จักรวรรดิในกำแพง : ใต้หล้ารวมกันแล้วแยกกัน ตอนที่ 2 “การกบฎลุกลาม”

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สถานการณ์ก่อนฮั่นจะล่มสลาย (ต่อ)

กบฏข้าวสารห้าถัง (อู๋โต่วหมี่เต้า, the Way of the Five Pecks of Rice) เป็นกบฏที่เกิดจากสำนักเต้าแห่งหนึ่งซึ่งมีเจ้าสำนักชื่อว่า จังหลิง หรือ จังเต้าหลิง ที่สำนักมีชื่อที่ฟังดูแปลกก็เพราะจังหลิงเก็บค่าครูเป็นข้าวสารจำนวนไม่เกินห้าถังแทนเงิน (1)

สำนักนี้ตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.142 มีหลักคำสอนที่เชื่อว่า ผู้ใดสามารถจัดระเบียบของลมปราณได้ดี ผู้นั้นจะเป็นอมตะ จังหลิงอ้างว่าหลักคำสอนนี้เหลาจื่อได้มอบให้ตนในฐานะผู้ประกาศ และยังบัญชาให้ตนเป็นผู้นำในการขจัดความเสื่อมทรามให้หมดไปจากโลก

จากนั้นก็ร่วมกับ “ผู้ที่ถูกเลือก” ซึ่งก็คือสาวกทั้งหลายสร้างรัฐใหม่ขึ้นมา และเมื่อมีสมาชิกมากพอแล้ว จังหลิงจึงไปสร้างเขตอิทธิพลของตนขึ้นที่บริเวณภาคเหนือของซื่อชวนในปัจจุบัน

ที่นี้เองที่จังหลิงเริ่มเก็บค่าครูเป็นข้าวสารห้าถังจนเป็นที่มาของชื่อสำนักในเวลาต่อมา

เวลานั้นจังหลิงมีผู้ช่วยสองคน คนหนึ่งคือบุตรชายชื่อ จังเหิง อีกคนหนึ่งคือหลานชายชื่อว่า จังหลู่ โดยต่อมาทั้งจังเหิงและจังหลู่ก็คือผู้สืบทอดอำนาจนำต่อจากจังหลิงเป็นรุ่นที่สองและสามตามลำดับ

แต่ดูเหมือนว่าชื่อของจังหลู่มักถูกเอ่ยถึงบ่อยครั้ง

 

ต่อมาคือ กบฏโพกผ้าเหลือง (Yellow Turban Rebellion) มีผู้นำชื่อว่า จังเจ๋ว์ (2) กล่าวกันว่า จังเจ๋ว์เกิดในครอบครัวชาวนาจน แต่เป็นคนใฝ่ศึกษาด้วยหวังว่าจะได้เป็นขุนนางเพื่อเปลี่ยนชีวิตตัวเอง แต่ด้วยเหตุที่เกิดผิดยุคผิดสมัย จังเจ๋ว์ซึ่งยากจนอยู่แล้วจึงไม่มีเงินมาจ่ายค่าตำแหน่ง หรือไม่มีเส้นสายในราชสำนัก

เมื่อไม่มีโอกาสได้เป็นขุนนางแล้ว เขาจึงหันมาศึกษาลัทธิเต้าและปลีกวิเวก จนเมื่อเชื่อว่ามีวิชาแก่กล้าแล้วจึงตั้งสำนักของตัวเองขึ้นมาเป็นอีกนิกายหนึ่ง และกลายเป็นที่มาของขบวนการทางการเมืองครั้งใหญ่ นั่นคือ กบฏโพกผ้าเหลือง

สำนักของจังเจ๋ว์คือ สำนักเต้าแห่งสันติภาพสูงสุด (ไท่ผิงเต้า, the Way of Supreme Peace)

หลักคิดของสำนักนี้เน้นในเรื่องสิทธิเสมอภาคของบุคคลและความเท่าเทียมในส่วนแบ่งที่ดิน ส่วนวิธีจูงใจให้คนเข้าร่วมจะกระทำผ่านการรักษาผู้ป่วยไข้โดยไม่คิดค่าตอบแทน จากนั้นก็เผยแพร่หลักคิดของสำนักให้แก่ผู้เข้าร่วม

สำหรับประเด็นที่มีนัยทางการเมืองนั้นสำนักนี้เห็นว่า ความชั่วร้ายเลวทรามได้บังเกิดขึ้นแล้วในโลก โดยเฉพาะจากการเรียกเก็บภาษีจากชาวนาอย่างหนัก ทั้งที่ชาวนาเองก็มีชีวิตที่ลำเค็ญและหิวโหยอยู่แล้ว

จนเมื่อสำนักมีสาวกเพิ่มขึ้นมากแล้ว จังเจ๋ว์จึงประกาศการลุกขึ้นสู้เพื่อกู้สถานการณ์ที่เลวร้ายดังกล่าว จากนั้นก็ชูคำขวัญของขบวนการผ่านอักษรจีน 16 คำที่ถอดความได้ ดังนี้

