เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : ภูมิเมืองกาญจน์

๐ ภูมิศาสตร์ ภูมิทัศน์

ภูมิประวัติ ภูมิธรรม

ภูมไผท ภูมิใจนำ

ตำนานเนือง ภูมิเมืองกาญจน์ ฯ

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มประชาชน “ภูมิเมืองกาญจน์” ได้เข้ายื่นหนังสือถึง สนช. ที่สภาผู้แทนราษฎร โดยมีรองประธานสภาคือนายพีระศักดิ์ พอจิต เป็นผู้รับหนังสือ

ข้อเรียกร้องของกลุ่มภูมิเมืองกาญจน์สองข้อคือ

1. ขอให้ยุติการนำโรงงานกระดาษกาญจนบุรีเข้าสู่การประมูลตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน

2. ขอให้ยกพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นพื้นที่สาธารณะและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ “ภูมิบ้านภูมิเมืองกาญจน์” ซึ่งจะมีพิพิธภัณฑ์เมืองในรูปแบบหอศิลป์เป็นหลัก

นั่นเป็นใจความโดยสังเขป

ขยายความคือ

ข้อ 1. พ.ร.บ.ร่วมทุนของกรมธนารักษ์ คือ เปิดประมูล ให้เอกชนเข้าประมูลทำธุรกิจในพื้นที่ได้ตามที่ พ.ร.บ. กำหนดว่า ทรัพย์สินมูลค่าหนึ่งพันห้าร้อยล้านบาทเป็นต้นไปต้องเปิดประมูลให้เอกชนเข้าทำเท่านั้น

ข้อเสนอของกลุ่มภูมิเมืองกาญจน์ซึ่งเป็นภาคประชาชนคือ

ขอพื้นที่ที่กรมธนารักษ์ดูแลอยู่นี้เพราะเป็นที่ราชพัสดุ คืนให้เป็นพื้นที่สาธารณะตามข้อ 2 โดยบริหารจัดการร่วมของ 3 ภาคส่วนคือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มิใช่เอกชนแต่ฝ่ายเดียวตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนนั้น

ขยายความคำเรียกร้องข้อ 2 คือ

พื้นที่โรงงานกระดาษเกือบ 70 ไร่นี้อยู่ในบริเวณกำแพงเมืองเก่า คือกำแพงเมืองครั้งสร้างเมืองกาญจน์ พ.ศ.2374 สมัยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้ย้ายเมืองกาญจน์จากถิ่นเมืองกาญจน์เดิมบริเวณบ้านท่าเสา ต.ลาดหญ้า มาอยู่ที่ปัจจุบัน ด้วยเหตุผลเป็นชัยภูมิยุทธศาสตร์สำคัญของเมืองด่านด้านตะวันตก

พื้นที่โรงงานกระดาษเกือบ 70 ไร่อยู่ตรง “ใจกลางเมือง” พอดี ซึ่งกินอาณาบริเวณทั้งหมดเกือบถึง 50% ของบริเวณกำแพงเมืองกาญจน์

พื้นที่ใจกลางเมืองเช่นนี้ถือเป็นที่ราชพัสดุมีกรมธนารักษ์ดูแล และถือเป็นเขตโบราณสถานที่กรมศิลปากรต้องดูแลด้านตัวอาคารสถานที่ด้วย

พื้นที่เช่นนี้มิบังควรให้ใช้เป็นที่เพื่อสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจแก่เอกชนใดทั้งสิ้น

โรงงานกระดาษที่สร้างและเปิดใช้เมื่อ พ.ศ.2481 นั้นเป็นไปตามมติ ครม.สมัยนั้น เพื่อผลิตกระดาษซึ่งขาดแคลนช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ธนบัตรรุ่นแรกๆ ของไทยเราก็ผลิตจากโรงงานกระดาษแห่งนี้

มติ ครม.ที่อนุมัติในช่วงนั้นเป็นไปตามความจำเป็นของสภาวการณ์ยุคนั้น จึงเป็นข้อยกเว้นของข้อกำหนดกฎหมายเรื่องการประกอบธุรกิจในเขตโบราณสถาน

ครั้นหมดภาระเรื่องผลิตกระดาษ รัฐบาลให้เอกชนเช่ารับสัมปทานผลิตกระดาษต่ออีก 30 ปี บริษัทผู้รับสัมปทานต่อคือ บ.ศิริศักดิ์ ซึ่งทางบริษัทได้ซื้อทรัพย์สินของโรงงานคือตัวอาคาร 3 หลังพร้อมเครื่องจักรในราคาราว 8 ล้านบาท

หมดสัญญาสัมปทานเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา ทางบริษัทขอต่อสัญญาดูแลได้อีก 1 ปี ซึ่งจะหมดสัญญาในเดือนพฤศจิกายน 2561 คือปีนี้

