วิเคราะห์-ย้อนดู “การพลิกโฉมของธนาคารของไทย” ตั้งแต่หลังสงครามโลก จนถึงวันนี้ ใครอยู่?ใครไป!

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

สองทศวรรษสังคมธุรกิจไทย (3) สถาบันการเงินพลิกโฉม

โฉมหน้าใหม่สถาบันการเงินไทย มีความสัมพันธ์กับบทบาทธนาคารระดับโลกอย่างมากๆ

โฟกัสไปยังระบบธนาคารพาณิชย์ แกนกลางระบบสถาบันการเงิน ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คงเป็นธนาคารตามกฎหมายอันเคร่งครัด ถือหุ้นและบริหารโดยคนไทยตลอดช่วง 4 ทศวรรษ

เป็นความพยายามอย่างยิ่งยวดกับนิยาม “ธนาคารไทย” ท่ามกลางยุคสงครามเวียดนาม ภายใต้อิทธิพลสหรัฐ ในกระแสธุรกิจตะวันตก และญี่ปุ่นพาเหรดกันเข้ามา

ธนาคารไทยส่วนใหญ่ถือหุ้นใหญ่โดยครอบครัว กลายเป็นตระกูลธุรกิจทรงอิทธิพล เป็นธุรกิจสำคัญมีบทบาทเป็นกลไกสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐพยายามปกป้อง

ในช่วงเวลาดังกล่าวมีเพียงธนาคารเดียวที่มีอันเป็นไป ในกรณี ธนาคารเอเชียทรัสต์

จนมาถึงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 ธนาคารไทยเผชิญปัญหาครั้งร้ายแรง ตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ไม่ทันตั้งตัว นั่นคือปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ ธนาคารต่างชาติทะลวงเข้ามาอยู่ในระบบธนาคารไทย

“กรณีสถาบันการเงินมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยถือหุ้นเกินร้อยละ 49 และมีกรรมการที่เป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย ตั้งแต่กึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด สถาบันการเงินต้องได้รับการผ่อนผันจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน โดยพิจารณาผ่อนผัน 3 กรณี ได้แก่ 1) กรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขฐานะการดำเนินการของสถาบันการเงิน หรือ 2) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันการเงิน หรือ 3) เพื่อความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน”

เอกสารธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวอ้างอิงปรากฏการณ์สำคัญเอาไว้

 

คลื่นลูกแรก (2541-2542)

เหตุการณ์เปิดฉากโหมกระหน่ำธนาคารขนาดเล็ก

ปี 2541 ธนาคารเอเชีย ขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กับ ANB Amro แห่งเนเธอร์แลนด์ และธนาคารไทยทนุ ขายหุ้นส่วนให้ DBS ธนาคารอันดับหนึ่งแห่งสิงคโปร์

และปี 2542 ธนาคารแหลมทองซึ่งเพิ่งถูกสั่งปิดกิจการ (ปี 2541) และโอนสินทรัพย์มาตั้งธนาคารใหม่

ธนาคารรัตนสินได้ขายกิจการให้ UOB ธนาคารใหญ่สิงคโปร์อีกแห่ง

ปีเดียวกันนั้น ธนาคารนครธน ธนาคารเก่าแก่ก่อตั้งตั้งแต่ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ขายหุ้นข้างมากให้กับ Standard Chartered Bank แห่งอังกฤษ

 

ธนาคารใหม่

“The return of banking profitability in 2001 signaled a turnaround of the crisis and an opportunity to focus on developing a financial system (จุดเริ่มต้นเริ่มต้นผลกระทบการธนาคารทั้งระบบเริ่มกำไรในปี ถือเป็นโอกาสให้ความสำคัญพัฒนาระบบสถาบันการเงิน)” เนื้อหาบางตอน สารผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ดำรงตำแหน่ง 31 พฤษภาคม 2544 – 6 ตุลาคม 2549) ในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทย ภาคภาษาอังกฤษ (Thailand”s Financial Sector Master Plan Handbook 24 สิงหาคม 2549) กล่าวถึงจุดเริ่มต้นสำคัญ

สาระสำคัญควรกล่าวถึงการจัดระเบียบสถาบันการเงินไทย

“สถาบันการเงินไทยในระยะต่อไปจะมีเพียง 2 รูปแบบ” หนึ่ง – “ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) สําหรับสถาบันการเงินที่มีความสามารถและมีทุนเพียงพอ โดยธนาคารพาณิชย์ประเภทนี้จะสามารถให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าได้ทุกกลุ่มและทําธุรกรรมทางการเงินได้เกือบทุกประเภท… ทั้งนี้ ธพ. จะต้องมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท”

