คำ ผกา : เมื่อไหร่จะพูดจารู้เรื่อง

คำ ผกา

ในเมืองไทยของเรา เด็กที่เกิดในครอบครัวที่รวยที่สุด 10% แรกของประเทศ สามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้เกือบร้อยละ 70 ของเด็กที่เกิดในครอบครัวร่ำรวยกลุ่มนี้ทั้งหมด ในขณะที่เด็กที่เกิดในครอบครัวที่จนที่สุด 10% สุดท้ายของประเทศ จะเข้ามหาวิทยาลัยได้เพียงร้อยละ 4 ของเด็กที่เกิดในครอบครัวที่จนที่สุดกลุ่มนี้เท่านั้น

https://prachatai.com/journal/2018/06/77564

ข้อความข้างต้นนั้นนำมาจากบทความของอาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเนิด ในหัวข้อ “ความเหลื่อมล้ำแบบถาวร”

ซึ่งทำให้เราเข้าใจได้อย่างกระจ่างแจ้งทันทีว่ามรดกของความเหลื่อมล้ำของสังคมจะส่งทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างไร

และนี่ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะของประเทศไทย ผู้รู้จำนวนมากก็บอกว่านี่คือผลพวงของระบอบเสรีนิยมใหม่ หลายๆ ประเทศในโลกก็ประสบกับปัญหาเช่นนี้เหมือนกัน

และค่อนข้างชัดเจนว่า ระหว่างประเทศที่เป็นเสรีนิยมทางเศรษฐกิจกับประเทศที่เป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย อันมีระบบรัฐสวัสดิการเป็นหลัก ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการจะมีความเหลื่อมล้ำน้อยกว่า

แต่ประเทศที่เป็นเสรีนิยมทางเศรษฐกิจแต่ไม่เป็นประชาธิปไตยเอาเสียเลยในทางการเมือง – เราจะมองเรื่องนี้อย่างไร?

สําหรับฉัน การลดความเหลื่อมล้ำผ่านโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ไม่ได้แปลว่าทุกคนต้องเข้ามหาวิทยาลัย จบปริญญาตรี หรือทำให้เด็กในครอบครัวที่จนที่สุดสามารถเข้ามหาวิทยาลัย จบปริญญาตรีกันทุกคน แต่คำถามตั้งต้นที่สำคัญกว่านั้นคือ มีความเหลื่อมล้ำอยู่กี่ระดับในโอกาสการศึกษาของเด็กไทย

ชนชั้นกลางระดับบนของไทยเลือกส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติ, โรงเรียนสาธิต, โรงเรียนเอกชนชื่อดัง, โรงเรียนรัฐบาลระดับท็อปไฟว์

ชนชั้นกลางระดับบนที่เป็นปัญญาชนมักเลือกให้การศึกษาลูกแบบโฮมสกูล, โรงเรียนทางเลือกสำนักต่างๆ เพราะชนชั้นกลางกลุ่มนี้ไม่ชอบการศึกษาแบบชนชั้นกลางกลุ่มแรก ไม่ชอบการศึกษาแบบบังคับ แข่งขัน แต่อยากให้ลูกเป็นเด็กมีความสุข มีความคิดสร้างสรรค์ มีความรู้รอบตัว ได้ฝึกฝนทักษะทางศิลปะ กีฬา ดนตรี ฯลฯ

กลุ่มชนชั้นกลางที่มีความสามารถในการเลี้ยงลูก บวกกับที่มีลูกเรียนเก่ง สมองดี – กลุ่มนี้ยังสามารถส่งลูกเรียนในโรงเรียนสำหรับเด็กที่มีพรสวรรค์เป็นพิเศษอีก ซึ่งในเมืองไทยดูเหมือนจะมีอยู่สอง-สามโรงเรียน

