ตุรกีกับความร้าวฉานขั้วตะวันตก : การประท้วงใหญ่ / ความปั่นป่วนภายใน / การสถาปนาระบบประธานาธิบดี

วิกฤติประชาธิปไตย (14)

ระบอบแอร์โดอานกับโลกหลายขั้วอำนาจ

ในปี 2011 เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลายประการในมหาตะวันออกกลาง

ข้อแรก ได้แก่ การที่สหรัฐถอนกำลังรบออกจากอิรักซึ่งถือกันว่าเป็นการสิ้นสุดของสงครามอิรัก สะท้อนว่ามันเป็นสงครามที่สหรัฐไม่อาจเอาชนะได้ ขณะเดียวกันสหรัฐก็ส่งสัญญาณชัดว่าจะไม่ถอนตัวออกจากภูมิภาคนี้ โดยเสริมกำลังเพิ่มขึ้นในอัฟกานิสถานที่ห่างไกล และมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า

การที่สหรัฐส่ออาการ “กึ่งถอนตัว” จากมหาตะวันออกกลางนี้ ก่อให้เกิดภาวะสุญญากาศทางอำนาจในภูมิภาคในระดับหนึ่ง อำนาจในภูมิภาค ได้แก่ อิหร่าน ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย และอิสราเอล ได้พยายามเข้ามาสวมอำนาจแทนเท่าที่จะเป็นไปได้ และยังมีรัสเซียได้แทรกตัวเข้ามาอีก

ข้อที่สอง เกิดการลุกขึ้นสู้ชาวอาหรับหรือที่เรียกกันว่า “ฤดูใบไม้ผลิชาวอาหรับ” เป็นการลุกขึ้นสู้กับระบอบปกครองแบบรวบอำนาจและลิดรอนสิทธิประชาชน ในกลุ่มประเทศอาหรับหลายประเทศเป็นแบบราชาธิปไตย

การลุกขึ้นสู้ทางสังคมนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นแบบเป็นไปเอง รัฐบาลต่างๆ ก็พากันฉกฉวยประโยชน์จากการลุกขึ้นสู้นี้ เช่น แอร์โดอานแห่งตุรกีเข้าสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่เป็นแกนในการโค่นล้มรัฐบาลฮุสนี มูบารัก ที่ผูกขาดอำนาจ อียิปต์มาถึง 30 ปีเป็นผลสำเร็จ

ฝรั่งเศสฉวยโอกาสชักชวนพันธมิตรนาโต้ที่สำคัญคือสหรัฐและอังกฤษโค่นล้มรัฐบาลกัดดาฟีแห่งลิเบีย

และที่สำคัญคือมหาอำนาจตะวันตก ซาอุดีอาระเบียและกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับ อิสราเอลและตุรกีเข้า แทรกแซงเพื่อโค่นล้มระบอบอัสซาดแห่งซีเรีย จนที่สุดรัสเซียเข้าแทรกแซงบ้างโดยเข้าข้างประธานาธิบดีอัสซาด

การลุกขึ้นสู้ในหลายประเทศอาหรับนี้ ประสบความสำเร็จเบื้องต้นระดับหนึ่ง

แต่ลงท้ายสถานการณ์ทุกอย่างก็กลับไปคล้ายเดิม

บางแห่งยิ่งกลับเลวร้ายลงไปอีก เช่น การฟื้นรัฐบาลทหารขึ้นอีกในอียิปต์

และลิเบียหลังกัดดาฟีตกอยู่ในภาวะอนาอธิปไตย เกิดสงครามกลางเมืองย่อยยับ ประชาชนไม่ได้สิทธิประชาธิปไตยอะไรตามสัญญา

ภูมิภาคมหาตะวันออกกลางยิ่งมีความไม่แน่นอน ปั่นป่วนวุ่นวายมากขึ้น และซาอุดีอาระเบียได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของโลกอาหรับและตะวันออกกลาง โดยการสนับสนุนของสหรัฐและอิสราเอล

