จักรวรรดิในกำแพง : ใต้หล้ารวมกันแล้วแยกกัน ตอนที่ 3

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สถานการณ์ก่อนฮั่นจะล่มสลาย (ต่อ)

ในระยะแรกของการศึกระหว่างทัพฮั่นกับทัพกบฏปรากฏว่า ทัพฮั่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่หลังจากนั้นไม่นานก็สามารถตีโต้กลับไปได้ และได้รับชัยชนะในหลายพื้นที่ ถึงตอนนี้แม้ทัพกบฏยังสามารถรักษาเมืองจี้ว์ลู่เอาไว้ได้ แต่ก็ถูกปิดล้อมโดยทัพที่มาจากทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น

การปิดล้อมเป็นไปนานหลายเดือน แต่ก็ไม่อาจตีทัพกบฏได้สำเร็จ ตราบจนจังเจ๋ว์ป่วยหนักและเสียชีวิตใน ค.ศ.184 (เป็นปีเดียวกับที่เขานำทัพกบฏลุกขึ้นสู้กับทัพฮั่น) ทัพฮั่นจึงเป็นฝ่ายชนะ แต่ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้นทัพกบฏก็ยังไม่ถึงกับล่มสลาย

ในขณะที่การกบฏยังไม่สงบอยู่นั้น ฮั่นหลิงตี้ได้สิ้นพระชนม์ลงใน ค.ศ.189 ผู้ก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดิแทนคือ ฮั่นเส้าตี้ เมื่อเป็นเช่นนี้มเหสีของฮั่นหลิงตี้จึงก้าวไปเป็นราชชนนี

ช่วงนี้เองการช่วงชิงการนำในราชสำนักก็เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อราชชนนีได้วางแผนร่วมกับขุนศึกเหอจิ้นที่เป็นญาติผู้พี่เพื่อกำจัดอิทธิพลของเหล่าขันที

 

เวลานั้นเหล่าขันทีที่มีอิทธิพลสูงมีอยู่สิบคนเรียกว่า พวกสิบจางวาง (สือฉังซื่อ) ซึ่งหมายถึง สิบขันทีที่รับใช้ใกล้ชิดฮั่นหลิงตี้ แล้วใช้ความใกล้ชิดนี้แอบอ้างอำนาจจักรพรรดิหรือไม่ก็โดยความเห็นชอบของจักรพรรดิ

แผนกำจัดพวกสิบจางวางของเหอจิ้นเป็นไปโดยให้ขุนศึกชื่อ หยวนเส้า (มรณะ ค.ศ.202) นำกำลังทหารเข้ามากวาดล้าง พร้อมกันนั้นก็ให้ขุนศึกคนหนึ่งที่อยู่ในทัพส่วนท้องถิ่นชื่อ ต่งจว๋อ (มรณะ ค.ศ.192) กลับจากชายแดนมาร่วมด้วย

แต่ปรากฏว่าแผนนี้กลับรั่วไหลไปถึงหูของพวกสิบจางวาง โดยไม่รอให้ตนเป็นฝ่ายถูกกระทำพวกสิบจางวางจึงชิงเป็นฝ่ายกระทำเสียเอง พวกสิบจางวางได้วางแผนล่อลวงให้เหอจิ้นมาติดกับของตนแล้วลงมือสังหาร

ส่วนหยวนเส้าครั้นรู้ข่าวเหอจิ้นถูกลวงไปฆ่าจึงไม่รอช้า รีบนำกำลังบุกเข้าวังหลวงแล้วไล่ฆ่าพวกสิบจางวางพร้อมบริวารขันทีอื่นๆ พวกสิบจางวางและบริวารขันทีถูกฆ่าตายไปราว 2,000 คนจนวังหลวงนองไปด้วยเลือด เมื่อกำจัดเป็นที่เรียบร้อยแล้วกองกำลังของต่งจว๋อก็มาถึงลว่อหยัง จากนั้นต่งจว๋อก็เข้าควบคุมสถานการณ์ในเมืองหลวงเอาไว้

การเข้าควบคุมสถานการณ์ของต่งจว๋อดูไปแล้วน่าจะเป็นเรื่องที่ดี ด้วยอย่างน้อยก็ทำให้การใช้อำนาจแทนจักรพรรดิไปในทางที่ผิดๆ ของขันทีหมดไป

 

แต่การณ์กลับปรากฏว่า พลันที่ควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ ต่งจว๋อก็ปลดฮั่นเส้าตี้ออกจากการเป็นจักรพรรดิ แล้วก็ยกฮั่นเสี้ยนตี้ (ครองราชย์ ค.ศ.189-220) ขึ้นมาเป็นจักรพรรดิแทน ส่วนฮั่นเส้าตี้นั้นมีบันทึกบางที่ระบุว่า ในปีถัดมาคือ ค.ศ.190 พระองค์ทรงถูกต่งจว๋อวางยาพิษจนสิ้นพระชนม์

