คลับของชาติตะวันตก ตอนที่ 1 “เมื่อเสรีนิยมเสื่อม?”

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

หลังจากเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาแล้วผลออกมาว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ได้รับชัยชนะ ชาติตะวันตกตื่นตระหนกพร้อมกับความวิตกกังวลอย่างแท้จริงต่อระบบเสรีนิยมระหว่างประเทศที่นำโดยสหรัฐอเมริกา (US-Led liberal International Order)

เมื่อก่อนนั้นสหรัฐอเมริกาได้ประเมินว่า นางฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) จะได้รับชัยชนะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากนายบารัค โอบามา (Barack Obama) โดยยังคงสืบต่ออย่างเหนียวแน่นในระบบเสรีนิยม

พวกเขาละเลยและหลงลืมสิ่งตักเตือนหลายอย่างถึงวิกฤตการณ์และการทดถอยของระบบเสรีนิยม

เป็นที่เชื่อกันว่า ความยืดหยุ่นของระบบเสรีนิยมเปลี่ยgนแปลงอย่างมากนับตั้งแต่ 6 พฤศจิกายน 2016

 

ความเสื่อมถอยจากภายใน

ก่อนที่จะพูดถึงปัญหา ความเสื่อมถอย วิกฤตการณ์ จนกระทั่งถึงเรื่องการล่มสลายของระบบเสรีนิยมระหว่างประเทศ เราควรทำความเข้าใจก่อนว่า ระบบเสรีนิยม (liberal order) คืออะไร?

สิ่งนี้คือระบบระหว่างประเทศอันหนึ่งที่สร้างและบริหารจัดการโดยสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อสนับสนุนระบบทุนนิยมและประชาธิปไตย ผ่านการสร้างพันธมิตรและสถาบันพหุพาคี (multilateral Institution) หลายๆ สถาบัน

สิ่งเหล่านี้สนับสนุนระบบเสรีนิยมให้เป็นระบบเปิด (Open) ระบบอิงกับกฎกติกา (rules-based) และระบบพหุพาคีได้ดำเนินการโดยความเห็นชอบ (consent) มากกว่าการบังคับ (coercion)

ระบบนี้โดยพื้นฐานสนับสนุนตัวมันเองและมีความลำเอียง

ในความเป็นจริง ระบบเสรีนิยมคือ คลับของชาติตะวันตก ( Club of the West)

ระบบนี้สำหรับประเทศอื่นๆ ได้รับประโยชน์จากระบบนี้ อันได้แก่ การเข้าถึงตลาด ความช่วยเหลือและการลงทุน อีกทั้งอยู่ภายใต้ร่มเงาด้านความมั่นคง ซึ่งบ่อยครั้งเป็นไปอย่างเลือกปฏิบัติและมีเงื่อนไข ประเทศเจริญแล้วชั้นนำ รวมทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนและอินเดีย เป็นทั้งประเทศที่อยู่ภายนอกของระบบเสรีนิยมหรือเกี่ยวข้องกับผลได้จากระบบดังกล่าว

สุดท้ายแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาถูกผลักดันออกไปจากระบบนี้

ระบบเสรีนิยมบ่อยครั้งได้ดำเนินการอย่างมากโดยการบังคับมากกว่าการยอมรับ ระบบนี้ยากมากที่จะใช้กับประเทศโลกที่ 3 ซึ่งความขัดแย้งระดับท้องถิ่นขยายตัวออกอย่างมากเพราะการแทรกแซงจากมหาอำนาจภายนอกซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาและเหล่าพันธมิตรของชาติตะวันตกสร้างความสับสนให้

การปรากฏตัวของทรัมป์

การก้าวขึ้นมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พิสูจน์ว่าสิ่งท้าทายต่อระบบเสรีนิยมส่วนมากเกิดจากภายในสหรัฐอเมริกา มากกว่าเกิดขึ้นจากภายนอก

ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ได้เป็นสาเหตุแห่งวิกฤตการณ์ของระบบเสรีนิยม

แต่กลับเป็นผลมากกว่า ระบบเสรีนิยมเริ่มต้นมีการกระทบกระเทือนและเกิดการวิพากษ์วิจารณ์และแตกเป็นส่วนๆ ก่อนการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างไม่ได้สอดคล้องของระบบเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการก้าวขึ้นมาของสาธารณรัฐประชาชนจีนและมหาอำนาจที่ไม่ใช่ชาติตะวันตกอื่นๆ

การเติบโตของการค้าโลกชะลอตัวและองค์การการค้าโลก (World Trade Organization-WTO) เกือบจะล้มหายตายจากในบางครั้ง สัดส่วนของการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาได้สร้างมายาภาพไปแล้วว่ามีตลาดเสรีและการค้าเสรี ในขณะที่ทรัมป์สามารถเร่งและฉกฉวยประโยชน์จากความรู้สึกเหล่านี้อันเป็นรากฐานการก้าวขึ้นทางการเมืองของทรัมป์

นโยบายต่างๆ ของทรัมป์กำลังผลักดันระบบเสรีนิยมเข้าใกล้หน้าผามากขึ้น

เขาทำให้ความผูกมัดของสหรัฐอเมริกาต่อการค้าเสรีและระบบพหุพาคีอ่อนแออย่างชัดเจน

อีกทั้งการก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากำลังสนับสนุนระบบประชานิยม (populism) และผู้นำระบบอำนาจนิยม (authoritarianism) ทั่วโลก ทรัมป์แสดงความสนใจมากกว่าในการเกาะเกี่ยวประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ของรัสเซีย และประธานาธิบดีคิม จอง อึน (Kim Jong Un) แห่งเกาหลีเหนือ มากกว่านายกรัฐมนตรีแองเจลา แมร์เคิล ( Angela Merkel) ของสหพันธรัฐเยอรมนี และนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ (Theresa May) แห่งสหราชอาณาจักร

 

ความเสื่อมถอยกับผลต่อเอเชีย

เอเชียอยู่ในโซนสีเทาๆ ของระบบเสรีนิยมมานานตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

บางประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกว่า เสือแห่งเอเชียตะวันออก (East Asian Tigers) ได้รับ

ประโยชน์จากยุทธศาสตร์การเติบโตจากนโยบายการส่งออก (Export-led growth Strategy) และการเข้าถึงตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งระบบเสรีนิยมให้ความอำนวยความสะดวกอยู่ ทว่า ประเทศทุนนิยมเอเชียตะวันออกได้ประนีประนอมกับรัฐที่เข้มแข็ง (strong state) ประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้หาได้ยากและไม่เป็นเสรีนิยม (illiberal) นำโดยระบบพรรคการเมืองเดียว (one-party rule) ตบตาด้วยการเลือกตั้ง อีกทั้งยังขาดแคลนการสนับสนุนสิทธิพลเมือง

สหรัฐอเมริกาบั่นทอนการพัฒนาสถาบันพหุพาคีในระดับภูมิภาคในเอเชีย ชอบพูดแต่เฉพาะเป็น hub และระบบพันธมิตรทวิภาคี (bilateral alliances) องค์กรอาเซียน (ASEAN) สถาบันพหุภาคีระดับภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จที่สุดได้มีการสถาปนาขึ้น โดยไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรจากสหรัฐอเมริกา องค์การอาเซียนมาจากระบบเสรีนิยม แต่ไม่ได้เพราะว่าระบบเสรีนิยม

โดยแท้จริงแล้ว ระบบเสรีนิยมเสื่อมถอยลงมากเกิดจากปัญหาภายในโดยเฉพาะการปรับตัวและการปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับระบบทุนนิยมโลก แต่การปรากฏตัวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งความคิดอันโลดโผน นโยบายแปลกๆ แต่กระทบแก่นแกนของระบบเสรีนิยม

เช่น การกีดกั้นแรงงานย้ายถิ่นจากต่างประเทศ

การไม่ยอมตกลงสนับสนุนกลุ่มประเทศ G8

การแก้ปัญหาการเสียดุลการค้าของสหรัฐอเมริกาด้วยการขึ้นภาษีการค้ากับหลายประเทศ

อันนำมาสู่สงครามการค้า

รวมทั้งความบ่มิไก๊ขององค์กรการค้าระหว่างประเทศล้วนนำมาสู่การเสื่อมถอยของระบบเสรีนิยมอย่างรวดเร็ว

ตอนต่อไปเราควรอธิบายการปรากฏตัวและพฤติกรรมของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้มากขึ้น รวมทั้งการสถาปนาสิ่งท้าทายระบบเสรีนิยมที่ก่อตัวอย่างรวดเร็ว เราอาจเรียกขานว่า คลับของชาติตะวันออก

โปรดติดตามตอนต่อไป