ลึกแต่ไม่ลับ : “9 มหัศจรรย์” กับ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”

จรัญ พงษ์จีน

ความเศร้าโศกเสียใจถั่งโถมกับคนไทยทั่วทุกแผ่นดิน เมื่อสำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” เสด็จสวรรคต เมื่อเวลา 15.52 น. วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559

ยังความโทมนัสโศกาอาดูรแก่พสกนิกรชาวไทย เสียใจที่พระผู้อันเป็นที่รักและเทิดทูนของทุกคนทั่วแผ่นดิน สวรรคต ต่างร่วมใจแสดงความอาลัย ด้วยน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ “รัชกาลที่ 9” ที่พระองค์ทรงงานเพื่อแผ่นดินไทยมายาวนานถึง 70 ปี

สุดอาลัยทั่วหล้า “มหาราชาของปวงชนชาวไทย”...ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ คนไทยต่างพร้อมใจกันอธิษฐานจิต… “จะขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป”

ขอนำเกร็ดสาระ ซึ่งคัดลอกมาจาก 1 ใน 9 เรื่องน่ารู้ใน “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” จากหนังสือพิมพ์ “มติชนรายวัน” ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2559 ว่าด้วย “พระนามพระราชทาน”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชสมภพ สมเด็จพระบรมราชชนกทรงรีบส่งโทรเลขถวายสมเด็จพระพันวัสสาฯ ว่า

“ลูกชายเกิดเช้านี้ สบายดีทั้งสอง ขอพระราชทานนามทางโทรเลขด้วย”

สมเด็จพระพันวัสสาฯ เสด็จไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามว่า “ภูมิพลอดุลเดช” โดยสะกดภาษาอังกฤษว่า “Bhumibala Aduladeja” ในลายพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 7 ยังระบุการออกเสียงไว้ให้ด้วยว่า “Poomipon”

สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงรับโทรเลขแล้วไม่แน่ชัดว่ามีพระนามในภาษาไทยเช่นใด ทรงคิดว่าชื่อ “ภูมิบาล” จึงทรงสะกดพระนามพระโอรสว่า “Bhumibal Aduldij Songkla (โดย Songkla มาจากนามสกุล สงขลา)

เมื่อแรกพระประสูติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้นามสกุล “สงขลา” ตามนามสกุลของพระบิดา ครั้งที่พระบิดาทรงศึกษาอยู่ต่างประเทศนั้นทรงใช้พระนามว่า “มหิดล สงขลา” ตามหลักการใช้นามที่ทรงกรมมาเป็นนามสกุล และพระบิดาทรงได้รับการสถาปนามีพระยศทรงกรมว่า “กรมหลวงสงขลานครินทร์”

ต่อมารัชกาลที่ 7 พระราชทานนามสกุลสำหรับผู้สืบสายพระบรมราชวงศ์ เมื่อ พ.ศ.2472 เปลี่ยนหลักการใช้นามสกุลจากนามที่ทรงกรมมาใช้พระนามของบิดาแทน

ราชสกุล “มหิดล” จึงเป็นราชสกุลของผู้สืบสายมาจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก นับตั้งแต่นั้น

“ภูมิพลอดุลเดช” มีความว่า ผู้ทรงกำลังอำนาจ ไม่มีสิ่งใดเทียบในแผ่นดิน

ทั้งนี้พระนาม “ภูมิพลอดุลเดช” เป็นการสะกดตามพระนามของสมเด็จพระบรมชนก คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชฯ ภายหลังมีการเขียนทั้งแบบใส่ “ย” ในที่สุดจึงนิยมเขียนแบบนิยมใส่ “ย” เป็น “ภูมิพลอดุชยเดช”

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” เป็นพระโอรสพระองค์เล็กสุด โดยมีพระเชษฐภคินี คือ “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ” และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือ “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล” จึงมีพระนามที่ใช้เรียกเป็นการส่วนพระองค์ว่า “เล็ก”

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9” พระราชทานโครงการมากกว่า 2,000 โครงการ ทั้งการแพทย์ สาธารณสุข การศึกษา การศาสนา สังคม วัฒนธรรม รวมถึงเศรษฐกิจ นับตั้งแต่เถลิงถวัลยราช ตราบจนเสด็จสวรรคต

เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์นานที่สุดในโลก เป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา

ทรงงานหนักเพื่อคนไทยทั้งชาติที่อาศัยใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระองค์ ซึ่งพระกรณียกิจของพระองค์ทุกด้านเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ และยกระดับประเทศไทยให้มีความมั่งคั่งและมั่นคง

ตามปฐมพระบรมราชโองการในระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม”

“เลข 9” จึงเป็นเลขมงคลที่มีค่ามากที่สุดสำหรับคนไทย ให้ความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ เพราะ “รัชกาลที่ 9” คือสิ่งที่คนไทยเทิดทูนบูชาสูงสุด

“9 มหัศจรรย์” กับ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ที่คนไทยจดจำไปอีกนานแสนนาน หนึ่ง รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี สอง ทรงครองราชย์วันที่ 9 สาม ปีครองราชย์ พ.ศ.2489 สี่ ครองราชย์พระชนมายุ 19 ห้า ทรงผนวชเมื่อ พ.ศ.2499 หก สวรรคต พระชนมายุ 89 เจ็ด สวรรคตปี พ.ศ.2559 แปด นับ ค.ศ.2016 เอาเลข 2+0+1+6 ผลออกมาเป็น 9 เก้า วันที่เสด็จสวรรคต วันที่ 13 ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 11 เอา 1+3+1+2+1+1 เท่ากับ 9

เอา 9 คูณ 9 เท่ากับ 81 แล้วเอา เลข 8 บวกเลข 1 เท่ากับ 9 หรือเอา 9 บวกกับ 9 เท่ากับ 18 นำเลข 1+8 ผลออกมาเป็น 9

เลข 9 เป็นเลขมหัศจรรย์ นำไปตั้ง แล้วยกทุกเลขมาคูณตั้งแต่ 1 ถึง 12 ผลออกมาเป็นเลข 9

กล่าวคือ 9 คูณ 1 เท่ากับ 9, 9 คูณ 2 เท่ากับ 18 เอา 1+8 เท่ากับ 9, 9 คูณ 3 เท่ากับ 27 เอา 2+7 เท่ากับ 9, 9 คูณ 4 เท่ากับ 36 เอา 3+6 เท่ากับ 9, 9 คูณ 5 เท่ากับ 45 เอา 4+5 เท่ากับ 9, 9 คูณ 6 ได้ 54 เอา 5+4 เท่ากับ 9, 9 คูณ 7 ได้ 63 เอา 6+3 เท่ากับ 9, 9 คูณ 8 เท่ากับ 72 เอา 7+2 เท่ากับ 9, 9 คูณ 9 ได้ 81 เอา 8+1 เท่ากับ 9, 9 คูณ 10 ได้ 90 เอา 9+0 เท่ากับ 9, 9 คูณ 11 เท่ากับ 99 เอา 9+9 เท่ากับ 18 เอา 1+8 เท่ากับ 9, 9 คูณ 12 เท่ากับ 108 เอา 1+0+8 เท่ากับ 9

 

ขออัพเดตข่าว ให้กับคอลัมน์ รายงานพิเศษ “จับตา นายกฯ ประยุทธ์ ในยุคเปลี่ยนผ่าน/ป๋าเปรม กลางมรสุมข่าวลือ/บทบาทบิ๊กเจี๊ยบ ขุนพลลูกป๋า/บทบาทกองทัพนำปกป้องสถาบัน” หน้า 16-18 ของ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้ ที่ปิดกรอบและขึ้นแท่นพิมพ์ไปก่อนจะมีการแถลงข่าวผลการประชุมองคมนตรี เพื่อกันความสับสนเล็กน้อย

โดยรายงานพิเศษดังกล่าว ระบุว่า ที่ประชุมองคมนตรีให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานองคมนตรี ไปพลางก่อน นั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม เว็บไซต์กรมประชาสัมพันธ์ ได้เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราว โดย นายสัญญา สุเรนทรานนท์ เลขาธิการองคมนตรี มีหนังสือสำนักราชเลขาธิการทำเนียบองคมนตรี ที่ รล.006.2/25182 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2559 แจ้งมายังสำนักนายกรัฐมนตรีว่า

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน และไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

คณะองคมนตรีจึงเลือก นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ให้ทำหน้าที่ประธานองคมนตรีเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

จึงแจ้งข้อมูลให้ทราบ เพื่อป้องกันความสับสน-ทราบแล้วเปลี่ยน