เหตุการณ์นี้จึงเท่ากับว่า ต่งจว๋อได้ยึดอำนาจการปกครองไปแล้วในทางพฤตินัย และใช้อำนาจแทนจักรพรรดิดังเช่นกลุ่มอื่นๆ ที่ผ่านมา จะต่างก็ตรงที่ว่า คราวนี้ผู้ใช้อำนาจแทนจักรพรรดิเป็นขุนศึก มิใช่เครือญาติของจักรพรรดิหรือขันทีดังก่อนหน้านี้

พฤติกรรมของต่งจว๋อจึงยังความไม่พอใจให้แก่เหล่าเสนามาตย์จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีทั้งที่ยังจงรักภักดีต่อฮั่นและที่อยากจะได้อำนาจดังเช่นต่งจว๋อ

 

ส่วนกบฏโพกผ้าเหลืองหลังจากที่จางเจ๋ว์เสียชีวิตใน ค.ศ.184 ไปแล้ว ในปีถัดมาคือ ค.ศ.185 ก็ลุกขึ้นสู้ได้อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้กบฏได้ไปตั้งมั่นอยู่ที่เทือกเขาไท่หัง (ไท่หังซัน) ซึ่งในปัจจุบันคือบริเวณชายแดนด้านตะวันตกของเหอเป่ย

พอถึง ค.ศ.186 ก็ขยายไปถึงสั่นซี เหอเป่ย และเหลียวหนิง และ ค.ศ.188 ก็เคลื่อนไปที่ซันซี โดยกองกำลังอีกส่วนหนึ่งยังสามารถตั้งมั่นอยู่ที่ซื่อชวนเพิ่มขึ้นอีก

ที่สำคัญ กองกำลังพื้นที่ต่างๆ นี้มิอาจติดต่อประสานกันได้จนทำให้ขาดความเป็นปึกแผ่น และต่างต่อสู้กับทัพฮั่นไปตามลำพังจนอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ

ถึงกระนั้นก็ตามที กบฏโพกผ้าเหลืองก็ยังคงยืนหยัดอยู่ได้อีกหลายปี โดยนับแต่ ค.ศ.192 ทัพของเฉาเชาได้นำความพ่ายแพ้ให้แก่ทัพกบฏครั้งแล้วครั้งเล่า ตราบจน ค.ศ.205 กบฏจึงถูกปราบปรามลงอย่างราบคาบ ทิ้งไว้แต่การศึกระหว่างขุนศึกที่ต่างตั้งตนเป็นใหญ่ต่อไป

 

เรื่องราวอันเกี่ยวแก่กบฏทั้งสองขบวนการจากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า กบฏทั้งสองได้เกิดขึ้นและจบลงในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน และเป็นกบฏที่สร้างความเสียหายให้แก่ราชวงศ์ฮั่นอย่างหนัก โดยเฉพาะกบฏโพกผ้าเหลืองได้ทำให้ฮั่นต้องสูญเสียทรัพยากรไปอย่างมากมาย จนทำให้ฮั่นที่อ่อนแออยู่แล้วยิ่งอ่อนแอลง

และเมื่อถูกสำทับด้วยความขัดแย้งในราชสำนักด้วยแล้ว ก็ยิ่งตอกย้ำให้ความอ่อนแอนั้นหนักหนาสาหัสลงไปอีก

อย่างไรก็ตาม ผลที่ตามมาประการหนึ่งจากการกบฏที่เกิดขึ้นก็คือ การเข้ามามีบทบาททางการเมืองของเหล่าขุนศึก ซึ่งหลังจากนี้ต่อไปจะมีขุนศึกอีกไม่น้อยที่มีบทบาทเช่นนี้ กรณีนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญ เพราะมันได้นำจีนไปสู่ยุคสมัยที่ขุนศึกทรงอำนาจประดุจราชวงศ์หนึ่ง

นักวิชาการจึงเรียกปรากฏการณ์ทางการเมืองในลักษณ์นี้ว่า ลัทธิราชเสนาวงศ์นิยม

 

ลัทธิราชเสนาวงศ์นิยม (Military Dynasticism) เป็นคำที่อธิบายหลักคิดที่ผู้ตั้งตนเป็นใหญ่นั้นล้วนมีภูมิหลังเป็นขุนศึกมาก่อน หรือไม่ก็มีความสามารถในการศึก เป้าหมายปลายทางของบุคคลเหล่านี้อยู่ตรงการตั้งราชวงศ์ขึ้นโดยมีตนเป็นจักรพรรดิ

ในแง่นี้ทำให้เห็นว่า ลัทธิราชเสนาวงศ์นิยมมีด้านหนึ่งที่เป็นลัทธิเสนานิยม (Militarism) อีกด้านหนึ่งก็ยึดถือหลักคิดโอรสแห่งสวรรค์ (the Son of Heaven) ในด้านหลังนี้ไม่จำเป็นที่ขุนศึกเหล่านี้จะต้องสมาทานหลักคิดของลัทธิขงจื่อ อันเป็นคุณสมบัติของบัณฑิตหรือผู้ปกครองที่ราชวงศ์ฮั่นได้ริเริ่มขึ้นมา