นี่แหละคือข้อเรียกร้องของกลุ่ม “ภูมิเมืองกาญจน์” ที่ขอทวงคืนพื้นที่นี้หลังจากเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยขอให้กลับมาเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ร่วมกันของส่วนรวมโดยการบริหารจัดการร่วมกันของ 3 ภาคส่วนคือ ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม

มิใช่ปล่อยให้เปิดประมูลเป็นของภาคเอกชนโดยส่วนเดียว

ข้อเสนอการแก้ปัญหานี้มี 3 ข้อคือ

1. คณะ รมต.มีมติยกเลิกมติ รมต.ช่วงนั้นเพื่อให้พื้นที่นี้กลับคืนสู่สภาพเดิม

2. รัฐบาลรับซื้อทรัพย์สินคืนจาก บ.ศิริศักดิ์

3. ตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดการปัญหานี้ โดยคำนึงถึงดุลยภาพของ 3 ภาคส่วนสำคัญคือ ราชการ เอกชน ประชาสังคม

จังหวัดกาญจนบุรีไม่ต้องการธุรกิจประเภทร้านค้า โรงแรมหรือสถานบันเทิง ในบริเวณที่เป็น “ใจบ้านใจเมือง” เช่นสถานที่โรงงานกระดาษแห่งนี้

ชาวกาญจนบุรีอยากให้ที่ตรงนี้เป็นแหล่งเรียนรู้และรื่นรมย์โดยใช้ตัวอาคารทั้งหมดเป็นหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์เมือง จำเพาะตัวอาคารนั้นสร้างโดยสถาปนิกเยอรมันที่แข็งแรงและทรงคุณค่า

คณะศิลปินแห่งชาติและศิลปินเอกหลายสาขาได้มาดูแล้วเห็นพ้องต้องกันว่าที่ตรงนี้สามารถเนรมิตเป็นหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์เมืองได้เลย

ตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ลูกปัดคลองท่อมที่จังหวัดกระบี่ได้รับรางวัลชนะเลิศในบรรดาพิพิธภัณฑ์ของไทย เป็นตัวอย่างที่คล้ายเมืองกาญจน์คือ

สร้างราวปี พ.ศ.2555 ด้วยความร่วมมือของนักวิชาการกลุ่มศิลปินที่นำโดยถวัลย์ ดัชนี กมล ทัศนาญชลี ฯลฯ และนายกเทศมนตรีคนสำคัญคือ คุณกีรติศักดิ์ ภูเก้าล้วน ด้วยความเห็นร่วมของประชาชนชาวกระบี่ที่ต้องการให้กระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเมืองศิลปะ

พื้นที่ตรงนั้นเป็นที่ราชพัสดุอยู่กลางเมืองกระบี่ ได้รับงบประมาณจากภาครัฐราว 111 ล้านบาท สร้างอาคารใหม่ 3 หลัง บริหารจัดการโดยเทศบาลนครกระบี่

เนื้อหาคือแสดงถึงความเป็นแหล่งผลิตและศูนย์กลางความสัมพันธ์ของนานาชาติยุคโบราณราวสี่พันปีมาแล้ว

เมืองกาญจน์มีเรื่องราวที่สะท้อนยุคสมัยดังปรากฏหลักฐานไม่จำเพาะลูกปัดร่วมสมัยเท่านั้น ทั้งบ้านเก่าของตึกดอนตาเพชร รูปเขียนผนังถ้ำ โยงใยและโยงยาวแหล่งอารยธรรมถึงปัจจุบันและอนาคตสำคัญยิ่ง

สมควรเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างมีชีวิตชีวาทั้งแก่เยาวชนคนไทยและนานาประเทศซึ่งจะทวีความสำคัญอันมิอาจประเมินค่าได้

กิจกรรมการเคลื่อนไหวสำคัญที่ผ่านมา นอกจากร่วมยื่นหนังสือถึง สนช. แล้ว พร้อมรายชื่อประชาชนกว่า 70,000 รายชื่อ ยังร่วมรณรงค์เพื่อรับรู้อย่างกว้างขวางทั้งแก่ประชาชนและทางจังหวัดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน มีเยาวชนนักเรียนและภาคประชาชนราวกว่าสองพันคน

จัดเสวนาเวทีถนนปากแพรกโดยตัวแทนภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ถ่ายทอดโดยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งตัวแทนองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กาญจนบุรี ยินดีร่วมบริหารจัดการโครงการภูมิบ้านภูมิเมืองกาญจน์ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์

นี่คือปรากฏการณ์ของเมืองกาญจน์ดังสร้อยเพลงเขมรไทรโยค ที่ว่า

“น้องเอย เจ้าไม่เคยเห็น”

๐ คือกระดาษวาดเรื่องภูมิเมืองกาญจน์

มิใช่แค่โรงงานกระดาษเก่า

หากแต่เป็นใจบ้านใจเมืองเรา

ขอทวงเอาพื้นที่ของเราคืน!