ข้อที่สาม สหรัฐสามารถส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษเข้าไปลอบสังหารบิน ลาเดน หัวหน้าใหญ่ของกลุ่มอัลเคด้า ที่เป็นแรงบันดาลใจให้แก่กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ รวมทั้งกลุ่มรัฐอิสลามหรือไอเอสเป็นผลสำเร็จ แต่การตายของบิน ลาเดน ไม่ได้มีผลต่อกลุ่มอัลเคด้าและขบวนการก่อการร้ายแต่อย่างใด ยังคงขยายตัวเติบใหญ่ต่อไป แสดงว่าลัทธิก่อการร้ายนี้มีรากลึกจากเหตุปัจจัยหลายประการ ไม่ได้เกิดจากผู้นำอย่างบิน ลาเดน เพียงไม่กี่คน มันจะเป็นผู้แสดงสำคัญบนเวทีโลกไปอีกนาน เป็นสิ่งสะท้อนว่าระเบียบโลกปัจจุบันไม่สามารถและไม่มีกลไกในการแก้ปัญหาอย่างสันติได้

เหตุการณ์ทั้งสามประการก่อให้เกิดความสับสน การมีสัมพันธ์ไขว้กันไปมา และการพลิกตัวของผู้นำประเทศต่างๆ จนเข้าใจได้ยาก เช่น ตุรกีร่วมมือกับซาอุดีอาระเบียโค่นระบอบอัสซาดในซีเรีย ขณะที่ก็ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงจากการที่ซาอุฯ สนับสนุนการโค่นรัฐบาลจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ที่ตุรกีสนับสนุนกลุ่มนี้อย่างเต็มตัว

ความสับสนปั่นป่วนดังกล่าว เกิดจากสถานการณ์โลกกำลังปรับเปลี่ยนสู่โลกหลายขั้วอำนาจ

กล่าวคือ ไม่ใช่สหรัฐจะก่อสงครามหรือสร้างสันติภาพได้ตามใจชอบเหมือนเดิม มีชาติอื่นๆ รวมทั้งกลุ่มระดับต่ำกว่ารัฐมีกลุ่มก่อการร้ายเป็นต้นพร้อมที่จะเข้ามามีบทบาทในสงครามและสันติภาพของโลกเช่นเดียวกัน

เมื่อถึงปี 2011 ก็ปรากฏชัดว่ามีกลุ่มอำนาจใหม่ มีจีน-รัสเซียเป็นแกน คือ “กลุ่มความร่วมมือเซี่ยงไฮ้” ขึ้นมาท้าทายอำนาจเก่าที่มีสหรัฐ-นาโต้เป็นแกน

ในสถานการณ์ใหม่นี้ เรเจพ แอร์โดอาน ผู้นำตุรกีจำต้องเลือกว่าจะเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใด

จะเป็นกลุ่มอำนาจใหม่หรือกลุ่มอำนาจเก่า แอร์โดอานและพรรคของเขาเลือกที่จะเอนเอียงเข้าข้างอำนาจเก่า และสนับสนุนนโยบายของสหรัฐต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ได้แก่ การสนับสนุนสหรัฐ-นาโต้ ในการโค่นล้มระบอบกัดดาฟีในลิเบีย เข้าร่วมลงขันทำสงครามกลางเมืองในซีเรียเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีอัสซาด

การตัดสินใจดังกล่าวเป็นสิ่งเข้าใจได้ เพราะว่าตุรกีเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ-นาโต้มายาวนานตั้งแต่ทศวรรษ 1950 มาหมางเมินไปบ้างในช่วงสงครามอิรักสมัยประธานาธิบดีบุชผู้ลูก แต่โอบามาประธานาธิบดีคนต่อมาก็พยายามเยียวยาฟื้นสัมพันธ์อันดีขึ้นใหม่ โดยไปเยือนตุรกีในปี 2009 หลังขึ้นดำรงตำแหน่งไม่นาน กล่าวเยินยอตุรกีว่าเป็นแบบอย่างความสัมพันธ์ของสหรัฐกับประเทศมุสลิม ในประการต่อมาก็คือตุรกีมีผลประโยชน์มากกับตะวันตกในด้านการค้า การลงทุน เทคโนโลยี และทางทหาร มิตรใหม่อย่างเช่นรัสเซียและอิหร่าน อาจสำคัญในการช่วยทำให้ตุรกีมีความมั่นคงทางพลังงาน และกลายเป็นฮับส่งก๊าซธรรมชาติจากทั้งสองประเทศไปยังยุโรปได้ แต่ถึงขาดสองประเทศนี้ ตุรกีก็ยังมีอาเซอร์ไบจานเป็นแหล่งส่งก๊าซธรรมชาติโดยไม่ต้องผ่านรัสเซีย ในประการสุดท้าย พอเห็นได้ว่าดุลกำลังขณะนั้นกลุ่มอำนาจเก่ามีความเหนือกว่า และเป็นการง่ายกว่าที่ตุรกีจะเข้ามาแทนที่อำนาจสหรัฐที่กึ่งถอนตัวออกไป โดยไม่ต้องปะทะกับกลุ่มอำนาจเก่า

