นิ้วกลม : แล้วชีวิตก็บอกกับเราว่า

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

ถึงวันนี้ ผมเขียนหนังสือมาเป็นเวลาสิบสองปีแล้ว พบทั้งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและไม่เปลี่ยนแปลง แต่เมื่อเวลาผ่านเนิ่นนานมาถึงเพียงนี้ สิ่งที่อยากทำที่สุดคือบอกขอบคุณตัวเองเมื่อสิบสองปีก่อนที่เริ่มต้นนั่งลงเขียนหนังสือ

ผมเคยเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเขียนเอาไว้ในบางที่ มันเกิดขึ้นในวันเกิดปีหนึ่งที่ไม่มีใครจดจำมันได้ ใช้เวลาเช้า สาย บ่าย เย็น ไปอย่างเฉื่อยเนือยและเศร้าเซ็ง น้อยใจที่ไม่มีใครจดจำวันสำคัญของเรา ผมรู้สึกอย่างนั้นทั้งวัน

กระทั่งสามทุ่มกว่าจึงหยิบกระดาษเปล่าและดินสอขึ้นมา เริ่มเขียน

เริ่มบรรทัดแรกด้วยความเศร้า พร่ำบ่น ตีอกชกหัว พูดทุกสิ่งที่คิดออกมาให้กระดาษฟัง จริงใจกับตัวเองที่สุด เขียนเหมือนไม่มีใครจะได้อ่าน ไร้การประดิดประดอย ราวกับเขื่อนความคิดและความรู้สึกพังทลาย ความอัดอั้นทั้งหมดที่อัดแน่นมาทั้งวันไหลทะลักลงสู่หน้ากระดาษ

รุนแรง ขุ่นคลั่ก แล้วค่อยๆ คลี่คลาย

กระทั่งถึงบรรทัดสุดท้ายกลายเป็นความเข้าใจ ผมรู้สึกเบาสบายเหมือนยกภูเขาออกจากอก เป็นภูเขาแห่งความสับสน เป็นภูเขาที่ก่อตัวขึ้นจากอารมณ์หลากหลายที่อบอวลอยู่ในใจ เมื่อได้เขียนมันออกมาก็เข้าใจ เห็นมันชัดขึ้น และวางมันลงได้ ผมสรุปบรรทัดสุดท้ายเหมือนสอนใจตัวเองทำนองว่า-วันเกิดของเราก็เป็นวันธรรมดาวันหนึ่งของโลก

ราวกับเป็นใครอีกคนมาสอนตัวเองในบรรทัดแรก

 

การเขียนทำให้เรา “เข้าใจ” ตัวเอง หมายความตามนั้นทุกประการ การเขียนคือการสำรวจสืบเสาะขุดค้นลงไปในใจว่าเรากำลังคิดและรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนั้นๆ ผมเริ่มต้นเขียนหนังสือด้วยความรู้สึกนั้น จึงมักชักชวนผู้คนให้นั่งลงเขียนหนังสือเมื่อรู้สึกสับสนหม่นเศร้าไม่มีใครเข้าใจ

การเขียนหนังสืออาจค่อยๆ เปลี่ยนความหมายไปเมื่อเขียนให้คนอื่นอ่าน ผมพบว่าตอนเขียนคอลัมน์ครั้งแรกในนิตยสารอะเดย์ ซึ่งสุดท้ายแล้วรวมร่างกลายเป็นหนังสือชื่อ “อิฐ” นอกจากเขียนเพื่อเข้าใจตัวเองแล้ว ผมยังเขียนเพื่ออวดตัวเองให้โลกเห็นอีกด้วย

งานเขียนในตอนนั้นจึงแพรวพราวไปด้วยลูกเล่นทางกลวิธีนำเสนอและภาษา หกคะเมนตีลังกาอย่างสนุกสนาน

ผมเขียนแบบนั้นเพราะอยากให้โลกหันมาสนใจ

สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ การเขียนนั้นดำเนินไปพร้อมๆ กับชีวิตเรา

ชีวิตเปลี่ยน การเขียนก็เปลี่ยน สิ่งที่เขียนก็เปลี่ยน

ไม่มีช่วงเวลาใดที่รู้สึกดีกับการเขียนมากไปกว่าช่วงเวลาใด ผมรักงานเขียนทุกชิ้นในทุกช่วงเวลา แม้บางงานเมื่อนำกลับมาอ่านอีกครั้งเราจะรู้สึกขบขันกับความพยายามของตัวเองในตอนนั้นก็ตาม

 

ที่รักงานทุกชิ้นก็เพราะสิ่งเหล่านั้นคือบันทึกและร่องรอยของชีวิต มันบรรจุสรรพสิ่งมากมายไว้ในนั้น คนอ่านก็สัมผัสได้บางส่วน แต่สำหรับคนที่เขียนขึ้นมาเอง เมื่อย้อนกลับไปอ่าน ผมจดจำสิ่งต่างๆ ได้มากมาย ทั้งบรรยากาศ ความรู้สึก นิสัย ความสนใจ ความฝัน ความอยาก ความนึกคิดในช่วงเวลาที่เขียนงานชิ้นเหล่านั้นขึ้นมา

งานเขียนคือแคปซูลความทรงจำที่พร้อมเผยตัวตนของเราในแต่ละช่วงเวลาออกมาให้เห็นอีกครั้ง-ทุกครั้งที่เปิดอ่าน

นี่คือความดีงามของการเขียนหนังสือ หากการถ่ายภาพคือการบันทึกรูปร่างหน้าตาของเราเก็บไว้ การเขียนคือการบันทึกหน้าตาของความคิดของเราเก็บไว้ นำกลับมาดูใหม่ได้ในอนาคต เพราะความคิดของเราก็เปลี่ยนแปลงไปตามวันเวลาไม่ต่างจากรูปร่างหน้าตาเช่นกัน

แต่ละวันวัยก็มีเสน่ห์ในแบบของมัน

 

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ผ่านงานเขียนและชีวิตก็คือ เราจะกลายไปเป็นคนที่เราไม่เคยจินตนาการเอาไว้เสมอ

ในวัยหนุ่มผมมักวางแผนชีวิตและร่างภาพตัวเองในอนาคตอย่างชัดเจน มองเห็นว่าอีกห้าปีข้างหน้าผมจะเป็นอะไร อย่างไร จะทำอะไรอยู่ แต่เมื่อผ่านวัยนั้นมาแล้วจึงพบว่าชีวิตเป็นเรื่องที่เราวางแผนไม่ได้แม่นยำขนาดนั้น จะมีปัจจัยทั้งดีร้ายผ่านเข้ามาเป็นตัวแปรให้ชีวิตเฉไฉออกไป เปลี่ยนเส้นทางจากเดิม แล้วนำเราไปสู่ปลายทางที่ไม่เคยอยู่ในแผนการแต่อย่างใด

เราจะเติบโตไปเป็นคนที่เราไม่เคยฝันว่าจะเป็น

ส่วนคนที่เราเคยฝันไว้ เขาก็จะอยู่ในภาพฝันนั้น

แล้วงานเขียนก็ทำหน้าที่บันทึกชีวิตนอกแผนการเหล่านั้นเอาไว้ ในแต่ละช่วงเวลา แต่ละปัจจัยที่มีผลต่อความคิด การเลือก การตัดสินใจ และการเปลี่ยนแปลง หากนำงานเขียนมาต่อเข้าด้วยกันเหมือนจิ๊กซอว์ของภาพใหญ่ เราจะค่อยๆ เห็นการเปลี่ยนแปลงและเฉไฉจนกลายไปเป็นอีกเส้นทางที่ค่อยๆ ชัดเจน แล้วจึงพร่าเลือน แล้วก็เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ครั้งแล้วครั้งเล่า

ชีวิตคือความสับสนไม่รู้จบ

 

ผมเคยคิดว่ายิ่งเติบโตเราจะยิ่งมองชีวิตชัดเจนยิ่งขึ้น

แต่เมื่อเติบโตขึ้นมาแล้วกลับเห็นตรงกันข้าม

ชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องราวที่รอให้เราทำความเข้าใจ เมื่อคิดว่ารู้แล้ว มันจะบอกกับเราว่า-แกยังไม่รู้ทั้งหมด มันจะมอบบทเรียนใหม่ๆ ความทุกข์ใหม่ๆ ปัญหาใหม่ๆ มาให้เราเสมอ เป็นเช่นนี้ไม่รู้จบ

แต่ละวันวัยจะมีปัญหา ความทุกข์ และบทเรียนในวันวัยนั้นๆ การเข้าใจว่าเติบโตแล้วจะรับมือความทุกข์ได้อยู่มือเป็นความเข้าใจที่ผิด