และ สอง – “ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย (ธย.) สําหรับสถาบันการเงินที่มีความสามารถแต่มีเงินทุนน้อยกว่าธนาคารพาณิชย์ประเภทนี้จะให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม… ทั้งนี้ ธย. จะต้องมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท”

การเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นด้วยการอนุญาตให้ก่อตั้งธนาคารใหม่

ช่วงปี 2547-2550 กระทรวงการคลังอนุมัติการตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่ ประเภทแรก 3 แห่ง และอีกประเภทหนึ่ง ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย 2 แห่ง

 

ควบรวมธนาคาร

ตามแผนการข้างต้น มีสาระสำคัญบางส่วน ก่อความเคลื่อนไหว ปรับโครงสร้างธนาคารอย่างไม่เคยเกิดขึ้นเป็นขบวนมาก่อน ในหัวข้อ “ให้มีกฎ ระเบียบที่ส่งเสริมประสิทธิภาพการดําเนินงานของสถาบันการเงิน” โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญที่ว่าด้วย “ผ่อนปรนหลักเกณฑ์ทางด้านภาษีเพื่อส่งเสริมการควบรวมกันระหว่างสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้สถาบันการเงินได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale)”

นั่นคือ ปรากฏการณ์ควบรวมธนาคารหลายแห่งเกิดขึ้น

ในปี 2547 เหตุเกิดที่ธนาคารทหารไทย และปีต่อมา (2548) UOB (Singapore) ขณะนั้นเป็นเจ้าของธนาคารพาณิชย์ไทย 2 แห่งคือธนาคารเอเชียและธนาคารยูโอบีรัตนสิน ได้ปรับโครงสร้างควบรวมธนาคารทั้งสองเข้าด้วยกัน พร้อมเปลี่ยนชื่อให้เป็นธนาคารยูโอบี

 

โครงสร้างเครือข่าย

อีกประเด็นหนึ่งให้มีกฎ ระเบียบที่ส่งเสริมประสิทธิภาพการดําเนินงานของสถาบันการเงิน

“ส่งเสริมให้สถาบันการเงินมีความยืดหยุ่นในการประกอบธุรกิจมากขึ้น โดยสถาบันการเงินสามารถเลือกที่จะมีโครงสร้างกลุ่มธุรกิจในรูปแบบ Bank-parent structure หรือ Holding company structure ก็ได้ และมีขอบเขตการประกอบธุรกิจที่กว้างขึ้น”

ถือเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจธนาคารให้มีความหลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น เป็นปรากฏการณ์ตามยุคสมัย ตามโมเดลธนาคารระดับโลก ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดการบริหารธนาคารไทยในยุคก่อนหน้านั้น

ในปี 2548 ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารดั้งเดิม ผู้นำการเปลี่ยนแปลง เปิดฉากนำร่องโครงสร้างใหม่ตามโมเดล Holding company structure ภายใต้ชื่อ KASIKORNBANKGROUP ซึ่งมีโครงสร้างประกอบด้วย 6 ธุรกิจ จากนั้นตามมาด้วยธนาคารใหม่ ในปีเดียวกันกรณี ทุนธนชาต กลายเป็นบริษัทแม่ (Holding company structure) ของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ทั้งธุรกิจธนาคารคือธนาคารธนชาต และธุรกิจเกี่ยวข้องและข้างเคียง

เช่นเดียวกับกรณีทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ปในปี 2552

 

ปรับโครงสร้างต่อเนื่อง

ทั้งการปรับโครงสร้างธุรกิจ การปรับโครงสร้างความเป็นเจ้าของดำเนินไป เป็นไปอย่างหลากหลายรูปแบบ อย่างมีจังหวะก้าวมากขึ้น ไม่ว่ากรณีธนาคารต่างชาติเข้ามาถือหุ้นใหญ่และมีบทบาทบริหาร กรณี CIMB (Malaysia) กับธนาคารไทยธนาคาร (ปี 2552) Industrial and Commercial Bank of China กับธนาคารสินเอเซีย (ปี 2553) กรณีล่าสุด BTMU แห่งญี่ปุ่นกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา (ปี 2556)

มีการครอบงำกิจการและควบรวมธนาคารด้วยกัน ในกรณีธนาคารธนชาตกับธนาคารนครหลวงไทย (ปี 2554) และกรณีธนาคารเกียรตินาคินกับทุนภัทร (ปี 2555) รวมทั้งกรณีธนาคารต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนข้างน้อยแต่มีบทบาทพอสมควร ในกรณีธนาคารทหารไทย (ปี 2550) และธนาคารธนชาต (ปี 2552)