แต่การตัดสินใจของตุรกีดังกล่าวผิดพลาดอย่างจัง ซึ่งความผิดพลาดนี้จะโทษใครก็ไม่ได้ถนัด นอกจากถือว่าเป็นกรรมเก่าหรือสถานการณ์มาบังตาให้เข้าใจผิดไป

ความผิดพลาดนั้นเกิดจากการกำหนดเป้าหมายของตุรกีที่ต้องการเป็นศูนย์อำนาจหนึ่งที่ตะวันตกยอมรับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตะวันตกไม่เคยคิดเห็นเช่นนั้นเลย ประเทศตะวันตกที่ครองความเป็นใหญ่ในโลกมานานหลายร้อยปี มีการจัดลำดับชั้นอำนาจที่ค่อนข้างแน่นอน นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองมีสหรัฐเป็นแกนกลางเป็นอันดับหนึ่ง อันดับสองได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อันดับสามได้แก่ อิตาลี สเปน เป็นต้น ถ้าหากตุรกีจะเข้าเป็นพวกก็ต้องไปต่อแถวเป็นอันดับท้ายๆ ไม่ใช่อยู่อันดับต้นๆ ที่มาตีเสมอ หากต้องยอมรับนโยบายที่สหรัฐ-นาโต้เห็นว่าดี เช่น การสนับสนุนกลุ่มกบฏชาวเคิร์ดขึ้นมาต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลามหรือกลุ่มไอเอส ซึ่งเป็นสิ่งที่ตุรกียอมรับไม่ได้ และเห็นว่าพวกกบฏชาวเคิร์ดเป็นกลุ่มก่อการร้ายสำคัญของตน

ความผิดพลาดอีกประการหนึ่ง ได้แก่ ตุรกีประเมินศักยภาพของรัสเซียและอิหร่านต่ำไป

รัสเซียเป็นประเทศที่มีการข่าวกรอง การปฏิบัติการลับ การปฏิบัติการข่าวสาร เป็นอันดับต้นของโลก ทั้งยังเป็นมหาอำนาจทางนิวเคลียร์ไม่แพ้สหรัฐ รวมความว่ามีความสามารถสูงในการทำ “สงครามพันทาง”

ส่วนอิหร่านนั้นมีกองทัพที่เข้มแข็งมาก มีผู้บัญชาการทหารที่โดดเด่น และสามารถพัฒนาอาวุธด้วยตนเองอย่างน่าทึ่ง

สงครามกลางเมืองในซีเรียที่อัสซาดพลิก ขึ้นมาเป็นต่อได้ ที่สำคัญอาศัยกำลังหนุนช่วยทางภาคพื้นดินจากอิหร่านและกลุ่มที่อิหร่านหนุน มีกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ เป็นต้น และการโจมตีทางอากาศจากรัสเซีย

เมื่อตุรกีถลำลึกไปจนถึงขั้นยิงเครื่องบินรบของรัสเซียตก

รัสเซียก็ยิ่งเพิ่มการกดดัน เปิดโปงการสมคบคิดระหว่างทางการตุรกีกับกลุ่มไอเอสอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นเป็นผู้รับซื้อน้ำมันจากกลุ่มไอเอสมาขายต่อทำกำไร กระทั่งออกบทความขู่ว่าหากตุรกีปิดช่องแคบบอสฟอรัส ตัดเส้นทางเดินเรือจากทะเลดำสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน รัสเซียก็อาจจำต้องใช้กำลังเปิดเส้นทางนี้ ถึงขั้นใช้อาวุธนิวเคลียร์ก็ต้องยอมทำ