“ฟ้าครามมอดม้วยมรณา ถึงคราฟ้าเหลืองเรืองรอง ศักราชเจี๋ยจื่อเวียนครอง ใต้หล้าจักผ่องพรรณราย”

คำว่า ฟ้าคราม ในคำขวัญนี้หมายถึง อำนาจของฮั่นสมัยหลัง ฟ้าเหลือง หมายถึง อำนาจของขบวนการที่นำโดยจังเจ๋ว์ ซึ่งต่อไปก็คือกบฏโพกผ้าเหลือง และเจี๋ยจื่อ หมายถึง คำเรียกปีศักราชตามระบบปฏิทินของจีน ในที่นี้หมายความว่า เมื่อถึงปีดังกล่าวราชวงศ์ฮั่นจะล่มสลาย ใต้หล้าจักกลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง

ที่สำคัญ คำว่า “ฟ้าเหลืองเรืองรอง” ในคำขวัญนี้ได้ทำให้สมาชิกของสำนักนี้ใช้ผ้าสีเหลืองมาโพกหัวของตนเป็นสัญลักษณ์ คำว่า “โพกผ้าเหลือง” จึงเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้ และเมื่อทุกอย่างพร้อมเพรียงกันกันแล้ว กบฏโพกผ้าเหลืองก็ประกาศศึกกับฮั่นสมัยหลังในปี ค.ศ.184

 

กบฏโพกผ้าเหลืองเคลื่อนไหวในสามพื้นที่ใหญ่คือ หนึ่ง บริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง โดยตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองจี้ว์ลู่ สอง โยวโจวซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยปกครองที่สำคัญ ปัจจุบันนี้คือบริเวณเมืองเป่ยจิง (ปักกิ่ง) และสาม บริเวณเมืองอิ่งชวน หญู่หนัน และหนันหยัง อันเป็นเมืองที่อยู่ในเหอหนานปัจจุบัน

เมื่อกบฏสำนักข้าวสารห้าถังและกบฏโพกผ้าเหลืองได้เกิดขึ้นแล้ว กบฏทั้งสองจึงก่อการเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มฮั่นสมัยหลังทันที

เนื่องจากกบฏทั้งสองเกิดขึ้นจากการรวมตัวของราษฎรที่ส่วนใหญ่เป็นชาวนา กบฏทั้งสองนี้จึงเป็นอีกหนึ่งของกบฏชาวนาในประวัติศาสตร์จีน ซึ่งก็ไม่ต่างกับครั้งที่หลิวปังก่อกบฏเพื่อโค่นล้มราชวงศ์ฉินที่มีภูมิหลังเป็นชาวนาเช่นกัน

ความจริงข้อนี้ทำให้เห็นว่า ชาวนาจีนไม่เพียงเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจจีนในเวลานั้นเท่านั้น หากยังเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญยิ่งอีกด้วย

 

คลื่นกบฏกับการเมืองในราชสำนัก

การเกิดขึ้นของกบฏในขณะนั้นได้ส่งผลทางการเมืองประการหนึ่งคือ การก้าวเข้ามามีบทบาทของบุคคลกลุ่มใหม่ๆ ซึ่งแรกที่เข้ามาก็เพื่อปราบกบฏ แต่ด้วยความเหลวแหลกของราชสำนัก บุคคลกลุ่มนี้จึงขยายบทบาทของตนไปในทางการเมืองอีกด้วย บทบาทหลังนี้ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่

เหตุดังนั้น บทบาททางการเมืองของบุคคลกลุ่มนี้จึงเป็นประเด็นที่จะกล่าวถึงในที่นี้ด้วย

หลังจากที่กบฏข้าวสารห้าถังก่อการเคลื่อนไหวแล้ว ราชสำนักฮั่นได้ส่งกองกำลังออกไปปราบปราม การศึกระหว่างทัพกบฏกับทัพฮั่นใช้เวลายาวนานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อกบฏได้อยู่ภายใต้การนำของจังหลู่นั้น กล่าวกันว่า เขาได้สร้างความเจริญให้แก่เขตยึดครองของเขาในหลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทางที่ถูกตัดใหม่ให้มีความสะดวก หรือความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร

จังหลู่ปกครองอยู่นานพอสมควร แม้จะมีทัพฮั่นเข้ามาตีก็ยากที่จะสำเร็จ จนเมื่อขุนศึกชื่อ เฉาเชา (ค.ศ.155-220) ซึ่งเรืองอำนาจอยู่ในรัฐเว่ยได้ยกทัพมาตีใน ค.ศ.215 กบฏข้าวสารห้าถังของจังหลู่ก็ประสบกับความพ่ายแพ้

