สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษา ดาว์พงษ์ โมเดล (4) : ปฏิรูปอาชีวะ

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ยุทธศาสตร์เพื่อปฏิรูปการศึกษา ดาว์พงษ์ โมเดล ยุทธศาสตร์ที่ 4 การผลิตพัฒนากำลังคนและงานวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาประเทศ

ที่มาของยุทธศาสตร์นี้ เป็นผลมาจากเป้าหมายที่กำหนดว่าถ้าจะนำพาประเทศให้ก้าวรุดหน้าต่อไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ต้องทำให้ไทยหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางเพื่อก้าวไปสู่รายได้สูง โดยยึดตัวชี้วัดของธนาคารโลกเป็นเกณฑ์ รายได้ต่อหัวของประชากรต้องสูงกว่า 12,736 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ขณะที่รายได้เฉลี่ยของประชากรไทยปัจจุบันอยู่ที่ 5,779 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี

การที่จะก้าวพ้นกับดักดังกล่าว นักวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทยประมาณการว่า หากทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ปีละ 5% ไทยจะก้าวสู่ประเทศระดับรายได้สูงเร็วภายใน 10-15 ปี แต่ถ้าขยายตัว 3-4% จะใช้เวลาถึง 20 ปี ตามเป้าหมาย ตั้งแต่ปี 2559-2579

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้รายได้เฉลี่ยยังอยู่ในระดับปานกลางเพราะโครงสร้างการผลิตยังเป็นภาคเกษตร แม้ภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมและบริการจะขยายตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ยังขาดเทคโนโลยีชั้นสูง และที่สำคัญคือขาดแคลนกำลังงานแรงงานฝีมือระดับกลาง ซึ่งเป็นผลมาจากระบบการศึกษาต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้

egsegw

การศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งเคยมีความพยายามสอดแทรกวิชาชีพเข้าไปร่วมกับวิชาสามัญ (มัธยมแบบประสม) ถูกลดความสำคัญลง หันมาเน้นสายสามัญเป็นด้านหลัก เพราะค่านิยมใบปริญญา ต้องการความสบายเป็นเจ้าคนนายคน รังเกียจการใช้แรงงาน ประกอบกับภาพลักษณ์ของสายอาชีวะ ทำให้สัดส่วนนักเรียนสายสามัญกับสายอาชีพอยู่ในระดับ 60 ต่อ 40 ตลอดมา แม้ในแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2552-2559 กำหนดสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาต่อสายสามัญในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ควรเป็น 60 ต่อ 40 ในปี 2559 แต่ก็ไม่บรรลุเป้าหมาย

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาจึงมีการเบนเข็มทิศทางการจัดการศึกษา หันมาส่งเสริมด้านอาชีวะให้เข้มข้นมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ปรับภาพลักษณ์นักเรียนอาชีวะใหม่ ปรับทัศนคติพ่อแม่ผู้ปกครอง สร้างค่านิยมเรียนอาชีวะ มีความก้าวหน้า มีงานทำ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ได้ถึงระดับปริญญา ทำให้จำนวนการสมัครและรับสมัครเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่สัดส่วนก็ยังต่ำกว่าเป้าที่วางไว้

จากเหตุต่างๆ ดังกล่าวทำให้เกิดคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซูเปอร์บอร์ดทางการศึกษา มีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเลขานุการในยุครัฐบาลประยุทธ์ 1 เป็นกลไกให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างการจัดการศึกษากับการผลิตกำลังคน

ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างเดินกันไป ไม่ประสานงานกันเท่าที่ควร

จนมาถึงปัจจุบันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เน้นนโยบายปฏิรูปอาชีวศึกษา เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นกลไกหลัก ขับเคลื่อนอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชนให้ผลิตกำลังคนให้มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของประเทศ

ซึ่งรัฐบาลกำหนด 10 อุตสาหกรรมหลักที่เน้นนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สอดคล้องกับไทยแลนด์ 4.0 ได้แก่ 1.ยานยนต์สมัยใหม่ 2.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ 4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.การแปรรูปอาหารแห่งอนาคต 6.หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม 7.การบินและการขนส่งขนส่งและการบิน 8.เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9.อุตสาหกรรมดิจิตอล 10.การแพทย์ครบวงจร

วิทยาลัยแต่ละแห่งต้องพิจารณาว่ามีสาขาใดที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมหลักใดบ้าง จะได้จัดการศึกษาให้ตรงจุด จัดสรรอัตราผู้เรียนระหว่างสถานศึกษาของรัฐและเอกชนให้ชัดเจน

ตามยุทธศาสตร์ที่ 4 นี้มีการดำเนินโครงการต่างๆ เช่น การศึกษาทวิภาคี (Dual System) ร่วมกับภาคเอกชนไทยและต่างประเทศ โครงการทวิศึกษา (Dual Education) เรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย เด็กมีโอกาสเรียนทั้งสายสามัญและสายอาชีพ

ขณะนี้มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 5 หมื่นคน

โครงการทวิวุฒิ (Dual Degree) จับคู่จัดการศึกษาหลักสูตรวิชาชีพระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษาไทยกับสถานศึกษาอาชีวศึกษาต่างประเทศ เมื่อจบการศึกษาได้รับวุฒิการศึกษา 2 ใบ จาก 2 ประเทศ ขณะนี้ สอศ. ร่วมมือกับเกาหลีและญี่ปุ่น นำร่องของไทย 3 สาขาวิชา ได้แก่ การท่องเที่ยว เทคโนโลยีความงาม และเทคโนโลยีสารสนเทศ

โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนสายวิชาชีพในโรงเรียนของ สพฐ. โดยวิทยาลัยอาชีวะต่างๆ เข้าไปให้ความรู้และแนะแนว

โครงการสานพลังประชารัฐด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (Competitive Workforce) หรือ E2 เป้าหมายที่วางไว้ อาทิ โครงการ Re-Branding จัดประกวดออกแบบ Logo เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของอาชีวศึกษา, โครงการ Excellent Model School (EMS) พัฒนาสถานศึกษานำร่อง 15 แห่งภายในปี 2560, การจัดทำ Standards & Certification Center ให้ทุกมาตรฐานวิชาชีพเป็นระบบเดียวกัน กำหนดกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) 8 ระดับเทียบเท่ากรอบอาเซียน (AQRF)

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ซึ่งมีโครงการรองรับมากมาย ปัญหาหลักซึ่งยังดำรงอยู่ไม่ต่างจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการอุดมศึกษา นั่นคือ คุณภาพ ผลสัมฤทธิ์และคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของผู้เรียนยังไม่ประจักษ์ อันเนื่องมาจากขาดแคลนครูอาจารย์ ที่มีจิตวิญญาณความเป็นครู มีทักษะการจัดการเรียนการสอนสอดคล้องกับยุคสมัย สอนให้คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ลงมือทำ ไม่ใช่สอนให้ท่อง สอนให้จำ ตามครูบอกลูกเดียวเป็นส่วนใหญ่

อีกทั้งขาดความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ชั้นสูง เช่น วิศวกรรมระบบราง

ผมถึงย้ำและยืนยันแนวคิด ความเชื่อว่า ปฏิรูปการศึกษาระดับไหน ประเภทใดก็ตาม สำคัญที่ปฏิรูปครู ปฏิรูปการเรียนรู้ ปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอน ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันครับ