‘อาทิตย์ อุไรรัตน์’ ในวัย 80 ปี “ไม่เล่นแล้วการเมือง” ห่วงเลือกตั้งไปก็เหมือนเดิม ต้องปฏิรูป ต้องเขียนกติกากันใหม่

มีโอกาสได้เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยรังสิต โดยมี ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี พาเดินชมความทันสมัยและโชว์แนวคิดเรื่องการศึกษาที่ลงทุนคิดใหญ่ทำใหญ่ใส่เต็มทุกคณะทุกหน่วย อาทิ ทันตแพทย์ โรงละคร สตูดิโอ การจัดการการบิน ฯลฯ

นอกจากความเข้มข้นในหลักสูตรและดึงบุคลกรมีชื่อเสียงมาช่วยบริหารแล้ว

เพื่อไม่ให้เสียเที่ยวเลยชวน ดร.อาทิตย์สนทนา

ทั้งเรื่องของ “อายุ” “การศึกษา” และ “การเมือง”

ในวัย 80 ที่ไม่เหมือนคน 80 กับความคิดทำอย่างไร? ให้คนมีอายุยืนยาวขึ้น

คนเราจะอายุยืนได้ผมมองว่าเป็นเรื่องการใช้ชีวิต คือเรื่องของสิ่งแวดล้อม อาหารการกิน บางอย่างกินแล้วก่อมะเร็ง แม้แต่สารเคมีต่างๆ ที่เราต้องเจอในชีวิตประจำวันเราก็ต้องหลีกเลี่ยงหรือลดสิ่งเหล่านั้นให้ได้ เน้นความเป็นธรรมชาติเข้าไปสู่ร่างกาย

ไม่นานมานี้ ผมเพิ่งดูความลับของมหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกฯ มาเลเซียวัย 92 ปี ผมก็สงสัยมาตลอดว่า ทำไมเขายังแข็งแรงอยู่ ก็รู้ความลับมาว่าเขากินน้ำ pH9 ซึ่งประเทศไทยยังไม่ยอมให้ผลิต แต่ในญี่ปุ่นเขากินกันแล้ว (น้ำด่าง) เพื่อลดความเป็นกรดเป็นด่างในร่างกาย ปรับสมดุลได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความก้าวหน้าทางวิชาการและเป็นประโยชน์ในการที่จะสร้างชีวิตให้ยืนยาวมากขึ้นต่อไปได้ ก็มองว่าจะผลักดันและทำให้เป็นประโยชน์ต่อไป ซึ่งของพวกนี้ไม่ใช่ของหายาก คือสิ่งที่เรามีอยู่แล้วสร้างได้ทำได้ก็ต้องร่วมผลักดันต่อไป

ส่วนตัวผมเชื่อว่าความก้าวหน้าทางวิทยาการทางการศึกษาจะสามารถเสริมสร้างชีวิตให้ยืนยาวต่อไปได้นานๆ เมื่อก่อนเราอาจจะเชื่อว่าเกิดมาอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวนี้วิทยาการไปไกลมาก เกิดมาแล้วหน้าตาแบบหนึ่งก็ทำให้ดูดีขึ้นได้ ทำให้อายุยืนขึ้นได้ความเจ็บป่วยก็มีวิทยาการทางการแพทย์ทำให้เจ็บน้อยลง และตายช้าลงได้

ฉะนั้น การศึกษาเป็นกระบวนการสำคัญในการเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่เสริมสร้างชีวิตทั้งสิ้น อย่างเรื่องการแพทย์ก็ไม่จำเป็นจะต้องมุ่งไปกับทางตะวันตกอย่างเดียว แต่แนวทางแบบตะวันออกยังมีความโดดเด่นกว่าในหลายด้าน

มหาวิทยาลัยรังสิตเราก็พยายามทำตรงนี้ หรือเรื่องที่ถูกพูดถึงอย่างมากคือ “กัญชา” เดิมทีโรคมะเร็งอาจจะรักษาไม่ได้ แต่มาวันหนึ่งเริ่มมีหนทางว่ากัญชาอาจจะรักษาได้เราก็ต้องคิดค้นวิจัยต่อไป

แม้แต่การจะทำโรงพยาบาล ที่ทุกวันนี้ยังไม่พอต่อความต้องการ ก็คิดว่าทำไมประเทศเราไม่ทำการแพทย์ของเราให้เป็นฮับ บุคลากรของเรามีคุณภาพทั้งนั้น แต่สัดส่วนแพทย์และพยาบาลยังไม่เพียงพอ ก็ผลิตเพิ่มได้ คนไทยเราเก่งสามารถพัฒนาได้เราจะไปจำกัดโควต้าทำไม? เช่น จำกัดตำแหน่งเปิดรับ ซึ่งสภาพจริงยังขาดแคลนอีกมากมาย

บางคนไปมองว่าถ้าผลิตมากมันจะล้น มันไม่มีวันล้น เพราะความต้องการยังมีอีกมาก แล้วไม่ใช่เพียงเฉพาะแค่คนไทย คนต่างชาติก็เข้ามาใช้บริการจำนวนมาก ทำไมเราไม่สร้างให้เป็น “จุดแข็ง”

ในฐานะอยู่แวดวงการศึกษามองทุกวันนี้ไทยเรากำลังหลงทางเรื่องปฏิรูป?

ทํากันไม่ถูกที่ถูกทางเลย และเป็นปัญหามาโดยตลอด

เราต้องดูเป้าหมายของการศึกษาว่าทำไปเพื่ออะไร เราไปวัดกันตรงแค่ว่าได้คะแนนเท่าไหร่ เก่งหรือไม่เก่ง ไปวัดกันแค่ตรงนั้นมันไม่ใช่ การศึกษาของเราต้องสร้างให้ทุกๆ คน (ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญ) ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ ถ้าเขาไม่ได้มองเป้าหมายแบบนี้ก็ไม่ถูกต้องแล้ว

จะปฏิรูปก็ไปจับจุดไม่ถูก ส่วนใหญ่มุ่งไปปฏิรูปการบริหารก่อนด้วยการเปิดตําแหน่งการบริหารภาคต่างๆ ในกระทรวง

ทำไมเราไม่เอาเรื่องครูผู้สอนเด็กขึ้นมาพูดคุย แล้วมุ่งเป้าไปตรงนั้นก่อน

ที่ผ่านมาบอกว่าปฏิรูปคือปรับโครงสร้างบริหารระดับบน มาอีกสมัยหนึ่งก็ไปที่เรื่องของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แต่นั่นเองทำให้เรื่องผู้สอนถูกลดความสำคัญลง ทั้งๆ ที่แนวโน้มมันต้องสร้างครูพันธุ์ใหม่ พัฒนาขึ้นมาใหม่ ส่งเสริมยกฐานะให้เขา

แต่เราไม่เคยให้ความสำคัญเลย บางที่เอาครูพละมาสอนคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ก็มี การศึกษาของเราถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม อยากให้ดูกรณีเด็กติดถ้ำหลวง น้องอดุลย์ที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้แถมยังพูดได้หลายภาษา แสดงว่าการศึกษาตรงนั้นไม่ได้แปลว่าการที่อยู่พื้นที่ห่างไกลจะไม่สามารถทำให้เด็กมีความสามารถได้

บางทีผมมองว่าเด็กมีความสามารถมากกว่าในเมืองหลวงอีก ที่สำคัญเรามักไปมองการศึกษาแบบแยกส่วนมีกำแพงระหว่างกัน เช่น การแบ่งเขาแบ่งเรา แพทย์ส่วนแพทย์ ศิลปะส่วนศิลปะไม่มีความร่วมมือกัน ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่ผิดทำให้การบริหารราชการก็ยุ่งเหยิงไปหมด การศึกษามันต้องเน้นการมีส่วนร่วมบูรณาการกันหมด แล้วมหาวิทยาลัยรังสิตก็พยายามทำเช่นนั้นอยู่ แพทย์อาจไปร่วมกับคณะอื่นจัดการแสดงละครเวทีได้ เป็นต้น

แนวทางแบบนี้ที่สหรัฐอเมริกาเขาเริ่มต้นกันมานานแล้วไปไกลกว่านั้น คือไม่แบ่งเป็นคณะ ใครอยากทำอะไร ทำอะไรก็ได้ให้มีความสามารถหลายอย่าง

แต่ว่าเรายังไปไม่ถึงจุดนั้นหรอก ซึ่งแบบนี้มันไปได้ไกลกว่าจะอยู่คณะไหนไม่สำคัญ แต่คนนี้เก่งด้านการตลาดคนนั้นเก่งนั้นผลิตมาทำโปรเจ็กต์ร่วมกันเป็นการทลายกำแพงและสร้างความโดดเด่นต่อยอดไปสตาร์ตอัพได้อีก

แต่ถือว่าเรื่องพวกนี้ยังแก้ยากอยู่มันต้องเริ่มที่ผู้สั่งการคือกระทรวงศึกษาธิการ/สกอ. ต้องปล่อยให้มหาวิทยาลัยมีนวัตกรรมของตัวเองได้ไปไกลได้ เขาอาจจะไปได้อย่างรวดเร็วกว่านี้

แต่นี่มีการสั่งและกำกับคุมไว้มีระเบียบแบบแผนที่ให้ทำและห้ามทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้การศึกษาเราไปได้ยาก ต้องเปิดพื้นที่ให้เขาทำไปโชว์ของไป อย่าไปมีกรอบมาก