แม้กบฏข้าวสารห้าถังพ่ายแพ้ไปแล้ว เฉาเชาก็มิได้ประหารจังหลู่และสาวกตามที่ถือปฏิบัติกันในเวลานั้น แต่ได้ผลักดันให้เหล่ากบฏไปอยู่ยังพื้นที่ต่างๆ กลุ่มหนึ่งถูกส่งไปยังฉังอัน อีกกลุ่มหนึ่งถูกส่งไปยังลว่อหยาง

ส่วนจังหลู่และครอบครัวของเขา เฉาเชาได้จัดที่ทางส่วนหนึ่งที่อยู่ในเขตอำนาจของตนให้เป็นที่พำนัก พื้นที่นี้คือส่วนหนึ่งของเหอหนันในปัจจุบัน และที่แห่งนี้จังหลู่ได้รับอนุญาตให้เปิดสำนักเผยแพร่ลัทธิเต้านิกายข้าวสารห้าถัง เพียงแต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่ตราโดยขุนนางสำนักหญูเท่านั้น

และเมื่อเขาตายไปใน ค.ศ.216 บุตรชายของเขาได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำต่อจากเขาจนสลายตัวไปใน ค.ศ.255 จนกลายเป็นตำนานเล่าขานไปในที่สุด

 

ส่วนกบฏโพกผ้าเหลืองเมื่อเริ่มเคลื่อนไหวก็ไม่ต่างกับกระแสคลื่นที่ทรงพลัง ราชสำนักฮั่นได้จัดส่งทัพไปปราบขบวนการนี้ด้วยสายตาที่เห็นเป็นเพียง “โจร” แต่ไม่ว่าจะส่งไปกี่ทัพต่างก็พ่ายแพ้กลับมา และเพียงไม่นานทัพกบฏก็เคลื่อนมาถึงลว่อหยาง

เมื่อทัพกบฏมาถึงเมืองหลวงเช่นนี้ความโกลาหลวุ่นวายก็เกิดทั่วทั้งราชสำนัก ฮั่นหลิงตี้ทรงเรียกเหล่าขุนนางมาเข้าเฝ้าเพื่อปรึกษาเรื่องที่จะปราบ “โจร” กลุ่มนี้

ผลของการปรึกษาหารือคือ ให้ประกาศหาผู้อาสาศึกโดยมีเงื่อนไขจูงใจว่า หากผู้อาสาศึกคนใดเอาชนะกบฏได้แล้วจะไม่เพียงได้ปูนบำเหน็จอย่างถึงขนาดเท่านั้น หากยังจะได้เข้ารับราชการเป็นขุนนางอีกด้วย

แรงจูงใจที่สูงเช่นนี้ได้ทำให้มีผู้อาสาศึกเข้ามามากมาย เมื่อได้มาแล้วก็ทำการจัดทัพเป็นสองสาย

คือทัพส่วนกลางสายหนึ่ง และทัพส่วนท้องถิ่นอีกสายหนึ่ง

——————————————————————————————————————
(1) มาตราตวงของจีนเรียกเป็น โต่ว หนึ่งโต่วหากเทียบกับของไทยแล้วประมาณ 10 กิโลกรัม กรณีของไทยหากเป็นข้าวเปลือกหนึ่งถังจะเท่ากับ 10 กิโลกรัม หากเป็นข้าวสารจะเท่ากับ 15 กิโลกรัม ที่ต่างกัน 5 กิโลกรัมก็เพราะข้าวเปลือกมีน้ำหนักเปลือกที่ยังไม่สีอยู่ด้วย ดังนั้น ข้าวสารห้าถังของจีนหากเทียบกับของไทยแล้วจะตกประมาณ 125 กิโลกรัม ซึ่งเกินไปจากมาตรฐานของจีนไปมาก ในที่นี้ใช้คำว่า ถัง ของไทยแทนคำว่า โต่ว เพราะเห็นว่ามาตรฐานการตวงเป็นปริมาตร “ถัง” เหมือนกัน ที่สำคัญ ถึงที่สุดแล้วค่าน้ำหนักที่กล่าวไว้นี้มิใช่ค่าที่แน่นอน เพราะเมื่อเทียบกับของตะวันตกที่เป็นแกลลอนแล้วก็ยิ่งไม่คงที่ ด้วยค่าแกลลอนนี้มีทั้งแบบอเมริกันและแบบยุโรปที่ให้ค่าที่ต่างกันพอสมควร

(2) ชื่อในพยางค์หลังนี้แปลว่า เขา (ของสัตว์ เช่น เขาวัวเขาควาย) หรือมุม เป็นต้น ในปัจจุบันคำนี้จะอ่านว่า เจี่ยว แต่ในสมัยนั้นอ่านว่า เจ๋ว์ ในที่นี้จึงขออ่านให้สอดคล้องกับยุคสมัยนั้นว่า จางเจ๋ว์