แต่ที่ทั้งสามกลุ่มชนชั้นกลางนี้ต้องมีร่วมกันคือ มีเงินมากพอ มีข้อมูลข่าวสารมากพอ มีเวลามากพอในการดูแลลูกอย่างค่อนข้างใกล้ชิด และต้องมีชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ เมืองหลักของประเทศเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าถึงโรงเรียนเหล่านี้ได้ ยกเว้นพ่อ-แม่ที่โฮมสกูลลูกเอง

และในบรรดารูปแบบโรงเรียนและการศึกษาทั้งหมดข้างต้น การโฮมสกูลเป็นระบบที่ต้อง luxurious จริงถึงจะทำได้

luxurious ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าต้องรวยมาก ต้องมีเงินเยอะมาก แต่โฮมสกูลต้องการสิ่งที่แพงที่สุดสำหรับมนุษย์ นั่นคือ “เวลา”

พ่อ-แม่ที่จะโฮมสกูลลูกได้ นอกจากต้องมีความรู้เรื่องโฮมสกูลดีแล้ว สามารถจัดการศึกษาแก่ลูกๆ ของตนเองได้ละม่อม ออกแบบแผนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมอะไรต่อมิอะไรได้ สิ่งที่ต้องมีอย่างมากคือ “เวลา”

นอกจาก “เวลา” อาจต้องมีเครือข่ายของพ่อแม่ที่ทำโฮมสกูลด้วยกัน ต้องรู้ว่า ถ้าอยากให้ลูก “เรียนรู้” เรื่องเหล่านี้จะต้องไปไหน จะต้องไปหาใคร

นั่นแปลว่าพ่อ-แม่เหล่านี้ต้องมีความมั่นคงทางการเงินระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ต้องทำงานที่สามารถเป็นนายของตัวเอง จัดตารางชีวิตได้เอง ไม่ใช่มนุษย์ตอกบัตร หรือสามารถอยู่ได้สบายๆ โดยไม่จำเป็นต้องออกไปทำงานที่ไหน

ตรงกันข้าม พ่อ-แม่ที่ต้องรีบเอาลูกไปฝากเลี้ยง ไปเข้าโรงเรียนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเข้าได้ ก็คือพ่อ-แม่ที่ต้องทำงานประจำ มนุษย์เงินเดือน หนุ่ม-สาวโรงงาน พ่อค้า-แม่ค้า คนรับจ้างทำมาหากินไปวันๆ

จะเห็นว่าสำหรับชนชั้นที่มี “โอกาส” มากกว่าคนอื่น ก็ยังเป็นโอกาสที่หลากหลาย มีทั้งแบบโกอินเตอร์ ทั้งแบบประเพณีนิยม หรือจะแบบติสต์ๆ ฮิปสเตอร์-เลือกได้อย่างที่ชอบ อย่างที่ใช่ ไปตามรสนิยมได้เลย

น่าสนใจไปกว่านั้นอีกเมื่อได้ไปอ่านข้อเสนอของนักการศึกษาเกี่ยวกับการแก้ปัญหาคะแนน PISA อันตกต่ำต่อเนื่องยาวนานของไทย ยิ่งน่าสนใจว่าความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทยน่าจะยังไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

การสอบ PISA เป็นการวัดผลในเรื่องของ Literacy อันเป็นคำที่แปลยากที่สุดคำหนึ่ง-อาจเป็นเพราะไม่มีสิ่งนี้อยู่ในวัฒนธรรมไทยเลยก็เป็นได้

เวลาที่เราพูดว่า Literacy มันไม่ใช่แค่การอ่านออกเขียนได้ ทำเลขได้ถูกทุกข้อ

แต่ Literacy หมายถึง การรู้ที่หมายถึงทั้งรู้เท่าและรู้ทัน อันภาษาไทยอาจจะใช้คำว่า “รู้เรื่อง”

คนที่ไม่มี Literacy คือคนที่ “พูดไม่รู้เรื่อง” เช่น เขาถกเถียงกันเรื่องโทษประหารชีวิตกับหลักสิทธิมนุษยชน