ห่วงอะไรการเมืองไทย

ผมเป็นห่วงว่าเรายังไม่เข้าใจกันว่าที่เราทำๆ กันหรือต่อสู้กันตั้งพรรคการเมืองกัน หรือจะเลือกตั้งกันทำแล้วเพื่ออะไร ถ้าเรามองเห็นว่าทำไปเพื่อประชาชน ก็ต้องทำอย่างไรที่จะได้การเมืองเพื่อประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ของนักการเมือง คงจะต้องออกแบบให้ประชาชนมีส่วนมีเสียงมีสิทธิและมีส่วนร่วมมากกว่าที่เป็นอยู่ ออกแบบให้เขามีโอกาสมากกว่านี้ รูปแบบทุกวันนี้ที่ออกแบบมาไม่รู้ว่าเพื่อใคร?

เลือกตั้งออกมาแล้วก็คงเหมือนเดิม ส่วนตัวผมคิดว่าอย่างนั้น ผมมีความเป็นห่วง แล้วอยากจะบอกว่าถ้าใครมีความคิดที่อยากจะปฏิรูปจริงๆ ก็ขอให้ทำเพื่อประชาชนเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง

อย่าง “สังคมธรรมาธิปไตย” ที่ผมพูดมาอยู่เสมอหมายถึงแนวคิดที่สังคมจะต้องออกมาช่วยเหลือประชาชน แต่ไม่ใช่ประชานิยมไม่ใช่ว่าไปแจกของ แต่ว่ามีความเป็นสังคมนิยมนิดๆ คือประชาชนของเรายังอ่อนด้อยอยู่มาก ยังยากจนอยู่มากมีความต้องการช่วยเหลืออย่างมาก

ฉะนั้น สังคมหรือรัฐต้องลงไปดูแลเขา เช่น ตั้งสหกรณ์ให้ทำงานผลิตภัณฑ์ออกมาให้มีการขายดูแลเขา ราคายางตกต่ำก็สามารถมีมาตรการดูแลเขาได้ มีโรงงานแปรรูปผลิตดำเนินการเป็นทอดๆ เป็นส่วนๆ

ธรรมา คือไม่ใช่สักแต่ว่า ประชาธิปไตย แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรมหรือไม่ มันไม่เป็นธรรมนะ อย่างคนยากจนก็ไม่เป็นธรรมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เขาต้องได้รับความเป็นธรรมมากกว่านี้ ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช่สักแต่ว่าเสียงข้างมากก็ใช้ได้

ผมอยากจะให้ “ปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง” โดยเฉพาะกติกาการเมืองใหม่ต้องเรียกว่าต้องเขียนในรัฐธรรมนูญใหม่ เวลาคงไม่ใช่อุปสรรค ต้องมาดูว่าจะวางระบบการเลือกตั้งให้ประชาชนได้มีส่วนมากกว่านี้ยังไง

อย่าให้พรรคการเมืองของใครที่ตั้งๆ มาแล้วประชาชนไม่ค่อยได้มีส่วนเท่าไร

ผมอยากจะเห็นประชาชนมีส่วนในการเลือกตัวแทนของพวกเขาจริงๆ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นได้ พรรคการเมืองคงถูกลดความสำคัญลง โดยผู้แทนจะสังกัดพรรคการเมืองก็ได้หรือไม่สังกัดก็ได้แต่ประชาชนจะเอาคนนี้ นาย ก. นาย ข. เป็นตัวแทนเขา ผมมองว่าน่าจะพอมีหาทางที่พอทำได้อยู่

แต่ถ้าจะทำแบบนี้ก็ต้องใช้เวลานานพอสมควรปี 1-2 ปี

แต่นี่มันเสียมา 4 ปีแล้ว แต่ถ้าสมมุติว่าเลือกตั้งไปอย่างนี้ ผมว่าไม่ได้หรอก มันก็เหมือนเดิมนั่นแหละ

ก่อนจากกัน ดร.อาทิตย์ทิ้งท้ายว่า ไม่ทราบกระแสเวลามีข่าวหรือมีคนไปวิเคราะห์ว่ามีชื่อผมไปโผล่ตรงนั้นตรงนี้ เพราะลำพังตอนนี้ทำมหาวิทยาลัยอย่างเดียวก็ไม่มีเวลาอยู่แล้ว

แต่หากอะไรช่วยได้ก็ช่วย แต่จะให้ไปเล่นการเมืองไปมีตำแหน่ง คงไม่ได้แล้ว หมดเวลาของผมแล้ว ให้ไปลงเลือกตั้งคงไม่ไหวแล้ว ปล่อยให้คนรุ่นใหม่ๆ เขาทำไป เพียงแต่เป็นห่วงว่า อยากให้คนในการเมืองคิดถึงส่วนรวมมากกว่านี้

นึกถึงประชาชนมากกว่านี้ อย่าคิดถึงส่วนตัวกันนักเลย!