ตัดสิน “มอนซานโต” จ่ายชดเชย เหยื่อมะเร็งจาก “ราวด์อัพ”

กลายเป็นอีกคดีใหญ่ สำหรับคำตัดสินของคณะลูกขุนของศาลในนครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา

ที่มีคำสั่งออกมาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ให้มอนซานโต บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจการเกษตรจ่ายเงินค่าชดเชยจำนวน 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับนายเดอเวย์น จอห์นสัน อดีตผู้ดูแลสนามหญ้าของโรงเรียนแห่งหนึ่งที่กำลังจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เพราะยากำจัดวัชพืช “ราวด์อัพ” ของบริษัทมอนซานโต ซึ่งเป็นยากำจัดวัชพืชที่ได้รับความนิยมอย่างมากทั่วโลก

ถือเป็นคดีแรกจากอีกกว่า 800 คดี ทั้งในศาลของรัฐและรัฐบาลกลางที่ยื่นฟ้องมอนซานโต กล่าวหาว่า “ราวด์อัพ” ก่อให้เกิดมะเร็ง

และเหตุที่มีการนำคดีของจอห์นสันมาตัดสินก่อน เพราะนายจอห์นสันใกล้จะเสียชีวิตแล้ว

ทั้งนี้ คณะลูกขุนในศาลสูงแคลิฟอร์เนียเห็นพ้องกันว่าผลิตภัณฑ์ราวด์อัพของมอนซานโตส่งผลให้นายจอห์นสันป่วยเป็นมะเร็ง

พร้อมกับระบุด้วยว่าบริษัทมอนซานโตควรจะติดฉลากเตือนอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพที่อาจเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์นี้

 

รายงานข่าวระบุว่า นายทิโมธี ลิตเซนเบิร์ก ทนายความของนายจอห์นสันเรียกร้องค่าชดเชยในการเยียวยา 39 ล้านดอลลาร์ และได้รับ 250 ล้านดอลลาร์จากที่เรียกร้องไป 373 ล้านดอลลาร์เป็นค่าเสียหายในเชิงลงโทษ

โดยนายโรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี้ จูเนียร์ 1 ในทีมกฎหมายของนายจอห์นสันกล่าว “คณะลูกขุนพบว่ามอนซานโตมีพฤติการณ์ในเชิงมุ่งร้ายและบีบบังคับเพราะพวกเขารู้ว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำนั้นผิดและทำไปโดยสะเพร่า ไม่เอาใจใส่ต่อชีวิตมนุษย์ และนี่ควรจะเป็นการส่งสัญญาณไปยังบอร์ดบริหารของมอนซานโต”

ด้านนายเบรนต์ วิสเนอร์ หนึ่งในทนายความของนายจอห์นสันระบุด้วยว่า นายจอห์นสันใช้ราวด์อัพและเรนเจอร์โปรที่เป็นผลิตภัณฑ์ใกล้เคียงกันในการกำจัดวัชพืชที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในย่านซานฟรานซิสโกเบย์แอเรียราว 20-30 ครั้งต่อปี

โดยนายจอห์นสันได้อ่านฉลาก และยังได้ติดต่อบริษัทหลังจากมีผื่นขึ้นตามร่างกาย และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองน็อนฮอดจ์กินในปี 2557 ขณะมีอายุได้ 42 ปี

อย่างไรก็ตาม หลังการตัดสิน มอนซานโตยังคงปฏิเสธความเชื่อมโยงระหว่างไกลโฟเสต สารออกฤทธิ์ในราวด์อัพและมะเร็ง

โดยอ้างถึงผลวิจัยหลายร้อยชิ้นที่สรุปว่า ยากำจัดวัชพืช “ราวด์อัพ” ไม่ใช่ต้นเหตุของมะเร็ง

 

นายสก๊อตต์ พาร์ทริดจ์ รองประธานบริษัทมอนซานโต กล่าวว่า ทางบริษัทจะยื่นอุทธรณ์ โดยระบุว่าการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นและหน่วยงานของรัฐบาล 2 แห่งสรุปว่าราวด์อัพไม่ได้ก่อให้เกิดมะเร็ง

“เราเห็นอกเห็นใจต่อคุณจอห์นสันและครอบครัว” นายพาร์ทริดจ์กล่าว และว่า “แต่เราจะอุทธรณ์คำตัดสินนี้และเดินหน้าปกป้องผลิตภัณฑ์ของเราที่มีประวัติในการใช้ได้อย่างปลอดภัยมายาวนาน 40 ปีอย่างแรงกล้า และจะยังคงเป็นสิ่งสำคัญ มีประสิทธิผลและเป็นเครื่องมือที่ปลอดภัยสำหรับชาวนาและคนอื่นๆ ต่อไป”

ทั้งนี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2558 สำนักงานเพื่อการวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลก (ฮู) ระบุว่า สารที่ใช้ในราวด์อัพที่ชื่อไกลโฟเสต อาจจะเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ได้ และว่า สำหรับสารไกลโฟเสตในยาฆ่าพืชนั้น ยังมีหลักฐานที่มีอยู่อย่างจำกัดว่าทำให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดน็อนฮอดจ์กินในมนุษย์

ขณะที่สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐระบุว่า สารออกฤทธิ์ในราวด์อัพปลอดภัยสำหรับคนหากใช้งานสอดคล้องกับคำแนะนำที่ระบุไว้บนฉลาก

อย่างไรก็ตาม สำนักงานนานาชาติเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งในฝรั่งเศสซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์การอนามัยโลก (ฮู) จัดให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็น “สารที่อาจมีฤทธิ์ก่อมะเร็งในมนุษย์” เมื่อปี 2558

และทางการรัฐแคลิฟอร์เนียเพิ่มไกลโฟเสตเข้าไปในบัญชีสารเคมีที่รู้กันว่าก่อให้เกิดโรคมะเร็ง

 

ในส่วนตัวนายจอห์นสัน เปิดเผยหลังฟังคำตัดสินของคณะลูกขุนระหว่างการแถลงข่าวที่สำนักงานกฎหมายในนครซานฟรานซิสโกว่า เขาหวังว่าคำพิพากษาครั้งนี้จะเป็นแรงเสริมให้กับคดีอื่นๆ “คดีนี้ใหญ่กว่าตัวผมมาก และผมหวังว่าคดีจะได้รับความสนใจอย่างที่ควรจะเป็น”

สำหรับเงินที่ได้มานั้น แม้จะดูเป็นเงินที่มีจำนวนมหาศาล หากแต่การที่ลูก 2 คนต้องขาดพ่อไปในอีกไม่นาน และผู้เป็นภรรยาต้องขาดที่พึ่ง ก็คงจะไม่สามารถเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปได้

มีเพียงแต่คำถามที่เหลืออยู่ว่า จะมีเหยื่อรายอื่นที่ได้รับความยุติธรรมต่อไปหรือไม่