คนของโลก : ‘บ็อบ ดีแลน’ ตัวแทนของเสียงแห่งยุคสมัย

เมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว บ็อบ ดีแลน สร้างความตกตะลึงให้กับวงการดนตรีด้วยการเสียบปลั๊กกีตาร์ไฟฟ้า และเล่นดนตรีโฟล์กในแบบที่แปลกแยกจากแบบแผนดั้งเดิม

หลายทศวรรษที่ผ่านมาเขายังสร้างความประหลาดใจไม่หยุดหย่อน ด้วยการแต่งเพลงที่มีเนื้อหาจริงจัง ยากที่จะเข้าใจ แต่มียอดขายถล่มทลาย

ถึงตอนนี้ ดีแลนวัย 75 ปี กวีแห่งวงการดนตรีร็อก ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา

เป็นเกียรติยศที่ทำให้ดีแลนก้าวข้ามนักเขียนนวนิยายยอดฝีมือชาวอเมริกันในยุคนี้อย่าง ฟิลิป รอธ, ดอน เดอลิลโล และ จอยซ์ แครอล โอตส์ ในการเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ในรอบมากกว่า 2 ทศวรรษ

และยกระดับดีแลนให้ขึ้นมาเทียบชั้นกับนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่อย่าง ที.เอส. เอลเลียต, กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ, โทนี มอร์ริสัน และ ซามูเอล เบคเกตต์

ดีแลน ยังถือเป็นนักดนตรีคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้อีกด้วย และบางทีอาจเป็นตัวเลือกที่สุดโต่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์การมอบรางวัลนี้นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1901 เป็นต้นมา

 

ในการเลือกนักดนตรีผู้มีชื่อเสียงโด่งดังให้ได้รับรางวัลที่เป็นเกียรติยศสูงสุดของวงการวรรณกรรมโลก ราชบัณฑิตยสภาสวีเดน ที่เป็นคณะกรรมการพิจารณารางวัล ได้สร้างนิยามใหม่ในเรื่องขอบเขตของวรรณกรรมด้วยการ จุดประเด็นการอภิปรายถกเถียงว่าเนื้อเพลงมีคุณค่าทางศิลปะเทียบเท่ากับบทกวีหรือนวนิยายหรือไม่

นักเขียนชื่อดังส่วนหนึ่งที่รวมถึง สตีเฟน คิง, จอยซ์ แครอล โอตส์ และ ซัลมาน รัชดี แสดงความยินดีต่อความสำเร็จด้านวรรณกรรมของดีแลน โดยรายหลังสุดบอกว่า ดีแลนเป็น “ผู้สืบสานวัฒนธรรมบทกวีที่หลักแหลม” และ “เป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยม”

ทว่า อีกส่วนหนึ่งระบุว่า การตัดสินใจของราชบัณฑิตยสภาสวีเดนเป็นวิธีคิดที่ผิด และตั้งคำถามว่า การเขียนเนื้อร้องที่แม้ว่าจะยอดเยี่ยม อยู่ในระดับเดียวกับผลงานวรรณกรรมหรือไม่

“ชื่อของดีแลนได้รับการกล่าวถึงบ่อยครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่เราคิดมาตลอดว่ามันเป็นเรื่องตลก” ปิแอร์ อัสซูลีน นักเขียนนิยายชาวฝรั่งเศสกล่าวอย่างไม่สามารถซ่อนความโกรธที่มีต่อคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลได้

ด้าน โจดี ปิโคต์ นักเขียนนวนิยายขายดีระดับเบสต์เซลเลอร์ชาวอเมริกัน ทวีตข้อความว่า “ฉันดีใจด้วยกับ บ็อบ ดีแลน” พร้อมติดแฮชแท็ก #แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าฉันสามารถชนะรางวัลแกรมมีใช่ไหม?

 

ในฐานะผู้แต่งเพลงประท้วงสุดคลาสสิกอย่าง “โบลวิง อิน เดอะ วินด์” (Blowin” in the Wind) และ “เดอะ ไทม์ส เดย์ อาร์ อะ เชนจิง” (The Times They Are a-Changin”) รวมถึงเพลงฮิตติดอันดับท็อป 10 จำนวนมาก รวมถึง “ไลก์ อะ โรลลิง สโตน” (Like a Rolling Stone) ดีแลนถือเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลที่ผิดจากธรรมดา

และแทนที่จะปรากฏตัวในงานแถลงข่าวที่จัดโดยสำนักพิมพ์ตามปกติธรรมดาของผู้ได้รับรางวัลนี้รายอื่นๆ แต่ดีแลนยังคงขึ้นเวทีแสดงคอนเสิร์ตตามปกติและไม่พูดถึงเรื่องนี้เลยแม้แต่นิดเดียว

จนถึงเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม คณะกรรมการโนเบลยังไม่สามารถติดต่อกับดีแลนได้โดยตรงทั้งที่พยายามโทรศัพท์ไปหลายครั้งและส่งอีเมลไปหลายฉบับ มีเพียงบุคคลใกล้ชิดของดีแลนเท่านั้นที่ตอบกลับมาอย่างสุภาพ

บ่อยครั้งที่ดีแลนผสมผสานอิทธิพลที่เขาได้รับจากการอ่านผลงานวรรณกรรมของ อาร์เธอร์ ริมโบด์, ปอล แวร์เลน, เออร์ซา พาวนด์ และ วิลเลียม เบลก ลงไปในเนื้อเพลงของเขา เขายังตีพิมพ์ผลงานหนังสือทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ซึ่งรวมถึง “ทารันทูลา” เมื่อปี 1971 และ “โครนิเคิลส์ โวลุ่ม วัน” บันทึกความทรงจำที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2004

ขณะที่หนังสือรวมเนื้อเพลงที่ได้รับการคัดสรรจากช่วงระหว่างปี 1961-2012 จะออกวางจำหน่ายในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

 

ในการประกาศเกียรติคุณของดีแลน ราชบัณฑิตยสภาสวีเดนระบุว่า ดีแลน “สร้างแนวทางการแสดงออกเชิงกวีนิพนธ์ใหม่ในวัฒนธรรมเพลงอเมริกันแบบดั้งเดิม”

ดีแลน หรือชื่อจริงคือ โรเบิร์ต อัลเลน ซิมเมอร์แมน เกิดเมื่อปี ค.ศ.1941 เริ่มต้นอาชีพนักดนตรีเมื่อปี 1959 ด้วยการเล่นดนตรีในร้านกาแฟแห่งหนึ่งในรัฐมินนิโซตา

ผลงานอันเป็นที่รู้จักดีของดีแลนส่วนใหญ่อยู่ในช่วงยุคทศวรรษที่ 1960 เมื่อเขาเริ่มต้นแสดงบทบาทการเป็นนักประวัติศาสตร์ในการบอกเล่าถึงปัญหาของอเมริกาอย่างไม่เป็นทางการ

เพลงอย่าง โบลวิง อิน เดอะ วินด์ และ เดอะ ไทม์ส เดย์ อาร์ อะ เชนจิง กลายเป็นบทเพลงในการต่อต้านสงครามและการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมือง

หากจะมีใครสักคนที่เหมาะสมกับวลี “ตัวแทนของเสียงแห่งยุคสมัย” คนคนนั้นจะเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจาก บ็อบ ดีแลน