เมื่อสถานการณ์ไม่เป็นไปตามคาดมากเช่นนั้น ก็ถึงเวลาที่แอร์โดอานต้องกลับลำ

ความร้าวฉานกับสหรัฐและตะวันตก

การกลับลำของแอร์โดอานไม่ได้เป็นไปอย่างปุบปับ ก่อตัวสั่งสมตั้งแต่ปี 2013 พร้อมกับมีการตระเตรียมพลังทางการเมืองในประเทศ

ในปี 2013 มีเหตุการณ์ใหญ่ที่ทำให้แอร์โดอานและพันธมิตรมีความหวาดระแวงสหรัฐและตะวันตกมากขึ้นทุกทีว่ามีการสมคบคิดเพื่อทำให้ตุรกีอ่อนแอ ตกเป็นเบี้ยล่างอย่างไม่อาจฟื้นตัวขึ้นมาได้ เหมือนเคยทำมาแล้วในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยในช่วงนั้นมีตัวแทนจากอังกฤษและฝรั่งเศสได้ทำข้อตกลงลับที่เรียกว่า “ข้อตกลงไซคส์-ปิโกต์” (ตกลงสำเร็จปี 1916 ก่อนสิ้นสงคราม) ว่าจะแบ่งดินแดนจักรวรรดิออตโตมานออกเป็นส่วนๆ ส่วนหนึ่งเป็นตุรกีแท้ ส่วนหนึ่งเป็นดินแดนเมืองขึ้นในตะวันออกที่จะแบ่งสรรกันระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส เมื่อสงครามยุติลง อังกฤษกับฝรั่งเศสก็แบ่งดินแดนในปกครองของตุรกีตามแนวข้อตกลงนั้น ในสนธิสัญญาแซฟส์ (ลงนามเดือนสิงหาคม 1920) ที่เฉือนดินแดนส่วนใหญ่ของตุรกีไป ที่เป็นตุรกีแท้ก็ไม่ได้อธิปไตยเต็มที่ ถูกบีบบังคับทั้งทางการเงินและการทหาร จนกระทั่งมุสตาฟา เคมาล นายทหารตุรกี ทำสงครามปลดปล่อย จนได้อำนาจอธิปไตยมาเต็มตัว โดยการทำสนธิสัญญาโลซานน์ (ลงนามเดือนกรกฎาคม 1923) ดินแดนที่เสียไปแล้วก็เสียไปเลย

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่ฝังใจของชาวตุรกีผู้รักชาติไม่รู้ลืม พรรคการเมืองที่หล่อเลี้ยงความรู้สึกนี้ได้แก่ พรรคขบวนการผู้รักชาติ (เรียกชื่อย่อว่าพรรคเอ็มเอชพี ก่อตั้งปี 1969) ที่มีบทบาททางการเมืองสำคัญตั้งแต่ปี 2015 โดยเข้าเป็นพันธมิตรกับพรรคเอเคพี และมีส่วนให้นโยบายของแอร์โดอานมีลักษณะเป็นแบบชาตินิยม และระแวงตะวันตกมากขึ้น จนเมื่อถึงปี 2017 เขาถึงกับปฏิเสธค่านิยมตะวันตกว่าเป็นอันตรายต่อค่านิยมและประเทศตุรกี เขากล่าวว่า “เยาวชนตุรกีที่เดินทางมาศึกษาในประเทศตะวันตกและกลับไปพร้อมกับวัฒนธรรมตะวันตก ลืมเอกลักษณ์ของชาติ บุคคลผู้ที่ตุรกีหวังจะให้มาช่วยแก้ปัญหามากมายของประเทศ ได้กลับสู่ประเทศอย่างเป็นสายลับอาสาสมัครของตะวันตก” (ดูรายงานข่าวของ Raf Sanchez ชื่อ Erdogan says young Turks who study in West return as “spies” but his own children studied in US ใน The Telegraph 21.09.2017)

เหตุการณ์ใหญ่ในปี 2013 สามประการที่เป็นจุดพลิกท่าทีต่อสหรัฐและตะวันตก ได้แก่

ประการแรก การก่อรัฐประหารโค่นล้มประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง นายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี แห่งกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในเดือนกรกฎาคม

โดยคณะนายทหารที่นำโดยนายพลอัล-ซีซี ที่ได้รับการสนับสนุนจากซาอุดีอาระเบีย อิสราเอลและสหรัฐ และตะวันตกนิ่งเฉย ไม่ได้คุ้มครองรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างที่ป่าวประกาศ แม้ประธานาธิบดีโอบามาที่เคยสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมว่าเป็นมุสลิมสายกลาง ทำให้แอร์โดอานเกิดความรู้สึกว่า เมื่อมอร์ซีถูกรัฐประหารได้ ตนเองที่หนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมอย่างแข็งขันก็ถูกทำเช่นนั้นได้เหมือนกัน เพราะในภูมิภาคนี้ซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลมีความสำคัญต่อสหรัฐและตะวันตกมากกว่าตุรกี

ประการต่อมา ได้แก่ การประท้วงใหญ่ที่สวนสาธารณะเกซีบริเวณจัตุรัสทักซิม กรุงอิสตันบูล การประท้วงเริ่มต้นจากกลุ่มอนุรักษ์ขนาดไม่ใหญ่ ในปลายเดือนพฤษภาคม คัดค้านนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการปรับปรุงบริเวณดังกล่าวให้เป็นแหล่งธุรกิจ-ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแบบการพัฒนาเมืองของรัฐบาลมาหลายปี และไม่เป็นที่พอใจของสาธารณชน การประท้วงได้ขยายตัวไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็วเมื่อรัฐบาลใช้ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม กว่าจะจัดการให้เรื่องสงบได้ก็ยืดเยื้อไปจนถึงเดือนสิงหาคม โดยรัฐบาลเลิกล้มโครงการไป แอร์โดอานเห็นว่ากลุ่มหัวรุนแรงเป็นพวกจุดชนวนให้เรื่องบานปลาย ทั้งหมดสะท้อนอำนาจที่อ่อนลงของเขาและพรรคเอเคพี

เหตุการณ์ที่สาม ได้แก่ การแตกร้าวกับกลุ่มหรือชุมชนกูเลน ชุมชนนี้นำโดยเฟตฮูลาห์ กูเลน ผู้ฟื้นฟูศาสนาอิสลามในตุรกี โดยใช้เครื่องมือทางสังคมสงเคราะห์ ผสานกับการจัดตั้งผ่านสถาบันการศึกษา การสร้างเครือข่ายซึมลึกในกลไกรัฐทั้งตำรวจและทหาร และการสร้างเครือข่ายนักธุรกิจและนักอุตสาหกรรมของตน โดยอาศัยการอิงกับกลุ่มทหาร เขาหลบหนีการรัฐประหารแบบหลังสมัยใหม่ เพราะเกรงว่าจะถูกจับขึ้นศาลทหาร ลี้ภัยไปอยู่ที่สหรัฐในปี 1999 และเป็นที่เชื่อโดยทั่วไปในหมู่ชาวตุรกีว่าได้รับการโอบอุ้มจากสหรัฐ

ความร้าวฉานระระหว่างกลุ่มกูเลนและแอร์โดอานปรากฏชัดในเดือนธันวาคม 2013 เมื่อลูกชายของรัฐมนตรีสามคน นายกเทศมนตรีหนึ่งคน และนักธุรกิจหลายคนที่โยงใยกับพรรคเอเคพีถูกจับในข้อหารับสินบน การสอบสวนขยายตัวทำให้บุคคลสำคัญในรัฐบาลหลายคนต้องลาออก

ที่สำคัญได้แก่ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมและการวางแผนเมือง ทั้งยังมีข่าวเล็ดลอดมาว่าการสอบสวนลามไปถึงแอร์โดอานเอง ปรากฏว่าคณะนายตำรวจที่ทำงานด้านนี้เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับกลุ่มกูเลน จากนั้นการกวาดล้างกลุ่มกูเลนของแอร์โดอานก็หนักหน่วงขึ้น เป็นความร้าวฉานที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับความหวาดระแวงต่อสหรัฐในตุรกี

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงครั้งแรก (ในระบบเก่า 2014) การก่อรัฐประหาร 2016 การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกในระบบประธานาธิบดีของตุรกี 2018