จริงอยู่-เรารับมือความทุกข์เดิมๆ ได้ดีขึ้น แต่กับความทุกข์ใหม่ที่มาพร้อมวัยที่เราเพิ่งมาถึง เราก็ต้องเผชิญกับมันและหาทางแก้ไขหรืออยู่ร่วมกับมันด้วยวิธีใหม่ที่ไม่เคยรู้ ซึ่งก็ต้องใช้เวลาพอสมควรจนกว่าจะผ่านมันไปสู่ความทุกข์ลำดับถัดไป

นี่ไม่ใช่การมองโลกในแง่ร้าย แต่แน่นอนว่าไม่ใช่การมองโลกในแง่ดี แต่คือการมองชีวิตแบบที่มันเป็น และเราก็ต้องอยู่กับมันไปแบบนี้ ทำได้เพียงเรียนรู้ ข้ามผ่าน และจดบันทึก

 

งานเขียนในหนังสือเล่มที่กำลังพูดถึงนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสอง-สามปีที่ผ่านมา ในช่วงเวลาที่ผมเคยคิดว่าเมื่ออายุสามสิบห้าปี ผมน่าจะเข้าใจชีวิตประมาณหนึ่ง

แต่เมื่อเดินทางมาถึง ผมก็พบว่าความเข้าใจที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ไม่สามารถนำมาใช้ได้กับช่วงวัยนี้ทั้งหมด ใช้ได้บางส่วน บางส่วนต้องเรียนรู้ใหม่ สับสนใหม่

ผมคิดว่าตัวหนังสือเหล่านี้มิได้ทำหน้าที่เป็นเหมือนครูบาอาจารย์ที่จะบอกเล่าวิชาชีวิตให้ใครฟัง เพราะตัวคนเล่าเองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย แต่ผมคิดว่างานเขียนชุดนี้เป็นเสมือนเพื่อนทางความคิดและความรู้สึกกับผู้อ่านที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน ในยุคสมัยเดียวกัน และวันวัยใกล้เคียงกัน ร่วมเผชิญความทุกข์ ความเศร้า ความสับสน ความสุข ความสำเร็จ ความสมหวัง หมดพลัง และกลับมามีพลังอีกครั้ง คล้ายๆ กัน

หวังว่าผู้อ่านน่าจะร่วมคิดร่วมรู้สึกไปพร้อมๆ กันในระหว่างที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ระหว่างนั้นอาจคิดถึงชีวิตของตัวเองในช่วงวัยที่กำลังหายใจอยู่ ผมเชื่อเสมอว่าหนังสือคืออุปกรณ์เสียดสีทางปัญญาให้เกิดประกายไฟใหม่ๆ ไม่ต้องเห็นตามหรือเห็นด้วยไปทั้งหมด แต่เราอ่านเพื่อปะทะสังสรรค์เพื่อก่อเกิดความคิดใหม่ๆ ในตัวเอง

เขียนเพื่อเข้าใจตัวเอง อ่านเพื่อเข้าใจตัวเอง

เขียนเพื่อเข้าใจคนอื่น อ่านเพื่อเข้าใจคนอื่น

กล่าวโดยสรุป นี่คือหนังสือที่เป็นเสมือนรวมบทบันทึกในช่วงชีวิตวัยนี้ บันทึกความสับสน ความพยายามหาคำตอบ ข้อสงสัย เรื่องที่ไม่เข้าใจและเข้าใจ ความทุกข์ ความสุข และความคิด ทั้งหมดนั้นอาจไม่ใช่ผลึกใสที่ตกผลึกทางความคิดเป็นเม็ดงามแล้ว หากเป็นสารละลายที่ยังขุ่นข้น แต่ผมเชื่อว่าสารละลายนี้มีประโยชน์และมีความสวยงามในแบบของมัน

 

หากชีวิตคือการตกผลึกในแต่ละช่วงวัย ผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วผลึกนั้นจะต้องถูกทุบให้แตกออกหรือละลายกลับไปวนเพื่อหาคำตอบเป็นผลึกใหม่ในช่วงวัยที่กำลังจะมาถึงอีกอยู่ดี

เราเข้าใจชีวิต แล้วเราก็จะไม่เข้าใจมันอีก

เป็นเช่นนี้เสมอ

ผมจึงตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า “แล้วชีวิตก็บอกกับเราว่า” นี่คือสิ่งที่ชีวิตตอนนี้บอกกับผม มันบอกกับผมว่า ตัวเราในอนาคตเป็นสิ่งที่ตัวเราตอนปัจจุบันไม่มีวันจินตนาการถึง

แต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล-เดี๋ยวชีวิตก็บอกกับเราเอง