คนที่ “พูดไม่รู้เรื่อง” หรือไม่มี Literacy จะโต้ตอบว่า “เอานักโทษประหารไปเลี้ยงที่บ้านสิ” – นี่คือตัวอย่างของการไม่มี Literacy

PISA วัด Literacy สามด้านคือ การอ่าน, คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

โดยทั่วไปแล้ววัดกันในหมู่ประเทศ OECD แต่ประเทศไทยที่ไม่ได้เป็นสมาชิก OECD แต่ถือเป็นประเทศพาร์ตเนอร์ – เราไปร่วมสอบกับเขาทำไม? ก็เพราะประเทศไทยเราอยากประเมินว่าตอนนี้คุณภาพการศึกษาของไทยอยู่ตรงไหนเมื่อเทียบกับชาวโลก โดยเอามาตรฐานของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเป็นหมุดหมาย (หรือที่เรียกว่าสมรรถนะการศึกษาภาคบังคับของชาติ) เมื่อรู้ผล ก็จะได้นำมาประเมิน วิจัย มาดูว่าการศึกษาของเรามีปัญหาที่ตรงไหน ตรงไหนต้องรื้อ ตรงไหนต้องเปลี่ยน ตรงไหนต้องเสริม ตรงไหนต้องแก้

ทีนี้ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่า ตั้งแต่เราไปร่วมทดสอบกับเขาในปี 2543 เป็นต้นมา คะแนนของเราตกต่ำรั้งท้ายมาโดยตลอด (ปี 2015 คืออันดับที่ 55 จาก 70) เรียกได้ว่าแม้แต่กลุ่มอาเซียนด้วยกันเราก็รั้งท้ายเกือบที่โหล่ ในขณะที่เวียดนามแซงเราไปจนไม่เห็นฝุ่น

ทีนี้ตั้งแต่เราไปร่วมสอบกับเขามา ทาง PISA และทางนักวิชาการด้านการศึกษาต่างก็พูดตรงกันว่า ไทยต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนแบบที่เน้นการอ่านการท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง เป็นการเรียนการสอนที่ให้นักเรียนสามารถ “คิดเป็น” – สิ่งที่หายไปในการศึกษาไทยคือกระบวนการฝึกให้นักเรียน “คิด”

บ้างก็ว่านี่คือความล้มเหลวเรื่องรัฐรวมศูนย์ นโยบายที่ออกจากส่วนกลางไปหมด พอไปถึงมือผู้ที่ใช้งานจริง ก็ไม่เป็นจริง

บ้างก็บอกว่าเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ โรงเรียน นักเรียนในชนบทเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต เข้าไม่ถึงทรัพยากรด้านความรู้ การศึกษา เท่าเด็กในเมือง

เมื่อมาดูคะแนน ก็จะเห็นได้ชัดว่า นักเรียนจากโรงเรียนระดับครีมของประเทศ จะได้คะแนนค่อนข้างสูง สูสีกับประเทศที่ผล PISA ออกมาอันดับดี

แล้วปีนี้เลยมีคนผุดไอเดียมาว่า – เออ เราไปเจรจากับ PISA ใหม่ดีไหม ว่าให้จัดการสุ่มตัวอย่างโรงเรียนที่จะเข้าสอบ ให้เป็นโรงเรียนที่มีเด็กเก่งๆ เยอะๆ หน่อย เอาโรงเรียนที่เจ๋งๆ หน่อย แล้วตัดโรงเรียนที่มีแนวโน้มว่าจะได้คะแนนต่ำๆ ออกไป (แลดูโรงเรียนบ้านนอกคอกตื้อเหล่านี้เป็นตัวฉุดรั้งชื่อเสียง หน้าตาของประเทศชาติมาก) ถ้าทำได้แบบนี้ อันดับเราน่าจะดีขึ้น! ประเทศชาติจะได้ไม่เสียหาย ไม่มีใครมาดูแคลนเราได้ว่าคุณภาพการศึกษาเราต่ำ

แต่เดี๋ยววววว!!!!!

