล้วตอน 6 ตุลา พอเกิดเหตุที่ฆ่ากันที่สนามหลวง ตัวอาจารย์รู้สึกอย่างไรครับ คาดการณ์ได้ว่ามันจะต้องเกิดขึ้นแบบนั้นหรือว่า…”

ท่านวสิษฐ : “เปล่า ผมไม่ได้คาดการณ์เลยว่ามันจะเกิดขึ้นแบบนั้น ไม่คิดว่ามันจะรุนแรงถึงแบบนั้น ว่าตำรวจของผมนี่จะเอาปืนยิงเข้าไปในธรรมศาสตร์ ไม่นึกว่ามันจะรุนแรงแบบนั้น”

พวกเรา “แล้วอาจารย์ได้กราบทูลอะไรพระองค์ท่านบ้าง…”

ท่านวสิษฐ : “ไม่ไม่ ไม่ได้รับสั่งถาม แล้วก็ตอนนั้นไม่เหมือนกับ 14 ตุลา เพราะตอนนั้นผมห่างกับนักศึกษาแล้ว ตอน 14 ตุลาหลังจากตั้งรัฐบาลอาจารย์สัญญาแล้ว พระองค์ท่านให้ผมเป็นนายตำรวจติดต่อระหว่างรัฐบาล และก็ระหว่างนักศึกษากับในวัง เพราะฉะนั้น ผมมีหน้าที่กราบบังคมทูลความเป็นไปเกี่ยวกับนักศึกษา เกี่ยวกับรัฐบาล แล้วบังเอิญตอนนั้นได้ประพันธ์พงศ์ช่วย (รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ตอนนั้นแกเป็นเลขาฯ อาจารย์สัญญา”

พวกเรา “เมื่ออาจารย์ไม่ได้คาดการณ์ว่ามันจะรุนแรงแบบนั้นแล้ว อาจารย์รู้สึกว่าเขาทำเกินเหตุไหมครับ”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “ใช่ๆ ผมไม่นึกว่ามันจะขนาดนั้น แต่ตอนนั้นผมไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องแล้ว แล้วก็ถึงจะเป็นนายตำรวจราชสำนักก็จะไปอ้างพระราชกระแสไม่ได้ ผมจะต้องตามรอยพระยุคลบาทคือวางตัวเป็นกลาง”

“มีคนพยายามจะให้ผมกราบบังคมทูล แต่ผมบอกไม่เอา ผมทำไม่ได้”

 

พวกเรา “แล้วกับลูกเสือชาวบ้าน ในหลวงท่านมี… พระองค์ท่านเป็นคนสร้าง หรือให้กำลังใจลูกเสือชาวบ้าน”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : พระองค์ท่านให้กำลังใจมากกว่า พระองค์ท่านไม่ได้สร้าง คนสร้างก็คือตำรวจตระเวนชายแดน แต่คนที่เป็นต้นคิดหัวเรี่ยวหัวแรงจริงๆ ก็คือคุณสมควร หริกุล รู้สึกยศสุดท้ายคือพลตำรวจโท ส่วนคุณเจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน เป็นผู้ใหญ่กว่าเท่านั้นเอง แต่ต้นคิดจริงๆ คนทำงานจริงๆ คือคุณสมควร แล้วก็ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรด และที่ต้องเสด็จพระราชทานธงประจำเกือบทุกรุ่น ก็เพราะทรงเห็นว่าการที่ชาวบ้านช่วยกันผนึกกำลังกันเข้ามาทำให้บ้านให้เมืองนี่มันดีกว่าต่างคนต่างทำ และก็ปฏิญญาของลูกเสือก็รู้ใช่ไหมว่า ที่สำคัญคือทำประโยชน์ให้กับบ้านเมือง พระองค์ท่านจึงสนับสนุน”

พวกเรา “พระองค์ท่านก็ทรงทราบใช่ไหมครับว่า ลูกเสือชาวบ้านนี่ค่อนข้างจะขวาจัด?”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “ตอนหลังมันขวาจัด แล้วลงท้ายก็หมดสภาพ เดี๋ยวนี้ไม่มีใครรู้จักแล้ว คือมันไม่มีคนรักษาอุดมการณ์ของลูกเสือ “เดี๋ยวนี้มีหน้าที่รับเสด็จ”

 

พวกเรา “ในหลวงท่านมีที่ปรึกษาทางการเมืองไหมครับ?”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “ก็คือองคมนตรีไงครับ องคมนตรีนั่นแหละที่ปรึกษาคณะเดียวของพระองค์ท่าน แล้วพระองค์ท่านปรึกษากันว่ายังไงบ้างนั้นไม่ใช่หน้าที่ผม ผมไม่รู้”

พวกเรา “แล้วมีองคมนตรีบางท่านอย่างเช่นเมื่อสักครู่อาจารย์พูดถึงท่านวุฒิ สุมิตร”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “อันนั้นท่านเป็นรองราชเลขาธิการ”

พวกเรา “เข้าใจว่าอาจารย์เพิ่งเขียนคอลัมน์ให้อาจารย์วุฒิว่าเป็น “ทองอีกแผ่นหนึ่งบนหลังพระ” เลยอยากถามว่าอาจารย์พอจะยกตัวอย่างอื่นๆ นอกจากอาจารย์วุฒิได้อีกไหมครับ?”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “ก็คงจะมีทั้งแผ่นเล็กแผ่นใหญ่ แต่ที่ผมคุ้นที่สุดก็คืออาจารย์วุฒิ สุมิตร แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการด้วย เพราะมีอีกหลายคนที่ทำอะไรถวายอยู่”

พวกเรา “เดี๋ยวขอออกนอกเรื่องนิดนึงนะครับ บทความล่าสุดของอาจารย์ในมติชนเรื่องตำรวจ ตกลงอาจารย์คิดว่ามันก็คงไม่มีการทำอะไรได้จริงจังภายใต้รัฐบาลคุณประยุทธ์?”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “ผมไม่เชื่อว่ารัฐบาลนี้จะทำอะไรได้เกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปตำรวจ เพราะคุณประยุทธ์แกเกรงใจ…”

พวกเรา “ถ้ารัฐบาลนี้ทำไม่ได้ ก็คงไม่มีรัฐบาลไหนแล้วละครับที่จะทำได้ ใช่ไหมครับ?”

ท่านอาจารย์วสิษฐ : “ผมก็หมดอาลัยแล้ว… ลงท้ายผมกลัวจะเกิดการรัฐประหารอีก ล้มคุณ… (ขอสงวนนาม/คณะผู้ถาม) เพราะตอนนี้แกเป็นตัวปัญหานะเวลานี้ เพราะคุณประยุทธ์แกไม่กล้าทำอะไร ไอ้รุ่นพี่รุ่นน้องนี่ไม่ไหวเลย เมืองไทยจะพังก็เพราไอ้รุ่น… อาจารย์ก็รู้ว่าเรื่องตำรวจเวลานี้ ใครใช้ใคร ใช้…ของตัวเอง…”