ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พลวัตสร้างสังคมโลกอย่างยั่งยืน

“ฉันพูดเศรษฐกิจพอเพียง ความหมายคือทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง คือทำจากรายได้ 200-300 บาท ขึ้นไปเป็นสองหมื่น สามหมื่นบาท คนชอบเอาคำพูดของฉัน เศรษฐกิจพอเพียงไปพูดกันเลอะเทอะ เศรษฐกิจพอเพียงคือทำเป็น Self-Sufficiency มันไม่ใช่ความหมาย ไม่ใช่แบบที่ฉันคิด ที่ฉันคิดคือเป็น Self-Sufficiency of Economy เช่น ถ้าเขาต้องการดูทีวี ก็ควรให้เขามีดู ไม่ใช่ไปจำกัดเขาไม่ให้ซื้อทีวีดู เขาต้องการดูเพื่อความสนุกสนาน ในหมู่บ้านไกลๆ ที่ฉันไป เขามีทีวีดูแต่ใช้แบตเตอรี่ เขาไม่มีไฟฟ้า แต่ถ้า Sufficiency นั้น มีทีวีเขาฟุ่มเฟือย เปรียบเสมือนคนไม่มีสตางค์ไปตัดสูทใส่ และยังใส่เน็กไทเวอร์ซาเช่ อันนี้ก็เกินไป”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2544 ตรัสขยายความเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะหลังจากที่พระองค์ทรงวางแนวพระราชดำริเมื่อปี 2539 ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้นำไปตีความกันผิดๆ

จนทำให้พระองค์ต้องทรงอธิบายความเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่บ่อยครั้ง

ถึงวันนี้ผ่านมากว่า 30 ปีแล้วที่เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต่างถูกน้อมนำเข้าไปปรับใช้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

ทั้งยังถูกน้อมนำไปประยุกต์ใช้กับหน่วยงานต่างๆ ในระดับสากลอีกด้วย

เพราะทุกคนประจักษ์ชัดแล้วว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้คำนิยามต่างเกี่ยวข้องกับ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข

ห่วงที่หนึ่ง ความพอประมาณ หมายถึงความพอดีที่ไม่น้อยเกินไป และไม่มากจนเกินไป โดยไม่ไปเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิต และการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

ห่วงที่สอง ความมีเหตุผล หมายถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ

ห่วงที่สาม ภูมิคุ้มกัน หมายถึงการเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีเงื่อนไขของการตัดสินใจ และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่พอเพียง 2 ประการ

หนึ่ง เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนเพื่อจะได้ระมัดระวังในการปฏิบัติ

สอง เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะเป็นตัวสร้างเสริม อันประกอบด้วย ความตระหนักในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน มีความเพียร

เพื่อใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

 

เพราะฉะนั้น เมื่อมาดูองค์ประกอบของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในแต่ละองค์กรจะพบว่าปัจจุบันมีหลายหน่วยงานต่างน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้

โดยเฉพาะเอสซีจีที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองทำได้ดีที่สุด ถึงแม้ว่าจะมีการทำธุรกิจในสิ่งที่ตนเองไม่มีความรอบรู้ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แต่สามารถผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนั้นมาได้ ด้วยการกลับมาทำในสิ่งที่ตนเองมีความรอบรู้

เริ่มจากปรับโครงสร้าง 10 กลุ่มธุรกิจเป็น 5 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ เคมีภัณฑ์ กระดาษ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และจัดจำหน่าย ซึ่งเป็นธุรกิจที่เอสซีจีมีความเข้มแข็ง และความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง

พร้อมกับขายธุรกิจ หรือลดบทบาทในธุรกิจอื่นๆ ลง จนทำให้ธุรกิจเคมีภัณฑ์เติบโตอย่างรวดเร็ว มีผลประกอบการดีมาก จนนำไปสู่การลงทุนใหม่ๆ

ในปี 2542 เอสซีจี เคมิคอลล์ ก่อตั้งโรงงานผลิตโอเลฟินส์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำของผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ จนทำให้เอสซีจีมีธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจร และก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำในระดับภูมิภาคอาเซียน

พร้อมกันนั้น ก็ให้ความสำคัญกับพนักงาน และคุณภาพชีวิตของพนักงาน พัฒนาผู้บริหารระดับสูงจากบุคลากรภายในองค์กร โดยจะต้องคำนึงถึง และรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย ด้วยการลงทุนอย่างมากมายในการพัฒนาสังคม

ทั้งยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต โดยคำนึงถึงการประหยัดพลังงานอย่างยั่งยืน

จนทำให้ในปี 2550 เอสซีจีได้รับรางวัลชนะเลิศด้านธุรกิจขนาดใหญ่ จากการประกวดผลงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

 

เช่นเดียวกับกลุ่มมิตรผล ที่ได้รับเกียรติบัตรมาตรฐาน มอก.๙๙๙๙ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม โดยมี “ดำรง อินทรเสนา” ผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลมิตรผลภูเวียง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น เข้ารับมอบเกียรติบัตรประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม หรือ มอก.๙๙๙๙ จาก “จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

เพื่อยืนยันมาตรฐานการจัดการธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากมาตรฐานดังกล่าว มุ่งเน้นการพัฒนาบนหลักการของการมีส่วนร่วมของบุคลากร การเคารพต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การบริหารแบบองค์รวม และการบริหารเชิงระบบ อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุล มั่นคง ยั่งยืน และมีความสุข พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ผลเช่นนี้ จึงทำให้กลุ่มมิตรผล เชิญชวนพันธมิตร และลูกค้าในห่วงโซ่ธุรกิจ อย่างเช่น บริษัท วิศวกรรมเคมี จำกัด, บริษัท เกียรติชัยพัฒนาขนส่ง จำกัด และบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ร่วมโครงการกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในการนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมไปประยุกต์ใช้

จึงนับเป็นการตอกย้ำวิสัยทัศน์ของกลุ่มมิตรผลในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจตลอดมา

 

แต่อย่างที่ทุกคนทราบ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ถูกน้อมนำเฉพาะองค์กรในประเทศไทยเท่านั้น หากองค์กรข้ามชาติ หรือบริษัทต่างๆ ที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยต่างก็นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ด้วย

ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงก์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (HSBC) จึงกำหนดจุดเด่นที่สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหลายหัวข้อด้วยกัน อาทิ

มีมาตรฐานทางจริยธรรมสูงในการปล่อยเงินกู้, มองการณ์ไกลในการบริหารจัดการ รวมถึงการชนะใจลูกค้า โดยการให้บริการอย่างมืออาชีพ โปร่งใส และซื่อสัตย์สุจริตตลอดมา

มีการแบ่งปันความรู้ และสร้างนวัตกรรมทั่วทั้งองค์กร

เช่นเดียวกับห้างนอร์ธสตรอม สหรัฐอเมริกา ที่กำหนดจุดเด่นให้สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลายหัวข้อด้วยกัน อาทิ

ไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างกำไรสูงสุด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นแต่เพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดของธุรกิจ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระยะยาว

ไม่กังวลกับการรายงานผลดำเนินงานทุกไตรมาสกับตลาดหลักทรัพย์ แต่ท้าทายนักลงทุน ซึ่งมุ่งหวังผลกำไรในระยะสั้น โดยการบริหารงานเพื่อผลตอบแทนในระยะยาวมากกว่า, ให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาชุมชนที่ตนดำเนินธุรกิจอยู่ ลงทุนในกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาชุมชน

และสนับสนุนให้พนักงานมีส่วนร่วมในชุมชน

ดังจะเห็นว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไม่เพียงหยั่งรากลึกลงในสังคมไทยตลอดมากว่า 30 ปี

หากยังผลิดอกออกผลไปยังนานาประเทศอีกด้วย

จนทำให้พลเมืองของโลกต่างยอมรับ ทั้งยังเชื่อมั่นอีกด้วยว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือหลักปรัชญาที่ทำให้สังคมโลกอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

และยั่งยืนตลอดไป