ขุนศึกเหล่านี้อาจสมาทานลัทธิอื่นหรือไม่สมาทานลัทธิใดเลยก็ได้ และด้วยเหตุที่การตั้งตนเป็นใหญ่เช่นนี้ของเหล่าขุนศึกเป็นกระแสหลักของการเมืองขณะนั้น พฤติกรรมร่วมที่ว่าจึงดูเป็นเอกลักษณ์ของขุนศึกเหล่านี้ไปด้วย (1)

และเป็นเสมือนนิยามของลัทธิราชเสนาวงศ์นิยมไปด้วย

 

บาทก้าวแรกของขุนศึก

ระหว่างที่ฮั่นสมัยหลังปราบปรามกบฏครั้งใหญ่อยู่นั้น มีขุนศึกบางคนที่มีผลงานดีได้รับการปูนบำเหน็จให้มีตำแหน่งที่สูงขึ้น ตำแหน่งหนึ่งที่สำคัญคือ ข้าหลวงผู้ตรวจการมณฑล

ที่ว่ามีความสำคัญก็เพราะผู้ที่ได้รับตำแหน่งนี้จะได้รับผลประโยชน์มากมาย และจากผลประโยชน์นี้ได้นำไปสู่การสร้างอิทธิพลทางการเมืองของขุนศึกเหล่านี้ จากนั้นก็ใช้อิทธิพลนี้มาขยายอำนาจให้แก่ตัวเองด้วยการตั้งตนเป็นใหญ่ในเวลาต่อมา เพื่อให้เข้าใจในตำแหน่งนี้ ในที่นี้จะได้กล่าวถึงที่มาของตำแหน่งนี้เป็นการเริ่มต้น

ตอนที่งานศึกษานี้ได้กล่าวถึงระบบการปกครองของฮั่นสมัยหลังนั้น ความตอนหนึ่งได้กล่าวเอาไว้ว่า ระบบการปกครองสำคัญก่อนหน้าฮั่นสมัยหลังคือ ระบบบริหารเขตอำเภอ (จวิ้น-เสี้ยน)

ครั้นมาถึงฮั่นสมัยหลังจึงได้ตั้งหน่วยปกครองใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งหน่วยคือ โจว แล้วเรียกรวมกับสองหน่วยแรกเป็น โจว-จวิ้น-เสี้ยน หรือระบบบริหารมณฑลเขตอำเภอ คือมีคำว่าโจว ที่มีความหมายโดยกว้างว่า มณฑล (2) แทรกเข้ามาในคำเรียกเดิม

โจวเป็นหน่วยปกครองหนึ่งที่มีมาตั้งแต่ยุคตำนานและในยุคต้นประวัติศาสตร์แล้ว ส่วนจะมีอยู่กี่หน่วยนั้นสุดแท้แต่ยุคสมัยที่มักมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่ในสมัยฮั่นจะมีหน่วยปกครองนี้อยู่ 13 หน่วย

โดยผู้ปกครองโจวจะเรียกว่า ข้าหลวงผู้ตรวจการ (inspector) ซึ่งจะทำหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณให้แก่จักรพรรดิ ว่าขุนนางระดับต่างๆ ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยดีหรือไม่ อย่างไร แล้วรายงานต่อจักรพรรดิทั้งเพื่อพิจารณาความดีความชอบหรือลงโทษ

และอาจมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของราษฎรในท้องถิ่นอีกด้วย

————————————————————————————————————————
(1) นิยามของคำว่า ลัทธิราชเสนาวงศ์นิยม (Military Dynasticism) ไม่ได้ถูกอธิบายตรงๆ แต่อธิบายผ่านพัฒนาการทางการเมืองตั้งแต่ปลายฮั่นสมัยหลังไปจนถึงเมื่อสิ้นสุดราชวงศ์ใต้-เหนือ โดยปมสำคัญของพัฒนาการนี้อยู่ที่ขุนศึกที่เป็นผู้เล่นหรือตัวละครที่มีบทบาทที่สำคัญ
(2) หน่วยปกครองระดับสูงสุดในปัจจุบันคือ มณฑล (province) หรือ เสิ่ง ส่วนโจวจะอยู่ในระดับรองลงมาจากมณฑลอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นเมืองเอกหรือเมืองใหญ่ของมณฑลนั้นๆ ก็ได้ การที่โจวเป็นหน่วยปกครองระดับสูงสุดในเวลานั้น อีกทั้งยังไม่มีการใช้คำว่าเสิ่งดังปัจจุบัน โจวจึงมีฐานะเทียบเท่ากับมณฑลในทุกวันนี้ และคงด้วยเหตุนี้นักประวัติศาสตร์จีนจึงใช้คำในภาษาอังกฤษว่า province ที่หมายถึงมณฑลในปัจจุบันมาเรียกแทนโจวในอดีต ซึ่งในที่นี้ก็จะใช้คำว่า “มณฑล” เพื่อให้หมายถึง “โจว” เช่นกัน