กลับไปที่ประเด็น “ความเหลื่อมล้ำถาวร” ที่บอกว่า เด็กร้อยละ 70 ของครอบครัวที่มีฐานะดีเข้ามหาวิทยาลัยได้ นั่นคือกลุ่มของเด็กลูกชนชั้นกลางส่วนบนที่สามารถไปเรียนในโรงเรียน “คุณภาพดี” ที่จะมีความสามารถในการ “รู้เรื่อง” สอบ PISA แล้วได้คะแนนไม่อายใคร

นั่นแปลว่า ความเหลื่อมล้ำนี้จะไม่ใช่แค่การศึกษาสูง การศึกษาดี จากโอกาสที่ดีกว่าของพ่อแม่ที่รวยกว่าจะนำมาซึ่งฐานะที่จะดียิ่งๆ ขึ้น การงานที่จะดียิ่งๆ ขึ้นต่อไปในอนาคตของกุมารากุมารีเหล่านี้ แต่มันกำลังจะหมายถึงความเหลื่อมล้ำทาง Literacy ของพลเมืองไทยในอนาคตทั้งมวลด้วย

ถ้าการสุ่มตัวอย่างโรงเรียนและนักเรียนไทยไปสอบ PISA แล้ว Literacy ทั้งการอ่าน เลข วิทยาศาสตร์ของเราต่ำ เว้นแต่นักเรียนหยิบมือเดียวจากโรงเรียนหยิบมือเดียวที่มี Literacy เท่ากับพลเมืองประเทศโลกที่ 1

เมื่อเป็นเช่นนี้ในอนาคต เราจะมีแค่ร้อยละ 70 ของคนร้อยละสิบของประเทศเท่านั้นที่ “คิดได้คิดเป็น” ส่วนลูกหลานของคนอีกร้อยละ 90 ของประเทศจะถูกระบบการศึกษาไทยกดทับให้กลายเป็นกลุ่มคน illiterate หรือไม่รู้คิด ไม่รู้เรื่อง อ่านไม่ได้ อ่านไม่แตก ไร้ซึ่งความรอบด้านแตกฉานในเรื่องต่างๆ

ความเหลื่อมล้ำอันถาวรที่จะเกิดขึ้นคือ การสร้างพลเมืองหยิบมือหนึ่งที่ปราดเปรื่องมาปกครองครอบงำคนอีกร้อยละเก้าสิบที่ถูกทำให้ “โง่ซ้ำซาก” จากระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการของเราเอง

นี่ไม่ใช่แค่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่เป็นความเหลื่อมล้ำของความเป็นคนที่มีระดับว่าด้วยความเป็นคนไม่เท่ากัน

คนกลุ่มหนึ่งมีค่ามีความเป็นคนมากกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งที่รังแต่จะถูกกดลงเรื่อยๆ จนวันหนึ่งในภายภาคหน้าอาจสูญสิ้นความเป็นคน

ยิ่งมาดูว่าจะแก้ไขเรื่องคะแนน PISA ด้วยการดันเอาแต่กลุ่มตัวอย่างของโรงเรียนครีมๆ ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า เราไม่เคยคิดเรื่องการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

หนักกว่านั้น แทนที่เราจะเห็นความล้มเหลวนี้ในฐานะกระจกสะท้อนความล้มเหลวของการศึกษาทั้งระบบ กลับไปวอแวแก้ไขแต่เรื่องหน้าตา ชื่อเสียง คุณภาพการศึกษาจริงๆ จะเป็นไงก็ช่าง ทำไงก็ได้ให้ตัวเลขมันขึ้น!

เออ…หรือนี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่าไม่มี Literacy