ดูเหมือนว่าในช่วงที่ผ่านมาระยะใกล้ๆ ธนาคารไทยทั้งระบบมีความพร้อม มีความสามารถในการปรับตัวดีขึ้น ภายใต้ความหลากหลายและสมดุลมากกว่าที่เคยเป็น

 

วิวัฒนาการธนาคารไทย

2449 ธนาคารสยามกัมมาจล ก่อตั้ง, 2482 เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารไทยพาณิชย์

2476 ธนาคารหวั่งหลีจั่น ก่อตั้ง, 2516 เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารหวั่งหลี, 2542 Standard Chartered Bank แห่งอังกฤษ เข้าถือหุ้นใหญ่ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน, 2548 เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)

2477 ธนาคารตันเปงชุน ก่อตั้ง, 2503 เปลี่ยนแปลงการบริหาร เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารไทยพัฒนา, 2520 ทางการและสมาคมธนาคารไทยเข้ากอบกู้กิจการ เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารมหานคร, 2541 ถูกปิดกิจการ โดยโอนสินทรัพย์ไปรวมกับธนาคารกรุงไทย

2483 ธนาคารแห่งเอเชีย เพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ก่อตั้ง, 2519 เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารเอเชีย, 2541 ANB Amro Bank (Netherland) เข้าถือหุ้นใหญ่, 2547 ผู้ถือหุ้นใหญ่เปลี่ยนมาเป็น UOB (Singapore), 2548 รวมกิจการกับธนาคารยูโอบีรัตนสิน เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารยูโอบี

2484 ธนาคารนครหลวงไทย ก่อตั้ง, 2554 ขายกิจการ เข้าไปควบรวมกิจการเป็นธนาคารธนชาต

2487 ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ก่อตั้ง, 2541 ถูกปิดกิจการแล้วโอนสินทรัพย์ไปรวมกับธนาคารกรุงไทย

2487 ธนาคารกรุงเทพ ก่อตั้ง

2488 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก่อตั้ง, 2556 Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ (BTMU) แห่งญี่ปุ่นเข้าถือหุ้นใหญ่

2488 ธนาคารกสิกรไทย ก่อตั้ง

2491 ธนาคารแหลมทอง ก่อตั้ง, 2541 ถูกปิดกิจการโอนสินทรัพย์ตั้งธนาคารใหม่ ธนาคารรัตนสิน, 2542 UOB (Singapore) เข้าถือหุ้นใหญ่ เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารยูโอบีรัตนสิน, 2548 รวมกิจการกับธนาคารเอเชีย เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารยูโอบี

2492 ธนาคารไทยทนุ ก่อตั้ง, 2541 DBSBank (Singapore) เข้าถือหุ้นใหญ่ เปลี่ยนชื่อเป็นดีบีเอสไทยทนุ, 2547 ควบรวมกิจการกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม และธนาคารทหารไทย โดยใช้ชื่อธนาคารทหารไทย

2492 ธนาคารสหธนาคาร ก่อตั้ง, 2541 ถูกปิดกิจการแล้วโอนสินทรัพย์ไปรวมกับกิจการเงินทุนหลายแห่ง ตั้งธนาคารใหม่ ธนาคารไทยธนาคาร, 2552 CIMB (Malaysia) เข้าถือหุ้นใหญ่ เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

2493 ธนาคารศรีนคร ก่อตั้ง, 2545 ถูกปิดกิจการโอนสินทรัพย์ไปรวมกับธนาคารนครหลวงไทย

2499 ธนาคารทหารไทย ก่อตั้ง, 2550 ขายหุ้นจำนวนประมาณ 25% ให้ ING Bank N.V. (Netherland)

2509 ธนาคารกรุงไทย ก่อตั้ง เกิดจากการรวมธนาคารของรัฐ 2 แห่งได้แก่ ธนาคารมณฑล (ก่อตั้งปี 2485) และธนาคารเกษตร (ก่อตั้งปี 2492)

2547 ธนาคารสินเอเชีย ก่อตั้ง, 2553 Industrial and Commercial Bank of China เข้าถือหุ้นใหญ่ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารไอซีบีซี (ไทย)

2547 ธนาคารธนชาต ก่อตั้ง, 2552 ขายหุ้นประมาณ 49% ให้ Scotiabank (Canada)

2547 ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย, 2554 ปรับฐานะเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ เปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

2547 ธนาคารเกียรตินาคิน, 2555 รวมกิจการกับกลุ่มทุนภัทร เรียกว่า กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

2547 ธนาคารทิสโก้ ก่อตั้ง

2550 ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย ก่อตั้ง